14 ส.ค. 2021 เวลา 13:59 • ประวัติศาสตร์
“อินเดีย” อีกหนึ่งประเทศที่น่าจับตามองกับเส้นทางสู่การเป็นมหาอำนาจ
3
ในช่วงที่ผ่านมา เราได้พาทุกคนมองย้อนประวัติศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจเส้นทางของประเทศจีนที่กำลังก้าวไปเป็นมหาอำนาจเหมือนดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา แต่ความจริง ขณะที่ความสนใจส่วนใหญ่ถูกหันเบนไปยังจีน ก็ยังมีอีกหนึ่งประเทศที่มีศักยภาพสูง มีประชากรจำนวนมหาศาล และมีประวัติศาสตร์ยาวนาน ที่กำลังเร่งพัฒนาตัวเองอย่างเงียบๆ ในช่วงที่ผ่านมา ดังเช่นเสือซุ่ม พญาคชสารซ่อน ที่รอวันกลับมายิ่งใหญ่ สู่การเป็นมหาอำนาจดังเดิม ซึ่งประเทศที่เราจะชวนทุกคนไปพูดคุยกันวันนี้คือ อินเดีย ครับ
มองย้อนประวัติศาสตร์ ความยิ่งใหญ่ของ "อินเดียในอดีต"
📌 มองย้อนประวัติศาสตร์สู่ความยิ่งใหญ่ของ “อินเดีย” ในอดีต
3
ประวัติศาสตร์ของอินเดียสามารถย้อนกลับไปไกลได้ถึงราว 3,000 ปีก่อนคริสตกาล สู่อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ ซึ่งเป็นหนึ่งในอารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และเป็นศูนย์รวมของความเจริญรุ่งเรืองทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรมต่างๆ มากมายในพื้นที่เอเชียใต้
3
แหล่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ
นับตั้งแต่อดีตมา อินเดียถือว่าเป็นประเทศที่มีความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจอย่างมาก มีเส้นทางการค้าต่างๆ มากมายพาดผ่านอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางสายไหมทางบก เส้นทางสายไหมทางทะเล รวมทั้งเส้นทางอื่น ๆ อย่างเช่น เส้นทางเครื่องหอม (Incense Route) เป็นต้น ส่งผลให้เศรษฐกิจของอินเดียเจริญเติบโตได้ดี และคิดเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างใหญ่ของเศรษฐกิจโลก
1
เส้นทางสายไหมทางบก
จากการประมาณการ พบว่าสัดส่วนของเศรษฐกิจอินเดียจะอยู่ที่เฉลี่ยราว ๆ 20 - 30% ของขนาดเศรษฐกิจโลกมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์ โดยหนึ่งในยุคที่อินเดียรุ่งเรืองที่สุด คือ ยุคภายใต้การปกครองของอาณาจักรโมกุล ซึ่งเป็นช่วงตั้งแต่ปี ค.ศ. 1526 ถึง 1857 โดยในยุคดังกล่าวนี้ เรียกได้ว่าเป็นยุคที่อาณาจักรอินเดียถูกรวมเป็นปึกแผ่น ทำให้ชาวอินเดียหลายร้อยล้านคนถูกปกครองภายใต้ผืนฟ้าและแผ่นดินเดียว และเป็นยุคที่มีความเฟื่องฟูทางด้านสถาปัตยกรรมอย่างมาก (สถาปัตยกรรมมรดกโลกอย่าง ทัชมาฮาล ก็ถูกสร้างขึ้นในยุคสมัยนี้แหละ)
5
'ทัชมาฮาล' สุสานหินอ่อน ณ เมืองอัครา รัฐอุตตรประเทศ
ในมิติด้านเศรษฐกิจก็เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่เจริญรุ่งเรืองอย่างมาก มีการปฏิรูปในด้านต่างๆ ที่ทำให้ปลดล็อคศักยภาพของเศรษฐกิจออกมา อย่างเช่น มีการปฏิรูปด้านการเกษตร นำพืชเศรษฐกิจเข้ามา โดยการเปลี่ยนระบบจัดเก็บรายได้ที่ดินจากแต่เดิมเป็นระบบส่วย (Tribute system) เป็นการเก็บภาษีในรูปตัวเงิน โดยมีการเก็บภาษีในอัตราที่แตกต่างกัน เพื่อกระตุ้นให้คนปลูกพืชเศรษฐกิจ ตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมทั้งมีการก่อสร้างระบบชลประทานขึ้นมา ส่งผลให้ผลิตผลของพืชผลการเกษตรเจริญเติบโตดีอย่างมาก
6
แผนที่ของอาณาจักรโมกุล
ขณะเดียวกัน อินเดียในยุคอาณาจักรโมกุลก็ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของอุตสาหกรรมการผลิตและการค้าของโลกเลยก็ว่าได้ โดยมีอุตสาหกรรมต่างๆ ที่สำคัญอย่างเช่น อุตสาหกรรมทอผ้า อุตสาหกรรมการต่อเรือ และอุตสาหกรรมเหล็ก
1
นอกจากนี้ ด้านการค้าระหว่างประเทศ ก็มีการส่งออกสินค้าไปที่ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศในทวีปยุโรป เป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น กรณีของจักรวรรดิอังกฤษ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 มีสัดส่วนการนำเข้าจากอินเดียสูงถึง 95% ของการนำเข้าจากทวีปเอเชียทั้งหมด ส่งผลให้อังกฤษขาดดุลทางการค้ากับอินเดียเป็นปริมาณมาก
3
ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจในยุคโมกุลของอินเดียได้ทำให้ขนาดเศรษฐกิจอินเดียเพิ่มสูงขึ้น โดยคิดเป็นกว่า 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลกในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 และกลายเป็นมหาอำนาจที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกแซงหน้าจีนไปได้ แต่เพียงแค่ราวๆ สองร้อยปีต่อมา สัดส่วนของเศรษฐกิจอินเดียต่อเศรษฐกิจโลกก็เหลือเพียงแค่ 2% เท่านั้น จากข้อมูลสถิติในปี ค.ศ. 1947 ที่อินเดียได้ประกาศเอกราชจากอังกฤษ
3
พัฒนาการของสัดส่วนเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในโลก
คำถามคือเกิดอะไรขึ้นกับอินเดีย?
1
📌 จุดเริ่มต้นของความถดถอยของอินเดีย (The Fall of the Empire of India)
ความถดถอยของอินเดียเริ่มขึ้นไปพร้อมๆ กับความถดถอยของราชวงศ์โมกุล ซึ่งมีปัจจัยสำคัญมาจากการบริหารราชการที่ผิดพลาดในช่วงปลายของรัชสมัย รัฐบาลไม่สามารถจ่ายค่าตอบแทนให้กับข้าราชการของตัวเองได้เช่นเดิม ส่งผลนำไปสู่ความขัดแย้งต่างๆ ในอาณาจักร คนสูญเสียความเชื่อมั่นในรัฐบาล นอกจากนี้ ยังเผชิญกับภัยรุกรานจากนอกอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นอาณาจักรอิหร่าน และจากบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษซึ่งได้มาหากินในอินเดียตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17
5
บริษัทอินเดียตะวันออกของบริเตน (British East India Company)
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นจากพื้นที่ต่างๆ เริ่มแยกตัวออกไปเรื่อยๆ เกิดเป็นอาณาจักรของตัวเอง และปกครองตัวเองโดยอิสระเสรี ส่งผลให้ราชวงศ์โมกุลสูญเสียดินแดนมาเรื่อยๆ ในขณะเดียวกัน ก็เผชิญภัยรุกรานจากนอกราชอาณาจักร อย่างเช่น บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ ซึ่งส่งผลให้สูญเสียดินแดนเพิ่มมากขึ้น และทำให้อังกฤษมีอิทธิพลเหนืออินเดียเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้าย สามารถยึดครองแคว้นเบงกอล ซึ่งเป็นแคว้นสำคัญของราชวงศ์โมกุลได้ในที่สุดในปี ค.ศ. 1757 และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่นำไปสู่การก่อตั้งบริติชราช (British Raj) ในช่วงเวลาต่อมา
6
'บริติชราช' (British Raj) จักรวรรดิอินเดียภายใต้การปกครองของอังกฤษ
การที่จักรวรรดิอังกฤษเข้ามาปกครองอินเดียส่งผลให้เศรษฐกิจอินเดียถดถอยเป็นอย่างมาก สัดส่วนของเศรษฐกิจอินเดียต่อเศรษฐกิจโลกได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เศรษฐกิจของจักรวรรดิอังกฤษก็ได้ขยายตัวได้ดี เนื่องจากอังกฤษได้ปกครองอินเดียผ่านการกดขี่ขูดรีด (Exploitation) โดยบีบบังคับให้อินเดียผลิตสินค้าขั้นวัตถุดิบ เพื่อขายให้กับผู้ผลิตอังกฤษในราคาถูก ในขณะเดียวกัน เมื่อผลิตเสร็จ และแปรรูปจนได้มูลค่าสูงขึ้น ก็นำกลับมาขายให้กลับอินเดียคืน ส่งผลให้อังกฤษก็เจริญเติบโตได้ดีอย่างมาก ในขณะที่อินเดียก็ถดถอยลงเรื่อยๆ
6
นอกจากนี้ การที่อังกฤษเข้าสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมก็ยังทำให้เกิดเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทำให้ผลิตสินค้าได้มากขึ้น และมีต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำลง เทคโนโลยีต่างๆ เหล่านั้น รวมไปถึงหูกทอผ้าของ Edmund Cartwright ซึ่งทอผ้าได้เร็วเท่ากับคน 200 คน ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตผ้าของอังกฤษต่ำมาก และสามารถแข่งขันด้านราคากับอินเดียได้อย่างเทียบชั้นกันไม่ติด
3
เมื่อผ้าอินเดียเริ่มแพ้ให้กับผ้าอังกฤษ ก็ส่งผลให้ค่าจ้างลดต่ำลงในอุตสาหกรรมทอผ้าของอินเดีย ซึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก และทำให้แรงงานจำนวนมากหนีออกจากความเจริญ ไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมการเกษตร อย่างการปลูกข้าวแทน เกิดเป็นปรากฎการณ์ที่เรียกว่า Deindustrialization และทำให้อินเดียไม่สามารถพัฒนาไปต่อได้
3
ท้ายที่สุดแล้ว การปกครองของจักรวรรดิอังกฤษเหนืออินเดียก็สิ้นสุดลงภายหลังจากที่มหาตมะ คานธี ได้เป็นผู้นำในการเรียกร้องอิสรภาพให้กับอินเดีย จนสามารถประกาศอิสรภาพได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1947
3
'มหาตมะ คานธี' นักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพแก่ชาวอินเดีย
📌 ก้าวแรกหลังประกาศอิสรภาพไม่ได้หอมหวน แต่กลับเผชิญอุปสรรคมากมาย
ช่วงแรกหลังจากที่ได้ประกาศอิสรภาพ อินเดียได้เลือกเส้นทางที่ผิดพลาดโดยหันไปมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ ตามโมเดลของสหภาพโซเวียด เน้นการควบคุมอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ ผ่านการจัดการโดยภาครัฐ ส่งผลให้เศรษฐกิจของอินเดียไม่สามารถเดินได้ดีเท่าที่ควร เนื่องจากไม่มีระบบตลาดแบบทุนนิยมที่คอยเข้ามาช่วยให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างไหลลื่น
ด้วยเหตุนี้ เศรษฐกิจของอินเดียในช่วงหลังการประกาศอิสรภาพจึงขยายตัวในอัตราที่ค่อนข้างต่ำ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ราวๆ 3.5% เท่านั้น ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1950 จนถึง 1980 จนเกิดเป็นคำเรียกขานกันว่าเป็น อัตราการขยายตัวแบบฮินดู (Hindu rate of growth)
1
จุดเปลี่ยนที่สำคัญเกิดขึ้นในปี 1991 ซึ่งมีการปฏิรูป ยกเครื่องเศรษฐกิจใหม่ ภายหลังจากที่ประสบการวิกฤติเศรษฐกิจไปในปี 1990 จนต้องเข้ารับการช่วยเหลือจากธนาคารโลก ซึ่งมีเงื่อนไขผูกมัดว่าอินเดียจะต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ให้มีความเสรีมากขึ้นด้วย โดยผู้นำในการปฏิรูปในขณะนั้น คือนายมันโมหัน สิงห์ อดีตรัฐมนตรีคลัง (ซึ่งภายหลังได้ก้าวมาเป็นนายกรัฐมนตรีอินเดีย)
3
'มันโมหัน สิงห์' อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีคลัง ผู้นำการปฎิรูปเศรษฐกิจอินเดีย
ทั้งนี้ รัฐบาลอินเดียได้ผลักดันให้เกิดการปฏิรูปต่างๆ มากมายทั้งการลดกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค เปิดเสรีทางการค้า การลงทุน แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนควบคุมวินัยทางเงิน และการคลัง ส่งผลให้หลังจากนั้น เศรษฐกิจของอินเดียเจริญเติบโตได้ดีอย่างมาก การลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากเพียงแค่หลักร้อยล้านเหรียญสหรัฐ เป็นหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในเวลาไม่กี่ปี ในขณะเดียวกัน ก็ได้สละคำขนานนามที่ว่าอัตราการเจริญเติบโตแบบฮินดูที่อยู่ที่ราว 3% ไปด้วย จนสามารถเติบโตไปได้สูงถึงราว 9% ในไม่กี่ปีต่อมา
1
นับแต่นั้นมา อินเดียก็พยายามที่จะปฏิรูปตัวเองอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งการดึงดูดการลงทุนต่างชาติผ่านการลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก ใบอนุญาตต่างๆ ที่ซับซ้อน รวมถึงการผลักดันสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคตให้กับอินเดีย เป็นแหล่งอุตสาหกรรมไอทีแนวหน้าในโลกให้ได้ ในขณะเดียวกัน ก็ยังคงพัฒนาด้านการศึกษาเพื่อปลดปล่อยศักยภาพของประชากรในวัยแรงงานอันมหาศาลของตัวเอง ให้มีความรู้ มีคุณภาพ และสามารถช่วยขับเคลื่อนนำอินเดียกลับไปเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกได้ดังเดิม
จึงกล่าวได้ว่า อินเดีย จะเป็นอีกประเทศที่กำลังก้าวไปสู่การเป็นมหาอำนาจ ที่เราต้องจับตามอง และหยิบฉวยโอกาสต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นมาเป็นของเรา
1
#all_about_history #เศรษฐกิจอินเดีย #ดินแดนภารตะ #อินเดีย #B-BHARATA
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
1
ผู้เขียน : เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา