15 ส.ค. 2021 เวลา 02:19 • หนังสือ
ย้อนมอง Social Distancing เมื่อสองศตวรรษก่อนของเฮนรี เดวิด ธอโร
การแยกตัวไปอยู่ในกระท่อมเล็กกลางป่าริมบึงวอลเดนกว่า 2 ปี กับบันทึกการใช้ชีวิตของชายที่ชื่อว่าเฮนรี เดวิด ธอโร จะมีสิ่งใดที่สามารถนำมาปรับใช้กับสถานการณ์ในปัจจุบันได้บ้าง แนวคิดของเขามีความน่าสนใจอย่างไร เพจ เขาคนนั้นในวันวาน จะพาไปสำรวจความคิดของชายผู้แยกตัวเข้าป่าเมื่อสองศตวรรษก่อนด้วยกันค่ะ
ย้อนมอง Social Distancing เมื่อสองศตวรรษก่อนของเฮนรี เดวิด ธอโร
เป็นเวลายาวนานกว่า 2 ปี ที่เฮนรี เดวิด ธอโร ผู้รังสรรค์หนังสือ “วอลเดน” แยกตัวออกไปใช้ชีวิตเพียงลำพังในกระท่อมขนาดกะทัดรัดริมบึงวอลเดน ดำรงชีวิตด้วยงานรับจ้างเล็กๆน้อยๆตามแต่จะมีคนจ้าง และเอนจอยกับการชมนกชมไม้พลางจดบันทึกเพื่อการศึกษาค้นคว้า ดูเผินๆ สถานการณ์อาจคล้ายกับพวกเรา ซึ่งจำเป็นต้องแยกตัวกันและเข้าสังคมน้อยลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดมาเกือบ 2 ปีแล้วเช่นกัน ต่างกันที่พวกเราย่อมไม่ได้เต็มใจสักเท่าไหร่ หลายคนถึงขั้นย่ำแย่ ขณะที่ธอโรเต็มใจที่จะแยกตัวเองออกไปจากสังคม แต่กระนั้นก็มิใช่เพราะเขารังเกียจสังคม แต่เพื่อการทดลองว่ามนุษย์จะสามารถใช้ชีวิตพึ่งพาตนเองได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งจุดนี้ก็น่าจะมีบางสิ่งจากบันทึกของเขาที่เราสามารถนำมาใช้ในการดำรงชีวิตและเอาตัวรอดจากสถานการณ์ที่แสนมืดมนขณะนี้ได้
จุดเริ่มต้นของวันนั้นที่เขาเดินเข้าป่า
ก่อนที่ธอโรจะเดินเข้าป่า เรามาปูพื้นก้นสักหน่อยดีกว่าค่ะ ว่าเขาใช้ชีวิตมาอย่างไร ทำไมจึงตัดสินใจแยกตัวเองจากสังคม
เฮนรี เดวิด ธอโรเป็นลูกชายของจอห์น ธอโร ซึ่งเปิดกิจการผลิตดินสอไม้ที่ไม่ราบรื่นนัก ครอบครัวเขามีพี่น้องทั้งหมด 4 คน ประกอบด้วยพี่สาว พี่ชาย ตัวเขาเอง และน้องสาว ด้วยสภาพการเงินของทางบ้านที่ไม่คล่องตัวสักเท่าไหร่ แต่ธอโรเป็นเด็กที่เก่งและมีความสามารถ ทั้งพ่อแม่และญาติจึงพยายามส่งเสียให้เขาได้รับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย จนวันนึงเขาก็เข้าเรียนในฮาวาร์ดได้จริงๆ (นายมันจีเนียสคุณธอโร!) โดยเขาได้เรียนทั้งกายวิภาค ธรรมชาติวิทยา โลหวิทยา รวมไปถึงภาษาต่างๆ
เมื่อจบการศึกษา เขาไม่ได้เร่งร้อนในการหางานทำ เขาไปสมัครเป็นครูในโรงเรียนมัธยมตามคำชักชวนของพี่ชาย พร้อมกันนั้นก็ช่วยกิจการครอบครัวด้วยการง่วนอยู่กับการคิดประดิษฐ์เครื่องใส่ไส้ดินสอในเนื้อไม้ โดยคงคุณภาพให้เนื้อไม้ไม่แตก ด้วยความจีเนียส ธอโรก็ทำสำเร็จแถมยังสร้างชื่อให้กับกิจการครอบครัวถึงขั้นที่ได้รับการรับรองมาตรฐานว่าเป็นดินสอไม้คุณภาพดีเทียบเท่าดินสอไม้จากลอนดอน ขณะทางครอบครัวกำลังชื่นบาน ธอโรกลับโยนทุกอย่างทิ้งพร้อมประโยคเด็ดว่า “อะไรที่ทำสำเร็จได้ครั้งหนึ่ง ผมจะไม่ทำมันซ้ำอีก”…สมกับที่ผู้คนกล่าวถึงเขาว่า เป็นคนเย็นชา และมั่นคงในจุดยืนของตัวเองสุดๆ
นอกจากวีรกรรมและวลีเด็ดดังกล่าว ธอโรยังลาออกจากงานสอนด้วย เพราะเขาปฏิเสธที่จะลงโทษนักเรียนของเขาด้วยการตี หรือการลงโทษรูปแบบใดก็ตามที่ทำร้ายร่างกายนักเรียน เขาไม่เห็นด้วยกับวิธีการเช่นนี้เลยลาออกดื้อๆเพื่อแสดงจุดยืน และออกมาเปิดโรงเรียนสอนภาษาและไวยากรณ์ของตัวเองภายหลัง
ทว่าในความไม่สนโลก ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมของเขา คนที่เขารักและสนิทมากคือพี่ชายของเขา จอห์น ธอโร จูเนียร์ เขาเป็นทั้งพี่ชายและเพื่อนที่สนิทที่สุดของธอโร ทั้งสองมักทำกิจกรรมต่างๆด้วยกัน เคยล่องเรือพายลำเล็กขนาด 15 ฟุตที่สร้างกันเอง ชมธรรมชาติไปด้วยกันตามลำน้ำซัดเบอรี จนเกิดเป็นหนังสือชื่อ “A Week on the Concord and Merrimack Rivers” ในภายหลัง แต่จอห์นกลับถูกเชื้อบาดทะยักคร่าชีวิตไปในปี 1842 เพียงแค่โดนมีดโกนบาด ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ธอโรเสียใจกับการจากไปก่อนวัยอันควรของพี่ชายมาก ขณะเดียวกันเพื่อนต่างวัยที่เขาเคารพมากๆคนหนึ่ง ราล์ฟ วอลโด เอเมอร์สัน นักกวีชื่อดังที่เป็นทั้งที่ปรึกษาและหนึ่งในเพื่อนที่ธอโรสนิทที่สุดก็เข้ามาชี้ทางให้เขา
ภาพของธอโร และเอเมอร์สัน ที่มา https://www.americamagazine.org/arts-culture/2020/01/01/review-remarkable-friendship-emerson-and-thoreau
กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างธอโรและเอเมอร์สัน เอเมอร์สันค่อนข้างมีอิทธิพลต่อธอโรอย่างมาก ในแง่แนวคิด พวกเขามีแนวคิดที่แปลกในยุคสมัยนั้นเหมือนๆกัน พวกเขาเชื่อในการพึ่งพาตนเองของมนุษย์ เชื่อในสิ่งที่ธรรมชาติสร้างว่ามีความสวยงาม สงบ และมีคำตอบถึงความหมายของชีวิต เชื่อในหลักการเรียนรู้ด้วยตนเอง เอเมอร์สันเป็นผู้เห็นถึงความสามารถในการเขียนของธอโร และทำให้ธอโรเริ่มชีวิตนักเขียนด้วยการเขียนบทความลงนิตยสาร Dial ในขณะเดียวกัน ตอนอยู่และทำงานกับเอเมอร์สัน ธอโรเริ่มเขียนบันทึก และเขียนกวี จนกระทั่งเริ่มแตกสาขาเป็นสไตล์การเขียนของตัวเองที่เน้นการบันทึกประสบการณ์ด้วยภาษาเรียบง่าย
เมื่อพี่ชายของธอโรเสียชีวิตลง ธอโรรู้สึกเศร้าและว่างเปล่า กอปรกับความต้องการทดลองแนวคิดในการแยกตัวออกจากสังคมไปพึ่งพาตัวเองมาสักพักแล้ว เขาจึงขอไปสร้างกระท่อมหลังเล็กๆในที่ดินของเอเมอร์สันริมบึงวอลเดน เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินเข้าป่าที่จะอยู่ข้ามกาลเวลามาอีกเกือบสองศตวรรษ
