17 ก.ย. 2021 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
จาก “ละโว้” ถึง “ลพบุรี” ของ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม
บรรดาเมืองโบราณในประเทศไทยที่มีอายุแต่สมัยทวารวดีประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ลงมา จนถึงสมัยลพบุรี อยุธยา และกรุงเทพฯ ในทุกวันนี้ เมืองที่ยังรักษาชื่อบ้านนามเมืองแต่เดิมไว้อย่างสืบเนื่องมีอยู่ ๓ เมือง คือ
เมืองละโว้ ในลุ่มน้ำลพบุรีของภาคกลาง
เมืองพิมายในลุ่มน้ำมูลของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
และเมืองหริภุญชัยหรือลำพูนในลุ่มน้ำกวงของภาคเหนือ
เมืองอื่นๆ ทั้งเมืองใหญ่และเล็กจำนวนเป็นร้อยกว่าแห่งขึ้นไปดูจะเลือนหายไปจากความทรงจำและการจดจำของคนรุ่นหลังๆ เกือบทั้งสิ้น
หลักฐานความเก่าแก่ของชื่อเมืองก็คือสิ่งที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกและเอกสารร่วมสมัยแต่ยุคเริ่มต้นของเมืองที่สืบต่อเนื่องกันลงมา ซึ่งสอดคล้องกับตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ สภาพแวดล้อมทางภูมิวัฒนธรรม และหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมแต่ยุคแรกเริ่มของเมืองมาจนปัจจุบัน
จากหลักฐานต่างๆ ตามที่กล่าวมา ทำให้ข้าพเจ้าสรุปได้ว่า เหตุที่ทั้งเมืองละโว้ หริภุญชัย และเมืองพิมายยังรักษาชื่อเมืองเดิมไว้โดยไม่เลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คนนั้น คือการดำรงอยู่อย่างสืบเนื่องของชุมชนบ้านและเมืองในท้องถิ่นที่เมืองนั้นพัฒนาขึ้น เมืองใหญ่เมืองสำคัญหลายเมืองที่ชื่อบ้านนามเมืองหายไปและมีชื่อใหม่ขึ้นมาแทนนั้น เป็นเพราะไม่มีชุมชนอยู่ต่ออย่างสืบเนื่อง มีการขาดช่วงไปโดยที่บางเมืองร้างไป
แต่สมัยทวารวดีและลพบุรี พอมาเกิดขึ้นใหม่ในสมัยอยุธยาและกรุงเทพฯ ผู้คนที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งเป็นชุมชนในที่นั้นก็ไม่ทราบชื่อเมืองเก่าเหล่านั้นว่ามีนามอะไร เพียงแต่สำเหนียกและแลเห็นร่องรอยของบ้านเมืองเดิมที่เป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุอยู่ จึงตั้งชื่อเมืองขึ้นใหม่จากตำนาน นิทาน ที่เป็นคติชนของเผ่าพันธุ์ตน
ดังเช่นเมืองโบราณสมัยทวารวดีที่ลุ่มน้ำพานทอง อำเภอพนัสนิคม ที่เรียกว่า “เมืองพระรถ” และเมืองโบราณในลุ่มน้ำปราจีนบุรีที่ชายดงศรีมหาโพธิ์ว่าเป็นเมืองพระรถ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น “ศรีมโหสถ” เป็นต้น แท้จริงคือชื่อเมืองที่กลุ่มชาติพันธุ์ลาวซึ่งถูกกวาดต้อนเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ ๓ ตั้งขึ้นจากตำนานชาดกเรื่อง “พระรถเมรีและพระศรีมโหสถ” เมื่อราว ๑๕๐ ปีที่แล้วมา บรรดาชื่อเมืองโบราณอื่นๆ ก็มักเกิดขึ้นเป็นตำนานที่มีอายุไม่เกินพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งมีเอกสารทางราชการกล่าวถึงหรืออย่างมากก็เก่าแก่ไม่เกินสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นขึ้นไป
จากการศึกษาสำรวจของข้าพเจ้าในเรื่องภูมิวัฒนธรรมของบรรดาเมืองโบราณในประเทศไทยที่ผ่านมา พอหาเหตุผลได้ว่าทำไมชื่อเมืองสำคัญทั้งสามแห่งนี้จึงยังไม่ขาดหายไป นั่นก็เพราะเมืองทั้งสามแห่งนั้นล้วนตั้งอยู่ในตำแหน่งภูมิศาสตร์และสภาพแวดล้อมที่เป็นชุมทางการคมนาคมทางน้ำ คือเป็นบริเวณที่มีแม่น้ำและลำน้ำไหลมารวมกัน เกิดการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนบ้านและเมืองในท้องถิ่นเดียวกัน อยู่ในระบบนิเวศวัฒนธรรมเดียวกัน แม่น้ำอันเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญไม่แห้งไปหรือเปลี่ยนทางเดิน ชุมชนจึงยังดำรงอยู่อย่างสืบเนื่อง
แม้ว่ากลุ่มชนที่เป็นชาติพันธุ์เดิมจะหายไปแล้วก็ตาม แต่คนกลุ่มใหม่ก็จะเคลื่อนเข้ามาแทนที่ตลอดเวลา ทำให้ชื่อบ้านนามเมืองเก่าๆ ยังจดจำกันอยู่ แม้ว่าจะเป็นตำนานก็ตาม จะพูดถึงเมืองละโว้หรือลพบุรีเพียงเมืองเดียว เหตุที่เลือกเมืองนี้ก็เพราะ “ละโว้เป็นเมืองในสหพันธรัฐหรือมณฑลทวารวดี เช่นเดียวกันกับเมืองนครชัยศรีหรือนครปฐมโบราณ”
: “ละโว้” ศูนย์กลางคมนาคมทางบกและทางน้ำ
จากอิทธิพลของการค้าระยะไกลทั้งทางบกและโพ้นทะเลทางฝั่งอ่าวไทยและทะเลจีน ทำให้มีพัฒนาการของเมืองท่าทางชายขอบที่สูงทางฟากตะวันออกของลุ่มน้ำเจ้าพระยาหลายเมืองตั้งแต่สมัยฟูนันลงมา เช่น เมืองอู่ตะเภาที่ตำบลหางน้ำสาคร เมืองจันเสน เมืองละโว้ และเมืองขีดขีน จังหวัดสระบุรี
แต่ที่โดดเด่นและต่อเนื่องเรื่อยมาก็คือเมืองละโว้ ที่เป็นศูนย์กลางของเส้นทางคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำที่ติดต่อไปยังดินแดนภายในทางเหนือและทางตะวันออก ความสัมพันธ์กับบ้านเมืองที่อยู่ทางเหนือได้กล่าวไปแล้ว ส่วนที่ไปทางตะวันออกยังลุ่มน้ำป่าสักและที่ราบสูงโคราชนั้นมีหลายเส้นทาง ที่สำคัญก็คือเส้นทางที่ขึ้นไปตามลำน้ำลพบุรี จาก หน้าเมืองผ่านทุ่งพรหมมาสตร์ไปเขาสมอคอนและวัดไลย์ เข้าบางขามไปยังตำบลมหาสอนและบางพึ่ง ผ่าน “เมืองวังไผ่” ที่อยู่ตรงทางแยกของแม่น้ำที่จะไปทางเหนือ แต่ไม่ไป กลับหักขึ้นไปทางตะวันออกยังบ้านหมี่
เดินทางบกตามลำน้ำเข้าสู่พื้นที่สูงอันเป็นบริเวณต้นน้ำลพบุรี ผ่านชุมชนโบราณที่เป็นสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในเขต เมืองพรหมทิน อำเภอโคกสำโรง ต่อไปยัง เมืองดงมะรุม ซึ่งเป็นทางแยกขึ้นไปทางเหนือในเขตอำเภอสระโบสถ์ ผ่านชุมชนโบราณสมัยทวารวดีที่ตำบลมหาโพธิไปยังตำบล โคกเจริญ ที่มีเมืองโบราณสมัยทวารวดีอันเป็นชุมทางที่แยกไปทางตะวันตกเฉียงเหนือไปยัง เมืองดอนคา ที่อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ เมืองนี้เป็นเมืองใหญ่ที่ลำน้ำไหลไปลงบึงบอระเพ็ด ส่วนทางที่แยกจากเมืองไพศาลีไปทางตะวันออกก็ข้ามสันปันน้ำ ผ่านภูถมอรัตน์อันเป็นเขาศักดิ์สิทธิ์ของเมืองศรีเทพไปยังเมืองศรีเทพในตอนกลางของลุ่มน้ำป่าสัก
ในขณะเดียวกันที่ เมืองดงมะรุม ถ้าเดินทางข้ามช่องเขาเพชรบูรณ์ผ่านตำบลม่วงค่อมก็จะถึงสองฝั่งแม่น้ำป่าสักแต่เขตอำเภอชัยบาดาลต่อกับเขตอำเภอพัฒนานิคม ซึ่งปัจจุบันเป็นเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ณ ตำบลลำนารายณ์ อันเป็นที่ลำน้ำป่าสักไหลผ่านเมืองศรีเทพมาสบกับลำสนธิและลำพญากลาง บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของ “ปรางค์นางผมหอม” อันเป็นปราสาทแบบขอมสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ตั้งอยู่บนเส้นทางแยกที่ผ่านลำสนธิขึ้นเทือกเขาพญาฝ่อหรือดงพญาเย็น ผ่านช่องหินลับไปยังหน้าเมืองโบราณในบริเวณต้นลำน้ำชีและลำน้ำมูลของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อีกเส้นทางหนึ่งไปทางใต้ตามลำพญากลางเลียบเขาพญาฝ่อหรือพญาไฟไปยังปากช่อง เส้นทางนี้ผ่านแหล่งชุมชนโบราณก่อนประวัติศาสตร์บนที่ลาดสูงทางฝั่งตะวันตกของลำพญากลางมากมาย หนึ่งในชุมชนดังกล่าวคือ “เมืองซับจำปา” ที่พัฒนาเป็นเมืองในสมัยทวารวดี ซึ่งบรรดาโบราณสถานวัตถุที่ขุดพบมีความสัมพันธ์กับเมืองละโว้และเมืองสมัยทวารวดีอื่นๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ตามลำพญากลางไปจนถึงปากช่อง ผ่านตำบล จันทึก จังหวัดนครราชสีมา มีชุมชนโบราณสมัยทวารวดีที่พบจารึกบนฐานพระพุทธรูป ซึ่งกล่าวถึงการสร้างพระพุทธรูปอุทิศเป็นการบุญของพระราชเทวีแห่งศรีทวารวดี ตรงปากช่องเป็นรอยต่อระหว่างลำพญากลางกับลำตะคองที่ไหลลงมาจากต้นน้ำบนเขาใหญ่ทางตะวันออกเฉียงใต้มาลงหนองใหญ่ ที่ปัจจุบันกลายเป็นเขื่อนลำตะคอง ผ่านช่องเขาพญาฝ่อหรือพญาไฟซึ่งเปลี่ยนมาเป็นดงพญาเย็นเมื่อมีการสร้างทางรถไฟผ่านช่องเขาตามลำตะคองไปยังอำเภอสีคิ้วและสูงเนิน อันเป็นที่ตั้งของ “เมืองเสมา” เมืองสมัยทวารวดีที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภาคอีสานและเป็นเมืองคู่แฝดกับ “เมืองศรีเทพ” ใน “มณฑลศรีจนาศะ”
การที่เมืองละโว้มีเครือข่ายของเส้นทางคมนาคมขึ้นไปทั้งทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามที่กล่าวมา สะท้อนให้เห็นการมีพื้นที่ติดต่อกับบ้านเมืองต่างๆ ที่กว้างขวางกว่าเมืองนครชัยศรีหรือนครปฐมโบราณ
นครชัยศรีแม้จะเป็นเมืองทางน้ำที่มีขนาดใหญ่และเจริญกว่าด้วยแหล่งศาสนสถานและศิลปวัฒนธรรมในสมัยทวารวดีก็ตาม แต่ก็ต้องโรยร้างและเปลี่ยนสภาพเล็กลง อันเนื่องจากเส้นทางคมนาคมทางน้ำเปลี่ยน ชุมชนบ้านเมืองจึงเปลี่ยนตำแหน่งที่ตั้งตามไป ต่างกันกับเมืองละโว้ที่เส้นทางคมนาคมทั้งทางน้ำ ทางบกและเครือข่ายของบ้านเมืองยังดำรงอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลงไปมาก
ทำให้ต้องหันมาทบทวนตำแหน่งที่ตั้งของเมืองแต่สมัยทวารวดีจากจดหมายเหตุการเดินทางของ หลวงจีนฟาเหียน หลวงจีนเหี้ยนจัง และหลวงจีนอี้จิง อีกครั้ง โดยใช้แนวระนาบความสัมพันธ์ตะวันตก-ตะวันออกว่า ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ นั้น มี “แคว้นหลั่งยะสิว” อยู่ทางตะวันออกของ “แคว้นศรีเกษตร” ถัดไปทางตะวันออกของหลั่งยะสิว คือ “โตโลโปตี" ที่หมายถึงทวารวดี อีศานปุระ และมหาจามปา แต่ทวารวดีคือชื่อของแคว้นหรือมณฑลที่ตัวเมืองสำคัญในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ คือ “ลวปุระ หรือเมืองละโว้” เป็นศูนย์กลางของมณฑลที่พระมหากษัตริย์ผู้เป็นพระประมุข เป็นพระจักรพรรดิประทับอยู่
สอดคล้องกับเอกสารทางจารึก และตามจารึกคำว่า “ทวารวดี” คือสร้อยเมืองของลวปุระ ในทำนองเดียวกันกับคำว่า “ทวารวดีศรีอยุธยา”
ส่วนทางตำนานจามเทวีวงศ์ ชินกาลมาลีปกรณ์ และมูลศาสนา ทางเมืองหริภุญชัยกล่าวว่า พระฤาษีวาสุเทพผู้สร้างนครหริภุญชัยส่งทูตมายังพระจักรพรรดิผู้ครองละโว้ ขอพระนางจามเทวีพระราชธิดาไปปกครองเมืองหริภุญชัย และเมืองละโว้ในสมัยเวลาต่อมาหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ แล้ว เกิดสงครามชิงเมืองขึ้น โดยกษัตริย์จากหริภุญชัยยกทัพมาทำสงครามชิงเมือง ในขณะที่ทำสงครามนั้นก็มีกษัตริย์จากนครศรีธรรมราชยกกองทัพขึ้นมายังเมืองละโว้ ตีเข้าเมืองละโว้ได้ ทำให้กษัตริย์ของเมืองละโว้ต้องรีบยกกองทัพขึ้นไปยึดเมืองหริภุญชัยแทน โดยไม่มีใครทราบว่ากษัตริย์จากเมืองหริภุญชัยไปอยู่ ณ ที่ใด
เหตุการณ์ในตำนานครั้งนี้ นักโบราณคดีฝรั่งเศสผู้เชี่ยวชาญศิลาจารึกและประวัติศาสตร์ศิลป์ได้ตีความว่า เกิดขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ ลงมา
เพราะในช่วงเวลานี้มีหลักฐานทางโบราณคดีทางศาสนาฮินดูและมหายานที่เป็นศิลปกรรมแบบขอมเมืองพระนคร และศิลาจารึกที่กล่าวถึงพระนามกษัตริย์ขอม เช่น พระเจ้าชัยวรมันที่ ๔ และพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ในเมืองละโว้ โดยเฉพาะศิลาจารึกที่มีพระนามของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ นั้น กล่าวถึงชื่อเมืองละโว้ด้วย อันแสดงให้เห็นว่าในพุทธศตวรรษที่ ๑๕ อันนับเนื่องเป็นสมัยลพบุรีนั้น ชื่อเมืองละโว้ยังปรากฏอยู่
สิ่งที่น่าสนใจก็คือนักปราชญ์ฝรั่งเศสที่เป็นบรมครูทางด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ของไทย คือ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ให้ความเห็นว่า กษัตริย์จากนครศรีธรรมราชที่บุกเข้ามายึดเมืองละโว้ไว้ได้ในตำนานทางภาคเหนือนั้น คือ พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ เมื่อตีเมืองละโว้ได้แล้วก็ขยายอำนาจไปตีเมืองพระนครไว้ได้ และขึ้นครองราชย์ในนามสุริยวรมันที่ ๑ เหตุที่เซเดส์ตีความเช่นนี้ก็เพราะสะดุดกับคำในศิลาจารึกคำหนึ่งที่เป็นภาษามาเลย์ คือคำว่า “กำตวน” เป็นสร้อยคำกล่าวถึงพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ เข้ากันได้กับการเป็นกษัตริย์ที่มาจากทางใต้ เช่น นครศรีธรรมราช ว่าเป็นคนมาเลย์ ทั้งในประวัติศาสตร์ขอมเมืองพระนครเองก็ระบุว่า พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ เป็นผู้ที่บุกรุกมาชิงราชสมบัติจากราชวงศ์กษัตริย์เดิม
แต่บัดนี้ความเห็นของเซเดส์นั้น คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย รวมทั้งข้าพเจ้า ที่คิดว่ามาจากลุ่มน้ำบาสัก อันเป็นสาขาของแม่น้ำโขง ผ่านเมืองตาแก้วลงไปยังบ้านเมืองที่เคยเป็นเขตแคว้นฟูนัน ซึ่งผู้คนเป็นคนจาม-มาเลย์ และในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ นี้ก็ปรากฏร่องรอยของโบราณสถานและศิลปวัฒนธรรมแบบขอมเมืองพระนครแพร่หลายไปทั่วในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
: ละโว้ในสหพันธรัฐทวารวดี
มณฑลทวารวดีเป็นสหพันธรัฐของเมืองท่าใกล้ทะเลที่สัมพันธ์กับ “มณฑลศรีจนาศะ” อันเป็นกลุ่มเมืองภายใน (hinterland) “เมืองละโว้” เป็นเมืองนครรัฐที่เป็นเมืองท่าทางตะวันออกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมกับบรรดาเมืองภายในของลุ่มน้ำลพบุรีและป่าสัก และบรรดาเมืองและนครรัฐในลุ่มน้ำมูลตอนบนของที่ราบสูงโคราช โดยเฉพาะ “เมืองศรีเทพ” และ “เมืองเสมา” อันเป็นเมืองสำคัญของมณฑลศรีจนาศะ โดยมีร่องรอยของเส้นทางน้ำและทางบกระหว่างเมืองต่อเมืองตามเส้นทางถึงกัน
เมืองละโว้ตั้งอยู่ตรงปลายตะพักของที่ลาดเชิงเขาของ “เขาสามยอด” อันเป็นหนึ่งในกลุ่มเขาลพบุรี ที่ประกอบด้วย เขานงประจันต์ (เขาวงพระจันทร์) เขาพระงาม เขาสามยอด และ กลุ่มเขาพระพุทธบาท อันเป็นที่เกิดของลุ่มน้ำต่างๆ ที่มารวมกันเป็นลำน้ำลพบุรี เป็นบริเวณที่ลาดต่ำลอนลูกคลื่นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุจากภูเขา เช่น แร่เหล็กและทองแดง มีที่สูงและที่ลุ่มเหมาะกับการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยและการเกษตร
จากหลักฐานทางโบราณคดีพบร่องรอยของชุมชนโบราณที่แสดงว่ามีคนเข้ามาอยู่อาศัยและทำกินไม่ต่ำกว่า ๓,๕๐๐ ปีมาแล้ว โดยแบ่งออกเป็น ๒ ยุคใหญ่ๆ คือ
“ยุคก่อนเหล็ก” ที่บรรดาเครื่องประดับ เครื่องมือเครื่องใช้ และอาวุธทำด้วยหอยทะเลลึก เช่น หอยสังข์ หอยมือเสือ และโลหะสำริด อันเป็นโลหะผสมของทองแดง ดีบุก และตะกั่ว
และ “ยุคเหล็ก” ที่มีการใช้เหล็กเป็นอาวุธและเครื่องมือเครื่องใช้ รวมทั้งการนำเอาหินสีกึ่งรัตนชาติมาทำเป็นลูกปัด เครื่องประดับต่างหูและกำไล เป็นช่วงเวลาแต่ราว ๒,๕๐๐ ปีลงมา อันนับเนื่องเป็นยุคต้นพุทธกาล ยุคนี้นอกจากมีพัฒนาการทางเทคโนโลยีเกี่ยวกับเหล็กแล้ว ยังเป็นสมัยเริ่มต้นของการเกิดชุมชนบ้านเมืองและรัฐเล็กๆ (early state) ที่มีการติดต่อกับอินเดียราวพุทธศตวรรษที่ ๓ เป็นต้นมา
ความอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุเช่นเหล็กและทองแดง รวมทั้งของป่าที่มาจากความหลากหลายทางชีวภาพของอาณาบริเวณ ทำให้ชุมชนบ้านเมืองที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในเขต เขานงประจันต์ อำเภอโคกสำโรง เขาพระงาม และ เขาสามยอด ในเขตอำเภอเมืองลพบุรี อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี และอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เป็นชุมชนที่มีการทำอุตสาหกรรมเหล็ก ทองแดง การรวบรวมของป่าและการเกษตรกรรม ที่มีเมืองละโว้เป็นเมืองท่าศูนย์กลาง ซึ่งอยู่ปลายตะพักของที่ลาดต่ำ มีลำน้ำลพบุรีไหลผ่านลงสู่ที่ราบลุ่มเจ้าพระยาทางด้านตะวันตกและด้านใต้
“ลำน้ำลพบุรี” คือเส้นทางคมนาคมสำคัญทางฟากตะวันออกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีกำเนิดมาแต่เทือกเขาเพชรบูรณ์ที่แบ่งเขตอำเภอโคกสำโรงจากอำเภอชัยบาดาลและอำเภอพัฒนานิคมของลุ่มน้ำป่าสัก ลำน้ำนี้ไหลผ่านที่ลาดลอนลูกคลื่นและที่ลาดต่ำลงสู่อำเภอบ้านหมี่ อันเป็นบริเวณที่พบชุมชนบ้านเมืองสมัยยุคเหล็กและสมัยทวารวดี เช่น เมืองดงมะรุม เมืองพรหมทิน ผ่านชายขอบอำเภอบ้านหมี่ลงสู่ที่ราบลุ่มต่ำน้ำท่วมถึงทางตะวันตกของอำเภอบ้านหมี่มายัง ตำบลมหาสอน อันเป็นที่ลำน้ำลพบุรีมาสบกับลำน้ำที่ไหลมาจากที่สูงในเขตอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ที่ผ่านเมืองโบราณสมัยทวารวดีซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ ลำน้ำบางขามหรือแม่น้ำลพบุรี ที่กลายเป็นแม่น้ำวกหักลงสู่ที่ราบลุ่มทางใต้มายังอำเภอท่าวุ้ง แม่น้ำบางขามหรือลพบุรี จากตำบลมหาสอนไหลลงใต้มายังวัดไลย์ ในเขตอำเภอท่าวุ้ง อันเป็นพื้นที่ทุ่งกว้างไพศาล
รับน้ำจากบริเวณที่สูงจากแทบทุกทิศ ทำให้ลำน้ำใหญ่แยกออกเห็นหลายแพรก ผ่านอำเภอท่าวุ้งลงไปทางใต้ถึงเขตอำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กลุ่มหนึ่ง และอีกกลุ่มหนึ่งแยกไปทางตะวันออก ผ่านเขาสมอคอนไปยังทุ่งพรหมมาสตร์และเมืองละโว้ แล้วหักวกผ่านหน้าเมืองละโว้ลงใต้ไปยังอำเภอบ้านแพรกและอำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
แพรกน้ำลพบุรีที่วกผ่านเมืองลพบุรีลงไปทางใต้นี้คือ “แม่น้ำลพบุรี” ในปัจจุบัน เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำจากเมืองละโว้ที่เป็นเมืองท่าในสมัยทวารวดีไปออกอ่าวไทย
จากหลักฐานทางตำนาน โดยเฉพาะ “ตำนานจามเทวีวงศ์” ของเมืองหริภุญชัย พระนางจามเทวีน่าจะเสด็จโดยทางน้ำจากเมืองละโว้ไปครองเมืองลำพูนหรือหริภุญชัยทางเหนือ
โดยเริ่มแต่ แม่น้ำลพบุรีหน้าเมืองละโว้ผ่านทุ่งพรหมมาสตร์ เขาสมอคอน ไปวัดไลย์ จนถึงตำบลมหาสอนในเขตอำเภอบ้านหมี่ อันเป็นที่สบกันระหว่างลำน้ำที่มาจากอำเภอบ้านหมี่กับลำน้ำที่มาจากอำเภอตาคลี แล้วเสด็จตามลำน้ำที่มาจากที่สูงในเขตอำเภอตาคลีขึ้นไปจนถึงเขต เมืองจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ อันเป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดีที่มีรกรากมาแต่สมัยยุคเหล็ก จากเขตเมืองจันเสนก็เดินทางตามลำน้ำไปยังลำน้ำเจ้าพระยาเก่าที่ไหลมาจากบึงบอระเพ็ด ผ่านอำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ มายังตำบลหางน้ำสาครในเขตอำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท พระนางจามเทวีเสด็จขึ้นตามลำน้ำเจ้าพระยาเก่าผ่าน เมืองอู่ตะเภา (เมืองล่าง) ที่ตำบลหางน้ำสาคร ขึ้นมายังเมืองบนสมัยทวารวดีที่บ้านโคกไม้เดน ตำบลท่าน้ำอ้อย เขตอำเภอพยุหะคีรี ไปยังต้นน้ำเจ้าพระยาที่บึงบอระเพ็ด แล้วเสด็จขึ้นไปทางเหนือโดยลำน้ำปิงที่ เมืองพระบางหรือนครสวรรค์
1
เท่าที่กล่าวมาแล้วคือร่องรอยของเส้นทางคมนาคมทางน้ำจากเมืองละโว้ไปสัมพันธ์กับบ้านเมืองทางเหนือตามชายขอบที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา จนถึงเมืองหริภุญชัยหรือลำพูน
ซึ่งเมื่อมองภาพรวมทางภูมิวัฒนธรรมของลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะแลเห็นได้ว่า ตำแหน่งที่ตั้งของเมืองละโว้ คือ นครรัฐที่เป็นเมืองท่าทางฟากตะวันออกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่คนละฟากกับเมืองนครชัยศรีและเมืองอู่ทองทางฟากตะวันตก
ความสำคัญของเมืองท่าทั้งสองต่างกัน เมืองนครชัยศรีคือเมืองท่าใหญ่สำหรับการติดต่อโพ้นทะเลที่มาจากทางตะวันตก และเส้นทางคมนาคมที่มาจากบ้านเมืองมอญและพม่าทางชายฝั่งทะเลอันดามัน
แต่เมืองละโว้มีความสัมพันธ์กับบ้านเมืองทางฟากตะวันออกที่ผ่านลุ่มน้ำป่าสักขึ้นไปยังที่ราบสูงโคราชในดินแดนลุ่มน้ำโขงทางชายฝั่งทะเลจีนใต้
จึงเห็นได้ว่าเมืองละโว้มีความสัมพันธ์กับบ้านเมืองที่เก่าแก่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในอาณาบริเวณกว้างขวางใหญ่โตกว่าทางเมืองนครชัยศรีที่พัฒนาขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำลำคลอง (riverine area) แต่เมืองละโว้ครอบคลุมพื้นที่บนที่สูง ที่ราบสูง ป่าเขาที่เต็มไปด้วยของป่าและแร่ธาตุในบริเวณและปริมณฑลที่มากกว่า โดยเฉพาะพื้นที่ภูมิวัฒนธรรมโดยรอบเมืองละโว้ซึ่งเป็นกลุ่มเขานงประจันต์ เขาพระงาม เขาสามยอด และกลุ่มเขาพระพุทธบาท ล้วนเป็นแหล่งชุมชนบ้านเมืองที่เกี่ยวกับการอุตสาหกรรมถลุงเหล็กและทองแดงที่หนาแน่นกว่าแห่งใดๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
โดยอายุและพัฒนาการ ละโว้เทียบได้กับเมืองอู่ทองที่มีอายุเก่าขึ้นไปถึงสมัยฟูนันและสุวรรณภูมิ ซึ่งแสดงให้เห็นจากหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีที่ตำบลท่าแค ตำบลห้วยโป่ง เมืองซับจำปา จังหวัดลพบุรี บ้านใหม่ชัยมงคลที่จันเสน จังหวัดนครสวรรค์ เป็นต้น
ชุมชนบ้านเมืองเหล่านี้ในยุคเหล็กหาได้อยู่โดดเดี่ยวไม่ หากมีความสัมพันธ์กับการค้าระยะไกลจากแหล่งอารยธรรมยุคสำริดจากทางยูนนาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากรูปแบบของอาวุธและเครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนเครื่องประดับ เช่น รูปแบบของขวานสำริด กลองสำริด กำไลสำริด ตุ้มหู ลูกปัดที่ทำด้วยหินสี หินกึ่งหยก สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของ แหล่งโบราณคดีที่บ้านท่าแค ซึ่งนอกจากเป็นแหล่งอุตสาหกรรมทองแดงและเหล็กแล้ว ยังเป็นแหล่งผลิตเครื่องประดับด้วยหอยทะเลลึก เช่น หอยมือเสือและหอยสังข์ การใช้เปลือกหอยทะเลลึกทำเครื่องประดับและเป็นวัตถุมงคลนี้ เป็นสิ่งสากล (universal) ของบรรดาบ้านเมืองโบราณที่มีความสัมพันธ์การค้าระยะไกลโพ้นทะเลมาราว ๓,๐๐๐ ปีทีเดียว
จากรูปแบบของโบราณวัตถุ เช่น เครื่องปั้นดินเผาที่ใช้ในการเซ่นศพซึ่งพบตามแหล่งฝังศพในพื้นที่ลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสักนั้น มีความคล้ายคลึงกับรูปแบบของพวกซาหวิ่งห์ อันเป็นบรรพบุรุษพวกจามในเวียดนาม คนเหล่านี้เป็นพวกพ่อค้าระยะไกลทั้งทางบกและทางทะเล และเป็นกลุ่มชนที่นำพาเครื่องประดับและรูปแบบของศิลปะแบบดองซอนแพร่ไปตามชุมชนต่างๆ ที่อยู่ชายฝั่งทะเลจีน ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วย เช่นเดียวกันกับเมืองอู่ทองและชุมชนทางฟากตะวันตกและฝั่งอันดามันของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีการเกี่ยวข้องกับอินเดียในสมัยสุวรรณภูมิ คือราวพุทธศตวรรษที่ ๒-๓ ลงมา บ้านเมืองทางฟากฝั่งเมืองละโว้ก็มีความสัมพันธ์ด้วยเช่นกัน แต่ไม่มากเท่ากับทางฝั่งเมืองอู่ทอง
หลักฐานที่แสดงให้เห็นก็คือบรรดาภาชนะดินเผาสีดำที่มีการขัดผิวและประดับด้วยลายเส้นเบาๆ ที่ไม่กินลงไปถึงพื้นผิวภาชนะ เป็นสิ่งที่ศาสตราจารย์วิลเฮล์ม จี โซลไฮม์ (Prof. Wilhelm G. Solheim) จากมหาวิทยาลัยฮาวาย สหรัฐอเมริกา พบเห็นจากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีในที่ราบสูงโคราช โดยเฉพาะในชั้นดินชั้นล่างของปราสาทหินพิมาย โซลไฮม์ให้ชื่อภาชนะดินเผานี้ว่า พิมายดำ (Phimai black) มีอายุราว ๕๐๐ ปีก่อนคริสตกาลลงมา เป็นรูปแบบที่พบตามแหล่งโบราณคดีในประเทศอินเดีย ได้มีการพบเห็นภาชนะแบบพิมายดำนี้ในที่อื่นๆ เช่นที่เมืองจันเสน ซับจำปา และศรีเทพ
: จาก “ละโว้” เป็น “ลพบุรี”
เมืองละโว้ยังดำรงอยู่และดูกว้างขวางกว่าแต่เดิมในสมัยลพบุรี คือพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ ลงมา ถ้าหากนำเอาเส้นทางคมนาคมจากเมืองละโว้ไปยังดินแดนภายในที่เป็นมณฑลศรีจนาศะตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คือ จากละโว้ไปศรีเทพ เมืองเสมาไปยังเมืองฝ้าย และกลุ่มบ้านเมืองในลุ่มน้ำลำปลายมาศ ภูพระอังคาร เข้าสู่พื้นที่เขตวัฒนธรรมขอมในเขตพนมรุ้งและภูปลายบัด ในขณะเดียวกันอิทธิพลของสังคมและวัฒนธรรมขอมสมัยเมืองพระนครแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๕ ลงมา ก็แพร่ขึ้นมาตามอาณาบริเวณของศรีจนาศะมายังลุ่มน้ำป่าสักและลพบุรี
เหตุนี้จึงพบร่องรอยของโบราณสถานและศาสนสถาน ศาสนวัตถุขอมในเมืองสำคัญ คือ “เมืองเสมา เมืองศรีเทพ และเมืองละโว้” ในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ในขณะเดียวกันก็แลเห็นการเติบโตของบ้านเมืองแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ ลงมา ในรูปที่เกิดเป็นนครรัฐใหม่ๆ ขึ้น เช่น เมืองพิมาย เมืองพนมรุ้ง เมืองศามพูกะ เป็นต้น
พอขึ้นต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ คือ ราว พ.ศ. ๑๗๐๐ ลงมา มณฑลทวารวดีและศรีจนาศะก็สลายตัวไป มีการรวมกลุ่มของนครรัฐอิสระใหม่ๆ เหล่านี้ขึ้นเป็นกลุ่มเมืองแบบมณฑลใหม่หลายแห่ง เช่น ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่จดหมายเหตุจีนกล่าวถึงรัฐใหญ่ ๒ แห่งที่ส่งทูตไปเมืองจีน คือ “หลอฮกและเสียม”
“หลอฮกคือละโว้” ในขณะที่ “เสียม” มีคนตีความกันต่างๆ นานาว่า เป็นสุโขทัย โดยไปผูกมัดกับเรื่องราวการเคลื่อนย้ายของชนชาติไทยจากยูนนานเข้ามาดินแดนประเทศไทย ที่เป็นอาณานิคมของอาณาจักรขอมเมืองพระนคร เมืองสุโขทัยในลุ่มน้ำยม-น่านถูกยึดครองโดยชนชาติไทย แล้วตั้งเป็นรัฐอิสระแผ่อำนาจมาขับไล่ขอมซึ่งอยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่มีเมืองละโว้เป็นศูนย์กลาง แล้วสร้างเมืองอยุธยาขึ้นมาแทนที่ สุโขทัยกลายเป็นราชอาณาจักรที่แผ่อำนาจไปปกครองทั้งประเทศ จนถึงเมืองนครศรีธรรมราชจรดคาบสมุทรมลายู
จากความคิดอ่านและการศึกษาค้นคว้าทางภาคสนามของข้าพเจ้า ไม่เคยเชื่อถือและยอมรับเรื่องการเคลื่อนย้ายของชนชาติไทยจากยูนนานเข้ามาปราบขอม และสร้างสุโขทัยและอาณาจักรไทยขึ้นแทนที่ในดินแดนประเทศไทยเช่นนี้เลย เพราะเป็นการตีความหลักฐานทางประวัติศาสตร์จากแนวคิดเรื่องชาตินิยมที่มีมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ แล้วขยายผลจนฟุ้งเฟ้อในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และเชื่อกันมาจนถึงทุกวันนี้
ทำนองตรงข้าม ในที่นี้ข้าพเจ้าเชื่อว่าบ้านเมืองในดินแดนประเทศไทย โดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีมณฑลทวารวดี-ศรีจนาศะดำรงอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๕ นั้น เกิดการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคของการเกิดบ้านเมืองใหม่ที่เป็นนครรัฐและมณฑลใหม่แต่พุทธศตวรรษที่ ๑๖ ลงมา อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-การเมืองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งในหมู่เกาะและคาบสมุทรที่สัมพันธ์กับการล่มสลายของมณฑลศรีวิชัย สหพันธรัฐเมืองท่าในหมู่เกาะและชายทะเลที่ผูกขาดเส้นทางการค้าทั้งทางทะเลและทางบก
ความสำคัญของศรีวิชัยก็คือเป็นยุคที่มีการแผ่พุทธศาสนามหายานขึ้นไปตามบ้านเมืองต่างๆ ตามเส้นทางการค้าแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ หลังพุทธศตวรรษที่ ๑๔ มณฑลศรีวิชัยถูกทำลายโดยการรุกของพวกโจฬะทมิฬจากอินเดียใต้ และการแพร่หลายของศาสนาฮินดูที่เข้ามาแทนที่ ทำให้บรรดาบ้านเมืองซึ่งเกี่ยวข้องไม่ว่าทั้งทางภาคใต้ของไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และบ้านเมืองในกัมพูชาและจามปา ต่างนับถือศาสนาฮินดูเป็นใหญ่ แต่ก็ยังไม่ทอดทิ้งพุทธมหายาน
ในยุคนี้เกิดมณฑลใหม่ในที่ราบสูงโคราชและดินแดนรอบทะเลสาบเขมร ทำให้ศาสนาฮินดูรุ่งเรืองและได้รับการอุปถัมภ์โดยราชวงศ์กษัตริย์ที่มีอำนาจ แต่การสิ้นสุดของศรีวิชัยก็หาเกิดจากการรุกรานของพวกโจฬะแต่อย่างเดียวไม่ หากยังผสมผสานกับการเปลี่ยนนโยบายการค้าของจีนกับบ้านเมืองชายทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่แต่เดิมต้องทำการค้าขายกับศรีวิชัยซึ่งเป็นพ่อค้าคนกลางเท่านั้น จีนเปลี่ยนมาเป็นการค้าขายกับคนท้องถิ่นในภูมิภาคแทน เป็นเหตุให้เกิดเส้นทางการค้าใหม่ๆ การเคลื่อนย้ายของผู้คนทั้งจากโพ้นทะเลภายในและภายนอกเข้ามาตั้งเมืองใหม่และนครรัฐใหม่ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ เป็นต้นไป
เป็นยุคที่มีการนำพุทธมหายานและฮินดูเข้ามาผสมผสานเป็นความเชื่อทางศาสนาของผู้คนในบ้านเมือง และแลเห็นการเกิดเป็นอาณาจักรของเมืองพระนครในกัมพูชาที่ส่งกระแสทางวัฒนธรรมที่เป็นศิลปวัฒนธรรมเข้ามายังดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางของประเทศไทย
โดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้น “เมืองละโว้” ได้กลายมาเป็นศูนย์กลางทางศิลปวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลจากขอมกัมพูชา ทั้งด้านการเมืองและวัฒนธรรมมากกว่าบรรดาเมืองอื่นๆ ทางลุ่มน้ำเจ้าพระยาฟากตะวันตก เช่น นครชัยศรี อู่ทอง และคูบัว ซึ่งเป็นนครรัฐร่วมมณฑลเดียวกัน
พอเข้าพุทธศตวรรษที่ ๑๘ คือแต่ พ.ศ. ๑๗๐๐ ลงมา ก็เกิดมีการรวมกลุ่มของนครรัฐในดินแดนประเทศไทยขึ้นเป็นมณฑลใหม่ที่ในจดหมายเหตุจีนเรียกว่า “เสียมก๊ก” และ “หลอฮกก๊ก” ที่มีเมืองสำคัญอยู่ที่ละโว้ทางฝ่ายหลอฮกก๊ก และเมืองสุพรรณภูมิทางฝ่ายเสียมก๊ก ซึ่งหากมองดูตำแหน่งเมืองสำคัญที่เปลี่ยนไปจากมณฑลทวารวดีแล้ว จะเห็นได้ว่าเมืองสุพรรณภูมิที่ต่อมาคือเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นเมืองสำคัญของเสียมก๊กนั้น เกิดขึ้นมาเป็นเมืองท่าแทนเมืองอู่ทองและนครชัยศรีทางฟากตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา และมีเมืองนครรัฐร่วมสมัยในมณฑลเดียวกัน คือ เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี เมืองแพรกศรีราชา เมืองนครศรีธรรมราช และเมืองสุโขทัย
ส่วนทางมณฑลหลอฮกก๊ก เมืองละโว้ยังดำรงอยู่ในฐานะเมืองสำคัญมาแต่สมัยทวารวดี และมีเมืองที่พัฒนาขึ้นใหม่ในมณฑลคือเมืองอโยธยา เมืองสิงห์บุรี เมืองเจนลีฟู ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาซีกตะวันออก เมืองพิมาย เมืองพนมรุ้ง ที่สัมพันธ์กับอาณาจักรเมืองพระนครในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ และเมืองหริภุญชัยกับเขลางค์นครในภาคเหนือ
ข้าพเจ้าเรียกการรวมกลุ่มขึ้นเป็นมณฑลแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๘ นี้ว่า “มณฑลสุพรรณภูมิ” (เสียมก๊ก) และ “มณฑลละโว้” (หลอฮกก๊ก) เป็นมณฑลยุคใหม่ที่กว้างขวางกว่ามณฑลทวารวดีและศรีจนาศะในพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ เพราะมีเครือข่ายของนครรัฐใหญ่น้อยที่เกิดขึ้นตามเส้นทางคมนาคมยุคใหม่ข้ามภูมิภาค
มณฑลสุพรรณภูมิแผ่ไปถึงสุโขทัยทางเหนือและนครศรีธรรมราชทางภาคใต้ ในขณะที่มณฑลละโว้ขยายตัวผ่านที่ราบสูงโคราช โดยเฉพาะในลุ่มน้ำมูลไปยังที่ราบลุ่มทะเลสาบเขมรถึงเมืองพระนคร
สิ่งที่โดดเด่นทางสังคมและวัฒนธรรมอันเกิดจากการเติบโตของบ้านเมืองแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ลงมา ก็คือการเคลื่อนย้ายของคนกลุ่มใหม่จากภายนอกที่เข้ามาทั้งทางบกและทางทะเล จากทางยูนนานและกวางตุ้ง กวางสี เข้ามาตั้งถิ่นฐานและทำการค้าขาย สร้างบ้านแปงเมือง คนกลุ่มนี้ถ้าเรียกตามประวัติศาสตร์เชื้อชาตินิยมก็คือพวกที่เรียกว่าคนไทยที่อพยพใหญ่ (exodus) หนีจากการรุกไล่ของจีนมาปักหลักใหม่ในดินแดนประเทศไทย จนสามารถเอาชนะเจ้าของแผ่นดินเดิม คือ พวกขอมจากเมืองพระนคร แล้วสร้างกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี
ข้าพเจ้าไม่เชื่อและไม่ยอมรับการอพยพเคลื่อนย้ายข้ามดินแดนอย่างรวดเร็วเช่นนี้
แต่เชื่อว่าการเคลื่อนย้ายของคนจากยูนนานมาทางแม่น้ำโขงและคนจากกวางตุ้ง-กวางสีที่มาทางทะเลนั้น สัมพันธ์กับเส้นทางการค้าที่ผสมผสานกับกลุ่มคนจีนสมัยปลายราชวงศ์ซ่ง ซึ่งหนีภัยจากการรุกรานของพวกมองโกลที่เข้ามายึดครองบ้านเมืองและดินแดน ตั้งราชวงศ์หยวนขึ้นมาแทน โดยมีจักรพรรดิมองโกลคือกุบไลข่านปกครอง
: การเกิดขึ้นของสยามเทศะ
ทั้งราชวงศ์หยวนและราชวงศ์หมิงที่มีอำนาจแทนราชวงศ์ซ่งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ ล้วนเป็นผู้สนับสนุนการค้าขายทางทะเลและทางบกจากยูนนาน กวางตุ้ง กวางสี เข้ามาในดินแดนประเทศไทย ผู้ที่อพยพเข้ามาทำการค้าขายและตั้งถิ่นฐานจากประเทศจีนตอนใต้นี้ คือชนกลุ่มใหม่ที่เข้ามาผสมผสานกับคนซึ่งอยู่ตามบ้านเมืองในประเทศไทยแต่สมัยลพบุรีลงมา กลุ่มคนที่เคลื่อนย้ายมาตามเส้นทางบกและตามลำน้ำต่างๆ เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำคำ นับเรียกรวมๆ ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ไทย-ลาว เป็นพวกที่ทำให้เกิดนครรัฐใหม่ขึ้นในนามของล้านนา ล้านช้าง และสุโขทัย เป็นกลุ่มชนที่พูดภาษาไทย
ในขณะที่ผู้มาจากทางกวางตุ้ง กวางสี ก็มีทั้งคนไท คนจีน และชาติพันธุ์อื่นๆ เข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองตามปากแม่น้ำใหญ่ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มาทำสวน ทำประมง และการค้าขาย ทำให้เกิดบ้านเมืองใหม่ๆ ขึ้นในพื้นที่ที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่เรียกว่า พื้นที่ลุ่มน้ำลำคลอง หรือ ดินดอนสามเหลี่ยมใหม่ (young delta)
เกิดนครรัฐกลุ่มใหม่ขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำลำคลองที่ออกทะเลได้ ทั้งทางตอนบนและตอนล่างของดินดอนสามเหลี่ยม เมืองสำคัญ ได้แก่ “เมืองอโยธยา” ในลำน้ำเจ้าพระยา “เมืองสุพรรณภูมิ” ในลำน้ำท่าจีน “เมืองแพรกศรีราชา” ในลำน้ำน้อย “เมืองราชบุรี” ในลำน้ำแม่กลอง “เมืองเพชรบุรี” ในลำน้ำเพชรบุรี และ “เมืองศรีพโล” ตรงปากแม่น้ำพานทองทางฟากลุ่มน้ำบางปะกง
โดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยา บรรดานครรัฐอิสระใหม่นี้ได้รวมตัวกันเป็นมณฑลสุพรรณภูมิ ที่จีนเรียกว่า “เสียมก๊ก” ทางฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา และเมืองอโยธยาที่จีนเรียกว่า “หลอฮกก๊ก” เพราะเป็นเมืองท่าสำคัญของเมืองละโว้ที่มีการสืบเนื่องมาแต่สมัยทวารวดีและลพบุรี เหตุที่ย้ายความสำคัญของเมืองละโว้มาอยู่ที่อโยธยา เพราะอยู่ใกล้ทะเลอ่าวไทยมากกว่า และเรือสินค้าใหญ่ๆ จากโพ้นทะเล เช่นจากจีนเข้ามาจอดทอดสมอได้สะดวก ในช่วงเวลาพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ นี้ มีหลักฐานทางตำนานพงศาวดารที่กล่าวถึงการเข้ามาของคนจีนจากจีนตอนใต้ว่าเข้ามาตั้งถิ่นฐานและแต่งงานกับคนพื้นเมืองที่มีมาก่อน เช่น ตำนานตาม่องล่ายของชนฝั่งทะเล และตำนานนางนงประจันต์ของทางเมืองละโว้
แต่ที่สำคัญคือการเรียกชื่อกษัตริย์และผู้นำบ้านเมืองคนสำคัญว่า “เจ้าอู่ทอง” หรือท้าวอู่ทอง เช่น กษัตริย์ผู้ครองอโยธยาองค์หนึ่งว่า เจ้าอู่ทองเป็นบุตรของพระยาโชฎึกราชเศรษฐี ผู้เป็นขุนนางจีน หรือเรื่องของพระเจ้าสายน้ำผึ้งกับพระนางสร้อยดอกหมาก ผู้เป็นพระธิดาของเจ้ากรุงจีน รวมทั้งพระมหากษัตริย์องค์สำคัญของนครรัฐ เช่น เพชรบุรี นครศรีธรรมราช และอโยธยา มักเกี่ยวข้องกันกับเรื่องราวของพระเจ้าอู่ทอง เป็นต้น ข้าพเจ้าเห็นว่ากลุ่มชนที่มีพระเจ้าอู่ทองเป็นกษัตริย์ปกครองหรือเกี่ยวข้องด้วยในดินแดนประเทศไทยเหล่านี้ คือ คนที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลาง จึงเรียกได้ว่าคือคนไทยที่แท้จริง ประกอบด้วยคนหลายชาติพันธุ์ที่เปลี่ยนมาใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลาง
“มณฑลสุพรรณภูมิกับมณฑลละโว้” มารวมตัวกันเป็นมณฑลขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงอภิเษกสมรสกับพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์แห่งสุพรรณภูมิ แล้วสร้างกรุงศรีอยุธยาขึ้นแทนเมืองอโยธยาเดิม ทำให้ความเป็นศูนย์กลางของเมืองละโว้สิ้นสุดลง กลายเป็นเมืองลูกหลวงของเมืองอยุธยา
โดยมีสมเด็จพระราเมศวร ราชโอรสปกครองเมืองละโว้ ในช่วงเวลานี้บรรดาเมืองนครรัฐทั้งหลายในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้เปลี่ยนการนับถือศาสนาแต่เดิมที่มีทั้งพุทธเถรวาท มหายาน (วัชรยาน) และฮินดู มาเป็นพุทธศาสนาลังกาวงศ์
การเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงนั้นแลเห็นได้จากบรรดาศาสนสถานสำคัญกลางเมืองละโว้ ก่อน ซึ่งสอดคล้องกับ ศิลาจารึกภาษาขอมสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ในรัชกาลของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ที่พบที่ศาลสูง (ศาลพระกาฬ) ว่า พระมหากษัตริย์ทรงอุปถัมภ์ศาสนาพุทธเถรวาท มหายาน และฮินดูให้อยู่รวมกันในเมือง ดังเห็นได้จากศาสนสถานสำคัญ เช่น
“วัดนครโกษา” ซึ่งแต่เดิมเป็นพุทธสถานทางเถรวาทที่มีมาแต่สมัยทวารวดี “ศาลพระกาฬ และปรางค์แขก” เป็นของเนื่องในศาสนาพราหมณ์ฮินดู และ “ปรางค์สามยอดกับพระปรางค์วัดมหาธาตุ” เป็นพุทธมหายาน
ศาสนสถานเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้รับการปรับเปลี่ยนให้มาเป็นพุทธเถรวาทลังกาวงศ์แต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙ ลงมาทั้งสิ้น ดังเห็นได้ที่วัดนครโกษาและวัดมหาธาตุ ณ วัดนครโกษาที่เป็นพระสถูปมาแต่สมัยทวารวดีถูกสร้างทับเปลี่ยนให้เป็นพระสถูปและพระวิหารในพุทธเถรวาทลังกาวงศ์ ในขณะเดียวกันปราสาทและศาสนสถานพุทธมหายานของวัดมหาธาตุ ถูกปรับเปลี่ยนปราสาทให้เห็นสถูปธาตุในรูปของพระปรางค์แทน
อาจกล่าวได้ว่าพระปรางค์สถูปที่วัดนี้ คือ ศิลปะสถาปัตยกรรมแบบปรางค์ยุคแรกเริ่มก่อนการไปสร้างในที่อื่นๆ ก็ว่าได้ พระสถูปทรงปรางค์นี้นับได้ว่าเป็นอัตลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของเมืองละโว้ ขณะที่วัดมหาธาตุคือวัดสำคัญของเมืองละโว้แต่สมัยสมเด็จพระราเมศวรลงมาถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย
ตามที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าเมืองละโว้ไม่เคยร้างและถูกทอดทิ้ง หากยังดำรงสถานะเป็นเมืองนครและเมืองท่าจากสมัยทวารวดี ลพบุรี มาจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้น
: ละโว้ใหม่หรือลพบุรี
ความสำคัญของเมืองละโว้เปลี่ยนจากเมืองใหญ่ไปเป็นเมืองเล็กในสมัยรัชกาลของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ที่พัฒนาขึ้นเป็นราชอาณาจักร มีเมืองหลวงศูนย์กลางอยู่ที่อยุธยา แต่ถึงจะลดสถานะมากลายเป็นเมืองเล็ก
แต่ละโว้ก็ยังมีสภาพเป็นเมืองสำคัญทางศาสนา ที่มีศาสนสถานเก่าแก่และวัดวาอารามรุ่งเรือง ทั้งเป็นเมืองสำคัญบนเส้นทางคมนาคมทางน้ำจากอยุธยาขึ้นไปยังหัวเมืองทางเหนือ
จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมืองละโว้ก็ได้รับการฟื้นฟูให้เป็นเมืองที่ประทับในฤดูร้อน มีการก่อสร้างตึกรามบ้านช่อง วัดวาอาราม ตลอดจนการจัดวางผังเมืองคล้ายๆ กับทางตะวันตก
ในทางยุทธศาสตร์ เมืองละโว้ตั้งอยู่เหนือน้ำทางตอนเหนือของอยุธยา เหมาะกับการเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ในยามมีกองทัพจากภายนอกเข้ามาปิดล้อมอยุธยาทางทะเล เกิดชุมชนบ้านเมืองเรียงรายตามแม่น้ำลำคลองจากอยุธยาไปลพบุรี
แต่ที่สำคัญเมืองละโว้มีป่าเขาธรรมชาติที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์ ทางด้านตะวันออกกินพื้นที่ป่าเขาแต่เขาเพนียด เขานงประจันต์ เขาพระงาม เขาสามยอด เขาโจนจีน เขาจีนแล ไปจนถึงกลุ่มเขาพระพุทธบาท เป็นที่มีชุมชนโบราณรุ่งเรืองมาแต่สมัยทวารวดี
จึงกลายเป็นเมืองเสด็จประพาสธรรมชาติของพระมหากษัตริย์ไทย ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พระเจ้าปราสาททองลงมา จนรุ่งเรืองสุดในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ที่ทรงสร้างเมืองละโว้ใหม่ในนาม เมืองนพบุรี หรือลพบุรี
ซึ่งคำว่า “ลพบุรี” นี้หาได้มีความหมายหรือความสัมพันธ์กับนามเมืองดั้งเดิมว่า “ละโว้” หากสร้างให้มีความหมายเป็นเมืองของพระนารายณ์ตามอย่างที่มีกล่าวถึงในรามเกียรติ์ อันหมายถึงสมเด็จพระนารายณ์โดยตรง
เกิดการสร้างบ้านแปงเมืองและขยายถิ่นฐานไปรอบเมืองลพบุรี ทำให้เกิดภูมิวัฒนธรรม (cultural landscape) ใหม่ ซึ่งเห็นได้จากชื่อบ้านนามเมือง ลำคลอง หนองน้ำ และภูเขา ที่ไปสัมพันธ์กับเรื่องราวในรามเกียรติ์ เช่น ทุ่งพรหมมาศ เมืองขีดขิน เขาสรรพยา เขาสมอคอน เป็นต้น
อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ใคร่มีคนกล่าวถึงก็คือ ในยุคเมืองละโว้ใหม่ที่เป็นลพบุรีนี้ มีการพัฒนาในเรื่องเส้นทางคมนาคมทางน้ำใหม่ เพื่อให้มีการติดต่อกับบรรดาเมืองในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะแต่เมืองนครสวรรค์และชัยนาทมายังเมืองลพบุรีแล้วต่อลงไปยังพระนครศรีอยุธยาได้สะดวก นั่นคือการขุดคลองบางพุทรา จากแม่น้ำเจ้าพระยาที่เมืองสิงห์บุรีมาต่อกับแม่น้ำลพบุรีที่ไหลมาจากโคกสำโรง บ้านหมี่ ท่าวุ้ง และบางขาม ผ่านทุ่งพรหมมาสตร์มาเมืองลพบุรี ผลจากการขุดคลองบางพุทรามาเชื่อมกับลำน้ำลพบุรีที่เมืองลพบุรีนี้ ทำให้ลำคลองบางพุทรากลายเป็นลำน้ำลพบุรีในปัจจุบัน
ติดตามบทความ วิดีโอ และรายการต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่
โฆษณา