28 ส.ค. 2021 เวลา 00:00 • หนังสือ
47 ปีก่อน ศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ผู้หนึ่งนาม มูฮัมมัด ยูนุส พบหญิงสาวคนหนึ่งชื่อซูเฟียในชนบทแห่งหนึ่งในบังคลาเทศ กำลังสานเก้าอี้ไม้ไผ่ด้วยมือที่หยาบกร้าน
ซูเฟียเป็นหญิงสาวขี้อายวัยยี่สิบเอ็ด มีลูกสามคน ทำงานสานเก้าอี้ไม้ไผ่อย่างขะมักเขม้น แม้มือที่สานเก้าอี้จะหยาบกร้านเพราะทำงานหนักมาตลอดชีวิต แต่งานของเธอสวยงามน่าดู
มูฮัมมัดคุ้นเคยกับชื่อนี้อย่างยิ่ง เพราะแม่ของเขาก็ชื่อ ซูเฟีย
เขาถามซูเฟียว่า เธอมีรายได้เท่าใดจากการทำงานนี้
3
ซูเฟียตอบว่า แทบไม่ได้อะไร เพราะเธอยืมเงินจากนายหน้าคนหนึ่งไปซื้อไม้ไผ่ หลังจากทำงานเสร็จแล้ว รายได้แทบทั้งหมดก็ตกในมือของคนให้ยืมเงิน เหลือเงินเพียงห้าตะกา (2 บาท 80 สตางค์) ไม่พอเลี้ยงครอบครัว
2
มูฮัมมัดรำพึงว่า ไม่น่าเชื่อ เพื่อเงินเพียงห้าตะกา เธอต้องทำงานเยี่ยงทาส เขาไม่เข้าใจว่าทำไมเธอต้องยากจนเช่นนี้ ในเมื่อเธอทำงานอย่างหนัก
1
แน่นอนชีวิตของเขาต่างจากเธอลิบลับ พ่อของมูฮัมมัดทำธุรกิจเพชรพลอย ทำให้เขามีโอกาสมากกว่าหญิงสาวชนบทผู้นี้ นอกจากจะมีฐานที่ดีรองรับ มูฮัมมัดยังเรียนเก่ง สอบได้ทุนฟูลไบรท์ ได้ไปเรียนต่อระดับปริญญาเอกในสหรัฐอเมริกา หลังจากทำงานในอเมริกาหลายปี เขาก็ตัดสินใจกลับบ้านเดิมของเขา
วันรุ่งขึ้นมูฮัมมัดกับลูกศิษย์ติดตามซูเฟียไปยังหมู่บ้านของเธอ และเริ่มสำรวจหมู่บ้าน พวกเขาพบว่าซูเฟียไม่ใช่คนเดียวที่มีประสบการณ์แบบนี้ มีชาวบ้านถึง 43 คนในหมู่บ้านเป็นหนี้รวม 856 ตะกา (485 บาท) ชาวบ้านไม่มีเงินซื้อเครื่องมือทำมาหากิน และไม่มีทางเลือกนอกจากยืมเงินจากพ่อค้า
4
ด้วยความสะท้อนใจ มูฮัมมัดหยิบเงินราวหนึ่งพันบาทที่ตนมีให้คนเหล่านั้น บอกพวกเขาว่า จงเอาไปไถ่ตัวเองเถิด ไปซื้อเครื่องมือทำกินเท่าที่จำเป็นโดยไม่ต้องผ่านคนกลาง แล้วคืนเงินเขาเมื่อไรก็ได้ที่พร้อม
9
ผ่านไปปีเศษ เขาประหลาดใจอย่างยิ่งเมื่อชาวบ้านเหล่านั้นคืนเงินแก่เขาครบทุกบาททุกสตางค์ และยังได้สร้างผลผลิตจากเงินที่เขาให้หยิบยืม
ชาวบ้านอาจไร้เงินทอง แต่ไม่ไร้ความซื่อสัตย์
9
เงินเพียงเล็กน้อยสำหรับคนมั่งมีสามารถต่อชีวิตและอาชีพแก่คนยากไร้ในชนบทอย่างไม่น่าเชื่อ
1
พลันศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ก็เกิดความคิดที่จะสานต่อแนวคิด 'ยืมเงินอย่างซื่อสัตย์' เขาขยายความช่วยเหลือแก่ชาวบ้านที่ยากไร้ และถูกเอาเปรียบ นั่นคือให้ยืมเงินเท่าที่จำเป็นเพื่อไปซื้อเครื่องมือทำมาหากินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
ด้วยการมองโลกในแง่ดีว่า ความซื่อสัตย์ยังมีในโลก
6
เขาตัดสินใจก่อตั้งธนาคารกรามีน (กรามีน ในภาษาบังคลาเทศแปลว่า หมู่บ้าน) ทำงานด้วยหลักการที่เรียกว่า สินเชื่อจุลภาค (Microcredit) เป็นธนาคารคนยากแห่งเดียวในโลกที่ให้ชาวบ้านยืมเงิน โดยใช้หลักของความซื่อสัตย์และความรับผิดชอบ ไม่มีการค้ำประกัน ไม่มีการจำนอง
6
แน่นอนนายธนาคารทั้งหลายหัวเราะเยาะความคิดของเขา เนื่องจากเชื่อมั่นว่า ไม่มีใครในโลกที่สามารถเชื่อถือได้ วงการธนาคารแทบตั้งเป็นกฎว่า ไม่มีผู้กู้ยืมรายใดในโลกที่มีความซื่อสัตย์นำเงินมาคืนโดยปราศจากการค้ำประกัน
แต่ทุกกฎในโลกมีข้อยกเว้น 99 เปอร์เซ็นต์ของผู้กู้ยืมจากมูฮัมมัด นำเงินมาคืนเขา!
.
โลกเราเต็มไปด้วยคนที่ไม่เชื่อในเรื่องความซื่อสัตย์ บางทีความไม่ไว้วางใจต่อกันยิ่งผลักดันให้คนไม่ไว้ใจกัน ยิ่งทำให้คนซื่อสัตย์มีน้อยลง
6
เมื่อปลูกฝังความรู้จักพอ ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะมนุษย์จะเป็นคนคดโกง
ความโลภมีแต่ทำให้ชีวิตร้อนรุ่ม รวยแล้วก็อยากรวยขึ้น ในที่สุดเมื่อความโลภครอบงำ ก็สามารถทำทุกอย่างเพื่อให้รวยขึ้นกว่าเดิม
เงินอาจซื้อความสบาย แต่ไม่ใช่ความสุข
15
น้อยคนที่ร่ำรวยเงินทองเข้าใจสัจธรรมที่ว่า ความสุขทางใจเกิดขึ้นได้จากความพอเพียงและรู้จักเผื่อแผ่ต่อคนที่ด้อยโอกาสกว่า
12
ยิ่งคืนกำไรแก่สังคม ก็ยิ่งรู้จักความงามของการให้
มูฮัมมัด ยูนุส ยังระลึกถึงมือหยาบกร้านคู่นั้นที่สานเก้าอี้ไม้ไผ่
4
สังคมที่สวยงามก็เช่นเก้าอี้ไม้ไผ่ของซูเฟีย เกิดจากการถักสานหลากหลายชีวิตเข้าด้วยกัน
เป็นงานที่เหนื่อยยาก เป็นงานที่ไม่มีกำไร แต่เป็นงานที่ต้องช่วยทำกันหลายคน
3
หมายเหตุ : มูฮัมมัด ยูนุส และธนาคารกรามีนของเขา ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2549 หลักการสินเชื่อจุลภาคถูกนำไปใช้ทั่วโลก
เขียนเมื่อเดือนตุลาคม 2549
ตีพิมพ์ในหนังสือ #เบื้องบนยังมีแสงดาว / https://bit.ly/2Qfbowd
โฆษณา