10 ก.ย. 2021 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
เส้นทางข้ามคาบสมุทรไทยจากลูกปัดโดยอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม
: ตามรอยเส้นทางลูกปัด
หลังจากการศึกษาเส้นทางข้ามคาบสมุทรเขาขะเมายี้-เขาสามแก้ว ข้าพเจ้าและนายแพทย์บัญชายังคงทำการศึกษาค้นคว้าต่อ โดยอาศัยตำแหน่งลูกปัดที่พบและรวบรวมโดยนายแพทย์บัญชาเป็นหลักฐานของบ้านเมือง ตามเส้นทางข้ามคาบสมุทรเส้นทางอื่นๆ อีก
บรรดาลูกปัดที่นายแพทย์บัญชารวบรวมไว้อย่างเป็นระบบนั้น สามารถวิเคราะห์ขนาดและรูปแบบออกเป็น ๒ กลุ่ม
กลุ่มแรกเป็นลูกปัดที่พบทั่วไปตามผิวดินและแหล่งขุดค้นตั้งแต่สมัยทวารวดีและลพบุรีลงไป เช่น เมืองอู่ทอง นครปฐม ลพบุรี ศรีมโหสถ เป็นต้น เป็นลูกปัดที่มีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ปะปนกัน มีทั้งทำด้วยดินเผา หินสี เช่น อะเกต คาร์เนเลียน แก้วหลากหลายสีและชนิด รวมทั้งที่มีลายสลับสีต่างๆ ซึ่งหลายคนเชื่อว่ามาจากต่างประเทศ ในแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดีหรือลพบุรีก็ดี ที่เกิดขึ้นตามแหล่งชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ มักมีลูกปัดดินเผา เปลือกหอย หิน และกระดูกในชั้นดินที่ต่ำจากยุคประวัติศาสตร์ลงไป
ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นลูกปัดที่มีขนาดต่างๆ เช่นเดียวกันกับกลุ่มแรก แต่จะมีสิ่งใหม่ๆ มากกว่า โดยเฉพาะลูกปัดขนาดเล็ก ขนาดจิ๋ว รวมอยู่ด้วยมากมาย มีลูกปัดหินสีที่มีลวดลายสัญลักษณ์ทางศาสนาที่ใช้วัสดุคุณภาพดี ส่วนใหญ่เป็นของที่มาจากภายนอก หลายชนิดมีขนาดใหญ่กว่าบรรดาลูกปัดกลุ่มแรกที่กล่าวมา ลูกปัดเหล่านี้มักพบในระยะหลังจากการขุดปรับที่ดินเพื่อทำเกษตรกรรมของชาวบ้าน อยู่ตามหลุมฝังศพตั้งแต่สมัยยุคเหล็กลงมาจนถึงสมัยทวารวดี เช่นที่เมืองอู่ทอง เป็นต้น
สมัยแรกๆ ที่ข้าพเจ้าและอาจารย์มานิต วัลลิโภดม ศึกษาเรื่องเมืองอู่ทองร่วมกับพลอากาศโทมนตรี หาญวิชัย ผู้ศึกษารวบรวมลูกปัดอู่ทอง พบแต่ลูกปัดสมัยทวารวดี หรืออย่างดีก็สมัยฟูนันลงมา เพราะลูกปัดแบบนี้เหมือนกันกับที่พบในแหล่งโบราณคดีเมืองออกแอว ประเทศเวียดนาม
แต่เมื่อศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี ขุดค้นแหล่งโบราณคดีอันเป็นแหล่งฝังศพที่บ้านดอนตาเพชร จึงได้พบลูกปัดทั้งขนาดใหญ่และเล็กตามแบบกลุ่มที่ ๒ ขึ้น ทำให้การหาลูกปัดตามแหล่งฝังศพก่อนประวัติศาสตร์ระบาดไปทั่วตามเนินดินต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร รวมทั้งการขุดทำลายแหล่งเมืองท่าและแหล่งอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ใกล้ทะเล เช่น คลองท่อม จังหวัดกระบี่ และเกาะคอเขา จังหวัดพังงา ความต่างกันของลูกปัดกลุ่มแรกกับกลุ่มที่ ๒ ก็คือ กลุ่มที่ ๒ มีราคาค่างวด ทั้งอายุ สมัยเวลา และชนิดของวัสดุที่สวยงาม มีฝีมือและสัญลักษณ์ในทางศาสนาและความเชื่อ การขุดลูกปัดนี้ขยายตัวไปทั่วประเทศและยังระบาดไปยังประเทศใกล้เคียงด้วย
ไม่มีนักประวัติศาสตร์โบราณคดีทั้งในหน่วยงานราชการ มหาวิทยาลัย สนใจทำการศึกษาและรวบรวมมาไว้ในพิพิธภัณฑ์ เพราะเหตุว่าการได้มาของลูกปัดเหล่านั้น ไม่ได้มาจากหลุมขุดค้นทางโบราณคดี ซึ่งนานๆ ทีจึงจะมีการขุดค้นกัน เป็นเรื่องตามไม่ทันกับการสูญเสียหลักฐานทางโบราณคดีที่ถูกทำลายโดยนักล่าของเก่า นายแพทย์บัญชาคือบุคคลเดียวที่รวบรวมลูกปัดเพื่อศึกษาแบบเดียวกับพลอากาศโทมนตรีที่ล่วงลับไปแล้ว
การรวบรวมโดยการซื้อหามาด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัวจำนวนมากของนายแพทย์บัญชา เพื่อการศึกษาหาคุณค่าและความหมายทางวัฒนธรรมนั้น คือสิ่งที่ข้าพเจ้าอนุโมทนาและเห็นชอบ เพราะไม่ได้รวบรวมเพื่อกำไรทางการค้าและแลกเปลี่ยนอย่างนักเล่นแร่แปรธาตุ หากได้ศึกษาแหล่งที่พบบรรดาลูกปัดที่ซื้อมาอย่างเป็นระบบ โดยเดินทางไปตามแหล่งที่พบเพื่อบันทึกถึงแหล่งที่มา
การให้ความสำคัญกับแหล่งที่พบของบรรดาลูกปัดเหล่านั้น ย่อมมีคุณค่าทางโบราณคดีโดยตรง แม้ว่าจะไม่มีการขุดค้นชั้นดินตามแบบอุดมคติของบรรดานักโบราณคดีไทยก็ตาม สำหรับข้าพเจ้า การบันทึกแหล่งที่มาของลูกปัดมีคุณค่ายิ่งต่อการศึกษาภูมิวัฒนธรรมของถิ่นฐานบ้านเมืองโบราณ ตั้งแต่สมัยก่อนยุคประวัติศาสตร์ถึงทวารวดี ขึ้นไปถึงฟูนัน สุวรรณภูมิ และยุคก่อนประวัติศาสตร์ในยุคหินขัด นี่คือศักยภาพในทางโบราณคดีปัจจุบันและที่แล้วมาเกือบทั่วโลก เพราะการขุดค้นทางโบราณคดีอย่างถูกต้องตามหลักวิชาในอุดมคตินั้น เป็นสิ่งที่ไม่ทันการณ์และไม่อาจจะทำได้ในทุกแห่ง หากจะรอคงต้องชาติหน้าเวลาบ่ายๆ เพราะฉะนั้นในความเห็นของข้าพเจ้า
การค้นคว้าหาลูกปัดและแหล่งโบราณคดีอันเป็นที่มาของลูกปัดของนายแพทย์บัญชา ก็คือการทำงานที่เรียกว่าโบราณคดีกู้ภัย (Salvage Archaeology) นั่นเอง
: คาบสมุทรมลายู คาบสมุทรไทย
ผลของการสำรวจเส้นทางข้ามคาบสมุทรจากเขาขะเมายี้ที่เกาะสองบนฝั่งแม่น้ำกระบุรี ข้ามช่องเขาที่เป็นสันปันน้ำจากเขตอำเภอกระบุรีมายังต้นน้ำท่าตะเภาในเขตอำเภอท่าแซะ ไปยังเขาสามแก้วในเขตอำเภอเมืองชุมพร ได้ทำให้เกิดความอยากรู้เพิ่มขึ้นในเรื่องเส้นทางข้ามคาบสมุทรเส้นอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีที่พบลูกปัดยุคสุวรรณภูมิ เช่นที่เขาขะเมายี้และเขาสามแก้ว นายแพทย์บัญชาและข้าพเจ้าจึงได้ร่วมกันศึกษาและสำรวจแหล่งโบราณคดีลูกปัดสุวรรณภูมิในทางภูมิวัฒนธรรมไปยังตำแหน่งต่างๆ ที่พบทั้งสองฝั่งทะเลบนคาบสมุทรไทย
ที่ใช้คำว่า “คาบสมุทรไทย” นั้น เคยให้คำจำกัดความไว้แล้วก่อนหน้านี้ แต่ขอทบทวนอีกครั้งว่า แบ่งแยกออกจากคาบสมุทรมลายูที่ฝรั่งยุคอาณานิคมเรียกไว้ โดยใช้เกณฑ์จากพื้นที่ทางวัฒนธรรมและลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นเครื่องกำหนด โดยพื้นที่ทางวัฒนธรรมคาบสมุทรไทยเริ่มตั้งแต่ทะเลสาบสงขลาในเขตจังหวัดสงขลา ขึ้นไปจนถึงจังหวัดเพชรบุรี เป็นพื้นที่สอดคล้องกับลักษณะทางภูมิศาสตร์จากแนวเทือกเขาบรรทัด ที่ต่อเขตกับกลุ่มเทือกเขาสันกาลาคีรีตั้งแต่จังหวัดปัตตานีลงไป นับเป็นพื้นที่ของคาบสมุทรมลายูไปจนถึงเกาะสิงคโปร์ อันอยู่ในเขตแดนประเทศมาเลเซีย ซึ่งตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙ มีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาหลัก
ความต่างกันของพื้นที่ทางวัฒนธรรมของคาบสมุทรไทยและคาบสมุทรมลายูนั้นก็คือ คาบสมุทรมลายูปกคลุมโดยกลุ่มเทือกเขาสันกาลาคีรี เป็นพื้นที่กว้างใหญ่ซึ่งเต็มไปด้วยภูเขาสลับซับซ้อน รวมทั้งมีป่าปกคลุมหนาแน่น มีพื้นที่ตามชายฝั่งทะเล พบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานตามชายทะเลที่แหล่งชุมชนใหญ่ การเดินทางขนถ่ายสินค้าข้ามคาบสมุทรเป็นไปได้ยาก ไม่มีร่องรอยเส้นทางสำคัญให้เห็นชัดเจน ยกเว้นบริเวณรอยต่อของคาบสมุทรจากอ่าวปัตตานีมายังทะเลสาบสงขลานั้น พื้นที่ทั้งสองฝั่งของคาบสมุทรมลายู มีพื้นที่รอบอ่าวและชายทะเลที่เกิดเป็นบ้านเมืองใหญ่ๆ ได้ คือ รัฐปัตตานีทางฝั่งไทย และรัฐไทรบุรีทางฝั่งทะเลอันดามัน
ทั้งสองรัฐนี้มีพัฒนาการขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ที่เรียกว่า รัฐลังกาสุกะ และมีเส้นทางข้ามคาบสมุทรชัดเจน จากต้นน้ำปัตตานีในเขตอำเภอเบตงมายังต้นน้ำสุไหงปัตตานี และแม่น้ำเมอบกในเขตไทรบุรี แต่เส้นทางข้ามคาบสมุทรนี้ยังมีอายุไม่ถึงสมัยสุวรรณภูมิ
ส่วนทางคาบสมุทรไทยตั้งแต่จังหวัดสงขลาถึงนครศรีธรรมราช ที่มาสุดในเขตอำเภอสิชลและอำเภอขนอม มีเทือกเขาบรรทัดเป็นสันปันน้ำ ชายฝั่งทะเลเป็นที่ราบตามแนวสันทราย ไม่วกเว้าเป็นอ่าวเล็กอ่าวน้อยเหมือนกับพื้นที่ชายทะเลในบริเวณอื่นที่อยู่ทางเหนือในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี และทางใต้คือจังหวัดปัตตานี อันเป็นพื้นที่ในเขตกลุ่มเทือกเขาสันกาลาคีรี แนวชายฝั่งจากสงขลาถึงนครศรีธรรมราชดังกล่าว ประกอบด้วยแนวสันทราย ๒ ชุด
ชุดแรกจากสงขลาถึงปากพนัง เป็นสันทรายเกิดใหม่ชั้นนอก พอถึงแหลมตะลุมพุก ชายฝั่งทะเลเว้าเป็นอ่าวใหญ่ไปจรดกับแนวสันทรายเก่าที่เริ่มจากอำเภอชะอวด เป็นแนวตรงขึ้นไปถึงนครศรีธรรมราช ผ่านอำเภอสิชลขึ้นไปจรดอำเภอขนอม อันเป็นจุดเริ่มต้นของชายฝั่งทะเลที่หักเว้าจากอำเภอกาญจนดิษฐ์ เป็นอ่าวบ้านดอนของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นอ่าวใหญ่ที่มีชายฝั่งทะเลเว้าเป็นอ่าวเล็กอ่าวน้อยตามบริเวณปากน้ำของลำน้ำใหญ่น้อยที่ไหลลงจากเทือกเขาตะนาวศรีมาออกอ่าวบ้านดอน โดยมีลำน้ำใหญ่ ๒ สาย คือ ลำน้ำตาปีและลำน้ำพุมดวง พื้นที่ชายทะเลของอ่าวบ้านดอนวกเว้าเป็นอ่าวเล็กอ่าวน้อยมาสิ้นสุดที่แหลมซุยในเขตตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา และจากแหลมซุยเป็นแนวสันทรายเลียบชายฝั่งทะเลเป็นเส้นตรงไปยังอำเภอท่าชนะ อำเภอละแม อำเภอหลังสวน ที่มีลำน้ำหลังสวนเป็นลำน้ำใหญ่ ไหลจากบริเวณตำบลพะโต๊ะลงมาออกปากน้ำหลังสวน
ตั้งแต่ปากน้ำหลังสวนเป็นอำเภอกว้างไปถึงตำบลบางน้ำจืดที่เป็นบริเวณเขาใหญ่ใกล้ทะเล ชายทะเลหักเว้าเป็นอ่าวเล็กอ่าวน้อยขึ้นไปทางเหนือ ผ่านอำเภอทุ่งตะโกและอำเภอสวีขึ้นไปยังอำเภอเมืองชุมพร ที่ชายฝั่งทะเลหักเว้าไปอ่าวใหญ่ มีหาดทรายที่แยกเป็น ๒ อ่าว คือ อ่าวในเขตตำบลนาทุ่งกับอ่าวในเขตตำบลนาชะอัง เหนือตำบลนาชะอังเข้าเขตอำเภอปะทิว ชายทะเลเป็นชายหาดที่มีอ่าวเป็นระยะๆ ไปจนถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ความแตกต่างทางภูมิประเทศภายในแผ่นดินของคาบสมุทรไทย ตั้งแต่จังหวัดสงขลาถึงนครศรีธรรมราช กับอ่าวบ้านดอนในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ต่อขึ้นไปจนถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และราชบุรีนั้น คือบริเวณจากจังหวัดสงขลาถึงนครศรีธรรมราช มีเทือกเขาบรรทัดและเขาหลวงเป็นสันปันน้ำ ในขณะที่จากอ่าวบ้านดอนในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นไปจนถึงจังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี มีเทือกเขาตะนาวศรีเป็นสันปันน้ำ ที่กล่าวมาแล้วนี้คือชายฝั่งทะเลทางฟากอ่าวไทยในเขตคาบสมุทรไทย
ส่วนชายฝั่งทะเลทางด้านตะวันตกของคาบสมุทรไทย ตั้งแต่จังหวัดสตูลขึ้นไปยังจังหวัดตรัง กระบี่ ภูเก็ต และพังงา เต็มไปด้วยอ่าวเล็กอ่าวน้อยและเกาะมากมายไปจนถึงอ่าวพังงา ที่มีเกาะภูเก็ตเป็นขอบเขตของอ่าวไทย บรรดาลำน้ำใหญ่น้อยล้วนไหลลงจากสันปันน้ำของเทือกเขาบรรทัดมาสู่อ่าวเล็กอ่าวน้อย ชายทะเลที่นับเนื่องเป็นเขตทะเลอันดามัน เพราะมีแนวเกาะอันดามันและนิโคบาร์ที่ต่อจากเขตทะเลพม่าของอ่าวเบงกอลเป็นแนวยาว แบ่งพื้นที่ของมหาสมุทรอินเดียออกจากชายฝั่งทะเลของคาบสมุทรไทย ทำให้เกิดพื้นที่ที่เรียกว่า ทะเลอันดามัน
ตามที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า บริเวณคาบสมุทรไทยตั้งแต่ชายทะเลทางฝั่งอ่าวไทยนับแต่จังหวัดสงขลา อันเป็นรอยต่อของเทือกเขาบรรทัดกับกลุ่มเทือกเขาสันกาลาคีรี ซึ่งเป็นพื้นที่ของคาบสมุทรมลายูขึ้นไปจนถึงอ่าวบ้านดอนของจังหวัดสุราษฎร์ธานีนั้น มีเทือกเขาบรรทัดและเขาหลวงเป็นสันปันน้ำ มีอ่าวบ้านดอนเป็นอ่าวใหญ่ บริเวณเหนืออ่าวบ้านดอนขึ้นไปจนถึงจังหวัดชุมพร เพชรบุรี ราชบุรี มีเทือกเขาตะนาวศรีเป็นสันปันน้ำ