สิ่งที่สกัดกลั่นออกมาจากการเข้าป่า
เนื่องจากการแยกตัวไปเข้าป่าของธอโรนั้น ได้ถูกตั้งจุดประสงค์ไว้เป็นการทดลองว่า คนเราจะสามารถใช้ชีวิตพึ่งพาตัวเองท่ามกลางธรรมชาติ และออกห่างจากสังคมได้มากแค่ไหน ในภาวะของพวกเราในปัจจุบันเองที่ก็ดูเหมือนจะต้องพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก เนื่องจากความช่วยเหลือที่ยากจะเข้าถึงทุกคนอย่างทั่วถึงในสถานการณ์การแพร่ระบาดในขณะนี้ เขาทำอะไรและทำอย่างไรในการพึ่งพาตัวเองในภาวะเช่นนั้น
ภาพป้ายหน้าทางเข้าไปเยี่ยมชมกระท่อมริมบึงวอลเดน ที่มา https://medium.com/life-according-to-max/anti-materialism-and-henry-david-thoreau-4b4e5cd544e
เริ่มแรกธอโรค่อยๆพิจารณาถึงสิ่งจำเป็น และไม่จำเป็นในชีวิตทีละอย่าง ดูว่าในการดำรงชีวิตเขาต้องการปัจจัยใดบ้างอย่างแท้จริง ซึ่งสะท้อนออกมาในการสร้างกระท่อมของเขา ที่ซึ่งประกอบด้วยเตียงเดี่ยวเพียง 1 หลัง เตาผิงไว้ให้ความอบอุ่น แก้วและถ้วยชามเท่าที่จำเป็นวางอยู่มุมหนึ่ง โต๊ะตัวหนึ่งซึ่งใช้ทั้งเพื่อเขียนบันทึก รับประทานอาหาร และรับแขก เก้าอี้เพียง 3 ตัว ตัวหนึ่งสำหรับเขา สองตัวในกรณีที่เพื่อนสนิทมาเยี่ยมเยียน และสามตัวสำหรับการสมาคม (สามคนก็เป็นการสมาคมเท่าที่จำเป็นแล้วสำหรับธอโร) นอกจากนี้ก็มีเพียงหนังสือไว้เติมอาหารให้สมอง อุปกรณ์ช่างสำหรับซ่อมแซม รวมทั้งรับจ๊อบจิปาถะ และฟืนที่แยกเก็บไว้หลังบ้าน
ภาพกระท่อมจำลองของธอโรริมบึงวอลเดน ที่มา https://www.apartmenttherapy.com/first-tiny-house-henry-david-thoreau-255479
สำหรับเสื้อผ้า ธอโรก็มีเสื้อผ้าดีๆเพียงชุดเดียวเผื่อการไปทำธุระสำคัญ และชุดทำงานที่คล่องตัว โดยเขาสำทับว่า หากมีวาระโอกาสหรืองานใดที่ทำให้คุณต้องซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่ คุณต้องกลับมาพิจารณาแล้วว่า การไปร่วมงานหรือการไปสมาคมกับผู้คนในโอกาสดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่ ข้อนี้ก็นับว่าค่อนข้างทำใจยากนะคะสำหรับยุคสมัยนี้ เพราะเราต่างมีพื้นที่บนสื่อสังคมออนไลน์ที่เรายังมีเหตุให้ซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่และใส่ไปถ่ายภาพในสถานที่เที่ยวใหม่ๆ ทว่าด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่เราต้องลดการออกนอกบ้าน เราคงจะทำได้ง่ายขึ้น หากต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงกระเป๋า รองเท้า และสิ่งอื่นๆรอบตัวที่เราต้องกลับมาทบทวนว่าจำเป็นมากน้อยแค่ไหน
ในแง่การทำงาน ธอโรแบ่งการทำงานเป็นสองแนวทาง แนวทางแรกคือการทำงานเพื่อหารายได้มาประทังชีพเท่าที่จำเป็น เขารับงานจิปาถะหลากหลาย ทั้งรับเป็นที่ปรึกษาด้านการเกษตรให้กับชาวนาชาวไร่ รับตอนกิ่ง ซ่อมรั้ว ต่อเรือ รับทุกงานที่มีความสามารถจะทำได้จริงๆค่ะ นอกจากหารายได้นอกบ้าน ธอโรก็ปลูกผักไว้สำหรับบริโภคเองในบริเวณบ้านและหาของป่าเอาค่ะ เพียงเท่านั้นเขาก็อยู่กินเท่าที่จำเป็นได้แล้ว ถึงกับทำบัญชีเพื่อตรวจสอบการใช้จ่ายของตัวเองด้วยซ้ำว่าได้ซื้ออะไรเกินความจำเป็นหรือไม่ คราวหน้าต้องตัดการใช้จ่ายรายการใดออก กล่าวได้ว่าใช้วินัยในตัวเองสูงเลยทีเดียว
อีกแนวทางหนึ่งที่เข้ากับจังหวะชีวิตที่ช้าลงในตอนนี้ คือการที่ธอโรสนับสนุนให้ค้นหาตัวเอง เขาทำเฉพาะสิ่งที่ชอบจริงๆ การทำงานของเขาเป็นไปเพื่อการค้นคว้า การหาความเป็นจริงในธรรมชาติ เขาใช้เวลาที่เหลือจากการทำงานหาเงินประทังชีพและตระเตรียมของจำเป็นไปเดินสำรวจป่า ชมนกชมไม้ คอยสังเกตธรรมชาติและจดบันทึก รวมทั้งอ่านหนังสือที่เขาชอบ ซึ่งธรรมชาตินี้ สำหรับธอโร ธรรมชาตินั้นทั้งศักดิ์สิทธิ์และซุกซ่อนความลับแห่งชีวิตเอาไว้มากมาย เขาไม่ได้เชื่อในศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่เขาเชื่อในความเป็นจริงของธรรมชาติ รวมถึงรักความอิสระในการดำเนินชีวิตในฐานะปัจเจกชน อันนำมาสู่แนวคิดอีกอย่างที่น่าสนใจของเขาว่าด้วยปัจเจกชนสามารถต่อต้านการทำงานของรัฐที่ไม่เป็นธรรม หรือที่รู้จักกันในนามอารยะขัดขืน ตามอ่านกันได้ในโพสหน้านะคะ
สำหรับโพสนี้ เราได้อะไรจากการแยกตัวเมื่อสองศตวรรษก่อนของธอโรบ้าง อย่างแรก เราจะได้ลองทบทวนถึงสิ่งที่จำเป็นในการใช้ชีวิตจริงๆ ได้ทบทวนว่ากิจกรรมใดที่ควรทำหรือควรตัดทิ้งเพื่อไม่ให้เกิดส่วนเกินจำเป็นของชีวิต อย่างที่สองคือ เราจะได้กลับมาสังเกตพฤติกรรมตัวเองว่ามีอะไรที่ก่อให้เกิดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและเป็นการสร้างภาระให้เราโดยไม่รู้ตัวหรือไม่ ได้สร้างระเบียบวินัยให้กับการใช้จ่าย และอย่างสุดท้าย เราสามารถใช้เวลานี้ในการทำความรู้จักตัวเอง และเริ่มงานอดิเรกที่เรารักให้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในชีวิตได้ ใช้ชีวิตกับสิ่งที่ชอบให้ลุ่มลึกมากขึ้นเพื่อเยียวยาจิตใจในภาวะปัจจุบันที่ดูไม่มีท่าทีจะจบลงง่ายๆนี้
ในตอนนี้ แน่นอนว่าแต่ละคนย่อมเผชิญสถานการณ์คนละรูปแบบ หวังว่าแนวคิดของธอโรจะช่วยในการทบทวนสถานการณ์และนำไปปรับใช้ของแต่ละคนได้ไม่มากก็น้อยนะคะ
สุดท้ายนี้ฝากผู้อ่านใจดีช่วยรับเพจน้องใหม่ไว้ในอ้อมอกอ้อมใจ กดติดตามเป็นแม่ยก หรือมอบการแสดงความรู้สึก คอมเม้นท์มาคุยกันให้กำลังใจผู้เขียนได้นะคะ ขอบคุณทุกท่านที่อ่านมาจนถึงตรงนี้ค่ะ
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา