27 ม.ค. 2022 เวลา 07:34 • สุขภาพ
เมื่อเจ้าตัวเล็กเป็นหวัด (แค่ไข้หวัดธรรมดาพอ ไม่ต้องให้ถึงกับ COVID-19 เลยนะ)
โรคหวัด เรียกว่า เกิดมาคู่กับเด็กเล็กเลยก็ว่าได้...
เมื่อเด็กเล็กเป็นไข้หวัด มักต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวนานกว่าผู้ใหญ่ ทั้งนี้น่าจะมาจากภูมิต้านทานที่ยังมีน้อย หรือยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ของเด็กนั้นเอง
บางครั้งเวลาที่สภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงแม้แค่เพียงเล็กน้อย หรือบางทีแค่อากาศแห้ง หรืออากาศชื้นไปนิดหน่อย
เจ้าเด็กเล็กร่างกายบอบบาง ก็พร้อมที่จะเกิดอาการต่างๆ ขึ้นมาซะทันที บางครั้งอาจจะทำให้เกิดอาการแพ้ขึ้นได้
ร่างกายจึงมักจะมีการตอบสนอง ต่ออาการแพ้เหล่านั้น โดยสร้างน้ำมูกออกมา เพื่อช่วยป้องกันมิให้ช่องทางเดินหายใจนั้นมันแห้งจนเกินไป แต่ก็ด้วยความหวังดีของร่างกายนี้แหละ บางครั้งเจ้าน้ำมูกมันถูกผลิตออกมาจนมากเกินไป
และเด็กเล็กบางครั้งยังไม่สามารถที่จะช่วยเหลือตัวเอง ที่จะทำการสั่งน้ำมูกออกมาเองได้ นั้นยิ่งทำให้ทางเดินหายใจติดขัดขี้นไปอีก ซึ่งในกรณีเลวร้ายอาจทำให้เกิดอันตรายต่อตัวเด็กขึ้นได้
-----
การสังเกตว่าเด็กเป็นหวัด..
เมื่อเด็กเล็กเริ่มเป็นหวัด มักมีน้ำมูกใสๆไหลออกมาและมีอาการแน่น คัดจมูก หายใจไม่สะดวก ไอ จาม และมักมีไข้ตัวร้อนร่วมด้วย
ในบางกรณีอาจจะมีการอาเจียน คลื่นไส้ ร้องกวน เบื่ออาหาร และไม่ยอมดูดนมได้
ส่วนในเด็กโตอาจมีเพียงไข้ต่ำๆ รู้สึกร้อนในจมูก คอแห้ง หรือเจ็บคอ ไอ จาม คัดจมูก และมีน้ำมูกใส
-----
การดูแลเด็กที่เป็นโรคหวัดนั้น โดยทั่วไปเป็นการดูแลตามอาการ (ความจริงแล้วเรายังไม่สามารถจัดการกับอาการป่วยที่เกิดจาก ไวรัส ตรงๆได้ คุณหมอมักจะต้องทำการรักษาไปตามอาการเท่านั้น)
การดูแลเบื้องต้นเมื่อพบว่าเด็กเป็นหวัดในระยะแรก ได้แก่ การเช็ดตัวระบายความร้อนในร่างกาย โดยเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นนาน 10-15 นาที ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิร่างกายของเด็ก หากไข้ไม่ลดใน 24 ชม. ต้องรีบพามาพบแพทย์ และให้แพทย์เป็นผู้จ่ายยาให้
โดยเฉพาะในเด็กทารกไม่ควรซื้อยาใช้เอง เนื่องจากเราจะไม่ทราบปริมาณที่เหมาะสมสำหรับการรักษา ทั้งยังอาจเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น โรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ทำให้เป็นอันตรายได้ และไม่ควรให้ยาที่มีส่วนผสมของแอสไพริน เนื่องจากต้องได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไข้เลือดออกหรือไม่เสียก่อน เพราะหากรับแอสไพรินเข้าไป โดยเป็นไข้เลือดออก อาจจะทำให้เด็กเป็นอันตรายได้
-----
การดูแลเด็กเป็นหวัดที่บ้าน
โรคหวัดเป็นโรคที่พ่อแม่ดูแลเองได้ แต่ต้องคอยระวังโรคแทรกซ้อนและคอยสังเกตการหายใจ โดยทำได้ดังนี้
ลดไข้
เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นนาน 10-15 นาที ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิร่างกายของเด็ก ให้ยาลดไข้ห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมงในเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 เดือน หากไข้ลดก็ไม่จำเป็นต้องกินยา
ระบายน้ำมูก/ลดน้ำมูก
การลดน้ำมูกเพื่อให้โพรงจมูกโล่ง ช่วยให้เด็กสามารถหายใจได้ดี
ในทารกถือเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะหากมีน้ำมูกอุดตันทางเดินหายใจหรือรูจมูกอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
การให้ยาลดไข้ และยาลดน้ำมูก
การจะให้ยาลดไข้ และยาลดน้ำมูกนั้น ควรเลือกแบบที่ปราศจากแอสไพริน และแอลกอฮอลล์ หลังจากให้ยาแล้ว พยายามให้เด็กได้นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
โดยปกติไข้หวัดมักหายได้เองภายใน 1-5วัน ไม่เกิน 1 สัปดาห์
แต่ถ้าหากเป็นหวัดหลายวัน แล้วกลับมามีไข้ขึ้น ให้คิดไว้ก่อนเลยว่าอาจมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้น ซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับคำปรีกษาจากแพทย์ โดยด่วน
การป้องกันโรคหวัด ควรปฏิบัติ ดังนี้
1. หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้ติดเชื้อโรคได้ง่าย
- เด็กเล็กๆ ไม่ควรคลุกคลีกับผู้ป่วยที่สามารถแพร่เชื้อ
- ไม่พาเด็กเล็กไปสถานที่แออัด
- หลีกเลี่ยงมลพิษ เช่น ควันไฟ ควันบุหรี่
- ไม่กระทบความเย็นจัด หรือร้อนจัด
2. เพิ่มภูมิต้านทานให้เด็กแข็งแรง
- เลี้ยงลูกด้วยนมแม่
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดต่อตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข
- ให้เด็กออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ไข้หวัดหากรู้วิธีลับมือ ก็น่าจะสามารถดูแลเด็กในเบื้องต้นได้
อย่างไรก็ตาม หากเป็นเด็กที่เล็กมากๆ หรือมีสุขภาพไม่ค่อยจะแข็งแรงมากนัก การรีบไปพบแพทย์น่าจะเป็นทางที่ดี
โฆษณา