15 ส.ค. 2021 เวลา 02:29 • ปรัชญา
เคยไหม? เมื่อคุณเข้าใจอะไรปรุโปร่ง.. ความสิ้นหวังอับจนก็ปะทุขึ้นมา
นานๆที ผมถึงจะเจอความรู้สึกแบบนี้ แต่ความรู้สึกดังกล่าวได้ย้อนกลับมาอีกครั้งเมื่อตะลุยอ่านชุดหนังสือที่เกี่ยวข้องกับ กฎหมายและความยุติธรรม ที่เคยโพสต์เล่าไปก่อนหน้านี้จบลง
มันเป็นความรู้สึกอันขมขื่นที่เอ่อขึ้นมาปริ่มขอบของความอดทน
โดยเฉพาะ..เมื่ออ่านเล่มสุดท้ายนี้
จะว่าไปเนื้อหาในหนังสือ 'กฎหมาย ย่อมเป็น กฎหมาย' ที่ 'ศศิภา พฤกษฎาจันทร์' เรียบเรียงจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของเธอที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ได้แตกต่างจากเนื้อหาหนังสือ 'ประวัติศาสตร์ความคิด นิติปรัชญา' ของอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของเธอที่ผมอ่านไปก่อนหน้านี้มากนัก
แต่ประเด็นสำคัญซึ่งน่าสนใจที่สุดคือการนำเอาหลักนิติปรัชญามาเทียบเคียงกับบริบทในสังคมไทย
ระบบกฎหมายของไทยที่อ้างอิงกับระบบกฎหมายสากลนั้นเริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ห้า โดยกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งสำเร็จวิชากฎหมายจากวิทยาลัยไครสต์เชิร์ชในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด
โดยเริ่มต้นปฏิรูประบบศาลและจัดตั้งโรงเรียนกฎหมาย อันมีฐานแนวความคิดแบบปฏิฐานนิยม(positivism -ที่เชื่อว่าทุกสิ่งสามารถระบุคุณค่าหรือพิสูจน์ได้ตามหลักวิทยาศาสตร์)
แนวความคิดดังกล่าวคือการพยายามแยกระบบของกฎหมายออกจากศีลธรรม พูดให้ชัดคือไม่ต้องตีความบนคำว่าดี-ชั่วในระบบคุณค่าของศีลธรรม
แต่อยู่บนพื้นฐานของความชัดเจน อธิบายได้และใช้อย่างเสมอหน้ากัน
ซึ่งวิธีคิดแบบนี้เป็นแนวคิดที่ยากจะยอมรับสำหรับผู้ที่มองว่า กฎหมายก็คือกฎเกณฑ์หนึ่งที่ผลักดันให้คนเป็นคนดี
มิใช่เป็นคำสั่งที่เพียงแค่สั่งมาแล้วต้องปฏิบัติตาม
ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันไปในแวดวงนิติปรัชญา
ปัญหาก็คือ เมื่อวางระบบมาในลักษณะที่เน้นความชัดเจนและเสมอภาคเท่าเทียมกันแล้ว แต่หลายครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติขึ้นในสังคม กลับเกิดลักษณะที่ใช้การตีความโน้มเอียงไปในทางที่ละเว้นในหลักการข้างต้น
นำไปสู่การวินิจฉัยในชั้นศาล ที่เลือกอธิบายเพียงลักษณะเฉพาะตัวที่ท่องตามๆกันมาว่า 'กฎหมายเป็นคำสั่ง' ที่เราต้องปฏิบัติตาม และจะต้องได้รับโทษถ้าหากมีผู้ใดละเมิด
โดยละเลยถึงแหล่งที่มาของกฎหมาย เจตนารมณ์ของการออกกฎหมายและความสมบูรณ์ของกฎหมายนั้นๆ
ผู้เขียนยกตัวอย่าง คำพิพากษาฎีกาที่ 1153-1154/2495 (ช่วงรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามทำรัฐประหาร) ขึ้นมาเป็นข้อสังเกต
'การล้มล้างรัฐบาลเก่า ตั้งเป็นรัฐบาลขึ้นใหม่โดยใช้กำลังนั้นในตอนต้นอาจไม่ชอบด้วยกฎหมายจนกว่าประชาชนจะได้ยอมรับนับถือแล้ว เมื่อเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามความเป็นจริง คือหมายความว่าประชาชนได้ยอมรับนับถือแล้ว ผู้ก่อการกบฏล้มล้างรัฐบาลดังกล่าว ก็ต้องเป็นความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 102 ...
