16 ส.ค. 2021 เวลา 15:52 • ประวัติศาสตร์
สงครามปลดแอกหงสาที่แท้จริง คือ ศึกนันทบุเรง!!!
ในแง่มุมประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา ช่วงเวลาสมเด็จพระมหาธรรมราชาต่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นยุคสมัยการสู้รบครั้งใหญ่ในภูมิภาคเอเชียงตะวันออกเฉียงใต้ ทรัพยากรทั้งเงินทอง ผู้คน ยุทธปัจจัย ทุ่มลงไปในการสงคราม เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็น เอกราช อีกครั้ง ( เป็นความเชื่อของยุคสมัยในความเป็นราชาเหนือราชาทั้งปวง )
หลายคนคิดว่า การชนะศึกยุทธหัตถี ปีพ.ศ. 2135 คือการปลดแอกหงสาวดี เพราะคนที่ตายเป็นถึงพระมหาอุปราช เป็นเบอร์ 2 ของราชวงศ์ตองอู แต่ถ้าคำนึงบริบทความเป็นจริง จะใช่แบบที่เราคุ้นเคยจริงหรือ?
การขึ้นมาของ พระนเรศวร คือปัจจัยสำคัญในการแปรเปลี่ยนของ อำนาจหงสาวดี นับตั้งแต่การสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าบุเรงนองในปี พ.ศ.2124 ราชวงศ์ตองอู เริ่มระส่ำระสายเป็นลำดับ เมืองในขอบขัณธสีมาบางส่วน ที่ยอมให้พระเจ้าบุเรงนอง เริ่มที่จะไม่รับอำนาจและก้มหัวให้พระเจ้าหงสาองค์ใหม่ คือ พระเจ้านันทบุเรง
หลังศึกเมืองคัง คือยกแรกของการปลดแอกเหล่าเมืองขึ้น การก่อกบฏของพระเจ้าอังวะ กลายเป็นยกสองที่คนในราชวงศ์ชั้นสูงสู้กันเอง และตรงนี้เอง คือจังหวะที่ต้องฉวยของวังหน้าอยุธยา ชิงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง แล้วถอยมาตั้งรับศึก
ซึ่งไม่ได้เกินความคาดการณ์ของฝ่ายหงสา เพราะหลักฐานทางพม่าก็ระบุว่าพระเจ้านันทบุเรง ไม่วางใจอยุธยา ก่อนศึกอังวะ ได้ส่งแม่ทัพ 2 คนพร้อมคนชาติฉาน มาตั้งกองหน้าปลูกข้าวเก็บเสบียง ทำทางเดินทัพ ที่กำแพงเพชร ซึ่งคาดเดาไม่ยากว่า คือการเตรียมพร้อมบุกอยุธยา
การประกาศอิสรภาพของพระนเรศวร คือจุดเริ่มต้นต่อการกลับสู่สถานะ เอกราช อีกครั้ง เพราะหลังจากนี้สงครามหลายครั้งถาโถมใส่มหานครฟากตะวันออกอย่างบ้าคลั่ง นับตั้งแต่คราวศึกพระยาพะสิมและพระเจ้าเชียงใหม่เป็นต้นมา
ปีพ.ศ.2129 คือจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดต่อการตกลงดินของหงสาวดี
และการขึ้นสูงสุดของอยุธยาก็มาถึง พระเจ้านันทบุเรง เล็งเห็นว่า ต้องทำการปราบอยุธยาเพื่อให้อาณาจักรกลับมาสงบอีกครั้ง เชื่อโดยส่วนตัวว่า เพราะพระองค์ยังฮึกเหิมจากการชนะศึกอังวะ จึงมองว่าการตีโยเดียจึงไม่น่าจะยากเกินไป
จึงทรงยกทัพใหญ่เป็นทัพกษัตริย์
ในพงศาวดารพม่าระบุจำนวนทัพไว้ว่า ประกอบด้วยช้าง 3,200 ทัพม้า 12,000 และไพร่ราบ 252,000 คน ขุนทัพทั้งพระมหาอุปราช ลักไวทำมู พระยาพระราม พระยานคร นันทสู และพระเจ้าตองอู ก็โดยเสด็จ ถ้ามองทางกายภาพ วัดปอนด์ต่อปอนด์ อยุธยาแพ้ตั้งแต่ยังไม่ขึ้นชก
แต่การเปลี่ยนยุทธวิธี คิดใหม่ ทำใหม่ ของพระนเรศวร แบ่งทัพตีลัดตัดเสบียง ไม่ให้พม่าอยู่เป็นสุข ไหนจะฆ่าลักไวทำมู ไล่ตีค่ายต่างๆ ตลอดเวลา รวมทั้งขนปืนใหญ่ขึ้นสำเภายิงค่ายหลวงอีก เป็นสิ่งที่พระเจ้านันทบุเรง ไม่ได้คำนึงถึง จนในที่สุดทัพกษัตริย์หงสา ก็ต้องยอมยกธงขาวถอยกลับบ้าน
และนี่เอง ทำให้เหล่าเมืองเล็กเมืองน้อย เมืองประเทศราชทั้งหมด มีตัวอย่างในการประกาศอิสรภาพ เพราะไม่สามารถปราบอยุธยาลงได้ จึงสามารถวิเคราะห์ได้ว่า จริงๆแล้ว สงครามครั้งนี้ต่างหาก คือ การปลดแอกอำนาจหงสาอย่างแท้จริง เพราะกษัตริย์ยกมาเองก็ปราบไม่ได้
และอย่าได้ลืมว่า การที่พระเจ้าบุเรงนองขึ้นสู่จุดสูงสุด คือ การปราบอยุธยาลงได้ ซึ่งพระเจ้านันทบุเรงกลับทำไม่ได้ และพาอาณาจักรหงสาวดีล่มสลายลงไปกับตัวด้วย ส่วนสงครามยุทธหัตถี เป็นเพียงเครื่องตอกย้ำอิสรภาพที่อยุธยาคู่ควร เท่านั้นเอง....
โฆษณา