17 ส.ค. 2021 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เที่ยวน้อยแต่จ่ายหนัก & เที่ยวไปทำงานไป (Workcation) เทรนด์ใหม่มาแรงหลังโควิด
(เมื่อการท่องเที่ยวอาจไม่เหมือนเดิมในอนาคต)
เที่ยวน้อยแต่จ่ายหนัก & เที่ยวไปทำงานไป (Workcation)
ถ้าพูดถึงอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างหนัก ก็คงไม่พ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ในปี 2020 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงมากกว่า 30 ล้านคน ส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวหดหายไปราวๆ 80% เมื่อเทียบกับปี 2019
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยาวนานได้สร้างวิธีการใช้ชีวิตแบบใหม่ๆ บวกกับการระบาดที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ภาคการท่องเที่ยวก็คงจะกลับมาเหมือนเดิมได้ยากขึ้น ดังนั้นการท่องเที่ยวทั่วโลกจะต้องปรับตัวให้เข้ากับบริบทใหม่นี้
ในบทความนี้ เราจะมาดูกันว่าการท่องเที่ยวหลังการระบาดในประเทศไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไรได้บ้าง และความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะสร้างโอกาสและผลประโยชน์อะไรให้กับประเทศเรา
📌 การท่องเที่ยวมูลค่าสูงกลายเป็นเป้าหมายใหม่
การระบาดที่เกิดขึ้นทำให้เราได้เห็นถึงความเปราะบางจากการที่ประเทศพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติสูงเกินไป และยิ่งตอนนี้ที่ปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อมกำลังเป็นที่สนใจทั่วโลก ก็ทำให้การท่องเที่ยวที่ไม่เน้นปริมาณนักท่องเที่ยว แต่เน้นคุณภาพและความยั่งยืนนั้นเป็นที่นิยมมากขึ้น
ที่ผ่านมา ประเทศไทยเริ่มให้ความสนใจกับการท่องเที่ยวเชิงนี้ โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้วางแผนที่จะพลิกฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้กลายเป็นการท่องเที่ยวมูลค่าสูง (High-Value Tourism) โดยเน้นเจาะตลาดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพด้านรายได้ เพื่อที่ว่ารายได้จากนักท่องเที่ยว ในปี 2022 จะใกล้เคียงกับระดับในช่วงก่อนโควิดแม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะน้อยลงครึ่งต่อครึ่ง ทั้งนี้ การท่องเที่ยวมูลค่าสูงจะต้องสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย
ททท. จัดทำโครงการ ''Workation Thailand" ทำงานเที่ยวได้ รวมใจช่วยชาติ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงวิกฤตโควิด - 19
ตัวอย่างหนึ่งที่ดี คือ ประเทศภูฏานที่มีนโยบายการท่องเที่ยว “มูลค่าสูง ปริมาณต่ำ” (High Value, Low Volume) มาตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้เปิดประเทศในปี 1970 แล้ว โดยนโยบายนี้มุ่งเน้นที่จะให้ประสบการณ์การท่องเที่ยวที่พิเศษแก่ผู้มาเยือน ขณะที่รักษาประเพณี วัฒนธรรม และ สิ่งแวดล้อมของประเทศไว้สำหรับชนรุ่นหลังด้วย
ภูฏานมีนโยบายการท่องเที่ยว “มูลค่าสูง ปริมาณต่ำ” (high value, low volume) ที่มุ่งเน้นให้ประสบการณ์การท่องเที่ยวที่พิเศษแก่ผู้มาเยือน ในขณะที่รักษาประเพณี วัฒนธรรม และ สิ่งแวดล้อม ไว้ด้วย
เพื่อสนับสนุนนโยบายดังกล่าว ภูฏานได้มีการสร้างองค์การนอกภาครัฐที่เรียกว่า Bhutan Sustainable Tourism Society (BSTS) ที่เป็นเหมือนพื้นที่ที่ผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวจะมาหารือกัน เพื่อสร้างแนวทางสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวจะต้องมีการวางแผนกับบริษัททัวร์ล่วงหน้าก่อนเสมอ และมีการเสียค่าธรรมเนียมท่องเที่ยวขั้นต่ำรายวัน (Minimum Daily Package Rate) ราวๆ 250 เหรียญสหรัฐฯ ต่อคน (ประมาณ 8,000 บาท) ซึ่งส่วนหนึ่งในค่าธรรมเนียมนี้จะเป็นค่าลงทุนเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและวัฒนธรรม (Sustainable Development Fee)
แม้ว่าค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะดูสูง แต่ภูฏานก็ได้เพิ่มมูลค่าให้กับการมาเยี่ยมเยือนประเทศ โดยการกำหนดมาตรฐานเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มีประสบการณ์ที่ดีที่สุด เช่น ที่พักที่ทัวร์จัดให้จะต้องเป็นโรงแรมหรือโฮมสเตย์ ที่รัฐบาลรับรองและต้องมี 3 ดาวขึ้นไปเท่านั้น ลูกทัวร์จะต้องมีอาหารครบทั้งสามมื้อ มีรถพร้อมคนขับส่วนตัวให้ และมีไกด์ที่พูดภาษาอังกฤษคอยแนะนำและช่วยเหลือตลอดการเดินทาง
📌 เที่ยวไป ทำงานไป…โมเดลใหม่ที่จะเป็นที่นิยมมากขึ้น
อีกหนึ่งเทรนด์ที่เกิดจากการล็อกดาวน์และเทคโนโลยีใหม่ๆ คือการทำงานจากที่บ้าน ซึ่งหลายคนก็มองว่าการทำงานในลักษณะนี้อาจอยู่กับเราไปจนหมดโควิด เพราะนอกจากจะมีความยืดหยุ่นและช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในเดินทางแล้ว การทำงานแบบนี้ยังช่วยบริษัทมากมายประหยัดค่าสถานที่อีกด้วย และการทำงานที่ยืดหยุ่นนี้เอง ที่จะทำให้การไปเที่ยวแบบเอางานไปทำด้วย หรือ Workcation เป็นที่นิยมมากขึ้นในอนาคต
จากผลสำรวจ Travel Trends 2021 จัดทำโดยบริษัทที่ปรึกษา Simon-Kucher & Partners พบว่า เกือบ 50% ของผู้ทำแบบสอบถามกว่า 7,000 คน จาก 7 ประเทศ (จีน ฝรั่งเศส เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ รัสเซีย อังกฤษ และ สหรัฐฯ) มีแผนที่จะเที่ยวแบบ workcation มากขึ้น หากเจาะเป็นรายประเทศจะเห็นว่าในประเทศจีนมีคนที่คาดว่าจะเที่ยวไปทำงานไปมากถึง 70%
จากผลสำรวจ 43% เห็นถึงความเป็นไปได้ของการเที่ยวไปทำงานไปหรือ Workcation
นอกจากนี้ รายงายดังกล่าวยังชี้ให้เห็นด้วยว่าหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการเลือกสถานที่สำหรับ workcation คือโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวย ดังนั้นโรงแรมและบ้านพักจะต้องเน้นพัฒนาอุปกรณ์และสถานที่จำเป็นต่อคนทำงานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อินเทอร์เน็ตและระบบ WiFi ที่แรงและเสถียร พื้นที่ทำงานที่เหมาะสม (co-working space) หรือสภาพแวดล้อมที่ปราศจากมลภาวะทางเสียง และหากโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสามารถครอบคลุมไปถึงจังหวัดและชนบทได้มากขึ้น ก็จะสามารถกระจายนักท่องเที่ยวไปในจังหวัดเหล่านี้ด้วยเช่นกัน
ปัจจัยที่นักท่องเที่ยวมองว่าสำคัญต่อการท่องเที่ยวในรูปแบบ Workcation
📌 การใช้ชีวิตในช่วงโควิด อาจสร้างพฤติกรรมที่ติดเป็นนิสัยตามมา
นอกจากเทรนด์ที่กล่าวมา ยังมีพฤติกรรมอื่นๆ อีกมากมายที่นักท่องเที่ยวอาจติดมาในช่วงการระบาด เช่น ความใส่ใจในเรื่องความสะอาดและปลอดภัย หรือ ความต้องการความเป็นส่วนตัว (ไม่ร่วมกิจกรรมเป็นกลุ่มใหญ่) ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนี้ ยกตัวอย่างเช่น มีการทำความสะอาดห้องพักบ่อยขึ้น หรือ มีบริการรถเดินทางส่วนตัวให้นักท่องเที่ยวมากขึ้น
นอกจากนี้ การประชุมออนไลน์ก็อาจทำให้ธุรกิจโรงแรมและการบินเห็นสัดส่วนนักท่องเที่ยวธุรกิจที่เดินทางมาสัมมนาน้อยลง ขณะที่นักท่องเที่ยวพักผ่อน (แบบเอางานมาทำด้วย) เพิ่มขึ้น นี่ยังไม่รวมถึงสัดส่วนของนักท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสวนทางกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากการปิดน่านฟ้าที่ผ่านมาทำให้หลายคนติดใจการเดินทางใกล้ๆ บ้าน (staycation) โดยไม่ต้องนั่งเครื่องบินกันมากขึ้นด้วย
แนวโน้มการเดินทางใกล้บ้าน หรือ Staycation เพิ่มขึ้น
📌 ทั้งหมดนี้ คือ ความเปลี่ยนแปลงบางส่วนที่อาจเกิดขึ้นได้ในภาคการท่องเที่ยวในอนาคต
ความจริงแล้วสถานการณ์ ณ ปัจจุบันก็ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่มากกว่านี้ก็ได้ อย่างไรก็ดี หัวใจสำคัญสำหรับภาคการท่องเที่ยว คือ การเตรียมพร้อมรับมือ และใช้เวลาในตอนนี้ ระหว่างที่นักท่องเที่ยวยังไม่กลับมา ในการเริ่มวางแผน หรือ ปรับตัวตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อเราจะพร้อมที่สุดในวันที่นักท่องเที่ยวกลับมา
#Workcation #ทำงานไปเที่ยวไป #เศรษฐกิจไทย #ภูฏาน
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : บูชิตา ปิตะกาศ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
โฆษณา