... กฎหมายลักษณะอาญา ไม่มีบทวิเคราะห์ศัพท์คำว่ารัฐบาลไว้ จึงต้องเข้าใจตามหลักกฎหมายทั่วไป กล่าวคือบุคคลหรือคณะบุคคลที่ใช้อำนาจบริหารประเทศชาติสามารถรักษาความสงบของบ้านเมืองไว้โดยปราศจากการขัดแย้งแย่งอำนาจ เป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามความเป็นจริง ได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลโดยชอบด้วยกฎหมายลักษณะอาญา'
หรืออีกตัวอย่างในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่นานนัก กับคำท้วงติงของนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ต่อความชอบธรรมในการยึดอำนาจของคณะปฏิวัติ
แต่ศาลกลับกล่าวอ้างว่า คนทั่วไปต่างยอมรับกับการรัฐประหารในครั้งนี้ เพื่ออธิบายว่า หลักการประสิทธิภาพในตัวกฎหมายนั้นยังสามารถดำเนินต่อไปได้
'ไม่ปรากฎว่ามีประชาชนหรือหน่วยงานองค์กรของรัฐต่อต้านการยึดอำนาจการปกครองในครั้งนี้จน คสช. ไม่อาจบริหารประเทศได้แต่อย่างใด ส่วนที่อ้างว่าจะต้องมีรัฐธรรมนูญมายกเว้นความผิดของ คสช. หรือมีพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์มารองรับฐานะของ คสช. นั้นเป็นเพียงความเข้าใจของจำเลยเอง หาได้มีกฎเกณฑ์ไว้ในที่ใดว่าจะต้องมีการดำเนินการดังกล่าวเสียก่อน จึงจะถือว่าการยึดอำนาจการปกครองประเทศเป็นผลสำเร็จดังที่จำเลยฎีกาไม่'
คำพิพากฎีกาที่ 3578/2560
(คดีเกี่ยวกับรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พค. 2557 ที่ศาลอ้างถึงหลักประสิทธิภาพมารับรองความสมบูรณ์ของการรัฐประหารต่อการท้วงติงของ นายสมบัติ บุญงามอนงค์)
ที่เขียนบ่นมายืดยาว ก็เพียงอยากจะบอกว่า..
ความยุติธรรมนั้นมาจากระบบกฎหมายที่ชัดเจนแน่นอน มีวัตถุประสงค์ที่เอื้อให้เกิดความเท่าเทียมในสังคม ซึ่งจะเกิดได้ ก็ต้องมาจากระบบการเมืองที่ดี
ซึ่งวิธีคิดแบบระบบอุปถัมภ์และบทเฉพาะกาลที่เต็มไปด้วยข้อยกเว้นนั้น คงไม่ใช่แน่ๆ
ขอให้เจริญๆยิ่งขึ้น..กันทุกคนนะครับ
หมายเหตุ : ชอบปกหนังสือมว๊ากกก 😅
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
#กฎหมายย่อมเป็นกฎหมาย
ศศิภา พฤกษฎาจันทร์ : เขียน
.
***********************************
เพื่อนๆ Blockdit ครับ ผมมีเขียนลงทั้งหมด 3 เพจ แตกต่างกันตามแต่อารมณ์จะพาไป คือ
๏ 'Bear's Books'  = นำข้อคิดดีๆที่ได้จากการอ่านหนังสือแต่ละเล่มมาเล่า ชวนให้คิดตามกันไป
๏ 'Bear's Blog'  = จิปาถะ กับภาพถ่ายกับมุมมองของชีวิต ในรูปของ บทกลอน เรื่องสั้น หรือ ไฮกุ และ คอลัมน์ การ์ตูนกวนเมือง
๏ 'คิด อย่างสถาปนิก'  = เรื่องของสถาปัตยกรรมต่างๆจากสายตาสถาปนิก
ขอเชิญชวนให้เข้าไปแวะชมแวะชิมนะครับ
เผื่อจะมีบางข้อเขียนที่อาจถูกใจ
ฝากติดตาม หรือ แลกเปลี่ยนความคิดกันได้ครับ
หรือใครสนใจเฉพาะภาพถ่าย
ลองเข้าไปดูและกดติดตามได้ใน
ig : khanaad_photo  นะครับ
ขอขอบคุณและหวังว่า เราจะได้รู้จักกันนะครับ 🐻❤
โฆษณา