14 ส.ค. 2021 เวลา 12:33 • ท่องเที่ยว
ศูนย์กลางของย่างกุ้ง มุ่งสู่แยกสุเลเจดีย์
หลังจากการรอนแรมไปถึงพุกาม มัณฑะเลย์ ตองชเว พะโค ในเวลารวมกันแล้วเกือบ 2 สัปดาห์จนสะบักสะบอม เราเดินทางกลับมาที่ย่างกุ้งอีกครั้งหนึ่ง
ย่างกุ้งเป็นอดีตเมืองหลวงของพม่า ที่แม้เมืองหลวงจะถูกย้ายไปที่อื่นแล้ว แต่ย่างกุ้งก็ยังเป็นเมืองสำคัญ เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การค้า และเป็นศูนย์รวมของอีกหลายสิ่งหลายอย่าง … การกลับมาย่างกุ้งจึงเป็นการก้าวย่างเพื่อผ่อนพัก ก่อนที่จะบ่ายหน้ากลับบ้าน แต่ย่างกุ้งยังเปี่ยมสีสันสำหรับคนเดินทางอย่างเรา
ย่างกุ้งในวันที่แสงสีศิวิไลซ์ยังไม่สามารถข่มแสงดาวจนหมดงามอย่างที่เกิดในประเทศเพื่อนบ้าน ฉันจึงกระตือรือร้นที่จะค้นหาความงามของเมืองและผู้คนที่ลื่นไหลเป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวของเมือง
ที่พักของเราในย่างกุ้งอยู่ไม่ไกลจาก “สุเลพญาเจดีย์” ที่จะว่าไปแล้วบริเวณนี้คงเทียบได้กับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ด้วยที่นี่คือจุดศูนย์รวมของกิจกรรมทางสังคม และศาสนาของชาวเมืองมาเนิ่นนาน
เมื่ออังกฤษเข้ายึดครองย่างกุ้งในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 … ซึ่งตอนนั้นเมืองมัณฑเลย์ยังเป็นเมืองหลวงของพม่า แต่ย่างกุ้งซึ่งตั้งอยู่ทางปากน้ำตอนล่างของประเทศมีความเจริญมาก เนื่องมาจากการติดต่อค้าขายกับนานาประเทศ จนได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงแห่งที่ 2 ของประเทศพม่าในขณะนั้น … อังกฤษได้ใช้สุเลพญาเจดีย์เป็นศูนย์กลางในการวางระบบถนนหนทางทั่วเมือง
สิ่งหนึ่งที่เรามักจะทำเสมอ คือการลองทานอาหารพื้นเมืองของพม่า … เมื่ออยู่ในย่างกุ้งการหาอาหารรับประทานนั้นไม่ยากเลย ตามถนนหนทางจะมองเห็นหาบเร่แผงลอยมากมายอยู่ทั่วไป พ่อค้าแม่ค้านำอาหารที่ปรุงกันสดๆริมถนนั่นแหละออกมานั่งขายให้ลูกค้ามานั่งยองๆทานกัน
ที่นี่ไม่มีตำรวจเทศกิจมาคอยจับ คอยไล่หาบเร่เหล่านี้หรอกค่ะ ด้วยการค้าขายริมถนนเป็นวิถีชีวิตของคนที่นี่มาเนิ่นนาน และพวกเขาคงเห็นว่า (ฉันคิดเอาเองว่า) การค้าขายและนั่งรับประทานข้างถนนไม่ใช่สิ่งบ่งชี้ความศิวิไลย์ หรือความเจริญของบ้านเมืองแต่อย่างใด
ตามตลาด … คุณจะเห็นแผงลอยขายอาหารปรุงพร้อมรับประทาน ดูเหมือนๆกับตลาดสดในบ้านเราเหมือนกัน อาหารที่ขายส่วนใหญ่จะเป็นอาหารที่หน้าตาเหมือนกับอาหารทางภาคเหนือของเรา หากแต่จะมีน้ำพริกสารพัดสูตรพร้อมผักสดเป็นเครื่องเคียง รสชาติใช้ได้ อร่อยดีค่ะ
หากเข้าไปรับประทานในร้านอาหาร เซ้ตติ้งก็จะดูดีขึ้นมาอีกหน่อย … แต่ยังประกอบด้วยน้ำพริกถ้วยเล็ก ถ้วยน้อย พร้อมผักสด ให้ทานข้าวได้อย่างเอร็ดอร่อยอยู่นั่นเอง
วันสุดท้าย … เราลองไปทานอาหารไทยที่เจ้าของเป็นชาวพม่าที่เคยมาทำงานในเมืองไทยหลายปี … รสชาติของอาหารไม่ผิดเพี้ยนอาหารไทยในกรุงเทพค่ะ อร่อยมาก ชื่อร้านจำไม่ค่อยได้แล้ว … Red Roses หรืออะไรสักอย่างคล้ายๆแบบนี้ค่ะ
ถนนในย่างกุ้งดูจอแจด้วยชาวเมืองที่ออกมาเดิน มาจับจ่ายใช้สอย หรืออาจเป็นด้วยคนพม่าขับรถทางขวาซึ่งต่างจากบ้านเรา ทำให้รู้สึกสับสนเวลาข้ามถนน เพราะเราจะมองด้านขวาก่อน แต่ที่นี่สลับกันค่ะ เราต้องมองด้านซ้ายก่อน แถมรถส่วนใหญ่ที่เราคิดว่าควรจะต้องเป็นรถพวงมาลัยซ้าย กลับเป็นรถพวงมาลัยขวาเสียส่วนมาก เวลานั่งเลนรู้สึกชื่นชมคนขับรถที่กะระยะแซง หรือเลี้ยวได้อย่างแม่นยำ
ทุกวันนี้ แยกสุเลเจดีย์รายล้อมไปด้วยศาลาว่าการนครย่างกุ้งที่โดดเด่นอยู่หน้าสุเลเจดีย์ด้วยศิลปะแบบอาณานิคมผสมพม่า ที่ทำการท่องเที่ยวของพม่า ศาลอุธรและฎีกาอายุเก่าแก้กว่า 100 ปี วามสง่าด้วยศิลปะสไตล์วิคตอเรียน ที่เน้นความโอ่อ่าอลังการ เป็นที่เชิดหน้าชูตาของกรุงย่างกุ้ง ไปรษณีย์กลาง ที่ขายตั๋วรถไฟ ธนาคาร รวมถึงตลาดมืด
ตรงข้ามอาคารศาลฎีกา เป็นสวนสาธารณะ “มหาบัณฑุละ” เฉลิมนามตามนักรบที่อาจหาญในการทำศึกต่อต้านอังกฤษเมื่อราว 200 ปีก่อน ซึ่งเมื่อมองจากถนนจะเห็น อนุสาวรีย์เอกราช เป็นที่ระลึกในการต้อสู้กอบกู้เอกราชจากอังกฤษ ซึ่งมิได้มีเพียงชาวพม่า แต่ประกอบด้วยการสนับสนุนจากชนเผ่าต่างๆ ภายใต้การนำของนายพลอองซาน จนทำให้พม่าเป็นเอกราช และนายพลอองซาน ได้รับยกย่องว่า เป็น “บิดาแห่งเอกราชพม่า”
“The market is closed today. You want to exchange money?” เสียงของหนุ่มพม่าเชื้อสายภารตะที่มีเพื่อนอีกหลายคนรวมกลุ่มกันอยู่ตรงแยกสุเลเจดีย์ถามฉัน
“เรายังต้องการแลกเงินเพิ่มเพื่อใช้ที่นี่หรือเปล่านะ?” ฉันหันไปถามเพื่อนร่วมทาง
“แลกมาเพิ่มก็ได้พี่ ลองดูเผื่อจะได้เรตดีกว่าที่โรงแรม”
ฉันจึงถามไถ่หนุ่มพม่าเชื้อสายอินเดียถึงอัตราแลกเปลี่ยนที่เขาเสนอ … 1,050 จั๊ดต่อหนึ่งเหรียญสหรัฐ คือข้อเสนอ เราเห็นว่าได้เพิ่มขึ้นมานิดหน่อยจึงตกลงจะแลกเงินเพิ่มอีกร้อยดอลล่าห์
“ระวังนะพี่ อย่าให้เขาจับเงิน แล้วช่วยกันนับด้วยว่าขาดเหลือหรือเปล่า” เพื่อนบอกฉันให้ระวัง เพราะชื่อเสียงของคนที่ถูกโกงในการแลกเงินนั้นมีมาให้ได้ยินอยู่บ่อยๆ
ตอนนี้ชาวพม่า-อินเดีย อีกหลายคนเริ่มตีวงมารอบๆเรา ฉันกับเพื่อนจึงบอกให้เขาอยู่ห่างๆ แล้วเราไปยืนชิดกำแพงเพื่อไม่ให้มีใครอยู่ข้างหลังเรา … ชายคนแรกยื่นเงินที่พับเรียงเป็นปึ้งๆละหนึ่งหม่นมาให้เรา ฉันเริ่มคลี่ออกมาทีละใบ แล้วนับ ทันใดนั้นชายคนนั้นก็ขอเปลี่ยนเป็นเงินจั๊ดปีงใหญ่ที่มีหนังยางมัดอยู่ให้เรา บอกว่าเขาขี้เกียจไปแยกเป็นปึ๊งเล็กๆอีก (ฉันว่าอาจจะมีการสอดไส้ธนบัตรราคาที่น้อยหว่าฉบับละหนึ่งพันจั๊ดรวมอยู่ก็ได้)
เราไม่ขัดข้อง แล้วฉันก็เริ่มนับช้าๆ พร้อมกับมองให้แน่ใจว่าเป็นฉบับละพันจั๊ดจริงๆ พอนับเงินครบ ชายพม่า-อินเดียอีกคนก็เข้ามาขอจับเงินที่เรานับเรียบร้อยแล้ว ฉันรีบเอาเงินหนีไปจากการจับต้องของพวกเขา (กลัวแขกเล่นกลค่ะ) พร้อมบอกด้วยเสียงแข็งๆว่า Please stay away from my money!
เมื่อเห็นว่าเราไม่ยอมให้เขาจับเงิน ชายคนแรกเลยขอเงินร้อยเหรียญจากเรา แต่พอเราส่งเงินให้เขามองดูซีรีย์ของเงิน แล้วบอกว่าเป็นธนบัตรรุ่นเก่า เขาให้แค่ 900 จั๊ดเท่านั้น … สุดท้ายเราไม่ตกลง เพราะที่โรงแรมสามารถแลกได้ 950 จั๊ด เราจึงคืนเงินพม่าไป แล้วส่ายหน้าส่งสัญญาณว่า ทำอย่างนี้กับนักท่องเที่ยวไม่ดี
เราเดินตรงไปที่สุเลย์พญาเจดีย์ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม … หัวเราะขำกับกลเม็ดของคนพวกนี้ ที่หากินโดยการหลอกลวง แต่ก็ได้ประสบการณ์ที่ดี นำมาเล่าแบ่งปันกัน … แลกเงินที่โรงแรมดีที่สุดค่ะ ไม่ต้องเสี่ยงกับการปลิ้นปล้อนหลอกลวงจากคนทุจริตที่มีเกลื่อนกลาดในท้องถนนของย่างกุ้ง
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา