18 ส.ค. 2021 เวลา 13:51 • ธุรกิจ
Agile & Resilience แบบกิ้งก่าจิ้งจก
โลกสับสน ต้องลองค้นหาต้นแบบใหม่เพื่อความอยู่รอด.
องค์กรที่จะสามารถเอาตัวรอดและเติบโตในยุคนิวนอร์มอล อาจจะต้องใช้คุณสมบัติของกิ้งก่าและจิ้งจกเป็นต้นแบบกันแล้ว !!
ถ้าจะเปรียบเปรยสัตว์ที่มีพฤติกรรมเป็นต้นแบบขององค์กรสักชนิดหนึ่ง ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็อาจจะพูดถึง “ช้างหรือคิงคอง” ที่มีความแข็งแรงใหญ่โต หรืออาจจะเป็นสัตว์ที่มีสายตายาวไกลมองเห็นอนาคตอย่าง “นกอินทรีย์” แต่ในยุคนี้ ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงไปมาก องค์กรต้องมีการปรับตัวกันมากมาย สัตว์ที่คิดว่าน่าจะเป็นต้นแบบในยุคนี้ที่เราอาจจะต้องพิจารณาสนใจ ก็คือ “กิ้งก่าและจิ้งจก” นะครับ
สำหรับ กิ้งก่า เราจะเห็นว่ามันมีชีวิตมานานมากแล้วนะครับ อาจจะเป็นรุ่นเดียวกับไดโนเสาร์ด้วยซ้ำไป แต่วันนี้มันก็ยังมีชีวิตอยู่ เพราะมันมีความสามารถที่สำคัญอันนึงก็คือเรื่องของการ “ปรับตัว” เช่น กิ้งก่า ที่เปลี่ยนสีได้ตามสภาพแวดล้อมที่มันอยู่เพื่อพรางตัวจากศัตรู
ส่วน จิ้งจก นั้นเราจะเห็นลักษณะสำคัญอีกอันหนึ่งที่สำคัญของมันก็คือ “การฟื้นคืนสภาพ” เมื่อไหร่ที่มันโดนประตูหนีบหางขาดหรืออะไรเนี่ยนะครับมันก็จะสามารถฟื้นคืนสภาพงอกหางใหม่ขึ้นมาได้ในเวลาไม่ช้า อันนี้เป็นลักษณะที่สำคัญสำหรับองค์กรในยุคปัจจุบัน คือจะต้องมีความสามารถในการปรับตัวได้คล่องเหมือนกับกิ้งก่าเปลี่ยนสีได้แล้วก็สามารถฟื้นคืนสภาพกลับมาได้เหมือนกับจิ้งจกที่งอกหางใหม่ได้นะครับ
องค์กรที่มีการปรับตัวเร็วแบบกิ้งก่าเปลี่ยนสี อาจหมายถึงการทำงานที่มีระบบการทำงานที่ไม่ยุ่งยากจนเกินไป มีความร่วมมือไม่ว่าจะเป็นกับพาร์ทเนอร์ ผู้ส่งมอบ ส่งมอบที่มีความยืดหยุ่น มีโครงสร้างการทำงานไม่ซับซ้อนมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการสื่อสารภายนที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว
ยกตัวอย่าง องค์กร 7- Eleven เวลาเกิดปัญหาอะไรหรือผู้บริหารระดับสูงประชุมกันในประจำสัปดาห์นะครับประชุมเสร็จภายในเวลาไม่นานนัก สาขาอื่นอีก 10,000 กว่าสาขาทั่วประเทศก็จะได้รับรู้ข่าวสารการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากบอร์ดบริหาร แล้วนำไปปฏิบัติอย่างทั่วถึงทันเหตุการณ์
ส่วนการฟื้นคืนสภาพที่ดีแบบจิ้งจกหางขาดแล้วก็งอก ถ้าเป็นการบริหารองค์กร ก็อาจหมายถึง มีการคาดการณ์อนาคต แล้วก็มีการเตรียมความพร้อมในการที่จะสำรองแผน แผนสองแผนสามขึ้นมาอย่างรวดเร็ว หรือแม้ว่าแผนจะเกิดความผิดพลาด ก็จะหาทางกลับมาเริ่มใหม่ให้ได้อยู่ดี
ขอยกตัวอย่างธุรกิจของต่างประเทศนะครับ มีบริษัทหนึ่งเค้าเป็นบริษัทที่ทำเกี่ยวกับเรื่องของจำหน่ายยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษาสุขภาพสัตว์ของฟาร์มซึ่งกำลังจะถูกรัฐบาลห้ามขายยาปฏิชีวนะในอาหารสัตว์ แทนที่เค้าจะท้อแท้เพราะว่ากิจการโดนบังคับให้ปิด แต่เขากลับหาทางฟื้นคืนสภาพคือเริ่มต้นใหม่ โดยทบทวนดูว่ามีอะไรที่พอจะเอามาใช้ได้บ้าง สิ่งสำคัญที่เขามีอยู่ก็คือฐานลูกค้าที่เป็นฟาร์มที่ยังมีสัตว์เลี้ยงอยู่ เขาจึงเข้าสู่ธุรกิจ การดูแลสุขภาพสัตว์โดยใช้สารชีวภาพ(ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ) ซึ่งต้องเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด ส่วนความรู้เดิมก็หาทางต่อยอดไปสู่งานวิจัยขั้นสูงขึ้นด้วยเทคโนโลยีระดับสูงและนวัตกรรม ไปสู่ทำยาปฏิชีวนะสำหรับวงการแพทย์ซึ่งมีมูลค่ามากกว่าเดิมเป็น 100 เท่าเลยทีเดียว
โฆษณา