18 ส.ค. 2021 เวลา 14:46 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ทำไมมนุษย์ถึงฝัน?
หนึ่งในเรื่องลึกลับทางวิทยาศาสตร์
6
มนุษย์เรานอนหลับเพื่อพักผ่อนแล้วย่างกรายเข้าสู่ดินแดนที่เรียกว่า ความฝัน (dream) เป็นเรื่องปกติแทบทุกคืน และเป็นเช่นนี้มาเนิ่นนานนับตั้งแต่สมัยโบราณกาลแล้ว แต่การศึกษาความฝันในเชิงวิทยาศาสตร์มีข้อจำกัดอยู่มาก เพราะการวัดค่าประสบการณ์ส่วนบุคคลให้ชัดเจนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เรายังไม่มีเทคโนโลยีแสดงภาพที่เกิดขึ้นในความฝันออกมาอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อทำการศึกษา
4
แม้จะมีความพยายามจดบันทึกความฝันของตนเองหลังจากตื่นนอน หรือ ถามเหล่าอาสาสมัครว่าเมื่อคืนฝันว่าอะไรก็ต้องพบกับข้อน่ากังขามากมาย หลายคนรู้ดีว่าการพยายามนึกความฝันให้ออกในหลายๆครั้งเป็นเรื่องยากมาก อีกทั้งความฝันบางอย่างอาจจะทำให้หลายคนรู้สึกอายจนไม่กล้าบอกใครๆ
4
ที่ผ่านมา ความฝันจึงเป็นดินแดนที่นักวิทยาศาสตร์แทบจะไม่สามารถย่างกรายเข้าไปแตะต้องได้ และหลายๆคนมองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกี่ยวกับจิตใจ จนกระทั่ง นักวิทยาศาสตร์เริ่มหันมามองว่าความฝันอาจจะไม่ใช่เรื่องของจิตใจไปเสียทั้งหมด แต่อาจจะเกี่ยวกับกระบวนการบางอย่างภายในสมองซึ่งเป็นเรื่องของร่างกาย
2
ราวๆปี ค.ศ. 1977 จอห์น อัลลัน ฮอบสัน (John Allan Hobson) และโรเบิร์ต แม็คคาร์ลี่ (Robert McCarley) เสนอว่า ความฝันเกิดขึ้นในช่วงการนอนหลับที่เรียกว่า REM sleep (ย่อมาจาก Rapid eye movement sleep) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดวงตาจะมีการกลอกไปมาอย่างรวดเร็ว การศึกษาเพิ่มเติมด้วยเทคโนโลยีนในเวลาต่อมาทำให้นักวิทยาศาสตร์พบว่าในหนึ่งคืนเราจะค่อยๆเคลิ้มหลับ แล้วเข้าสู่การหลับ REM sleep จากนั้นจะเข้าสู่การหลับลึก แล้วถอนกลับออกมาเป็น REM sleep แบบนี้หลายรอบ ซึ่งความฝันเกิดขึ้นในช่วง REM sleep และอาจเกิดขึ้นในการหลับช่วงอื่นๆได้ด้วย
ผลงานของจอห์น อัลลัน ฮอบสัน นับเป็นจุดสำคัญที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์หันศึกษาความฝันในเชิงชีววิทยา
3
วัฏจักรการหลับ
คำถามคือ แล้วความฝันมีประโยชน์อะไรต่อสิ่งมีชีวิตอย่างมนุษย์ ทำไมร่างกายจึงวิวัฒนาการจนเกิดความฝันขึ้น ? ในการหาคำตอบนี้ เราอาจจะต้องมองไปยังสิ่งมีชีวิตอื่นๆเพื่อทำการศึกษาเปรียบเทียบซึ่งคงไม่มีสิ่งมีชีวิตใดเหมาะไปกว่าหนู
4
หนูเป็นสัตว์ที่มีการนอนหลับและมีการกลอกตาไปมาอย่างรวดเร็วในระหว่างหลับเช่นเดียวกับมนุษย์ แม้เราจะไม่สามารถแน่ใจว่าหนูฝันเหมือนมนุษย์หรือไม่ แต่คลื่นสมองของมันชี้ว่ามีบางอย่างเกิดขึ้นในสมองที่อาจจะพอเทียบเคียงกับความฝันได้
4
งานวิจัยในปี ค.ศ. 2007 โดยนักวิจัยของสถาบัน MIT ทำการทดลองวัดคลื่นสมองของหนูขณะพยายามวิ่งออกจากเขาวงกต จากนั้นให้หนูมางีบหลับแล้วทำการวัดคลื่นสมองอีกครั้ง ผลปรากฏว่าคลื่นสมองของหนูจำนวนหนึ่งมีรูปแบบเหมือนกับตอนที่มันกำลังพยายามวิ่งออกเขาวงกตมากๆ
3
เป็นไปได้ไหมที่ขณะที่กำลังนอนหลับ สมองของพวกมันทำการรีเพลย์ประสบการณ์เพื่อจดจำวิธีการออกจากเขาวงกตหรือให้มันหาทางออกเร็วขึ้นเมื่อตื่นขึ้นมา พูดง่ายๆว่าความฝันอาจเป็นเครื่องมือจำลองเหตุการณ์จริงให้เราตัดสินใจหรือเรียนรู้ได้ดีขึ้น
4
จากนั้นมา นักวิทยาศาสตร์พยายามศึกษาและทดลองเกี่ยวกับความฝันในมนุษย์มากขึ้นก็พบว่ามันมีความสอดคล้องกับการทดลองในหนูพอสมควร งานวิจัยอื่นๆยังพบว่าความฝันอาจจะมีส่วนในการช่วยในการควบคุมอารมณ์ขณะตื่นให้เป็นปรกติมากขึ้นได้ด้วย
จะเห็นได้ว่าโลกแห่งความฝันนั้นเป็นดินแดนที่นักวิทยาศาสตร์เพิ่มจะเข้าไปสำรวจได้ไม่มาก ไม่กี่สิบปีมานี้ เราเพิ่งจะรู้ว่ามันเกี่ยวกับการทำงานของสมองและความฝันอาจมีความสำคัญต่อชีวิตของเรามากกว่าที่คิดกัน แต่มันก็ยังเต็มไปด้วยคำถามมากมายหลายอย่างให้ค้นคว้าและเข้าไปสำรวจ
จวงจื๊อ นักปราชญ์จีนยุคโบราณเคยตั้งคำถามชวนคิดเกี่ยวกับความฝัน ครั้งหนึ่งเขาหลับไปแล้วฝันว่าเขาเป็นผีเสื้อ ซึ่งตอนเป็นผีเสื้อนั้นเขาก็ไม่รู้สึกว่าตนเป็นมนุษย์เลย แต่พอตื่นก็พบว่าตนกลับมาเป็นมนุษย์ เวลานั้นเขาฉงนฉงายว่าชีวิตเขาคือความฝันของผีเสื้อสักตัวหรือไม่
9
ลองคิดเล่นๆ บางทีความฝันอาจจะเป็นกุญแจที่ทำให้มนุษย์อย่างจวงจื๊อเกิดความตระหนกกับชีวิตและตั้งคำถามต่อโลกที่เราอาศัยอยู่ว่ามีความจริงในระดับอื่นที่เราไม่เคยสัมผัสหรือไม่ มนุษย์อย่างเราๆคงได้แต่พยายามไขปริศนานี้ไปเรื่อยๆและทิ้งความรู้ไว้ให้คนรุ่นหลัง ซึ่งสักวันหนึ่งในอนาคตอันไกลโพ้นอาจจะมีใครสักคนสามารถตื่นขึ้นมาในโลกความจริงเป็นครั้งแรกก็เได้
5
โฆษณา