17 ส.ค. 2021 เวลา 09:46 • หนังสือ
Sapiens A brief history of humankind
เขียนโดย Yuval Noah Harari
ความคิดเห็นและความรู้สึกหลังอ่าน Sapiens
สำหรับเราเป็นเล่มที่ถือว่าหนักเล่มนึงเลย ทั้งความหนาและเนื้อหา เราอ่านจบทั้งหมดแล้วซึมไปพักนึง หนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์มนุษย์ ซึ่งพูดถึงทั้งเรื่องของชีววิทยาและสังคมวิทยา แต่โทนโดยรวมของเล่มนั้น ต้องบอกว่ามันทำให้เราเศร้าไปเลยเหมือนกัน
อีกอย่างนึงคือวิธีการเล่าเรื่อง เราค่อนข้างแปลกใจกับวิธีเล่าของคนเขียน ที่บางครั้งการเปรียบเทียบแบบสุดโต่งมาก ยกตัวอย่างประโยคที่เราไม่ค่อยชอบนะคะ
“Sapiens can cooperate in extremely flexible ways with countless numbers of strangers. That’s why Sapiens rule the world, whereas ants eat our leftovers and chimps are locked up in zoo and research laboratories”
ซึ่งก็แปลได้ประมาณว่า Sapiens นั้นสามารถร่วมมือกับคนแปลกหน้ามากมายได้ นั่นเป็นสาเหตุที่เราครองโลก ในขณะที่มดยังต้องกินของเหลือจากเรา และซิมแปนซีถูกขังในสวนสัตว์ไม่ก็ในห้องทดลอง
เราว่าน้ำเสียงของประโยคนี้มันฟังดูเหยียดเกินไป มีอีกหลายๆ ประโยคในเล่มที่ทำให้เรารู้สึกแบบนี้ ซึ่งมันอาจจะเป็นแค่การเปรียบเทียบ แต่เราคิดว่ามีวิธีเล่าแบบอื่นที่ทำให้เห็นภาพได้เหมือนกัน
หนังสือเล่าว่าแต่ก่อนมีมนุษย์หลาย species อยู่ร่วมกันบนโลก ซึ่งก็กระจัดกระจายกันไปตามพื้นที่ต่างๆ แต่ Sapiens นั้นโดดเด่นกว่าในหลายๆด้านอย่างที่เราสรุปไปแล้ว ที่น่าสนใจคือ เมื่อ Sapiens ไปเหยียบที่ไหน สักพักมนุษย์ species อื่นที่เคยอยู่ที่นั่นก็สูญพันธ์ไป รวมไปถึงสัตว์ท้องถิ่นในแต่ละที่ด้วย ราวกับว่า Sapiens คือฆาตกรของ Species อื่นอีกหลาย Species ผู้เขียนเปรียบเทียบว่าไม่น่าแปลกถ้าจะมีการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ในยุคนั้น เพราะขนาดยุคนี้ แค่สีผิวหรือศาสนาที่ต่างกันก็ทำให้เกิดความขัดแย้งได้แล้ว Sapiens ในยุคเก่าคงไม่ได้มีความอดทนมากกว่าเราสักเท่าไร ซึ่งเนื้อหาตรงนี้มันทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่าถ้านี่คือสิ่งที่ติดตัว Sapiens มาตั้งแต่แรก โลกเรากำลังก้าวไปสู่จุดจบตั้งแต่มี Sapiens กำเนิดขึ้นมาแล้วหรือเปล่า
Sapiens เป็นสัตว์ชนิดแรกที่แบ่งแยก “พวกเรา” กับ “พวกเขา” ทั้งใน Species เอง และแบ่งแยก Species อื่นออกจากเรา การแบ่งแยกภายใน Sapiens มีมานานแล้ว มีความคิดที่ว่าบางเผ่าพันธุ์เหนือกว่า มีการแบ่งวรรณะในอินเดีย แบ่งเชื้อชาติในอเมริกา แบ่งเพศหญิงชายในจีน ซึ่งพอเราอ่านแล้วก็รู้สึกว่าเราไม่มีทางที่จะรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวได้เลย ไม่ว่าอย่างไรเราก็จะหาเกณฑ์มาแบ่งแยก “เขา” ออกจาก “เรา” อยู่ดี