เทือกเขานี้เลียบชายฝั่งทะเลอันดามันตั้งแต่จังหวัดระนองลงมาถึงจังหวัดพังงาและภูเก็ต พื้นที่ชายทะเลจากจังหวัดภูเก็ตไปถึงกระบี่เป็นอ่าวใหญ่ที่มีอ่าวเล็กอ่าวน้อยซับซ้อน และพื้นที่บนแผ่นดินภายในจากอ่าวบ้านดอนลงมาถึงอ่าวพังงาเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ เป็นหุบกว้างระหว่างทิวเขาบรรทัดทางตะวันออกกับเทือกเขาตะนาวศรีทางตะวันตกในเขตทะเลอันดามัน พื้นที่อ่าวที่ไม่มีเทือกเขากั้นจากทางตะวันออกไปตะวันตก ทำให้นักภูมิศาสตร์โบราณเชื่อว่ามีลำน้ำจากอ่าวพังงาไปออกทะเลที่อ่าวบ้านดอนได้ นักภูมิศาสตร์และนักโบราณคดีหลายคนเชื่อว่ามีเส้นทางน้ำข้ามคาบสมุทรจากเมืองท่าตักโกลาในจดหมายเหตุของนักภูมิศาสตร์และนักเดินเรือกรีก-โรมัน ที่เดินทางผ่านขึ้นไปทางฝั่งทะเลจีนยังเวียดนามและจีนได้ เรื่องราวของเมืองท่าตักโกลานี้อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ ขึ้นมา ซึ่งต่อได้กับกลุ่มรัฐโบราณที่เรียกว่า ฟูนัน
: เส้นทางข้ามคาบสมุทรสมัยศรีวิชัย
ต่อมาในระยะหลังมีนักโบราณคดีฝรั่งในยุคอาณานิคมที่ให้ความสำคัญกับแหล่งโบราณคดีที่เกาะคอเขาในเขตอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ที่อยู่ใกล้ปากน้ำตะกั่วป่า พบโบราณสถานในศาสนาฮินดูและบรรดาลูกปัดและเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นสินค้าจากจีน อินเดีย อาหรับ และเปอร์เซีย รวมทั้งเครื่องประดับที่เป็นทองคำ แก้วสี อันแสดงให้เห็นว่าเป็นบริเวณเมืองท่าที่เรือค้าขายเข้ามาจอด สันนิษฐานว่าเป็นเมืองท่าตักโกลาที่มีในบันทึกของพ่อค้าและนักภูมิศาสตร์โบราณรุ่นพุทธศตวรรษที่ ๗ ลงไป และบริเวณปากน้ำตะกั่วป่าโดยอ้างความสัมพันธ์กับชื่อท้องถิ่นที่เรียก “ตะกั่วป่า” ซึ่งอาจจะเพี้ยนมาจากคำว่า “ตักโกลา”
จึงมีความคิดว่า เมืองตะกั่วป่าที่มีเกาะคอเขาและแหล่งโบราณคดีที่พบตั้งแต่ปากน้ำตะกั่วป่าขึ้นไปจนถึงเขาสกที่เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นเทือกเขาสันปันน้ำมาสิ้นสุด ณ บริเวณอ่าวพังงา คือบริเวณเส้นทางข้ามคาบสมุทรจากชายฝั่งทะเลอันดามัน ข้ามเขาสกมาลงต้นลำน้ำพุมดวง ที่ไหลผ่านอำเภอคีรีรัฐนิคมไปออกทะเลที่อ่าวบ้านดอนในเขตอำเภอพุนพิน
ที่อ่าวบ้านดอนมีแหล่งบ้านเมืองเก่าหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่สมัยทวารวดี-ศรีวิชัย และลพบุรีลงมาถึงสมัยอยุธยา โดยมีเมืองสำคัญอยู่ที่ไชยา อันมีปราสาทก่อด้วยอิฐในพุทธศาสนามหายาน พร้อมกับศิลาจารึกภาษาสันสกฤตที่เอ่ยพระนามพระมหากษัตริย์แห่งศรีวิชัย ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นคำถามทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับอาณาจักรศรีวิชัย ที่เป็นมหาอาณาจักรครอบคลุมบรรดารัฐและบ้านเมือง รวมทั้งหมู่เกาะ เช่น ชวา สุมาตรา และแหลมมลายู ที่ทางนักโบราณคดีกลุ่มหนึ่ง รวมทั้งนักโบราณคดีไทยเชื่อว่า เมืองไชยาคือศูนย์อำนาจของอาณาจักรศรีวิชัยที่เรืองอำนาจทางทะเล คุมเส้นทางการค้าทางทะเลตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๕
แต่ในขณะเดียวกันก็มีนักโบราณคดีทั้งไทยและเทศอีกกลุ่มค้านว่า ไชยาไม่ได้เป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางแห่งอำนาจ หากศูนย์กลางอยู่ที่เมืองปาเล็มบังบนเกาะสุมาตรา เพราะที่เมืองปาเล็มบังมีการพบศิลาจารึกภาษาท้องถิ่นที่มีพระนามพระมหากษัตริย์แห่งศรีวิชัยด้วย อีกทั้งมีอายุเก่าแก่กว่าจารึกที่พบที่ไชยา เรื่องนี้มีนักโบราณคดีฝรั่ง ๒ ฝ่ายที่เป็นหัวหอกของความเห็นที่ขัดแย้งกัน ว่าศูนย์กลางของศรีวิชัยอยู่ที่ไชยาหรือปาเล็มบัง
ฝ่ายที่คิดว่าเป็นไชยาคือ ดร. ควอริช เวลส์ (Quaritch Wales) นักโบราณคดีชาวอังกฤษ ส่วนฝ่ายที่คิดว่าเป็นปาเล็มบังคือ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (George Coedes) นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ผู้เชี่ยวชาญในการอ่านจารึกที่เป็นบรมครูของนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ศิลปะของไทย เลยทำให้นักโบราณคดีไทยเกิดแยกเป็น ๒ กลุ่มเช่นกัน ทางฝ่ายนักโบราณคดีไทยที่เห็นว่าเมืองไชยาเป็นศูนย์กลาง ก็เพราะมีโบราณสถานมากกว่าที่พบที่ปาเล็มบัง ซึ่งไม่พบซากโบราณสถานที่ใหญ่โต
ทำให้ ดร. ควอริช เวลส์ หาทางพิสูจน์ความสัมพันธ์ของบ้านเมืองชายทะเลทั้งสองฝั่งของคาบสมุทร ด้วยการสำรวจเส้นทางข้ามคาบสมุทรที่มีการใช้ช้างเดินทางขนถ่ายสินค้าข้ามเขาสก อันเป็นบริเวณสันปันน้ำจากเมืองตักโกลาหรือตะกั่วป่ามายังอ่าวบ้านดอน ที่มีเมืองไชยาเป็นเมืองสำคัญ นับได้ว่าเป็นผลสำเร็จ เพราะบรรดาโบราณสถานและโบราณวัตถุที่พบทั้งที่ตะกั่วป่าและอ่าวบ้านดอนเป็นของร่วมสมัยเดียวกัน คือสมัยศรีวิชัย แต่ภายหลังดร. ควอริช เวลส์ กลับใจยอมรับว่าศูนย์กลางศรีวิชัยอยู่ที่ปาเล็มบัง เลยทำให้เกิดวาทกรรมทางโบราณคดีศรีวิชัยระหว่างอินโดนีเซียกับประเทศไทย
สืบเนื่องเรื่อยมาจนประมาณปี พ.ศ. ๒๕๒๓ (ค.ศ. ๑๙๘๐) ที่มีการศึกษาเรื่องศรีวิชัยกันอย่างมาก ทั้งในอเมริกา อินโดนีเซีย และประเทศไทย ซึ่งผลการศึกษาออกมาอย่างเป็นกลางๆ ว่าศรีวิชัยไม่ใช่อาณาจักร (Kingdom) หรือมหาอาณาจักร (Empire) หากมีลักษณะเป็นกลุ่มของรัฐเมืองท่า (Port Polity) ที่มีความสัมพันธ์กันแบบสหพันธรัฐ ซึ่งไม่มีเมืองใดเป็นศูนย์กลางอำนาจที่แท้จริง นักโบราณคดีกลุ่มหนึ่งเรียกว่า มัณฑละ (Mandala) โดยมีพระมหากษัตริย์ของรัฐใดรัฐหนึ่งที่เป็นผู้นำทางบารมีเป็นตัวแทนของสหพันธรัฐ ในขณะที่ตำแหน่งเมืองสำคัญอาจเปลี่ยนแปลงตามสมัยเวลาจากรัฐหนึ่งไปยังอีกรัฐหนึ่งได้ ซึ่งอาจมีทั้งบนเกาะสุมาตรา ชวา และบนคาบสมุทร
ในขณะเดียวกับที่เกิดกลุ่มรัฐทางทะเลศรีวิชัย ก็เกิดกลุ่มรัฐเมืองท่าทางฝั่งทะเลจีนหรืออ่าวไทยบนพื้นแผ่นดินใหญ่ที่เรียกว่า ทวารวดี ขึ้นมาในเวลาไล่เลี่ยกัน ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ มีเมืองขนาดใหญ่คือนครชัยศรีหรือนครปฐมโบราณ เป็นเมืองท่าสำคัญในอ่าวไทยและลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขานรับเส้นทางการค้าทางทะเลที่อ้อมช่องแคบมะละกามายังบรรดาเมืองท่าในอ่าวไทย ที่จะต่อเนื่องไปยังกัมพูชา เวียดนาม และจีน ทั้งกลุ่มเมืองทวารวดีและกลุ่มเมืองศรีวิชัยต่างได้รับอิทธิพลพุทธศาสนามหายานที่เผยแผ่มาตามเส้นทางการค้า จึงทำให้เกิดมีความสัมพันธ์กันทางรูปแบบศิลปวัฒนธรรมทวารวดีและศรีวิชัยผสมผสานกันอยู่ด้วย
ศาสนสถานของบ้านเมืองในอ่าวบ้านดอนที่มีเมืองไชยาเป็นเมืองสำคัญ และรองลงมาที่เขาศรีวิชัยในเขตอำเภอพุนพิน อันเป็นปลายทางของเส้นทางข้ามคาบสมุทร เป็นเส้นทางที่มีการสำรวจทางโบราณคดีโดย ดร. ควอริช เวลส์ เส้นทางข้ามคาบสมุทรเส้นนี้จึงมีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อแหล่งจอดเรือขนถ่ายสินค้าบนชายฝั่งทะเลที่ตำบลพุมเรียง อันเป็นบริเวณอ่าวปากน้ำของลำน้ำที่ไหลผ่านเมืองไชยามาออกทะเล เป็นบริเวณที่พบภาชนะดินเผาเคลือบของจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังลงมา รวมทั้งบรรดาลูกปัดหินสี แก้วสี ที่มีขนาดและรูปแบบคล้ายคลึงกับบรรดาลูกปัดและเครื่องประดับที่พบบนเกาะคอเขา ปากแม่น้ำตะกั่วป่าในเขตอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา รวมทั้งการพบเทวรูปพระนารายณ์สวมหมวกแขกที่เป็นศาสนาฮินดู ซึ่งพบคล้ายกันทั้งที่ตะกั่วป่า เขาศรีวิชัย และที่อื่นๆ ในเขตอ่าวบ้านดอน
บิดาของข้าพเจ้าคืออาจารย์มานิต วัลลิโภดม เห็นด้วยกับเส้นทางข้ามคาบสมุทรในยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ จากตะกั่วป่ามายังอ่าวบ้านดอน แต่ไม่เห็นด้วยกับการตีความว่าเมืองตักโกลาที่อยู่ในเอกสารโบราณรุ่นพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ เพราะห่างกันเกือบ ๔๐๐ ปี อาจารย์มานิตเชื่อว่าเส้นทางข้ามคาบสมุทรน่าจะอยู่ในบริเวณพังงา ตั้งแต่จังหวัดกระบี่ลงมาถึงจังหวัดตรังและสตูล อาจมีหลายเส้นทางจากจังหวัดสตูลผ่านช่องเขาตั้งแต่เขตอำเภอควนกาหลง อาจเป็นช่องเขาระหว่างเขาบรรทัดกับเขาสันกาลาคีรี ผ่านมายังอำเภอรัตนภูมิลงไปยังอ่าวสงขลาในเขตอำเภอหาดใหญ่ ที่เป็นบริเวณทะเลสาบสงขลาในปัจจุบัน
เพราะบริเวณนี้มีเกาะสทิงพระเป็นเมืองท่าทางฝั่งอ่าวไทย ตั้งอยู่คล้ายกันกับเกาะคอเขาที่ตะกั่วป่า ที่เกาะสทิงพระ อาจารย์มานิตและข้าพเจ้าได้รับความร่วมมือจากพระราชศีลสังวร (ช่วง อตฺถเวที) อดีตเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) และคุณเยี่ยมยง สุรกิจบรรหาร ผู้เป็นนักโบราณคดีท้องถิ่น ทำการศึกษาและรวบรวมโบราณวัตถุที่พบบนเกาะและบริเวณรอบทะเลสาบสงขลา มาจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ไว้ ณ วัดมัชฌิมาวาส ในการออกไปสำรวจร่วมกันครั้งนั้น พบว่าบริเวณปากคลองสทิงหม้อที่อยู่ใกล้กันกับหัวเขาแดง ที่ต่อมาเป็นที่ตั้งเมืองสงขลาของสุลต่านสุไลมานในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ น่าจะเป็นแหล่งที่เรือทั้งจากทะเลนอกกับทะเลในอ่าวเข้ามาจอด เกิดเป็นแหล่งชุมชนเก่าแก่
พบเศษภาชนะดินเผากระจายอยู่มากมาย และที่วัดธรรมโฆษณ์ซึ่งอยู่ในบริเวณนั้น ได้พบเศียรพระโพธิสัตว์ศิลาอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นอย่างน้อย ลักษณะรูปแบบทางศิลปะดูไม่เหมือนศรีวิชัยและทวารวดี บนเขาน้อยพบซากพระสถูปขนาดใหญ่ ฐานรูปสี่เหลี่ยมค่อนข้างจัตุรัส สร้างด้วยอิฐขนาดใหญ่และมีแผ่นอิฐที่ทำด้วยหินปะการังรองรับน้ำหนัก มีรูปร่างคล้ายกับสถูปหรือปราสาทแบบศรีวิชัย พระสถูปแห่งนี้ได้รับการซ่อมแซมในสมัยอยุธยาตอนต้น ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ลงมา เหตุนี้อาจารย์มานิตจึงตั้งข้อสันนิษฐานว่า บริเวณเกาะสทิงพระตรงบริเวณหัวเขาแดง เคยเป็นตำแหน่งเมืองที่เก่าที่สุดบนเกาะสทิงพระ
และเรื่องนี้ก็ใกล้ความจริงดังคาด เมื่อทางกรมศิลปากรขุดค้นและขุดแต่งบริเวณพระสถูปที่เขาน้อย พบฐานสถูปสมัยศรีวิชัยที่มีอิทธิพลศิลปะขอมผสมอยู่ อันได้แก่ กุฑุ มีรูปคนประดับบนฐานพระสถูป รวมทั้งชิ้นส่วนหินทรายที่มีลายสลักซึ่งมีอิทธิพลศิลปะจาม
การพบร่องรอยของศิลปะสถาปัตยกรรมดังกล่าว ทำให้ต้องคิดเชื่อมโยงไปถึงการค้าทางทะเลทางฝั่งอ่าวไทยและทะเลจีนว่า มีความสัมพันธ์กับพวกจามที่มีแว่นแคว้นและรัฐอยู่ทางปากแม่น้ำโขง เรื่อยขึ้นไปตลอดชายทะเลของเวียดนามตอนกลาง คือ ในจดหมายเหตุจีนราชวงศ์ถังของหลวงจีนเหี้ยนจัง ที่พูดถึงแคว้นหลินยี่หรือมหาจำปา ร่วมสมัยกันกับแคว้นทวารวดีและอิศานปุระ
: ร่องรอยจากเส้นทางข้ามคาบสมุทรที่อ่าวบ้านดอน
ร่องรอยของศิลปวัฒนธรรมจามนอกจากที่สงขลาแล้ว ยังพบในบริเวณอ่าวบ้านดอน เช่นที่เมืองไชยา พระสถูปวัดแก้วมีกุฑุประดับที่ฐาน และเทวรูปที่พบตามท้องถิ่น อีกแห่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ ถ้ำคูหาที่อำเภอกาญจนดิษฐ์ ที่มีพระพุทธรูปและพระสถูปดินดิบปั้นประดับถ้ำ ซึ่งมีอายุอย่างน้อยราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ลงมา หลักฐานทั้งหลายที่กล่าวมา ทำให้เห็นว่าในช่วงยุคทวารวดีและศรีวิชัยนั้น ชนชาติจามคือพ่อค้าทางทะเลที่สำคัญกลุ่มหนึ่ง หากมองขึ้นไปเหนือสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ ดังกล่าว
ต้องยอมรับว่าผู้คนในสมัยฟูนันอันเป็นกลุ่มเมืองใหญ่ที่ปากแม่น้ำโขงนั้น เป็นคนเผ่าพันธุ์และภาษาเดียวกันกับพวกจาม ซึ่งเป็นพวกเดียวกันกับชาวซาหวิ่น ที่เป็นนักเดินเรือค้าขายตามชายฝั่งทะเลจีนมาแต่ก่อนยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ที่ทำให้คิดเชื่อมโยงต่อไปด้วยว่า การมีอยู่ของบ้านเมืองที่เรียกว่าอาณาจักรฟูนันที่มีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๗-๘ ลงมานั้น นักประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เชื่อว่าฟูนันเป็นมหาอาณาจักรหรือจักรวรรดิทีเดียว หากข้าพเจ้าไม่คิดเช่นนั้น แต่เป็นกลุ่มสหพันธรัฐชายทะเลตั้งแต่อ่าวบ้านดอนฝั่งอ่าวไทยไปจนถึงปากแม่น้ำโขงเท่านั้น
เพราะในจดหมายเหตุจีนสมัยราชวงศ์เหลียงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ กล่าวถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของฟูนันมายังอ่าวไทยที่มีรัฐกิมหลินเป็นเมืองท่า และลงไปถึงรัฐพัน-พันที่นักประวัติศาสตร์โบราณคดีเชื่อว่าอยู่บนคาบสมุทรไทยที่อ่าวบ้านดอน และในสมัยของฟูนันก่อนหน้าพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ เส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรอินเดีย จากฝั่งทะเลทางตะวันออกของอินเดียมายังชายฝั่งทะเลอ่าวเมาะตะมะ ลงมายังทะเลอันดามันบนคาบสมุทรไทย ยังต้องอาศัยเส้นทางข้ามคาบสมุทรมายังเมืองท่าทางฝั่งทะเลจีนและอ่าวไทยอยู่
เส้นทางข้ามคาบสมุทรจากฝั่งทะเลที่ตะกั่วป่ามายังอ่าวบ้านดอนที่กล่าวไปแล้วนั้น เช่นจากต้นน้ำตะกั่วป่ามายังเขาศรีวิชัย เป็นเส้นทางในสมัยที่การเดินเรือจากอินเดียอ้อมแหลมมะละกาแล้ว ในยุคก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ซึ่งยังต้องใช้เส้นทางข้ามคาบสมุทร บริเวณที่ดูสะดวกสบายไม่ต้องขึ้นเขาสูงที่มีความซับซ้อน มีเพียงพื้นที่ที่เป็นหุบตรงกลางระหว่างเทือกเขาตะนาวศรีทางตะวันตกกับเทือกเขาบรรทัดทางตะวันออก ตั้งแต่อ่าวกระบี่ ตรัง ไปจนถึงสตูล ที่การขนถ่ายสินค้าและการเดินทางไม่ต้องข้ามเทือกเขาตะนาวศรีเพียงอย่างเดียว หากต้องข้ามเทือกเขาบรรทัดด้วย
ในชั้นแรกอาจารย์มานิตสันนิษฐานว่าแหล่งท่าเรือจอดในยุคที่กล่าวถึงเมืองตักโกลา น่าจะอยู่มาทางอ่าวตรังที่มีเส้นทางขึ้นไปตามลำน้ำตรัง จนถึงต้นแม่น้ำที่ลำภูราในเขตอำเภอห้วยยอด แล้วข้ามเทือกเขาบรรทัดมายังฝั่งทะเลอ่าวไทยตั้งแต่พัทลุง นครศรีธรรมราช มายังอ่าวบ้านดอน แต่การศึกษาหลักฐานจากแหล่งโบราณคดีที่มีอายุถึงยุคเมืองตักโกลายังไม่พบ ได้แต่คาดคะเนและพิสูจน์จากแหล่งโบราณคดีที่เป็นเมืองท่า
แต่แล้วต้องยอมจำนนต่อการค้นคว้าของนักโบราณคดีท้องถิ่นที่สงขลา คือ คุณเยี่ยมยง สุรกิจบรรหาร และพระราชศีลสังวรที่เสนอว่าเมืองตักโกลาน่าจะอยู่ที่คลองท่อม อำเภอคลองท่อม ในเขตอ่าวกระบี่ บริเวณที่มีวัดคลองท่อมตั้งอยู่ เพราะเป็นพื้นที่ที่พระครูอาทรสังวรกิจ (สวาส กนฺตสงฺวโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดคลองท่อมได้พบโบราณวัตถุนานาชนิด ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นแหล่งอุตสาหกรรมและแหล่งรวมของวัตถุที่เป็นสินค้านานาชนิด นับตั้งแต่แร่ธาตุ ลูกปัด เครื่องประดับ ดวงตราบนดินเผาและหิน ดังเช่น อะเกต คาร์เนเลียน และแก้วสีต่างๆ ที่มีอายุเก่าแก่กว่าพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ลงมา อีกทั้งยังพบซากชิ้นส่วนของเรือโบราณที่มาจากทะเล พบดวงตราบนแผ่นโละรูปเรือสำเภาสองเสา เป็นต้น
คุณเยี่ยมยงเป็นนักสำรวจแร่โลหะที่มีความรู้ทางภูมิประเทศและภูมิศาสตร์ของภาคใต้ดีที่สุดคนหนึ่ง มีความเห็นว่าการเดินทางข้ามคาบสมุทรในยุคเมืองท่าตักโกลานั้น น่าจะเริ่มจากแหล่งเมืองท่าที่คลองท่อม ตามลำน้ำคลองท่อมผ่านพื้นที่ซึ่งไม่มีภูเขาขวางกั้นทางตะวันออกเฉียงเหนือไปสบกับลำน้ำตาปี ที่มีกำเนิดมาจากเทือกเขาบรรทัดทางตะวันตก แล้วไหลผ่านอำเภอทุ่งใหญ่ไปยังอ่าวบ้านดอน พบกับลำน้ำคลองสินปุนที่ไหลมาจากต้นน้ำคลองท่อม ผ่านเมืองเวียงสระไปรวมกับแม่น้ำตาปี ก่อนจะผ่านอำเภอพระแสงที่เชื่อมโยงกับลำน้ำคีรีรัฐไปออกอ่าวบ้านดอน อันเป็นแหล่งของเมืองท่าทางฝั่งทะเลจีนที่มีไชยาเป็นเมืองสำคัญ
ทั้งอาจารย์มานิตและข้าพเจ้ามีความเห็นสอดคล้องกันในเรื่องที่เมืองตักโกลาน่าจะหมายถึงคลองท่อม จากอ่าวกระบี่มาต่อกับแม่น้ำตาปีเหนือเมืองเวียงสระขึ้นมา แล้วเดินทางไปออกอ่าวบ้านดอน ก่อนจะต่อไปยังไชยาและบรรดาเมืองอื่นๆ ที่ร่วมสมัย ความเชื่อในเรื่องนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลักฐานทางโบราณคดีที่เป็นศาสนวัตถุสมัยก่อนทวารวดีและศรีวิชัย ๒ อย่างด้วยกัน อย่างแรก ได้แก่ เทวรูปพระนารายณ์สวมหมวกแขก ถือสังข์เหนือสะโพก ที่ศาสตราจารย์สแตนลีย์ โอคอนเนอร์ (Stanley J. O’Connor) ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ศิลปะของมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา ผู้ค้นพบว่าเป็นเทวรูปฮินดูรุ่นเก่าที่สุดในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียอาคเนย์
เป็นรูปแบบทางศิลปะที่มีกำเนิดมาแต่ศิลปะมถุราของอินเดียที่เป็นฝีมือท้องถิ่น อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๘ ลงมา พบที่ไชยา และยังพบอีกองค์หนึ่งที่อำเภอท่าศาลาในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช กับอีกอย่างหนึ่งคือพระพิมพ์ดินเผานาคปรก ประทับนั่ง พบที่วัดถ้ำเสือในเขตจังหวัดกระบี่ ที่ศาสตราจารย์ฌอง บวสเซอลิเยร์ (Jean Boisselier) ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสบอกว่ามีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๘-๙ ลงมา ซึ่งเป็นของนับเนื่องในยุคสมัยฟูนัน
ข้าพเจ้าจึงคิดว่าเส้นทางข้ามคาบสมุทรที่อยู่ถัดจากเส้นทางสมัยสุวรรณภูมิที่ได้กล่าวมานั้น เริ่มจากอ่าวกระบี่มายังอ่าวบ้านดอน จากคลองสินปุนขึ้นมายังเมืองเวียงสระ อันเป็นแหล่งเมืองเก่าที่พบพระพุทธรูป เทวรูป ทั้งพุทธและฮินดูที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๑ ขึ้นไป และแหล่งโบราณคดีที่เมืองเวียงสระคือชุมทางการคมนาคมของเส้นทางข้ามคาบสมุทรที่ขึ้นมาสบกับลำน้ำตาปี ๒ สาย คือ
สายตามลำคลองสินปุนที่มาจากคลองท่อมทางอ่าวกระบี่ กับสายจากคลองสินปุนที่มีการนำเทวรูปพระนารายณ์สวมหมวกแขกมาจากเมืองท่าตักโกลาที่คลองท่อมนั้น เมื่อมาถึงเวียงสระอันเป็นชุมทางก็จะแยกไปทางตะวันออก ข้ามเทือกเขาหลวงหรือเขาบรรทัดไปออกทางฝั่งทะเลที่ตำบลท่าเรือบนสันทราย อันเป็นที่ตั้งของเมืองนครศรีธรรมราชที่เลียบชายฝั่งทะเลขึ้นไปจนถึงอำเภอสิชล เป็นแหล่งของบ้านเมืองและรัฐโบราณที่นับถือศาสนาฮินดูเป็นศาสนาหลัก เป็นแว่นแคว้นที่ในศิลาจารึกและหลักฐานทางเอกสารเรียกว่า ตามพรลิงค์
เหตุนี้จึงมีการพบเทวรูปพระนารายณ์สวมหมวกแขก ถือสังข์เหนือสะโพก ที่หอพระนารายณ์ในเขตเมืองนครศรีธรรมราช และตำบลท่าเรือของนครศรีธรรมราช ก็คือเมืองท่าแห่งหนึ่งทางฝั่งทะเลจีนบนคาบสมุทรไทย แต่จากชุมทางที่เวียงสระขึ้นไปทางเหนือตามลำน้ำตาปี จะไปออกทะเลที่อ่าวบ้านดอนร่วมกันกับเส้นทางข้ามคาบสมุทรในสมัยทวารวดี-ศรีวิชัยจากเกาะคอเขาและบ้านเมืองในลุ่มน้ำตะกั่วป่าข้ามเขาสกไปยังเขาศรีวิชัย อันเป็นเมืองท่าไปออกทะเลของอ่าวบ้านดอนในเขตอำเภอพุนพิน ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่าเป็นเส้นทางที่เทวรูปพระนารายณ์สวมหมวกแขก ถือสังข์เหนือสะโพก ผ่านขึ้นไปถึงเมืองไชยา ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือเส้นทางข้ามคาบสมุทรจากเมืองตักโกลาที่อ่าวพังงามาออกทะเลที่อ่าวบ้านดอน ซึ่งเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าสันนิษฐานไว้แต่เดิม
: ในเส้นทางข้ามคาบสมุทร : เมืองเวียงสระและเมืองโบราณที่ริมคลองจันดี
เมื่อ ๒ ปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้กลับไปที่เวียงสระเพื่อแนะนำให้คนในชุมชนศึกษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และประวัติศาสตร์สังคม เพื่อจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ได้รับทราบถึงหลักฐานทางโบราณคดีที่ได้จากการขุดค้น และบรรดาโบราณสถานและโบราณวัตถุที่พบ ประมาณอายุของเมืองเวียงสระได้ว่ามีการตั้งถิ่นฐานมาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย พบบรรดาเครื่องมือหินขัด ลูกปัดแก้ว หินสี และอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับสมัยทวารวดี-ศรีวิชัย ที่เป็นยุคสมัยเดียวกันกับแหล่งโบราณคดีที่อ่าวบ้านดอนและนครศรีธรรมราช
แต่เหนือเวียงสระขึ้นไปตามลำน้ำตาปี ไม่พบแหล่งโบราณคดีทั้งยุคทวารวดี-ศรีวิชัยแต่อย่างใด ที่จะนำพาให้คิดได้ว่า เป็นเส้นทางการค้าและการติดต่อกับบรรดาบ้านเมืองตักโกลาในเขตอ่าวกระบี่ ทำให้ต้องเปลี่ยนความคิดและความเชื่อใหม่ว่า เส้นทางข้ามคาบสมุทรตักโกลาคงไปไม่ถึงอ่าวบ้านดอน และการแพร่กระจายของศาสนวัตถุ เช่น พระนารายณ์สวมหมวกแขกที่พบที่เมืองไชยานั้น คงไม่ได้ผ่านขึ้นไปจากเวียงสระ แต่น่าจะไปทางเดียวกันกับเทวรูปพระนารายณ์สวมหมวกแขกที่เชื่อว่าจากเวียงสระแยกไปออกฝั่งทะเลในเขตนครศรีธรรมราช อันเป็นแหล่งบ้านเมืองที่มีการนับถือศาสนาฮินดูสืบต่อมาอย่างยั่งยืน
เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าพเจ้าคิดว่าเส้นทางข้ามคาบสมุทรจากเมืองท่าตักโกลาที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ ลงมานั้น คงไม่ได้ขึ้นไปตามลำน้ำตาปีจนไปออกอ่าวบ้านดอนแต่อย่างใด หากแยกจากลำน้ำตาปีตอนที่ผ่านเขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช ไปตามลำน้ำที่ไหลจากเขาหลวงมาสบกับแม่น้ำตาปีในบริเวณอำเภอทุ่งใหญ่ แล้วเดินทางตามลำน้ำนั้น ผ่านช่องเขาหลวงมาออกบริเวณชายฝั่งทะเลในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช
เส้นทางผ่านช่องเขาหลวงดังกล่าวทับกันกับถนนหลวงสาย ๔๐๑๕ ที่ผ่านช่องเขาไปยังแนวสันทราย อันเป็นที่ตั้งของเมืองนครศรีธรรมราช และบริเวณที่เป็นตำแหน่งของเมืองท่าปลายทางของเส้นทางข้ามคาบสมุทรนี้ก็คงอยู่ที่ตำบลท่าเรือ ซึ่งอยู่ต่ำจากเมืองนครศรีธรรมราชราว ๖ กิโลเมตร เพราะเป็นบริเวณที่พบแหล่งโบราณคดีที่มีอายุเก่าแก่ไปถึงยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และมีทางน้ำเก่าไปออกทะเล ข้าพเจ้านำเรื่องนี้ไปคุยกับนายแพทย์บัญชา ผู้ที่รู้แหล่งโบราณคดีลูกปัดในท้องถิ่นมากกว่าใครๆ ซึ่งก็เห็นด้วย เพราะจากการศึกษาของนายแพทย์บัญชาได้พบเส้นทางน้ำและแหล่งโบราณคดีที่มีอายุถึงสมัยทวารวดี-ศรีวิชัยขึ้นไป และได้ชวนให้ข้าพเจ้าเดินทางไปสำรวจร่วมกัน
พบว่าลำน้ำที่แยกจากลำน้ำตาปีที่มาจากช่องเขาหลวงก็คือ ลำคลองจันดี เป็นคลองที่ต่อจากคลองมิน อันเป็นลำน้ำตอนที่มาจากทางตะวันตกมาสบกับแม่น้ำตาปีในบริเวณวัดปากน้ำฉวาง ลำคลองมินนี้คือตอนปลายน้ำของคลองจันดีที่ไหลมาจากทางใต้ในเขตอำเภอนาบอน แต่เมื่อไหลลงมาทางเหนือก็สบกับคลองจันดีที่ไหลลงมาจากเขาหลวง ผ่านวัดธาตุน้อย (พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์) และวัดจันดีมาพบกับคลองมิน ไปสบกับลำน้ำตาปีที่ปากน้ำฉวางดังกล่าว
คลองจันดีผ่านวัดธาตุน้อยไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านวัดมะนาวหวาน ผ่านบริษัทนาวาพาราวู้ดไปยังบ้านนา ตำบลช้างกลาง อันเป็นบริเวณที่มีลำน้ำท่าแพไหลมาทางตะวันตก ผ่านบ้านนาแล้ววกขึ้นเหนือไปยังน้ำตกท่าแพ ที่ไหลลงมาจากเขาหลวงและริมฝั่งของลำคลองจันดีในเขตบ้านนา ก่อนจะไหลผ่านช่องเขาหลวงไปยังเมืองนครศรีธรรมราชนั้น เป็นแหล่งโบราณคดีที่มีอายุแต่สมัยอยุธยา ศรีวิชัย ขึ้นไปจนถึงสมัยฟูนัน
แหล่งโบราณคดีที่พบอยู่ในสภาพเป็นเนินดินกว้าง มีเส้นผ่าศูนย์กลางกว่าร้อยเมตรขึ้นไป อยู่ติดลำคลองจันดีที่มีต้นน้ำมาจากน้ำตกท่าแพ ด้านติดกับตลิ่งของลำน้ำก่อคันดินผสมอิฐเป็นผนัง มีร่องรอยของฐานเจดีย์ก่ออิฐและโคกเนินโบราณสถาน โดยเฉพาะฐานเจดีย์น่าจะมีอายุอยู่ในสมัยอยุธยา
แต่ตามผิวดินมีการขุดคุ้ยเพื่อหาลูกปัด พบเศษภาชนะดินเผาหลากหลาย สังเกตจากหลุมขุดเพื่อหาลูกปัดเหล่านั้นลึกประมาณ ๑ เมตร ในระดับเดียวกันกับบรรดาหลุมขุดในแหล่งโบราณคดีลูกปัดอื่นๆ ที่พบในภาคใต้ แต่ของที่ชาวบ้านเก็บรวบรวมไว้นั้นมีหลากหลาย ที่แสดงให้เห็นว่าแหล่งโบราณคดีแห่งนี้มีอายุมาก่อนสมัยทวารวดีและศรีวิชัย อยู่สืบเนื่องเรื่อยมาอย่างน้อยถึงสมัยอยุธยาตอนต้น เป็นแหล่งโบราณคดีที่ควรมีการขุดค้นและรักษาไว้อย่างยิ่ง เพราะอยู่ในตำแหน่งที่เป็นเชิงเขาต้นเส้นทาง ผ่านช่องเขาหลวงจากฟากตะวันตกของเขาหลวง ผ่านซอกเขาในบริเวณน้ำตกท่าแพไปยังต้นน้ำคลองเขาแก้วทางฟากตะวันออก ลงสู่ที่ลาดลุ่มน้ำของนครศรีธรรมราช
การเดินทางลงสู่ชายทะเลทางฝั่งนี้ก็คือเดินทางตามลำคลองเขาแก้ว ผ่านตำบลเขาแก้วมายังอำเภอลานสกาสู่คลองเสาธง ผ่านวัดเกาะนางแก้ว วัดศาลาขี้เหล็ก ถ้ำน้ำวังศรีธรรมโศกราช ตำบลขุนทะเล อำเภอลานสกา และตามแนวคลองเสาธง จากวัดถลุงทองมายังวัดธงทองในเขตบ้านควนรุย ตำบลเสาธง อันเป็นบริเวณกองสันทรายที่เป็นแหล่งของการตั้งถิ่นฐานบ้านเมือง และตำบลท่าเรือ อันเป็นที่ตั้งของชุมชนเมืองท่าไปออกทะเล แนวของสันทรายตั้งแต่ตำบลท่าเรือขนานกับชายฝั่งทะเลขึ้นไปทางเหนือที่มีเทือกเขาหลวงขนาบอยู่ทางด้านตะวันตก ผ่านนครศรีธรรมราช อำเภอท่าศาลา ไปจนถึงอำเภอสิชล คือแหล่งบ้านเมืองของแคว้นตามพรลิงค์ตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ ที่มีศาสนาฮินดูเป็นศาสนาหลัก
อาณาบริเวณชายฝั่งทะเลที่กล่าวมา คือบริเวณที่เป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ จากเมืองท่าตักโกลามาออกฝั่งทะเลจีน และการแพร่เข้ามาของเทวรูปพระนารายณ์สวมหมวกแขก ถือสังข์เหนือสะโพก ที่เป็นเทวรูปรุ่นเก่าที่สุด ผ่านช่องเขาหลวงมายังบริเวณนี้เป็นแหล่งแรก ก่อนจะแพร่ไปถึงเมืองไชยาที่อ่าวบ้านดอน
การศึกษาและสำรวจเส้นทางข้ามคาบสมุทรจากอ่าวกระบี่ทางฝั่งทะเลอันดามัน ข้ามคาบสมุทรมายังฟากทะเลจีนยังชายฝั่งทะเลในเขตนครศรีธรรมราชครั้งนี้ ข้าพเจ้ากำหนดว่าเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรในสมัยฟูนัน โดยมุ่งหมายให้เข้าใจว่าเป็นเส้นทางในสมัยที่การขนถ่ายสินค้าจากมหาสมุทรอินเดีย จากอินเดียและตะวันออกกลางผ่านคาบสมุทรไทยและคาบสมุทรมลายูนั้น ยังต้องอาศัยการขนถ่ายสินค้าทางบกข้ามมายังฝั่งทะเลจีน พอมาถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ เส้นทางการค้าจากอินเดียเป็นการเดินทางอ้อมช่องแคบมะละกาของคาบสมุทรมลายูมายังฝั่งทะเลจีน โดยไม่ต้องอาศัยทางบกอีกต่อไป
จุดเปลี่ยนนี้แลเห็นได้จากการเดินทางของหลวงจีนฟาเหียนที่สืบเนื่องมาจนถึงสมัยของหลวงจีนเหี้ยนจังและหลวงจีนอี้จิง ที่เดินทางจากอินเดียผ่านช่องแคบมะละกามายังกลุ่มเมืองศรีวิชัย อันเป็นกลุ่มเมืองท่าตามหมู่เกาะ และกลุ่มเมืองท่าชายทะเลทางฝั่งอ่าวไทยในเขตทะเลจีน ที่ข้าพเจ้าเรียกว่าเป็นกลุ่มเมืองทวารวดี มีเมืองสำคัญอยู่ที่นครปฐม คูบัว ละโว้ และศรีมโหสถ แต่ในยุคทวารวดี-ศรีวิชัยนี้ เส้นทางข้ามคาบสมุทรยังมีอยู่และเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นยุคที่มีการตั้งถิ่นฐานหรือเกิดเมืองตามชายฝั่งทะเลเพิ่มขึ้นทั้งสองฟากฝั่งคาบสมุทร ที่สืบต่อมาจนถึงสมัยลพบุรีและอยุธยา เพื่อเป็นเส้นทางของการติดต่อภายในระหว่างกัน ดังเช่นเส้นทางจากตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ข้ามเขาสกมายังพุนพินและไชยาที่อ่านบ้านดอน เป็นต้น
: เส้นทางข้ามคาบสมุทรจากร่องรอยลูกปัด
อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาแหล่งเมืองท่าบนเส้นทางข้ามคาบสมุทรทั้งสองฟากคาบสมุทรไทยตั้งแต่อ่าวพังงา กระบี่ ตรัง ขึ้นมาจนถึงเกาะคอเขา ไปจนสุดเขตจังหวัดพังงาทางฟากทะเลอันดามัน และจากสงขลา นครศรีธรรมราช จนถึงอ่าวบ้านดอนที่ไชยานั้น เมื่อนำบรรดาลูกปัดตามแหล่งโบราณคดีที่นายแพทย์บัญชา รวบรวมอย่างเป็นระบบ เพื่อกำหนดสมัยเวลาอย่างกว้างๆ ที่แบ่งไว้เป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มสมัยสุวรรณภูมิและกลุ่มสมัยทวารวดี-ศรีวิชัย
พบว่าบรรดาลูกปัดที่พบตามแหล่งโบราณคดีทั้งสมัยฟูนันและศรีวิชัย ตั้งแต่อ่าวพังงาถึงตะกั่วป่า จนสุดเขตจังหวัดพังงา และจากสงขลา นครศรีธรรมราช มาจนถึงอ่าวบ้านดอนที่ไชยา นับเนื่องเป็นลูกปัดในกลุ่มเดียวกัน คือกลุ่มทวารวดี-ศรีวิชัย ไม่พบแหล่งโบราณคดีที่มีลูกปัดแบบสุวรรณภูมิ
แต่การพบลูกปัดแบบสุวรรณภูมิตามแหล่งโบราณคดีที่นายแพทย์บัญชาศึกษาไว้ พบตั้งแต่อำเภอท่าชนะขึ้นไปยังอำเภอหลังสวน อำเภอสวี และอำเภอเมืองชุมพร ที่มีแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้วเป็นที่สุด ในขณะที่ทางฟากฝั่งทะเลอันดามัน แหล่งลูกปัดสุวรรณภูมิพบแต่เขตอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงาไปจนถึงอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง ที่เส้นทางข้ามคาบสมุทรจากเขาขะเมายี้ตัดข้ามช่องเขาตะนาวศรีไปยังเขาสามแก้วในอ่าวชุมพร และจากตำแหน่งของลูกปัดกลุ่มสุวรรณภูมิทั้งสองฟากของคาบสมุทรนี้ ได้มีการศึกษาเส้นทางการติดต่อระหว่างกัน โดยกำหนดความสัมพันธ์ของลำน้ำทั้งสองฟากเขาตะนาวศรีที่มีความสัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีเหล่านั้น เพื่อศึกษาว่าจะมีเส้นทางข้ามคาบสมุทรยุคสุวรรณภูมิเส้นอื่นอีกหรือไม่ นอกจากเส้นทางสำคัญจากเขาขะเมายี้ไปเขาสามแก้วตามที่เคยเสนอไปแล้ว
ในการศึกษาและสำรวจแหล่งโบราณคดีครั้งนี้ ได้เดินทางไปตามตำแหน่งลูกปัดที่นายแพทย์บัญชาได้รวบรวมและกำหนดไว้ตามแนวชายฝั่ง ตั้งแต่อำเภอเมืองชุมพร สวี หลังสวน ลงมาจนถึงอำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ล้วนเป็นแหล่งชุมชนที่มีการติดต่อทางทะเลในลักษณะเป็นชุมชนท่าเรือ และแหล่งผลิตลูกปัดเกือบทั้งสิ้น สัมพันธ์กับลำน้ำที่ไหลมาจากสันปันน้ำของเทือกเขาตะนาวศรี ที่เป็นเทือกเขาสูงกว่าบริเวณเทือกเขาจากกระบุรี ข้ามไปยังต้นน้ำท่าตะเภาของเส้นทางเขาขะเมายี้-เขาสามแก้ว ซึ่งทางที่จะผ่านเทือกเขาสูงแต่อำเภอท่าชนะไปจนถึงอำเภอหลังสวนและอำเภอสวี จังหวัดชุมพรนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่ายากลำบาก
แม้ว่าจะเคยเดินทางตามถนนหลวงสายราชกรูด-ระนอง ผ่านอำเภอพะโต๊ะ ต้นทางแม่น้ำหลังสวนมาออกทะเลที่ปากน้ำหลังสวน อันเป็นบริเวณที่มีแหล่งโบราณคดีสุวรรณภูมิอยู่ที่เขาเสก เป็นเนินเขาเตี้ยๆ ที่ลาดลงสู่ลำน้ำและมีธารน้ำเล็กๆ ไหลผ่าน เหมาะเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของคนในชุมชน รวมทั้งมีบริเวณโดยรอบที่ทำให้เป็นแหล่งอุตสาหกรรมผลิตเครื่องประดับลูกปัดและสินค้าอย่างอื่นได้ พบลูกปัดนานาชนิดในสมัยสุวรรณภูมิ รวมทั้งเครื่องประดับมีลวดลายสัญลักษณ์ และดวงตราที่ทำด้วยทองและโลหะ ซึ่งดูแล้วมีภูมิสัณฐานคล้ายกันกับเขาสามแก้วอันเป็นแหล่งเมืองท่า แต่ที่เขาเสกนี้มีอาณาบริเวณที่เล็กกว่าเขาสามแก้ว และไม่ได้ตั้งอยู่ติดทะเลเช่นเดียวกัน
เขาเสกอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแหล่งชุมชนที่ลำน้ำใหญ่ผ่านคดเคี้ยวไปออกทะเลที่ปากแม่น้ำ ซึ่งห่างจากเขาเสกไปประมาณ ๘ กิโลเมตร และมีแม่น้ำหลังสวนจากปากแม่น้ำมาถึงแหล่งโบราณคดีเป็นลำน้ำใหญ่ ที่เรือสินค้าจากโพ้นทะเลเข้ามาจอดขนถ่ายสินค้าและแลกเปลี่ยนสินค้าได้
จากเขาเสก ลำน้ำหลังสวนไหลคดเคี้ยวไปตามความสูงต่ำของลักษณะภูมิประเทศ ขึ้นไปทางตะวันตกเข้าเขตลาดเขาที่มีความสูงเป็นระดับๆ ไปยังตำบลปังหวาน บ้านโหมง อันเป็นบริเวณที่แม่น้ำไหลคดเคี้ยวผ่านซอกเขาสูงชันที่มีที่ราบลุ่มสลับไปจนถึงสำนักสงฆ์เขาตะเภาทอง แล้วหักวกลงใต้ผ่านช่องเขาขึ้นไปยังตำบลพะโต๊ะ อันเป็นพื้นที่กว้างเหมาะกับการตั้งหลักแหล่งของชุมชน เป็นพื้นที่ก่อนที่ลำน้ำหลังสวนวกลงทางใต้ไหลไปสบกับคลองปากทรง ที่แม่น้ำหลังสวนแยกออกเป็น ๓ สาย คือ คลองปากทรงไหลผ่านซอกเขาขึ้นไปทางตะวันตกสู่บริเวณสันปันน้ำ
สายที่ ๒ แยกจากคลองปากทรงลงไปทางใต้ เรียก คลองใจ และไหลมาจากต้นน้ำในบริเวณที่เป็นสันปันน้ำ
ส่วนสายที่ ๓ คือ คลองศอก ไหลแยกไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านบ้านในหยานอันเป็นจุดที่มีการล่องแพไปยังตำบลพะโต๊ะ
บริเวณบ้านในหยานนี้คือตำแหน่งที่มีร่องรอยของชุมชนโบราณตั้งบนเขา และพื้นที่หาดทรายชายน้ำที่พบลูกปัดสุวรรณภูมิและชิ้นส่วนของกลางสำริดที่มีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๓ ลงมา เพราะเป็นบริเวณหน้าเทือกเขาสูงตอนที่เป็นสันปันน้ำ จึงเกิดทางน้ำเล็กๆ เช่น คลองปากทรง คลองใน คลองวังยาง และคลองศอก โดยเฉพาะคลองศอกนั้นไหลเลียบสันปันน้ำไปยังลำน้ำต่างๆ ที่ไหลไปยังบริเวณที่สร้างเขื่อนแก่งกรุง สันปันน้ำที่ไหลมายังอุทยานแห่งชาติแก่งกรุงนั้น คือต้นของลำน้ำที่ไหลมาออกทะเลที่อำเภอท่าชนะและอำเภอไชยา
จากคำบอกเล่าของชาวบ้านที่ขุดค้นหาลูกปัดในเขตบ้านในหยานและที่ตำบลพะโต๊ะบอกว่า คลองเล็กๆ ที่ไหลมาจากสันปันน้ำทางตะวันตกมาลงลำน้ำใหญ่ เช่น ลำน้ำหลังสวนนั้น มีซอกเขาแคบๆ จากต้นลำน้ำทางฟากสันเขาตะวันออกมาลงบรรดาลำน้ำเล็กๆ ที่เป็นต้นน้ำของลำน้ำใหญ่ ที่ไหลลงมาออกฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นอ่าวเล็กอ่าวน้อยที่พบแหล่งลูกปัดสุวรรณภูมิเป็นกลุ่มๆ จากอำเภอราชกรูดจนถึงเขตอำเภอกะเปอร์ เขาสันปันน้ำอันเป็นบริเวณที่สูงสุดของเทือกเขาตะนาวศรี จากอำเภอราชกรูดลงมาจนถึงบริเวณที่เป็นอ่าวในเขตอำเภอคุระบุรีนั้น เป็นบริเวณที่เทือกเขาตะนาวศรีอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลมากกว่าบริเวณอื่น จึงทำให้การเดินทางจากชายฝั่งทะเลตามบรรดาลำน้ำขึ้นไปยังซอกเขาเป็นระยะทางไม่ไกลและไม่สูงชัน อย่างสันปันน้ำฟากตะวันออกที่ไหลลงทะเลทางฝั่งทะเลจีน
การพบแหล่งโบราณคดีลูกปัดสมัยสุวรรณภูมิที่บ้านในหยาน ตำบลพะโต๊ะ และจากคำบอกเล่าของชาวบ้านที่เชื่อมโยงว่าตรงแนวตีนสันปันน้ำทางฟากตะวันออกนี้ ตั้งแต่บ้านในหยานลงไปจนถึงต้นน้ำที่ลงจากสันปันน้ำไปยังเขตอำเภอท่าชนะและอำเภอไชยานั้น มีลักษณะที่น่าจะมีชุมชนโบราณสมัยสุวรรณภูมิต่อเนื่องไปจนถึงอำเภอท่าชนะเป็นอย่างน้อย ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง แหล่งโบราณคดีที่บ้านในหยาน ตำบลพะโต๊ะ ก็คือตัวอย่างของชุมชนทางการค้าระหว่างเส้นทางข้ามคาบสมุทรนั่นเอง และชุมชนเหล่านี้คือตำแหน่งพักสินค้าตามลำน้ำต่างๆ ที่นำไปสู่บรรดาแหล่งชุมชนลูกปัดที่พบทางชายฝั่งทะเล เช่นเขาเสก ซึ่งตำแหน่งของแหล่งโบราณคดีลูกปัดเหล่านี้ เป็นสิ่งที่บันทึกไว้ในการค้นคว้าของนายแพทย์บัญชา
ที่กล่าวมาทั้งหมดพอสรุปได้ว่า มีเส้นทางข้ามคาบสมุทรสมัยสุวรรณภูมิอยู่ในเขตชายทะเลฟากฝั่งอันดามันในเขตจังหวัดระนอง ตั้งแต่อำเภอกระบุรีลงมาถึงอำเภอคุระบุรี ส่วนฟากฝั่งทะเลจีนอยู่ในเขตจังหวัดชุมพรถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีลำน้ำสายใหญ่จากเทือกเขาตะนาวศรีไปลงบรรดาอ่าวเล็กๆ ในเขตอำเภอสวี ทุ่งตะโก หลังสวน จังหวัดชุมพร ไปจนถึงอำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
แต่เส้นทางที่เห็นชัดเจนเนื่องจากการเดินทางไปศึกษาสำรวจครั้งที่ผ่านมา คือเส้นทางจากอ่าวหลังสวน อันมีเขาเสกเป็นแหล่งโบราณคดีท่าเรือที่สำคัญ เป็นเส้นทางที่เดินทางจากฝั่งทะเลอันดามันข้ามเทือกเขาตะนาวศรี ที่มีระยะทางระหว่างชายฝั่งทะเลถึงสันปันน้ำราว ๑๘ กิโลเมตร เมื่อมาถึงต้นน้ำที่ขึ้นมาจากทางฝั่งทะเล ก็เดินทางผ่านช่องเขาแคบๆ มาออกต้นน้ำในเขตตำบลพะโต๊ะ ที่ไหลมารวมกันเป็นลำน้ำใหญ่ คือลำน้ำหลังสวน เป็นลำน้ำที่สะดวกในการเดินเรือและล่องแพจากแหล่งโบราณคดีที่อยู่บริเวณต้นน้ำในเขตตำบลพะโต๊ะลงมายังอ่าวหลังสวน ที่มีเขาเสกเป็นชุมชนทางการค้าทางทะเลที่สำคัญ
ส่วนเส้นทางจากลำน้ำอื่นๆ จากอำเภอสวี ทุ่งตะโก ละแม จังหวัดชุมพร และอำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ยังไม่ได้ศึกษาสำรวจเพื่อหาความชัดเจน
จากบทความ “เส้นทางข้ามคาบสมุทรไทยยุคสุวรรณภูมิ” อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม วารสารเมืองโบราณ (๔๔/๔)
ติดตามบทความ วิดีโอ และรายการต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่
โฆษณา