18 ส.ค. 2021 เวลา 02:59 • ปรัชญา
บทเรียนครั้งไหนๆ ศาสนิกชนไทยยังไม่จำ (กรณีศึกษาอดีตพระชื่อดังที่ต้องอาบัติปาราชิก)
ท่ามกลางกระแสวิพากษ์ "เถรคำหรือสมีคำ" อย่างเผ็ดร้อนรุนแรง ผู้อ่านรู้หรือไม่ว่ามีนัยยะอะไรซ่อนอยู่ภายใต้ความสะใจที่เกิดขึ้นและจบลงในไม่กี่อาทิตย์
กรณีศึกษานี้จะน่าสนใจมากยิ่งขึ้นเมื่อพิจารณาประเด็นเรื่องของการผลิตซ้ำพฤติกรรมตอบสนองตามรอยอดีต ผู้อ่านคงจะคุ้นหูดีอยู่แล้วกับ "ยันตระ นิกร ตาจันทร์ อิสระมุณีและภาวนาพุทธโธ" ไม่รวมนักบวชนอกรีดอีกนับไม่ถ้วน ที่ยังไม่ได้ถูกนำมาตีแผ่
คำถามต่อมาก็คือ ทำไมยังเกิดการใช้ผ้าเหลืองและคำสั่งสอนของพุทธองค์หากินอยู่ดาษดื่น หรือเรากำลังหลงทางในการแก้ไขปัญหาปัญหานี้ ใครเป็นผู้กำหนดทิศทางและรับผิดชอบการดำรงอยู่อย่างสง่างามของศาสนาพุทธในเมืองเรา
“เราเป็นชาวพุทธ ผู้แสวงหาความรู้แจ้ง นี่คือแก่นแท้ของพุทธ ทำไมไม่ลืมหูลืมตา ยังศรัทธาในปัจเจกชนผู้กระทำตนเหนือคำสั่งสอน”
ที่ผ่านมาเราได้เห็นบทบาทของสมาชิกในสังคมมากขึ้น หลายคนมาพร้อมวาทะเด็ดในเฟสบุค แต่การด่าทอไม่ใช่ทางออกของปัญหา การแชร์ข้อมูลเป็นเรื่องที่ดี ถ้าข้อมูลนั้นถูกต้องและน่าเชื่อถือ เพราะสามารถกระจายไปได้อย่างรวดเร็วตามคุณสมบัติพิเศษของระบบสารสนเทศผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และเมื่อถูกกระตุ้นโดยคนหมู่มาก แรงกดดันต่อหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบก็มากขึ้น การจัดการและความจริงจังกับปัญหาก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่โดยส่วนมากในบ้านเมืองเรามักสับสนในเรื่องของหน้าที่ที่พึ่งปฏิบัติ ทั้งที่ผ่านกระบวนการขัดเกลาทางสังคมมาจนป่านนี้
แม้ในเพศบรรพชิตเองก็น่าเป็นห่วง ตนเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงแต่เดือดเนื้อร้อนใจตั้งตนเป็นเจ้าทุกข์มาร้อง ก็ไม่แปลกที่ศาลจะไม่รับ ถ้าพูดแบบชาวบ้านคือ “ไม่ใช่กิจของสงฆ์”
แล้วใครเป็นคนรับผิดชอบ “กรมสอบสวนคดีพิเศษแห่งราชอาณาจักรไทย หรือ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ” แม้จะรู้ว่าใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบแต่มันก็ยังไม่สำคัญเท่ากับการป้องกันไม่ให้เกิด
ทำไมระยะเวลาในการเสวยความสุขของบรรพชิตจอมปลอมจึงนานนัก บางคน เป็นห้าปี สิบปีกว่าจะจับได้ หรืออาจนานจนลูกก็โตเป็นวัยรุ่นแล้วก็มี พวกเราๆท่านๆเองรึเปล่าที่ปล่อยให้เป็นแบบนี้ เพราะจริงๆแล้วเราสามารถสังเกตได้ง่ายๆใน ๓ ประเด็นต่อไปนี้
