17 ส.ค. 2021 เวลา 07:53 • การเมือง
จับตามองความสัมพันธ์ระหว่างจีนและตาลีบัน (ร่วมด้วยเรื่องของซินเจียงและสหรัฐอเมริกา)
สำนักข่าวซินหัวของประเทศจีนได้รายงานว่า หัวชุนอิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนแถลงว่า ประเทศจีนมีความยินดีกับโอกาสที่ได้กระชับความสัมพันธ์กับอัฟกานิสถาน ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อประเทศมหาอำนาจมานานแล้ว
2
"สำหรับตาลีบัน พวกเขาแสดงความประสงค์ดีที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนเสมอมา และพวกเขารอคอยให้จีนเข้าไปมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูและพัฒนาอัฟกานิสถาน ซึ่งประเทศจีนยินดีกับโอกาสนี้ โดยจีนเคารพสิทธิของประชาชนชาวอัฟกันที่จะตัดสินใจทางเลือกของตนอย่างเสรี และปรารถนาว่าจะได้เดินหน้ากระชับความสัมพันธ์ที่ดี เป็นพันธมิตรที่ดีต่อกันกับอัฟกานิสถาน"
1
"ประเทศจีนขอเรียกร้องให้ตาลีบันถ่ายโอนอำนาจหน้าที่รัฐอย่างราบรื่นและสันติ ขอให้รักษาคำมั่นที่จะจัดตั้งรัฐบาลอิสลามที่เปิดกว้าง โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนและพลเมืองต่างชาติ"
สำหรับสถานทูตจีน ณ กรุงคาบูล จะยังคงเปิดทำการปกติ แม้ว่ารัฐบาลจีนจะมีคำสั่งให้อพยพพลเมืองจีนออกไปแล้วเมื่อหลายเดือนก่อนที่สถานการณ์จะเป็นดังปัจจุบัน
2
ระหว่างที่สหรัฐอเมริกาถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน จีนพยายามรักษาความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการกับกลุ่มตาลีบันมาโดยตลอด เนื่องจากประเทศจีนและอัฟกานิสถาน มีชายแดนติดกันยาวกว่า 76 กิโลเมตร ทำให้จีนเกรงว่าตาลีบันจะทำให้อัฟกานิสถานเป็นจุดพักพิงของชาวอุยกูร์ในเขตการปกครองซินเจียงที่ต้องการแยกเขตแดนออกจากประเทศจีน
เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 2021 ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทวงต่างประเทศของจีน นายหวังอี้ ได้พบปะพูดคุยกับผู้แทนระดับสูงของตาลีบัน มุลลอฮ์ อับดุล กอนี บาราดาร์ ที่เทียนจิน ประเทศจีน
1
การเยือนประเทศจีนของตาลีบันครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำชัดเจนว่า จีนจะสนับสนุนและรับรองรัฐบาลตาลีบัน หลังจากที่มีการถ่ายโอนอำนาจหน้าที่ในอัฟกานิสถานเรียบร้อยและก่อตั้ง "เอมิเรตอิสลาม" (รัฐภายใต้การปกครองของตาลีบัน) โดยจีนจะยังคงทำตาม นโยบายการต่างประเทศของตน "ที่จะไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของประเทศใด" สำหรับอัฟกานิสถาน จีนจะให้การช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ และช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบ
2
ทั้งสองบรรลุข้อตกลงที่จะไม่ให้อัฟกานิสถานเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มติดอาวุธหรือเป็นจุดพักพิงแก่ชาวอุยกูร์ที่ซินเจียง โดยจีนเสนอการสนับสนุนการลงทุนและการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศอัฟกานิสถานเป็นการแลกเปลี่ยน
Credit : Eurasian Times และ Financial Times
ความอ่อนไหวของจีน - ผลประโยชน์ของตาลีบัน
เขตการปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เป็นเขตปกครองตนเองของจีนในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของจีน โดยมีพรมแดนติดกับอัฟกานิสถาน
3
โดยมีฉนวนวาคาน (Wakhan Corridor) ที่จังหวัดบาดักชาน ที่มีลักษณะเป็นหลอดแคบยาว เชื่อมต่อเขตซินเจียงเข้ากับแผ่นดินใหญ่ของอัฟกานิสถาน
Credit : Insider
ฉนวนวาคาน เชื่อมพรมแดน ซินเจียง อัฟกานิสถาน ปากีสถานและทาจิกิสถานด้วย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดที่รัฐบาลจีนให้ความสนใจและระมัดระวังเป็นอย่างมาก เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มติดอาวุธที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนซินเจียงออกจากจีนแผ่นดินใหญ่
โดยรัฐบาลจีนไม่อนุญาตให้เปิดด่านในพื้นที่ดังกล่าว มีการควบคุมและเฝ้าระวังอย่างแน่นหนา ก่อนหน้านี้อัฟกานิสถานและสหรัฐอเมริกาเคยเรียกร้องให้เปิดด่าน จีนก็ไม่เคยอนุญาต
Wakhan Corridor (Credit : http://www.riazhaq.com/2020/05/carec-more-landlocked-states-look-to.html?m=1)
อันที่จริงแล้วฉนวนวาคานและด่านจุดนี้อยู่ห่างไกลจากความขัดแย้งในอัฟกานิสถานมากพอสมควร และไม่ค่อยมีผู้ใดเดินทางไปบริเวณนี้เนื่องจากเป็นช่องแคบที่อยู่สูงและไม่มีถนนตัดผ่าน
1
บริเวณฉนวนวาคาน (Credit : https://www.pakistanguidedtours.pk/trek-along-wakhan-corridor/)
อย่างไรก็ตามจีนเฝ้าระวังและจับตาดูพื้นที่นี้มาตลอด เข้มงวดกับการเดินทางผ่าน เนื่องจากที่ผ่านมาเขตซินเจียงอุยกูร์เคยมีสายสัมพันธ์กับกลุ่มตาลีบัน-อัลกออิดะฮ์ มาก่อน
กระทั่งการรุกคืบของกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถานเข้ามายังพื้นที่ฉนวนวาคาน และยึดพื้นที่บริเวณนั้นทั้งหมดในเมืองอิชาคาชิม เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม
กลุ่มติดอาวุธตาลีบันยึดประตูหน้าด่านที่ฉนวนวาคานเอาไว้ได้ ทหารอัฟกันบางส่วนที่ดูแลพื้นที่เดิม ได้หนีเข้าไปที่ประเทศทาจิกิสถาน
1
สำหรับตาลีบัน พวกเขาอาจจะกำลังเล่นเกมการเมืองระหว่างประเทศอยู่ ในการยึดพื้นที่ดังกล่าวเป็นการแสดงท่าทีให้มหาอำนาจ โดยเฉพาะจีน รู้ว่าพื้นที่ตรงนี้มีผู้ควบคุม ซึ่งตาลีบันน่าจะทราบอยู่แล้วว่าพื้นที่ดังกล่าวอ่อนไหวสำหรับประเทศจีนมากแค่ไหน
1
จีนและตาลีบันติดต่อ เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกันมาหลายปีแล้ว ทั้งในรูปแบบทางการและไม่ทางการ
ดังนั้นการเข้าไปควบคุมพื้นที่และเจรจาตกลงแลกเปลี่ยนที่ผ่านมา จะเป็นการการันตีได้ว่าอย่างตาลีบันจะไม่ถูกแทรกแซงจากจีน แต่จะได้รับการรับรองในฐานะรัฐบาล
2
ที่สำคัญยังจะได้รับเงินทุนสนับสนุนจากจีนที่มหาศาล เนื่องจากจีนมีนโยบายที่จะขยายการลงทุนด้านสิ่งก่อสร้างพื้นฐานในภูมิภาค ซึ่งจะสร้างเม็ดเงินจำนวนมากกลับคืนให้จีนเช่นเดียวกัน
ที่ผ่านมาจีนได้เข้าไปลงทุนในภูมิภาคเอเชียกลางผ่าน "ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative /BRI)" ซึ่งเปรียบเปรยว่าเป็นเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21
ขณะเดียวกันก็อาจมองได้ว่าจีนต้องการสร้างเสถียรภาพในภูมิภาคเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการขยายการลงทุนของตนเอง
Credit : https://strategyinternational.org/the-changing-dynamics-of-the-belt-and-road-initiative/
ที่สำคัญจีนจะได้ผลประโยชน์ในการควบคุมพื้นที่ที่อ่อนไหวไม่ให้เป็นฐานที่มั่นของกลุ่มเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดน ที่อาจจะดึงชาวอุยกูร์ในซินเจียงจำนวนมากไปเข้าร่วม
แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่ตราบใดก็ตามตาลีบันจะทำตามข้อตกลงที่ให้ไว้กับจีน
ขณะเดียวกันตาลีบันก็พยายามสร้างความชอบธรรมให้ตนเองบนเวทีโลกมาก่อนหน้านี้แล้ว
เมื่อปีที่แล้วในการประชุมที่กรุงโดฮา รัฐบาลของสหรัฐอเมริกาได้ทำข้อตกลงกับตาลีบัน และลงนามร่วมกันใน "ข้อตกลงนำสันติภาพ" เพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและอัฟกานิสถาน โดยสหรัฐฯจะถอนกำลังทหารภายใน 14 เดือน หลังตาลีบันยึดมั่นในข้อตกลง และทำให้อัฟกานิสถานปราศจากความขัดแย้งที่รุนแรงได้
นายซัมไมย์ เคลิลซาด ทูตพิเศษสหรัฐฯ และนายมุลลาห์ อับดุล กานี บาราดาร์ จากกลุ่มตาลีบัน จับมือกันหลังลงนามในข้อตกลง (Credit : BBC Thai)
ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่ามหาอำนาจอย่างสหรัฐฯและจีน จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการก่อตั้งรัฐบาลอิสลามของกลุ่มตาลีบัน ตราบใดที่ตาลีบันรักษาคำมั่นสัญญาและทำตามข้อตกลงที่ทำร่วมกันไว้
1
แต่!!! ความซับซ้อนยังมีมากกว่านี้
เข้าสู่สงครามเย็นยุคใหม่ระหว่างสหรัฐฯและจีน โดยมีซินเจียงเป็นสมรภูมิ
สำหรับชาวอุยกูร์ในซินเจียง บางกลุ่มเชื่อว่า จีนและสหรัฐฯมีผลประโยชน์ร่วมกันจากการใช้กลุ่มตาลีบัน อัลกออิดะฮ์ และอุยกูร์ มาเป็นข้ออ้างในการกวาดล้างกลุ่มก่อการร้ายและกลุ่มแบ่งแยกดินแดน
1
จีนพยายามเกาะกระแสนโยบายการต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ และฉวยโอกาสปราบอุยกูร์ในซินเจียงที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนมาโดยตลอด
ขณะที่สหรัฐฯทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น และขึ้นทะเบียนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในซินเจียงเป็น "กลุ่มก่อการร้าย" ซึ่งตรงกับความต้องการของจีนเป็นอย่างยิ่ง
ชาวอุยกูร์ที่ต้องการแยกดินแดนมีอยู่ 2 ขบวนการ คือ ขบวนการปลดปล่อยเตอร์กิสถานตะวันออก (East Turkestan Liberation Organization/ ETLO) กับ ขบวนการอิสลามิกเตอร์กิสถานตะวันออก (East Turkestan Islamic Movement / ETIM)
ทั้งสองขบวนการมีจุดประสงค์ในการสร้างรัฐอิสลามเตอร์กิสถานตะวันออก ซึ่งรัฐบาลจีนต้องการปราบปราม และ เป็นกลุ่มที่สหรัฐฯ ขึ้นทะเบียนว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย
ชาวอุยกูร์ซินเจียงเป็นชาติพันธุ์มองโกล-เตอร์กิช เรียกสั้นๆว่า เติร์กอุยกูร์ และเป็นชาวมุสลิมนิกายซุนหนี่ประมาณ 55% มีวัฒนธรรม ภาษา ประเพณีและจารีตที่แตกต่างจากคนจีนทั่วไป และต้องผ่านประวัติศาสตร์การกลืนวัฒนธรรมจากรัฐบาลกลางของจีนหลายยุคหลายสมัย หนึ่งในความพยายามนั้นคือ การสร้างค่ายกักกันชาวอุยกูร์ในเขตซินเจียง
ชาวอุยกูร์ในซินเจียง (Credit : Global Times, Irish Times)
กลับมาที่การช่วงชิงเกมการเมืองระหว่างประเทศ ในตอนแรกสหรัฐฯ ไม่เคยสนใจตาลีบันที่ยึดครองอัฟกานิสถาน หรือกลุ่มอัลกออิดะฮ์ที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวในประเทศเลย
จนกระทั่งเหตุการณ์ 9/11 สหรัฐฯหันมาไล่ล่ากลุ่มก่อการร้ายทุกรูปแบบ
เหตุการณ์ 9/11 (Credit : http://stevetilford.com/2016/09/11/911/attachment/911/)
ขณะที่จีน ขบวนการเคลื่อนไหวแยกดินแดนของชาวอุยกูร์ที่ซินเจียง เป็นหนามทิ่มอกรัฐบาลจีนมาโดยตลอด
