17 ส.ค. 2021 เวลา 00:01 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Global Economic Update : 'ค่าเงินบาท' จะยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง
'ค่าเงินบาท' จะยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง
📌 ภายใต้แรงกดดันจากปัญหาในประเทศเยอะแยะมากมาย ค่าเงินบาทเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่อ่อนค่าลงมากที่สุดในภูมิภาค
โดยตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงราว 10% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ
📌 จากที่ประเทศไทยเคยเป็นประเทศที่ได้รับการชื่นชมว่าสามารถจัดการกับโควิด-19ได้อย่างดีเยี่ยมในปีที่แล้ว แต่ในตอนนี้ประเทศไทยกลับถูกจัดลำดับให้เป็นประเทศที่มีการฟื้นตัวจากโควิด-19 แย่ที่สุดในโลก
สะท้อนจากดัชนีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ (The Nikkei COVID-19 Recovery Index) ที่ไทยได้อยู่ลำดับที่ 120 (จากจำนวนการจัดลำดับ 120 ประเทศ)
เนื่องด้วยมีคนไทยเพียง 24% เท่านั้นที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก และมีเพียง 6.9% ที่ได้รับวัคซีนครบทั้งสองเข็ม
ดัชนีชี้วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ Google Mobility ประเทศไทย
📌 แผนการฉีดวัคซีนภายในประเทศที่ยังไม่ชัดเจน
ประกอบกับมาตรการสนับสนุนจากทางภาครัฐ ที่น่าจะไม่เพียงพอและมีความล่าช้า ส่งผลให้ผู้ที่มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบมากที่สุดในขณะนี้
ข้อจำกัดและมาตรการล็อกดาวน์ในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของคนจำนวนหลายล้านคน กระทบกับกว่า 40% ของประชากรในประเทศ และมากกว่า 75% ของ GDP ไทย
สัดส่วนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม
📌 โครงการ Phuket Sandbox และ Samui Plus
ที่จัดขึ้นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับมาเที่ยวประเทศไทยก็ดูเหมือนว่าจะสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ไม่มากนัก โดยตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพียงไม่กี่หมื่นคนซึ่งถือว่าน้อยมากหากเทียบกับช่วงก่อนการระบาดที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 1 ล้านคนต่อเดือน
ทั้งนี้การที่จำนวนนักท่องเที่ยวยังกลับมาไม่ได้ จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ล่าช้ากว่าประเทศอื่นๆ โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะกลับมาระดับเท่ากับช่วงก่อนการระบาด ต้องใช้เวลาถึงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565
📌 'ค่าเงินบาท' คาดว่าจะยังคงอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ
จนกว่าประเทศไทยจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ แม้นายกรัฐมนตรีจะให้คำมั่นว่าจะเปิดประเทศได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน แต่แผนดังกล่าวก็ดูจะมีความเป็นไปได้ไม่มากนัก
และมีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยอาจจะมีภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ในช่วงกลางปี 2565 ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนั้นเศรษฐกิจไทยอาจเข้าสู่สภาวะถดถอยอีกครั้งได้
📌 ในแง่ของนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
มีแนวโน้มจะลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในช่วงเดือนกันยายน เนื่องจากเศรษฐกิจในตอนนี้ต้องการแรงหนุนอย่างมาก และเราจะจับตาดูว่าทางธปท. จะมีนโยบายอะไรออกมาเพิ่มเติมนอกเหนือจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ใกล้ 0% มากแล้ว
📌 ในทางตรงกันข้ามธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
มีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายทางการเงินที่เข้มงวดขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังร้อนแรง ตลาดยังคงรอสัญญาณการลด QE
จากทั้งการประชุมที่ Jackson Hole และ FOMC Meeting ในเดือนสิงหาคมและกันยายนนี้ ท่าทีนโยบายการเงินที่แตกต่างกันระหว่างไทยและสหรัฐฯ นี้คาดว่าจะกดดันค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงไปอีก
📌 หากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ในสหรัฐฯ ไม่มีความรุนแรงมากนัก
เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะเติบโตอยู่ที่ราว 7% และ เฟดคาดว่าจะเริ่มลด QE ในช่วงปลายปีนี้
ส่วนเศรษฐกิจประเทศไทยมีแนวโน้มชะลอตัวมาตั้งแต่ช่วงเมษายนหลังจากมีการระบาดระลอกใหม่ ธนาคารกรุงเทพจึงมองว่าทั้งปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตอยู่ที่ราว 0%
📌 ด้วยระบบสาธารณสุขที่ล่มสลายของไทย
เศรษฐกิจไทยจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยสองถึงสามเดือนก่อนที่สถานการณ์ต่างๆจะกลับมาดีขึ้นและรัฐบาลจะเริ่มมีการคลายล็อกดาวน์
'ดุลบัญชีเดินสะพัด' ของไทยคาดว่าจะยังคงขาดดุลจนกว่านักท่องเที่ยวจะกลับมา
ดังนั้นเราจึงคาดว่าค่าเงินบาทจะยังคงอ่อนค่าลงต่อเนื่องโดยจะไปอยู่ที่ระดับประมาณ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
ดุลบัญชีเดินสะพัด ประเทศไทย
ผู้เขียน: บุรินทร์ อดุลวัฒนะ Chief Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
1
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา