18 ส.ค. 2021 เวลา 15:00 • ไอที & แก็ดเจ็ต
ส่องโลกของเกมพกพาค่ายนินเท็นโด “Game Boy” !
มีเพื่อน ๆ ท่านไหนทันยุคเกมบอยตัวแรกกันบ้างเอ่ย ?
(พวกเราไม่ทันแล้วหนึ่งจ้า)
เครื่องเล่นเกมพกพาเครื่องแรกของพวกเราคือ “Gameboy Colour”
แต่ถ้าจากประสบการณ์ ก็เคยขอยืมเพื่อนเล่นตัว “Gameboy Pocket” อยู่บ่อยครั้ง
ส่วนความทรงจำที่ชัดเจนที่สุด ก็คือ เวลาที่เล่นเกมไม่ได้ ก็จะต้องเป่าฝุ่นที่ก้นของตลับเกม เพื่อให้เวลาเสียบแล้ว เกมเล่นได้ไม่ค้าง ฮ่า ๆ
เอาเป็นว่า ในวันนี้พวกเรา InfoStory จะพาเพื่อน ๆ มารู้จักเรื่องราวผ่านรูปแบบการนำเสนอแบบ Timeline กัน
1
โดยในตอนที่ 1 พวกเราขอนำเสนอเรื่องราวของเกมพกพา ที่เราคุ้นเคยกันในสมัยเด็กอย่าง “Nintendo Game Boy Family” กัน !
สำหรับเพื่อน ๆ ที่อยากอ่านเรื่องราวสบายสมองเพิ่มเติม ก็เชิญได้เลยจ้า
ถ้าพูดถึงเรื่องราวของ Game Boy
คำถามแรกที่โผล่ขึ้นมาในหัวเราคือ “ทำไมเกมกดแบบพกพานี้ ถึงได้มีชื่อว่า Game Boy ?”
พวกเราไปหาคำตอบมาได้แบบนี้...
ชื่อของ Game Boy เป็นการตั้งชื่อที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก Sony Walk Man
คือ “Walk Man” เป็นอุปกรณ์เล่นเพลงพกพาด้วยเทปเครื่องแรก ๆ ในช่วงปี 1980 ที่เรียกได้ว่าทำให้การฟังเพลงและวงการดนตรี เติบโตไปอย่างมาก
และ Sony Walk Man ก็ประสบความสำเร็จจากการสร้างยอดขายอุปกรณ์เล่นเพลงพกพา อันนี้
นั่นจึงทำให้ Nintendo ตัดสินใจใช้ชื่อเกมกดแบบพกพาได้เครื่องใหม่ที่พัฒนาขึ้นในปี ค.ศ. 1989 อย่าง “Game Boy” ซึ่งชื่อเนี่ย ก็เป็นการเล่นคำคล้าย ๆ กับ Walk Man
ถ้าบริษัท Nintendo มีความตั้งใจมาก ๆ ที่จะผลิตเจ้า Game Boy ตัวนี้ออกมา
งั้นก็แสดงว่า พวกเขาต้องประสบความสำเร็จกับการผลิตเกมกดมาแล้ว อย่างนั้นสิ ?
คำตอบก็คือ ใช่แล้วจ้าา (ทำไมถามเอง แล้วตอบเองหว่า ฮ่า ๆ)
“เรื่องของ “Game & Watch” ต้นกำเนิดของเกมกดพกพา”
อะ โอเค !
แล้วก่อนที่จะมาเป็น Game Boy บริษัท Nintendo เขาผลิตเครื่องเล่นเกมพกพาอะไรมาก่อนละ ?
เพื่อน ๆ หลายคนก็คงตอบได้ จากภาพอินโฟกราฟิก
เครื่องเล่นเกมขนาดพกพาเครื่องแรก มีชื่อว่า “Game & Watch” ซึ่งตัวแรกที่ออกมาคือรุ่นสี “Silver”
โดยตัวเครื่องเกมนี้ จะมีขนาดเล็กประมาณขนาดเครื่องคิดเลข
“Game & Watch”
ใช่แล้ว เพราะว่าบุคคลที่เป็นผู้ผลิตอย่างคุณ Gunpei Yokoi หรือ ที่เรารู้จักเขากันในฉายาว่า “บิดาแห่งเกมบอย” เขาได้เกิดไอเดียการสร้างเครื่องเกมขนาดพกพาได้ ก็ในตอนที่เขานั่งรถไฟ แล้วเห็นผู้โดยสารที่นั่งข้าง ๆ กดเครื่องคิดเลขทำงาน
นั่นจึงทำให้คุณ Gunpei ได้เริ่มผลิตเครื่องเล่นเกมฆ่าเวลาอย่าง “Game & Watch” และอีกหนึ่งจุดเด่นคึอ เครื่องเล่นเกมนี้ ยังสามารถใช้เป็นนาฬิกาบอกเวลา ได้อีกด้วย !
จริง ๆ แล้ว เครื่องเล่น Game & Watch เนี่ย เขาไม่ได้ออกมาแค่รุ่นเดียวด้วยนะ แต่ยังมีอีกหลายรุ่นที่ออกมาหลังจากนั้น
ยกตัวอย่างเช่น “Game & Watch Multi Screen” ที่ออกมาในช่วงปี ค.ศ. 1982 ที่มีลักษณะคล้ายกับ Nintendo DS ในปัจจุบัน (ไม่สิต้องบอกว่า DS นะ ออกแบบได้คลาสสิคคล้ายกับ G&W ตะหาก)
แล้วเพื่อน ๆ ทราบไหมว่า ?
- ปุ่มบังคับทิศทางการเดินของตัวละครในโมเดล “Game & Watch Multi Screen” ที่เป็นลูกศร ขึ้นลงซ้ายขวา ยังเป็นต้นแบบของจอยควบคุมในเกมคอนโซลอย่าง Nintendo Famicom ในปี 1983
- เกมที่สร้างชื่อเสียงให้กับ “Game & Watch Multi Screen” คือ เกม Donkey-Kong
- เราเริ่มใช้คำว่า “เกมกด” ก็มาจากความเคยชินของผู้คนที่เล่นเครื่องเกมกดอย่าง “Game & Watch” นี่เอง
(ส่วนเกมที่เราชอบเนี่ย คือ เกม “Western bar” ที่เป็นธีมของคาวบอยยิงขวดแก้ว)
“Game Boy (1989) เกมบอยเครื่องแรก”
Game Boy (1989)
หลังจากยุคของเกมกดอย่าง Game & Watch ที่สร้างปรากฏการณ์เกมพกพาไปแล้ว
บริษัท Nintendo ก็ได้ต่อยอดมากับเครื่อง “Game Boy” ในปี ค.ศ. 1989 ซึ่งสร้างขึ้นโดยผู้ผลิตคนเดิม คุณ Gunpei Yokoi
Game Boy (1989) ตัวนี้ เป็นเครื่องเกมกดพกพา ที่มีหน้าจอ LCD แสดงผลแบบขาวดำ แบบไม่มีหลอดไฟ ระบบ 8 bit
เครื่องเล่นเกมพกพาอันนี้ ก็ยังพาจุดเด่นในเรื่องของการเปลี่ยตลับเกม ซึ่งตลับหนึ่งก็มีขนาดเล็ก พกพาได้สบาย ทำให้เราสามารถเล่นได้หลากหลายเกม
โดยเกมชื่อดังในตอนนั้น ก็คงจะไม่พ้น Super Mario Land และ Tetris
(ส่วนเกมที่เราชอบตอนนั้นก็คือ Zelda กับ Dr.Mario)
ต้องบอกว่า Gameboy ไม่ได้มีแรงบันดาลใจแค่เรื่องของการตั้งชื่อจาก Sony Walk Man นะ
แต่ว่าเจ้าเกมกดแบบพกพาเครื่องนี้ ยังสามารถเสียบหูฟังได้ เพื่อให้เราสามารถเล่นเกมพร้อมฟังเสียงเพลงผ่านหูฟังได้อย่างเพลิดเพลินในทุกที่
อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่า Nintendo ไม่ใช่ผู้ผลิตเจ้าเดียวที่ผลิตเครื่องเกมกดพกพานะ
แต่พวกเขาต้องเจอกับคู่แข่งอย่าง บริษัทค่ายเกม SEGA ที่ออกตัว “Game Gear” และ ค่ายอาตาริ ที่มีเครื่องเล่น “Atari Lynx”
มาถึง “Game Boy Pocket (1995)”
“Game Boy Pocket (1995)”
หลังจากนั้นในปี 1995 บริษัท Nintendo ก็ได้ทำการพัฒนาให้เจ้าเกมบอยเนี่ย มีขนาดที่เล็กและบางลง ด้วยหน้าจอที่ใหญ่ขึ้นมานิดนึง แต่ว่าประหยัดพลังงานมากขึ้น แถมยังพัฒนาในเรื่องหน้าจอเล่นเกม ให้มีความใสขึ้นด้วย (แต่ไม่ได้สว่างขึ้นนะ)
ซึ่งเจ้าเครื่องนี้ ก็ได้เปลี่ยนจากการใช้ถ่าน AA ลดขนาดลงมาเป็น AAA 2 ก้อนแทนจ้า
“Game Boy Color (1998) เกมกดที่แสดงผลเป็นสี เครื่องแรกของ Nintendo”
Game Boy Color (1998)
จุดเปลี่ยนต่อมาของ Nintendo ก็คือ การสร้างเกมกดพกพาที่มีหน้าจอแสดงผลเป็นสีสัน
(จริง ๆ แล้ว Nintendo ได้ออกตัว Game Boy Light ออกมาในปี 1998 ซึ่งมีหน้าจอที่มีหลอดไฟให้ความสว่างคล้าย ๆ มือถือในยุคนั้น แต่ว่าผลิตออกมาจำกัดมากแค่เฉพาะในญี่ปุ่น)
ก็ต้องบอกว่าในตอนนี้ Game Boy ของ Nintendo ได้ก้าวตามหลังคู่แข่งอย่าง “SEGA” อยู่
ในตอนนั้นทาง SEGA เองก็ได้ทำโฆษณาออกมาบลัฟ Game Boy อย่างเต็มที่
อารมณ์ประมาณว่าแบบ ถ้าคุณเป็นคนไอคิวต่ำและยังตาบอดสี คุณก็คงจะเล่น Game Boy (ซึ่งในโฆษณาใช้ตัวแทนเป็นน้องสุนัข) แล้วภาพก็ตัดมาที่ เกมเม่นสีฟ้า Sonic จากค่าย SEGA ที่มีลักษณะการแสดงผลเป็นสี มาเปรียบเทียบนั่นเอง
อย่างไรก็ดี Nintendo เขาไม่ได้ยอมรับว่า พวกเขาก้าวตามหลัง SEGA ในเรื่องของจอสีและจอที่มีไฟ
แต่ว่า “Game Gear” น่ะ ได้ข่าวว่ากินแบตและเปลืองไฟเอาเสียมาก ๆ เลยนี่นา ?....
จากนั้นในปี 1988 Nintendo ก็ได้เปิดตัว Game Boy Color ที่ถูกพัฒนาจากเครื่องเกมภาพขาวดำ ให้มาเป็นภาพสีซึ่งรองรับการแสดงผลได้มากถึง 56 สี รวมถึงประสิทธิภาพที่ดีขึ้นและขนาดเครื่องที่บางลง
สำหรับเกมที่นินเท็นโดเลือกนำมาโปรโมตผ่านโฆษณาในทีวี คู่ไปกับเครื่อง Game Boy Color ก็คือเกม Pokemon Red & Blue นั่นเอง
(และโปรโมตพร้อมการเล่นกันกับเพื่อน ๆ โดยใช้ “สาย link” ยังจำได้กันไหมเอ่ย?)
“เริ่มเข้าสู่ยุคสมัยใหม่กับ Game Boy Advance (2001)”
Game Boy Advance (2001)”
เพื่อต่อยอดประสบการณ์ของการเล่นเกมกดพกพา
บริษัท Nintendo จึงได้ทำการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่
ไม่ว่าจะเป็นการดีไซน์แบบแนวนอน หรือ ระบบของเครื่องเกม ที่เปลี่ยนระบบ 8 bit มาเป็น 32 bit และแสดงผลได้มากถึง 512 สี ! รองรับการเล่นเกมที่หลากหลายและเริ่มใช้กราฟิกที่มากขึ้น
อย่างไรก็ดีนะ ตั้งแต่รุ่นแรกของ Game Boy (1989) จนมาถึง Game Boy Advance (2001)
ก็จะมีจุดด้อยอยู่จุดหนึ่ง นั่นคือ ไม่มีรุ่นไหนที่มีการใช้หลอดไฟที่หน้าจอ (คือ จอมีสี แต่ไม่มีแสงนะแหละ)
นั่นทำให้ หลายครั้งที่เราเล่นเกมกด ต้องหันไปพึ่งแสงไฟอื่น ๆ
(ไม่งั้นมันจะมองเห็นยากมากก)
ในสายตาแฟนคลับเกมบอยเองเนี่ย ก็เริ่มรู้สึกกันแล้วว่า
เอ้ะ ! ทำไมนินเท็นโดถึงได้ปรับตัวได้ช้าจัง ?
เพราะว่าคู่แข่งในขณะนั้น เขาเริ่มพัฒนาในส่วนหลอดไฟหน้าจอกันไปไกลแล้ว
จากนั้นไม่นานในปี 2003 ทางบริษัทก็ได้ออกเกมบอยรุ่นที่พัฒนาต่อยอดมาอย่าง Game Boy Advance SP โดยมีการเปลี่ยนแปลงหลัก ๆ คือ ติดตั้งหลอดไฟหน้าจอแต่ยังคงประหยัดพลังงานและปรับรูปทรงให้ทันสมัยและพกพาสะดวกขึ้นโดยมีฝาพับได้
หลังจากนั้น Nintendo ยังได้ผลิต Game Boy Micro ออกมาขายด้วย
แต่ผลปรากฏว่า...ก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า
จนในที่สุด จุดสิ้นสุดของเครื่องเล่นเกมกด “Game Boy” ก็มาถึงในปี 2003 นั่นเองจ้า
Game Boy Advance SP
แต่ว่าเรื่องราวของเกมพกพา ก็ยังไม่ได้จบแค่ตำนานของ Game Boy เพียงเท่านั้น
เพราะในปี 2004 บริษัท Nintendo ก็ได้ออกเครื่องเล่นเกมกดพกพาตัวใหม่อย่าง “DS” ออกมา (ซึ่งบริษัทบอกว่า โปรเจกต์นี้ไม่ได้เป็นตัวต่อยอดของ Game Boy นะ)
ซึ่งการพัฒนาในตัวของ Nintendo DS (2004) ก็ถือว่าเข้าสู่ยุคใหม่ของเกมกดพกพาเลย
เพราะว่าการดีไซน์ที่เป็นหน้าจอพับได้ และ มี 2 หน้าจอ (เหมือนกับดีไซน์ของ Game & Watch)
พ่วงด้วยเทคโนโลยีอย่าง Touch Screen และ ระบบออนไลน์ต่าง ๆ
จนมาถึงการพัฒนาในเรื่องของภาพสามมิติกับตัว Nintendo 3DS (2011)
แต่ก็ต้องบอกว่า คู่แข่งของ Nintendo DS ในตอนนั้น ก็คงจะไม่พ้น Sony Playstation Portable หรือ เครื่องเล่นเกมคอนโซลแบบพกพา (PSP) นั่นเองจ้า
และสำหรับ Nintendo DS ก็ถูกประกบด้วยคู่แข่งจากค่ายเดิมกับเครื่อง “PS Vita”
(สารภาพว่า เราเองก็ย้ายค่าย มาเล่นเครื่อง PSP แทน ตอนนั้นกำลังติดเล่น Monster Hunter เลย)
Nindento DS
Nindento 3DS
จนมาถึงปัจจุบัน เราก็คงจะคุ้นหน้าคุ้นตากับเครื่องเล่นเกมคอนโซลแบบพกพาได้อย่าง “Nintendo Switch” กันไปแล้วเนอะ
คือต้องบอกว่า เจ้าเครื่องเกม “Nintendo Switch” มักจะถูกเข้าใจผิดอยู่บ่อยครั้งว่า
เจ้าเครื่องนี้ ถูกพัฒนามาจาก เกมกดแบบพกพาอย่าง Nintendo 3DS
แต่ในความเป็นจริงแล้ว… ไม่ใช่เลยจ้า
เพราะว่า “Nintendo Switch” เป็นเครื่องเล่นเกมคอนโซลแบบไฮบริดตะหากละ
(ซึ่งไม่เหมือนกับ PSP นะ)
ก็คือ เขาพัฒนาต่อมาด้วยคอนเซปต์ของเครื่องเล่นเกมคอนโซลอย่าง “Wii U”
ผนวกกับจุดเด่นของการเล่นแบบพกพาได้อย่างเครื่อง “3DS”
รวมไปถึงการสร้างจุดเด่นเพิ่มเติมในเรื่องของการทำงานของจอย 2 ชิ้น ที่สามารถใช้งานแยกกันได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ซึ่งเกมที่เรียกได้ว่า สร้างความสนใจจนเครื่องเล่นเกม Nintendo Switch ขาดตลาด
ก็คือ เกม Ringfit Adventure และ เกม Animal Crossing ที่ขายดีมาก ๆ ในช่วงโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา
(พวกเราเองก็เป็นหนึ่งในนั้นจ้าา)
Ringfit Adventure
ก็พอหอมปากหอมคอ (แบบยาว ๆ หน่อยนะอันนี้)
เขียนมายาวขนาดนี้ แต่ต้องบอกเลย ยังมีอีกหลายมุมมาก ๆ
ที่ยังไม่ได้กล่าวถึงในเรื่องของ Game Boy หรือ เรื่องของวิวัฒนาการของเกมกดจากค่าย Nintendo
แต่เพียงแค่นี้ เพื่อน ๆ ก็น่าจะเริ่มตาลายกันแล้วละมั้งนะ ฮ่า ๆ
ถ้างั้นวันนี้พวกเรา InfoStory ต้องขอตัวลากันไปก่อน
ไว้ตอนต่อไปพวกเราจะหยิบเรื่องราวของเกม Console ในฝั่งของ Sony มาเราให้ฟังกันในซีรีส์ของ TimelineStory นี้ละนะ 🙂
โฆษณา