ความเจริญก้าวหน้าในสาขาต่างๆ โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์นั้น เกิดขึ้นได้โดยมีเบื้องหลังจากการเมืองและทุนนิยม พูดง่ายๆ คือไม่มีใครยอมลงทุนอะไรถ้าตัวเองไม่ได้ประโยชน์ การเดินเรือของกัปตันคุกที่ไปยังออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ก็เริ่มต้นด้วยวัตถุประสงค์ทางวิทยาศาสตร์ แต่ได้รับการสนับสนุนเพราะผลประโยชน์ต่ออาณาจักร และเอาเข้าจริงก็พกทหารไปเพียบ จนเผลอๆ การเดินทางครั้งนั้นอาจจะเป็นปฏิบัติการทางทหารที่พ่วงนักวิทยาศาสตร์ไปด้วยเท่านั้น
ระหว่างทางของเผ่าพันธ์ Sapiens ที่ยิ่งใหญ่นั้นเต็มไปด้วยการกวาดล้างเผ่าพันธ์มากมาย ทั้งมนุษย์ (homo species อื่น) และสัตว์ ในปัจจุบันเราฉกฉวยผลประโยชน์จาก species อื่นอย่างมหาศาล สัตว์ที่เป็นอาหารหรือถูกมนุษย์ใช้งานต่างก็ถูกจัดการตามที่มนุษย์เห็นควร และในหลายครั้งก็ถูกลิดรอนไม่ให้ได้รับสิ่งที่เป็นพื้นฐานตามความต้องการของธรรมชาติ
มนุษย์พัฒนาไปสู่สังคมและการใช้ชีวิตในแบบที่ห่างไกลจาก Sapiens ดั้งเดิมมาก จนเราอาจจะกำลังฝืนธรรมชาติของตัวเองอยู่ก็เป็นได้ การปฏิวัติบางอย่างที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้มนุษย์มีความสุขมากขึ้น เช่น การปฏิวัติการเกษตร ที่ทำให้มนุษย์มีแหล่งอาหารเพียงแหล่งเดียว ต้องทำงานหนักขึ้นกว่ายุคที่เป็นนักเก็บของป่าล่าสัตว์ แต่กลับมีสุขภาพแย่ลงและมีช่วงเวลาที่ขาดแคลนอาหารมากขึ้น
ถึงแม้ปัจจุบันเราจะอยู่ในช่วงที่สงบสุขที่สุดในประวัติศาสตร์ Sapiens อาหารมีเหลือเฟือ การแพทย์ก็ก้าวหน้าขึ้นจนเรามีอายุขัยยืนยาวกกว่าในอดีตมาก แต่ก็ยังมีมนุษย์หลายแสนคนที่ตายไปเพราะการก่อการร้ายหรือตายด้วยน้ำมือมนุษย์ด้วยกันเอง ถึงแม้เราจะไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาที่มีสงครามโลกก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีสงครามบนโลก และการที่ไม่ได้มีสงครามสู้รบกันอย่างเปิดเผยอาจแค่เพราะการทำสงครามในยุคนี้มันแพงมาก และถ้าคุณไม่ได้รวยกว่าประเทศที่รบด้วยคุณก็ไม่มีทางชนะแค่นั้นเอง
จะบอกว่ามันคือ the ugly truth ก็ได้ มันเป็นความจริงอันโหดร้ายที่เราพยายามมองข้ามไปหรือเราไม่เคยนึกถึงมาก่อน แต่พอมาคิดดูแล้ว เราอดสงสัยไม่ได้ว่ามนุษย์เป็นพรหรือเป็นโชคร้ายของโลกกันแน่
โฆษณา