16 ส.ค. 2021 เวลา 14:07 • ท่องเที่ยว
😍เมื่อวิทยาศาสตร์ มาช่วยเผยโฉมภาพจิตรกรรม อันล้ำค่าของวัดอุโมงค์😍
1
รูปจิตรกรรมฝาผนังของวัดอุโมงค์โดยคอมพิวเตอร์กราฟฟิค ที่มาจากเพจ I love Wat Umog
เมื่อวานช่างแสนสนุก ได้เที่ยวทิพย์กับ อพวช. โดย โปรแกรม zoom คนชอบเที่ยวอย่างเราคลายเหงาไปได้แยะ แถมได้ความรู้เปิดกะโหลก รู้สึกฮือฮา อยากมาแบ่งปัน
หัวข้อที่ได้ฟังบรรยายเมื่อวานคือ "ย้อนรอยวิทย์ศิลป์ ถิ่นเจียงใหม่"
เราเคยไปวัดอุโมงค์เชิงดอยสุเทพ ที่เชียงใหม่ หลายครั้งมาแล้ว ทราบแค่เพียงว่า สร้างขึ้นมาตั้ง700ปีมาแล้ว โดยพระยามังราย ปฐมกษัตริย์​แห่งล้านนา(ยุคเดียวกับพ่อขุนรามฯ)​ต่อมาพระยากือนาสร้างอุโมงค์ถวายพระเพื่อทำวิปัสสนา
1
เวลาเราไป ก็ได้เดินมุดทะลุอุโมงค์ต่างๆไปมา มีเชื่อมกัน3อุโมงค์ อากาศเย็นสบายถ่ายเท สังเกตมีจิตรกรรมภาพวาดที่กำแพงอุโมงค์ ลาง ๆ จาง ๆ ไม่ได้สนใจนัก
แต่เมื่อวานเมื่อได้นั่งฟัง ผศ.ดร.อติชาต เกตตะพันธ์ุ จากภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มช. และท่านวิทยากร อีก 2ท่าน เล่าโปรเจค และผลสำเร็จของงานวิจัยวัดอุโมงค์ โดยใช้วิทยาศาสตร์ มาช่วยวิจัยโบราณคดี เราเห็นภาพ ถึงกับตื่นตะลึง
อาจารย์ชี้ให้เห็นว่า แอมโมเนีย และมีดผ่าตัด สามารถโชว์ภาพที่ซ่อนในหินปูนให้แจ่มชัดขึ้นได้ อีกทั้งรังสีอินฟาเรดก็ได้มาร่วมใช้ โดยไม่ทำให้ต้องขูดผิวปูนออก
งานวิจัยทำยาวนานเป็น10ปีโดยผู้เชี่ยวชาญ เราจะไปขูด ๆๆ เองไม่ได้นะคะอาจารย์ย้ำ อย่าหาทำเชียว
เราตื่นตากับภาพจำลองสามมิติ โอ้โฮ คนโบราณ เขาเพ้นท์สีเอาไว้500กว่าปีแล้ว ยาวเต็มอุโมงค์อย่างกับ wall paper
ที่แปลกคือปกติจิตกรรมฝาผนัง​เราจะเห็นเป็นพุทธประวัติ แต่ที่นี่ เราจะได้เห็นลวดลายดอกไม้ ดอกบัว นก เมฆ เต็มพรืดไปหมดจนสุดกำแพงอุโมงค์
ภาพจากสไลด์ ที่อาจารย์นำมาบรรยายนะคะ
เราจะเห็นลายเมฆเด่นชัด อาจารย์อธิบายว่า ลายนี้เป็นศิลปแบบจีนเมื่อ500ปีก่อน ยังมีพวกนก กระสา นกยูง และเถาโบตั๋นด้วย โบตั๋นหรือพิโอนีนี่ก็ดอกไม้จากจีนค่ะ
สีเขียวสดใสนั้น จากกระบวนการทางเคมี ก็ทำให้ทราบว่ามาจากแร่สีเขียวค่ะ
จากสไลด์ของอาจารย์ทั้ง3ท่านนะคะ มาลาไคต์ค่ะ แร่ที่ให้สีเขียว
การวางผังอุโมง และวิธีสร้างประตูโค้ง ก็ได้ใช้หลักการคณิตศาสตร์​มาอธิบายให้เราฟังค่ะ สนุกมากๆ
จากสไลด์ของอาจารย์นะคะ
สรุปว่าได้ความรู้ใหม่เพียบ อยากกลับไปวัดอุโมงค์อีกครั้ง คราวนี้จะไปพิจารณาภาพ สนุกมากขึ้นแน่นอน
คิดถึงภาพจิตกรรมฝาผนัง​ที่วัดในอยุธยา อยากให้มีใครทำวิจัยแบบนี้บ้างจัง
วันนี้เข้าใจชัดแล้วว่า วิทยา​ศาสตร์​สามารถเข้ามาช่วยเปิดเผยความงามทางศิลปอันล้ำค่าที่ซ่อนเร้นไว้ได้อย่างน่าทึ่ง
ขอขอบคุณ อพวช.จัดโครงการดีๆให้ประชาชนได้เรียนรู้ และขอบคุณอาจารย์วิทยากรทั้ง3ท่าน ตามภาพด้านล่างนะคะ
ข้อมูลเพิ่มเติม หาได้จากเพจ I love Wat Umong ค่ะ
โฆษณา