29 ก.ย. 2021 เวลา 05:26 • ครอบครัว & เด็ก
อยากให้ลูกติด ต้องมีวิธี
นอกเหนือจากปัญหาการติดพี่เลี้ยงของลูกแล้ว อีกหนึ่งปัญหาหนักอกหนักใจคุณพ่อหรือคุณแม่คือ การที่ลูกติดอีกฝ่ายมากกว่า จนทำให้นึกน้อยใจว่าลูกไม่รัก จนบางคนอาจทำตัวเหินห่างกับลูกไปเลย
ภาพจาก https://mcm.org/
เอาเป็นว่าคุณพ่อและคุณแม่อย่าเพิ่งถอดใจไป
การทำให้ลูกรักและผูกพันนั้นไม่ใช่เรื่องยาก
แค่ตั้งใจและลงมือทำเท่านั้น
ทำไม...ลูกติดแม่หรือพ่อมากกว่า
เมื่อคุณพ่อ หรือคุณแม่ กลับมาถึงบ้านกำลังคิดอยู่เลยว่า จะเข้าไปอุ้มเจ้าตัวเล็กให้หายเหนื่อย
แต่ในความเป็นจริงเมื่อกลับถึงบ้านแล้วเราก็พุ่งเข้าไป หมายจะกอด จะอุ้ม แต่ลูกกลับไม่ยอมให้อุ้ม แถมไม่ยอมแม้แต่จะเล่นด้วย ซ้ำร้ายบางครั้งยังร้องไห้บ้างล่ะ วิ่ง หรือเบือนหน้าหนีบ้างล่ะ ก็คงจะทำให้รู้สึกเสียใจบ้าง ไม่มากก็น้อยใช่ไหมครับ
ก่อนจะสิ้นหวังเสียใจจากเหตุการณ์สมมุติข้างต้น
เราลองลองมาหาสาเหตุกันก่อนว่า เพราะอะไรทำที่เป็นสาเหตุให้ลูกติดคุณแม่ หรือคุณพ่อ หรือพี่เลี้ยงไม่เท่ากัน
เด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ ต้องการอยู่ใกล้คนที่รัก อยู่ใกล้กับคนที่อยู่ด้วยแล้วรู้สึกปลอดภัย และไว้ใจ
โดยเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัย 3 ปี (ก่อนเข้าเรียน) เป็นช่วงเวลาที่เด็กจะได้อยู่ที่บ้านเป็นส่วนใหญ่ และยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับคนแปลกหน้ามากนัก
ดังนั้นหากคุณพ่อ คุณแม่ทุ่มเทเวลาให้กับลูกอย่างสม่ำเสมอ คอยอยู่ใกล้ชิดกับเด็กในช่วงเวลานี้ ก็จะทำให้เด็กติดคุณพ่อ หรือคุณแม่ได้ไม่ยาก
เช่นเดียวกันหากมีคนเลี้ยง (ญาติ หรือพี่เลี้ยง) ก็อาจทำให้ลูกติดคนเลี้ยงมากกว่าได้ ทั้งนี้เกิดจากความใกล้ชิด ความผูกพันกับระหว่าง เด็ก กับคนนั้นๆ
การไม่มีเวลาให้ลูก รวมถึงการไม่ได้ร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ กับลูกนั้น เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็ก ไม่ได้มีความรู้สึกใกล้ชิด ผูกพัน กับคุณพ่อ หรือคุณแม่ อย่างที่คุณพ่อ คุณแม่อยากจะให้เป็น (อันนี้โทษใครไม่ได้ เพราะหากคุณไม่หาเวลาให้กับลูกตัวเอง ก็คงไม่มีใครจะไปช่วยอะไรคุณได้หรอก โดยเฉพาะกับเด็กในวัยนี้)
การที่ลูกติดคุณแม่มากกว่าคุณพ่อ ก็อาจเป็นเพราะว่าคุณพ่อทำงานนอกบ้านมากเกินไป ทำให้ลูกไม่ค่อยได้เห็นหน้า กรณีเช่นนี้ ไม่มีทางเลือกอื่น คุณพ่อต้องพยายามหาเวลาอยู่กับลูกให้มากขึ้นเท่านั้น
หรือสำหรับคุณพ่อบางท่านอาจจะอยากอุ้ม อยากเล่นกับลูก แต่ไม่กล้าเพราะไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ในกรณีแบบนี้ก็ต้องค่อยๆ ฝึกจนเกิดความเคยชิน โดยอาจจะเริ่มจากการเล่นสนุกง่าย ๆ อย่างการเล่นจ๊ะเอ๋ ก่อนก็ได้
กลับกันสำหรับลูกที่ติดคุณพ่อมากกว่าคุณแม่นั้น หากคุณแม่ไม่ได้ออกไปทำงานนอกบ้านเหมือนกรณีคุณพ่อแล้วล่ะก็
ให้ลองทบทวนดูว่าคุณแม่ใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการทำงานบ้านหรือเปล่า เช่น การทำความสะอาดบ้าน ทำอาหาร จนไม่ค่อยได้อยู่ ใกล้ชิดลูก
ในส่วนนี้อาจตกลงกันโดยการหาคนมาช่วย แบ่งเบางานบ้าน คุณแม่จะได้ใช้เวลาอยู่กับลูกได้อย่างเต็มที่
ในส่วนของความชอบของลูก กับบุคลิกที่แตกต่างของคุณพ่อ คุณแม่ ซึ่งอาจจะต้องสำรวจตัวเองว่ามีท่าทางหรือบุคลิกที่ทำให้ลูกรู้สึกกลัว กังวล หรือไม่คุ้นเคยหรือไม่
เช่น ถ้าคุณแม่มีนิสัยเสียงดัง ใจร้อน ก็จะทำให้ลูกกลัว รู้สึกไม่ปลอดภัย ในขณะที่คุณพ่อยิ้มง่าย อบอุ่น ลูกจะรู้สึกมั่นคงปลอดภัยและมีความสุขเวลาที่ได้อยู่กับคุณพ่อมากกว่า
เพราะฉะนั้นจึงต้องสังเกตด้วยว่าลูกชอบหรือไม่ชอบแบบไหนเพื่อจะได้นำมาปรับบุคลิกของตนเอง รวมถึงไม่ทำพฤติกรรมที่เป็นการทำร้ายจิตใจลูก เช่น ตะคอกเสียงดัง สะบัดมือลูก บังคับลูก เพราะจะทำให้ลูกจดจำฝังใจ ไม่กล้าเข้าใกล้อีก
การส่งเสริม หรือการขัดขวาง เป็น อีกเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องพิจารณาว่าในช่วงเวลาที่อยู่กับลูกนั้น มีเวลาอยู่กับลูกมากน้อยเพียงใด และได้ทำสิ่งที่ส่งเสริม หรือขัดขวางต่อพัฒนาการของลูกไปบ้างหรือไม่ มากน้อยเพียงใด เช่น การจู้จี้จุกจิก บังคับลูกให้ทำ ให้กินตามที่ต้องการ หรือการห้ามไม่ให้ลูกเล่น โดยเฉพาะในวัยเตาะแตะที่กำลังชอบสำรวจ รื้อค้น สนุกกับการเดินวิ่งเล่น คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรห้ามในเรื่องที่ดูแล้วไม่เป็นอันตราย
โดยการปล่อยให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งรอบข้างด้วยตัวเองบ้าง
คอยมองดูและให้กำลังใจเมื่อลูกทำสิ่งนั้นได้ดี
แต่ถ้าลูกกำลังจะทำสิ่งที่เห็นว่าเป็นอันตราย เช่น คว้าสิ่งของมีคม ก็ควรเข้าไปห้ามด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนและบอกเหตุผลกับลูก ไม่ดุว่าด้วยเสียงดังเพราะจะทำให้ลูกตกใจกลัวและไม่กล้าเข้าใกล้คุณอีก
ไม่ใช้วิธีตามใจลูก ถึงแม้ว่าการตามใจจะเป็นวิธีที่ทำให้ลูกติดได้ง่าย เช่น การให้ขนมหรือลูกอมเพื่อให้ลูกเข้าใกล้ แต่จะเป็นการสร้างวินัยที่ไม่ดีให้กับลูก
อย่าแสดงอารมณ์ต่อหน้าลูก เมื่ออยู่ใกล้ลูกไม่ควรแสดงอารมณ์หงุดหงิด โมโหหรือรำคาญให้ลูกเห็น โดยเฉพาะในช่วงแรกที่ลูกอาจจะยังไม่ยอมห่างจากคุณพ่อหรือคุณแม่ ก็อย่าเพิ่งหงุดหงิดหรือบังคับเพราะลูกจะสัมผัสถึงความรู้สึกนั้นได้ ควรทำตัวให้ร่าเริงสดใสไว้เสมอ หากมีเรื่องไม่สบายใจ ควรแบ่งปัน ปรึกษาหรือขอคำแนะนำจากอีกฝ่ายก็จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น
ทำอย่างไรให้ลูกติด?
พอเห็นลูกสนิทกับคุณแม่หรือคุณพ่อมากกว่าแล้ว อาจจะรู้สึกดีใจปนน้อยใจนิด ๆ ใช่ไหมคะ อย่าเพิ่งรู้สึกน้อยใจค่ะ เพราะคุณก็สามารถแสดงออกให้ลูกรู้ว่าคุณก็รักเขาไม่น้อยได้เช่นกัน
ใช้กิจกรรมเป็นเครื่องมือ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเลิกเขินอายที่จะเข้าหาลูก การพูดคุย เล่านิทาน หรือการเล่นสนุกเป็นสิ่งที่เด็กทุกคนชื่นชอบ ลองใช้เวลาวันละ อย่างน้อย 30 นาทีหลังกลับจากทำงานทุกวันค่อย ๆ สร้างบรรยากาศสนุกสนานร่วมกัน และสร้างความคุ้นเคยให้กับลูก ลองสังเกตว่าลูกชอบหรือไม่ชอบอะไร เช่น นิทานเรื่องโปรด ของเล่นชิ้นโปรด แล้วใช้สิ่งนั้นเป็นตัวช่วยในการเข้าหาลูก ก็เป็นการเริ่มต้นที่ดี ในช่วงแรกอย่าใส่สาระความรู้หรือจริงจังมากเกินไปเพราะจะทำให้เด็กเบื่อค่ะ
หาจุดเด่นให้เจอ โดยการลองสำรวจตัวเองว่ามีจุดเด่นอะไรที่พอจะเป็นประโยชน์บ้าง เช่น สามารถเลียนแบบเสียงสัตว์ต่าง ๆ ได้หลายเสียง คุยเก่ง หรือชอบเล่าเรื่องสนุก ๆ ลองใช้สิ่งเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ในการเล่นสนุก แต่ต้องไม่ลืมสีหน้า ท่าทางและแววตาที่แสดงออกมาเวลาที่เข้าใกล้ลูก ต้องยิ้มแย้ม อ่อนโยน และแสดงถึงความอบอุ่นเพื่อให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและไว้ใจ
ส่งเสริมลูก ให้รักพ่อหรือแม่ด้วย
หากลูกติดพ่อหรือแม่ฝ่ายเดียว ก็ถึงเวลาที่จะต้องช่วยกันทำให้ลูกติดทั้งพ่อและแม่แล้วล่ะค่ะ
หมั่นชมเชยอีกฝ่าย พูดถึงสิ่งดี ๆ ให้ลูกฟัง เช่น คุณพ่อเป็นคนใจดี เป็นคนเก่ง จะทำให้ลูกมีทัศนคติที่ดี อยากเข้าใกล้และภาคภูมิใจในตัวพ่อหรือแม่ด้วย
อย่าทะเลาะกันต่อหน้าลูก จะทำให้ลูกตกใจ เกิดความกลัว ไม่อยากเข้าใกล้และยิ่งตีตัวออกห่าง หากมีเรื่องที่ไม่เข้าใจกัน ควรหาที่เงียบ ๆ คุยกันดีกว่า
เปิดโอกาสให้อีกฝ่าย โดยการสนับสนุนให้อีกฝ่ายเป็นคนสร้างบรรยากาศภายในบ้าน แล้วชวนให้ลูกเข้าไปมีส่วนร่วม เช่น พ่อกำลังปลูกต้นไม้ แม่ก็อาจจะชวนลูกให้ไปดูคุณพ่อว่ากำลังทำอะไรสนุก ๆ อยู่รึเปล่า ในช่วงแรกลูกอาจจะยังไม่กล้า ก็ใช้วิธีทำกิจกรรมร่วมกันทั้งพ่อแม่และลูก ก็จะทำให้ลูกค่อย ๆ รู้สึกคุ้นเคยค่ะ
ช่วยกันเติมแต่งครอบครัวให้มีแต่ความรัก ความอบอุ่น ด้วยการใกล้ชิดและใช้เวลากับลูกอย่างมีความสุขนะคะ!
ที่มา http://baby.kapook.com
โฆษณา