ช่วงปีค.ศ. 1998-2003 ETLO ก่อเหตุวินาศกรรมหลายครั้ง เช่น สังหารนักการทูตจีนที่ทาจิกิสถาน ค้ายาเสพติด ปล้นชิงทรัพย์ ซึ่ง"ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอัลกออิดะฮ์" ทำให้รัฐบาลจีนประกาศทันทีว่า ETLO เป็นกลุ่มติดอาวุธที่ได้รับการฝึกและสนับสนุนจากตาลีบัน และมีฐานที่มั่นอยู่ที่อัฟกานิสถาน
อีกกลุ่มนึง ETIM ซึ่งเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนซินเจียงที่มีความรุนแรงและเก่าแก่มากกว่า ETLO มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับตาลีบันมาก ได้รับการสนับสนุนให้เคลื่อนไหวรุนแรงในจีนและปากีสถานมาโดยตลอด
สหรัฐฯขึ้นทะเบียนกลุ่ม ETIM เป็นกลุ่มก่อการร้ายตั้งแต่ปี 2002
ท่าทีของสหรัฐฯเปลี่ยนเป็นเผชิญหน้ากับจีนมากขึ้น ในสมัยประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ โดยหันมาเล่นสงครามการค้ากับจีน และที่สำคัญ ใช้ประเด็น "ค่ายกักกันและแรงงานชาวอุยกูร์ที่ซินเจียง" และ "การละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวอุยกูร์" มาโจมตีจีน
ในปี 2020 นี้เอง สหรัฐฯปลดรายชื่อ ETIM ออกจากกลุ่มผู้ก่อการร้าย โดยให้เหตุผลว่าไม่มีหลักฐานในปัจจุบันว่ากลุ่ม ETIM นี้ยังคงปฏิบัติการอยู่
จีนโต้กลับว่าการถอนรายชื่อเป็นการบั่นทอนความร่วมมือกันของประชาคมโลกที่จะจัดการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้าย
สำหรับจีนเองโดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าใช้คำว่า "กลุ่มก่อการร้าย" บังหน้าเพื่อกวาดล้างขบวนการต่อสู้เพื่อแยกดินแดนของชาวอุยกูร์เพียงเท่านั้น เพราะไม่ว่าจะมีผู้ที่ต่อต้านหรือแค่แสดงท่าทีไม่พอใจ รัฐบาลจีนก็ปราบ เข้าควบคุม นำตัวไปคุมขังแล้ว
ชาวอุยกูร์ที่รวมตัวประท้วงเรียกร้องให้จีนหยุดละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้านบนที่หน้าสถานทูตจีน ณ กรุงลอนดอน ปี 2019 /  ด้านล่างที่สำนักงานสหประชาชาติ ณ กรุงเจนีวา ปี 2018 (Credit : The Meridian และ TRT World)
ล่าสุดหลังจากที่ผู้แทนของตาลีบันได้พบปะกับรัฐบาลจีน ทำข้อตกลงร่วมกันดังที่กล่าวไปด้านบน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน ได้ประกาศตอบโต้ว่า รัฐบาลของอัฟกานิสถานภายใต้ตาลีบัน ละเมิดสิทธิมนุษยชนและกระทำความรุนแรงต่อประชาชน และจะกลายเป็นรัฐนอกรีต (Pariah State) ในที่สุด
สำหรับจีนและตาลีบัน เราอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นมิตรแท้หรือศัตรูกัน ตราบใดที่เรายังคงรักษาผลประโยชน์ของชาติเราเอาไว้ได้ สำหรับจีน การไม่เพิ่มความอ่อนไหวในพื้นที่ที่อ่อนไหวและธุรกิจการลงทุนไม่ชะงักอาจจะเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ส่วนตาลีบัน การจะตั้งรัฐบาลและรัฐที่ชอบธรรม ถ้ามีมหาอำนาจรับรองเสียอย่าง ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องยากมากนัก
อย่างไรก็ตามการเมืองระหว่างประเทศเรื่องนี้ยังไม่จบและมีความซับซ้อน ยังมีความเชื่อมโยงอีกมากมายที่รอการเปิดเผย
เราสรุปประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ตาลีบัน และเกี่ยวๆกับชาวอุยกูร์ซินเจียง และสหรัฐฯ มาให้เห็นภาพรวมการเมืองระหว่างประเทศที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนให้เห็นภาพคร่าวๆ
สำหรับท่าทีสหรัฐฯต่อรัฐบาลอัฟกันภายใต้ตาลีบันจะต้องดูต่อไปยาวๆ รวมถึงความสัมพันธ์กับจีนจะเป็นอย่างไรในอนาคต ต้องรอติดตาม
References:
โฆษณา