๑. มีการอวดอุตริ อ้างตนมีอิทธิฤทธิ์ เหาะเหิน เดินอากาศ หยั่งรู้ดินฟ้า เข้าเฝ้าเทพเจ้า
๒. มีการเรียกรับหรือระดมเงินบริจาคสร้างวัตถุหรือสถานธรรมที่โอ่โถงยิ่งใหญ่ โดยใช้การโฆษณาชวนเชื่อเรื่องมหาบุญและการขึ้นสวรรค์
๓. วัตรปฏิบัติของนักบวชรูปนั้นๆว่าห่างจากความสมถะและสันโดษหรือไม่
ดูง่ายสุดจากการกิน อาหารซึ่งได้จากการบิณฑบาตนั้นเป็นการประหยัดเวลาในการยุ่งยากหุงหา จะได้ปฏิบัติแสวงหาความหลุดพ้นได้อย่างเต็มที่ การกินเป็นเพียงการกำจัดเวทนาเก่าออกไปและไม่ทำให้ร่างกายเกิดเวทนาใหม่ก็เท่านั้น การกินอาหารหรูหรา เลือกชนิดอาหารที่กินก่อนตามลำดับชั้นพระ เป็นเรื่องไม่ควร
หลายคนอาจจะเคยสงสัยเหมือนผู้เขียน การเข้าวัดที่มีศักดิ์เป็นพระอารามหลวงโดยเฉพาะในกรุงเทพ ทำไมกุฏิเจ้าอาวาสแต่ละหลังมันช่างใหญ่โตโอฬารราวกับวัง ทั้งที่ปากก็เทศน์พร่ำสอนว่าอย่ายึดติดในลาภยศ สรรเสริญ และสิ่งที่แปลกไปกว่านั้นคือ พระมีลำดับชั้นยศ พระราช พระเทพ พระธรรม ฯลฯ แต่กว่าจะวิพากษ์ไปไกลกว่านั้น เรากลับมาเข้าเรื่องดีกว่า
“พ่อ แม่ พี่ น้อง ต้องช่วยกันสังเกต และ กล้าที่จะต่อสู้กับสิ่งที่คิดว่าไม่ถูกต้อง” ไม่ใช่ทำตัวไหลตามน้ำ ที่สำคัญคือพวกลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดคอยปกปิดเรื่องต่ำทรามและทำการตลาดให้เพราะอาศัยผลประโยชน์จากเม็ดเงินมหาศาลร่วมกัน คนพวกนี้ต้องจัดให้หนัก ดำเนินคดีให้ถึงที่สุด ผู้เขียนเชื่อแน่ว่าพระแต่งคอสเพลย์หลอกๆองค์เดียวไม่สามารถมาดำรงตนให้เป็นที่น่าเชื่อได้ในเวลานานๆ
การกำจัดพระนอกรีตเป็นการทำนุบำรุงศาสนาอย่างหนึ่ง หากเรารัก เรายังศรัทธาอย่างที่เราพร่ำบอก ช่วยกันเถอะครับ พวกเราทุกคนคือทางออกของปัญหาเรื้อรังนี้ เปลี่ยนเพื่อยุติเนื้อร้ายนี้ไม่ให้ลุกลามในแผ่นดินธรรมต่อไป
การทำบุญไม่ใช่การบริจาคเงินทอง ข้าวของหรือแม้แต่ดอกไม้เพื่อบนบานสารกล่าว เพราะเป็นการทำโดยอามิส ติดสินบน การทำบุญที่ดีที่สุดคือการปฏิบัติบูชา ทำจิตให้ผ่องใส ปฏิบัติสมาธิ ละชั่ว ทำดี เท่านี้ท่านก็สามารถทำบุญจริงๆ เป็นก้อนบุญที่บริสุทธิ์ใสสะอาด พร้อมที่จะรวมตัวกันเป็นก้อนบุญใหญ่พาเราล่องลอยไปถึงทางนฤพาน
อย่าตกอยู่ภายใต้พุทธพานิชย์ ใช้ปัญญาพิจารณาอย่างแยบคายทุกครั้งก่อนจะทำบุญทุกครั้ง เพราะเมล็ดบุญที่ท่านหว่านนั้น อาจตกต้องลงไปยังนาบุญที่ไม่ดีก็เป็นได้
โฆษณา