19 ส.ค. 2021 เวลา 01:33 • การเกษตร
เพอร์มาคัลเชอร์ (Permaculture) เป็นระบบการออกแบบเพื่อสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมในการดำเนินชีวิตอย่างยั่งยืนให้กับมนุษย์ ซึ่งได้แพร่หลายอยู่ในหมู่เกษตรอินทรีย์ทั่วโลก เป็นคำที่ถูกนิยามขึ้นใหม่โดยคุณลุงบิล มอลลิสัน (Bill Mollison) นักวิทยาศาสตร์ นักเขียนชาวออสเตรเลีย และ เดวิด โฮล์มเกรน (David Holmgren) นักออกแบบ ในราวปี 1974 และเริ่มเป็นที่รู้จักกันในชาวต่างชาติตั้งแต่ 1978 เป็นต้นมา
2
คำนี้เป็นคำใหม่ไม่มีในดิกชันนารี มาจาก Permanent culture หมายถึง วัฒนธรรมยั่งยืน รวมทั้ง Permanent Agriculture ที่หมายถึง การเกษตรที่ยั่งยืน
ภาพจาก https://greenscapegeeks.com/
ซึ่งแนวคิดเพอร์มาคัลเชอร์เกิดขึ้นมาในยุคไล่เลี่ยกันกับ มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ ที่ได้เขียนไว้ในบทความก่อนหน้า เป็นการตั้งคำถามต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก ผู้คนและของสิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นคนละมุมโลก
ความมุ่งหมายของเพอร์มาคัลเชอร์ คือ เพื่อสร้างระบบที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพเงื่อนไขของระบบนิเวศวิทยาและมีความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ ที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ โดยต้องไม่ทำลายหรือสร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม มิฉะนั้น ระบบก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในระยะยาว
เพอร์มาคัลเชอร์ตั่งอยู่บนพื้นฐานของการสังเกตระบบธรรมชาติ ภูมิปัญญาท้องถิ่นของการทำเกษตร และ ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ในหนังสือพื้นฐานเพอร์มาคัลเชอร์ได้กล่าวไว้ว่า "การปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว"ของฟูกูโอกะ เป็นผู้กล่าวพื้นฐานของเพอร์มาคัลเชอร์เป็นอย่างดี เป็นปรัชญาการทำงานร่วมกันกับธรรมชาติ มิใช่ฝืนธรรมชาติ เป็นการสังเกตธรรมชาติอย่างจริงจังและลึกซึ้ง มากกว่าใช้แรงอย่างไร้ความคิดและมองพืช สัตว์ตามหน้าที่ทางนิเวศวิทยา มากกว่าการมองสิ่งต่างๆเป็นเพียงผลิตภัณฑ์
ฟูกูโอกะ และ บิลมอลลิสัน
จริยธรรมหรือหัวใจสำคัญของเพอร์มาคัลเชอร์ คือความเชื่อและการปฏิบัติพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วย 3 ประการ คือ
1.การเอาใจใส่ต่อโลก หมายถึง การให้ความสนใจต่อสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตบนโลก ไม่เพียงแค่ไม่ทำลายแต่ต้องช่วยกันอนุรักษ์ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมอย่างมีจริยธรรม
2.การเอาใจใส่ต่อเพื่อมนุษย์ การมีปัจจัยพื้นฐานที่ดีต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์และการมีสัมพันธ์ภาพที่ดีกับเพื่อนมนุษย์คนอื่น
3.การแบ่งปันเวลา เงิน และพลังงานส่วนเกิน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการเอาใจใส่ต่อโลกและเพื่อนมนุษย์
จริยธรรมพื้นฐานแห่งชีวิต คือ การตระหนักถึงการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด ต้นไม้ต้นหนึ่งก็มีบางสิ่งที่มีคุณค่าของมัน แม้บางครั้งจะดูเหมือนไม่มีคุณค่าทางการค้ากับเราเลยก็ตาม แต่การที่ต้นไม้ที่มีอยู่และทำหน้าที่ตามธรรมชาติของมัน ซึ่งก็คือการหมุนเวียนอินทรีวัตถุ การหมุนเวียนออกซิเจนกับคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นร่มเงาที่พักพิงให้สัตว์หรือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก แถมช่วยเพิ่มหน้าดินขึ้นและอื่นๆอีกมากมาย
พลังงานที่หมุนเวียนในโลก
องค์ประกอบการออกแบบที่สำคัญของเพอร์มาคัลเชอร์ เพื่อการผสมผสานภูมิประเทศ ผู้คน อย่างสมดุลย์และเกื้อกูล มีดังนี้
1.องค์ประกอบเฉพาะพื้นที่ น้ำ ดิน ภูมิประเทศ พืชพรรณ สัตว์ท้องถิ่น
2.องค์ประกอบด้านพลังงาน เทคโนโลยี โครงสร้างแหล่งพลังงาน การหมุนเวียน
3.องค์ประกอบที่เป็นนามธรรม ระยะเวลา จริยธรรม ข้อมูล
4.องค์ประกอบทางสังคม ผู้คน วัฒนธรรม กฎหมาย การค้า การเงิน
องค์ประกอบการออกแบบผสมผสาน
จะเห็นว่าจริยธรรมของเพอร์มาคัลเชอร์ เกี่ยวข้องกับชีวิตทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งเเวดล้อม ชุมชน เศรษฐกิจและสังคม
และกุญแจสำคัญก็คือ "การร่วมมือไม่ใช่การแข่งขัน"
โฆษณา