16 ส.ค. 2021 เวลา 14:37 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เจาะผลประกอบการ CPALL ไตรมาส 2/2564
สัปดาห์นี้เป็นช่วงท้ายของการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของบริษัทจดทะเบียน (บางบริษัทอาจจะเป็นไตรมาสอื่น หรือบางบริษัทอาจจะเป็นงบปี) วันนี้แอดมินเลือกหุ้นมหาชนตัวหนึ่งที่ประกาศผลประกอบไปแล้วมาเล่าให้ฟังกันครับ
CPALL หรือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด(มหาชน) ถ้าพูดชื่อนี้อาจจะยังไม่ร้องอ๋อ แต่ถ้าบอกว่านี่คือชื่อบริษัทเจ้าของ 7-11 ร้านสะดวกซื้อที่มีทุกหัวระแหง โอ้โห รู้จักทั่วราชอาณาจักรแน่นอน
CPALL ประกาศผลประกอบการ ไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 มีกำไรสุทธิ 2.18 พันล้านบาท ซึ่งลดลงจาก 2.88 พันล้านบาทในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 และลดลงจาก 2.59 พันล้านบาท ในไตรมาสแรก ปี 2564 นับเป็นกำไรรายไตรมาสที่ต่ำที่สุดในรอบเกิน 5 ปีทีเดียว
อย่างไรก็ตาม หากเราเข้าไปดูคำอธิบายผลประกอบการของบริษัท จะพบว่ารายได้ และกำไรขั้นต้น ในไตรมาสนี้เติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน +7.5% และ +6.1% ตามลำดับ และมีกำไรจากการดำเนินงาน +12.6% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ทั้งหมดนั้นถูกหักลบด้วยดอกเบี้ยจ่ายจำนวนมาก จนทำให้กำไรสุทธิ -24.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา CPALL เปิดร้านสะดวกซื้อเพิ่มขึ้น 156 สาขา ทำให้จำนวนสาขารวมทั้งประเทศอยู่ที่ 12,743 สาขา และได้นำกลยุทธ์ O2O (Online to offline) มาใช้
หลายๆ คนอาจเห็นโฆษณาการสั่งซื้อสินค้า All Online กันมาบ้าง โดยโฆษณานี้เปรียบ7-11 เป็นเหมือนห้างใกล้บ้าน มีการจัดส่งสินค้าแบบ delivery เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงความพยายามในปรับตัวของ CPALL ในสถานการณ์วิกฤติได้เป็นอย่างดี
CPALL ยังวางแผนขยายสาขาใหม่ของ7-11อีกประมาณ 700 สาขาในปี 2564 โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 11,500 – 12,000 ล้านบาท
ขณะที่ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ Makro ซึ่งเป็นบริษัทที่
CPALL ถือหุ้นใหญ่อยู่ มีกำไรไตรมาส 2 อยู่ที่ 1.28 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1.14 พันล้านบาท ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 แต่ลดลงจากไตรมาสแรกของปี 2564 ที่ 1.73 พันล้านบาท
ส่วน Tesco Lotus ที่ CPALL เพิ่งเข้าซื้อในสัดส่วน 40% มีผลขาดทุนในไตรมาสที่ 2 ที่ -129 ล้านบาท
++มองไปในอนาคต
สำหรับธุรกิจร้านสะดวกซื้อ แม้ว่าจะมีการนำกลยุทธ์ด้านออนไลน์เข้ามาช่วย แต่ยังไม่สามารถชดเชยผลกระทบจากวิกฤติโควิดได้ ทั้งยังเผชิญอุปสรรคจากมาตรการการจำกัดเวลาทำการ จากเดิมที่เปิดได้ 24 ชั่วโมง การขาดหายไปของนักท่องเที่ยวที่ในอดีตเคยสูงถึง 40 ล้านคนในปี 2562 การเดินทางที่ลดลงของผู้คน โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง และการจับจ่ายใช้สอยที่ต้องระมัดระวังขึ้น แน่นอนว่ากระทบกับธุรกิจนี้อย่างหนัก และต้องรอการกลับมาเปิดเมืองอีกครั้ง เราถึงจะเห็นการกลับไปเติบโตในระดับก่อนเกิดวิกฤติ
สำหรับ Lotus ที่ทาง CPALL เพิ่งเข้าไปถือหุ้นนั้น ต้องเจอกับผลกระทบเช่นเดียวกัน จนทำให้ไตรมาสนี้ถึงกับขาดทุน นอกจากนั้น ยังสร้างภาระหนี้สินให้กับ CPALL จำนวนมาก คงต้องรอสถานการณ์โรคระบาดฟื้นตัวขึ้น และรอดูความร่วมมือระหว่าง CPALL และ Lotus ในอนาคต ว่าจะสร้างการเติบโตให้กับทั้งคู่ได้มากแค่ไหน
ขณะที่ MAKRO ถือเป็นตัวที่ช่วยประคอง CPALL ไว้ แต่การเติบโตก็ชะลอตัวเช่นกัน
ทั้งนี้ MAKRO มีการขยายธุรกิจออกไปยังต่างประเทศ ได้แก่ กัมพูชา อินเดีย จีน และเมียนมา หากสามารถประสบความสำเร็จในตลาดที่มีประชากรจำนวนมาก เช่น จีนและอินเดียได้ (ซึ่งไม่ง่ายแน่นอน) ย่อมจะส่งผลดีต่อผลประกอบการของทั้ง MAKRO และ CPALL ในระยะยาว
นอกเหนือจากธุรกิจเหล่านี้ ซึ่งเป็นค้าปลีกเหมือนกัน เมื่อช่วงเดือน ก.ย. 2562 CPALL ได้ทำสัญญากับบริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ PLANB
โดย PLANB จะเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่สื่อโฆษณาใน7-11 ข้อมูลล่าสุดไตรมาส 2 ปี 2564 พบว่า PLANB ได้ทำการติดตั้งจอ LED Screen ใน7-11 1,150 สาขา และคาดว่ายังมีโอกาสเพิ่มเติมได้ในอนาคต โดย CPALL จะได้รายได้ค่าเช่า ขณะที่ PLANB จะได้รายได้ค่าบริหารจัดการสื่อ และเพิ่มโอกาสได้ลูกค้าใหม่
แม้กำไรที่ทาง CPALL ได้รับอาจจะไม่ได้มากขนาดมีนัยสำคัญ (บทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ประเมินไว้ที่ราวไม่เกิน 2% ของกำไรคาดการณ์ปี 2564 โดยเป็นการคาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 2563) แต่มองเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และเชื่อว่าอนาคตจะมีโอกาสได้เห็นดีลของ CPALL กับบริษัทอื่นๆ เพิ่มเติมแน่นอน
อีกประเด็นสำคัญของ CPALL ก็คือ เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2564 CPALL ได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ สำหรับการต่อสัญญาการดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อในปั๊มปตท. ออกไปอีก 10 ปี โดยอายุสัญญาก่อนฉบับล่าสุดจะครบกำหนดในปี 2566 สัญญาฉบับใหม่ ซึ่งเป็นฉบับที่ 3 จะขยายความร่วมมือของทั้ง 2 บริษัทออกไปจนถึงปี 2576
สำหรับการต่อสัญญาครั้งนี้ เป็นการคลายความกังวลได้พอสมควร เนื่องจากสัญญาเดิมระหว่างทั้ง 2 บริษัท กำลังจะหมดลงในเวลาไม่ถึง 2 ปี และสาขาของ7-11ในปั๊มปตท. คิดเป็นถึง 15% ของสาขารวม ดังนั้น การต่อสัญญาจึงเป็นผลดีกับทั้ง 2 ฝ่าย
7-11ได้รับประโยชน์จากที่ตั้งของปั๊มปตท. ซึ่งอยู่ในทำเลที่ดี และมีกระจายอยู่หลายจังหวัด ขณะที่ทางปตท. เองก็จะได้รับผลบวกจากจำนวนลูกค้าที่จะมาใช้บริการ7-11 เรียกได้ว่า 7-11เป็นแรงดึงดูดให้กับลูกค้าปตท. อีกทาง
++การขยายธุรกิจเดิมในต่างประเทศ
ต้องยอมรับว่า 7-11มีการขยายสาขาในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้แม้ว่าจะยังสามารถขยายเพิ่มเติมได้ แต่การเติบโตในรอัตราที่สูง ค่อนข้างจะเป็นไปได้ยากแล้ว ทาง CPALL จึงมีการวางแผนขยายธุรกิจร้านสะดวกซื้อออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน คือ กัมพูชาและลาว โดยทาง CPALL จะพยายามหาพันธมิตรเข้ามาร่วมลงทุนในธุรกิจร้านสะดวกซื้อทั้ง 2 ประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์โควิดที่แพร่ระบาดส่งผลให้การดำเนินการต่างๆ ค่อนข้างล่าช้า และต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง ทำให้ความชัดเจนอาจจะต้องรออีกระยะ
ด้วยการเติบโตที่ท้าทายมากขึ้นในประเทศ การเลือกไปเปิดสาขาที่ต่างประเทศ ถือเป็นสิ่งที่ช่วยต่อยอดการเติบโตได้ แต่ต้องอย่าลืมว่า การไปต่างประเทศอาจจะไม่ได้ง่ายเหมือนการขยายธุรกิจในประเทศที่7-11เป็นเจ้าตลาด และจำนวนประชากรของทั้ง 2 ประเทศ รวมกันยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของประชากรไทย
ดังนั้น การเติบโตในส่วนนี้ จึงคงไม่สามารถคาดหวังการเติบโตได้เท่ากับธุรกิจร้านสะดวกซื้อในไทย และการทำธุรกิจในต่างประเทศ มีโอกาสที่จะต้องพบกับ country risk ซึ่งเป็นความเสี่ยงเฉพาะตัวในแต่ละประเทศ เป็นเรื่องที่น่าติดตามว่า CPALL จะประสบความสำเร็จขนาดไหน ในการขยายธุรกิจครั้งนี้
++ธุรกิจใหม่
ณ ปัจจุบันเราอาจจะยังไม่เห็นธุรกิจใหม่ ที่จะมาเป็น S curve หรือเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตที่ชัดเจนในอนาคตกับทาง CPALL แต่เริ่มมีสัญญาณการปรับตัวบางอย่างที่น่าสนใจ
ในรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 ทางบริษัทได้ทำการแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัท โดยเฉพาะหัวข้อวัตถุประสงค์ของบริษัท โดยมีการเพิ่มหมวดธุรกิจที่บริษัทอาจจะดำเนินการได้อนาคต คือ ประกอบกิจการนำเข้า ส่งออก ให้เช่า ให้เช่าซื้อ เครื่องจักร เครื่องยนต์ เครื่องมือกล เครื่องทุ่นแรง หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมทั้งประกอบกิจการห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ศูนย์ประชุม โรงแรม ภัตตาคาร สถานที่ออกกำลังกาย ศูนย์บริการเพื่อสุขภาพ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง
ทั้งนี้ ไม่ได้แปลว่า CPALL จะทำทั้งหมดนะครับ สุดท้ายอาจจะไม่ได้ทำเลยก็ได้ แต่ทั้งหมดนี้เป็นการเตรียมความพร้อม หากว่าทางบริษัทมองว่าธุรกิจไหนน่าสนใจ จะทำให้บริษัทสามารถประกอบธุรกิจนั้นได้ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของบริษัทที่ทำการแก้ไขรอไว้แล้ว
นอกจากนี้ ยังมีโปรเจกต์ 7 Go Green ซึ่งจะทำการติดตั้งสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าบริเวณหน้าร้าน 7-11 จำนวน 24 สาขา ซึ่งทางผู้บริหารเน้นย้ำในงาน Opportunity day Q1 ว่าเป็นเรื่องของการเน้นรักษาสิ่งแวดว้อมเป็นหลัก แต่หากมองอีกมุม ด้วยเทรนด์ในอนาคต ซึ่งมีโอกาสสูงที่เราจะพบเห็นการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงจำนวนสาขาของ 7-11 ที่มีพร้อมและกระจายอยู่ทั่วประเทศ เป็นไปได้หรือไม่ว่าในอนาคตทาง CPALL อาจจะขยับเข้ามาในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้าไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
++สรุปความเห็น
แม้จะโดนผลกระทบค่อนข้างหนักจากโควิด แต่ด้วยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และความเป็นผู้นำในร้านสะดวกซื้อ เชื่อว่าหลังจากสถานการณ์โควิดดีขึ้น (คาดหวังขอให้มันดีขึ้นเร็วที่สุด) เชื่อว่าผลประกอบการของ CPALL น่าจะกลับมาเติบโตได้ในระดับใกล้เคียงกับก่อนเกิดวิกฤตินี้
ขณะที่ธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงการขยายไปในต่างประเทศ ผมมองว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ แต่ไม่น่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะกับผลประกอบการของบริษัทในระยะสั้นครับ
อีกจุดที่น่าสนใจ คือ ราคาหุ้น CPALL ที่ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดที่ 90 บาท เมื่อช่วงปี 2018 ขณะที่ปัจจุบัน ราคา CPALL อยู่ที่ 57.50 บาท นับเป็นการปรับตัวลดลง 36.1% ผมเชื่อว่าหากวิกฤติครั้งนี้สิ้นสุดลง ราคา CPALL มีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นระดับหนึ่ง สะท้อนการกลับมาฟื้นตัวของธุรกิจ
แต่หากมองไปในระยะยาว ผมยังเห็นปัจจัยที่ท้าทายกับ CPALL พอสมควรทั้งการเติบโตที่เริ่มช้าลงของ 7-11 ภาระหนี้สิ้นที่ต้องใช้ระยะเวลาในการจัดการ ซึ่งกระทบต่อผลประกอบการ ความเสี่ยงจากการลงทุนในต่างประเทศ ที่ยังต้องรอดูว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ รวมถึงการหา S curve ตัวใหม่ที่จะมาผลักดันการเติบโตของธุรกิจอย่างมีนัย ดังนั้น การซื้อขายในระดับ P/E ที่สูงในอดีต ผมคิดว่ามีโอกาสอาจจะถูกปรับลดลงมาซื้อขายในช่วง P/E Band ที่ต่ำลง หากปัจจัยต่างๆ ข้างต้นยังไม่มีความชัดเจนครับ
โฆษณา