21 ส.ค. 2021 เวลา 02:42 • ประวัติศาสตร์
“วันบัสตีย์ (Bastille Day)” วันชาติแห่งฝรั่งเศส
1
“วันบัสตีย์ (Bastille Day)” คือวันที่มวลชนในประเทศฝรั่งเศส บุกทลายคุกบัสตีย์ (Bastille) ในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ.1789 (พ.ศ.2332) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่จะนำพาไปสู่ “การปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution)”
คุกบัสตีย์นั้น นอกจากจะเป็นที่เก็บดินปืนและสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นต่อคณะปฏิวัติ ยังเป็นเสมือนสัญลักษณ์ความโหดร้ายของพระราชวงศ์ฝรั่งเศส
คุกบัสตีย์ ได้ถูกสร้างในสมัยศตวรรษที่ 14 ในช่วงเวลาของสงครามร้อยปี (Hundred Year’s War) โดยแต่เดิมนั้น สถานที่แห่งนี้ใช้เป็นป้อมปราการที่ป้องกันทางเข้าสู่ปารีสทางด้านตะวันออก
คุกบัสตีย์มีกำแพงสูงกว่า 100 ฟุต มีทหารประจำการกว่า 80 นาย และทหารรับจ้างชาวสวิสที่ยืนประจำการอีกกว่า 30 นาย
คุกบัสตีย์ (Bastille)
นอกจากนั้น คุกบัสตีย์ยังทำหน้าที่คุมขังนักโทษทางการเมือง โดยหลายรายนั้นถูกจำคุกจากรับสั่งขององค์กษัตริย์ โดยที่ไม่มีการสอบสวน
ทางด้านพระประมุขของฝรั่งเศส นั่นคือ “พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส (Louis XVI)” และ “พระนางมารี อ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette)” ก็ทรงใช้จ่ายเงินมือเติบ และมีชีวิตอย่างหรูหรา อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนสหรัฐอเมริกาในการประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ
พอเป็นอย่างนี้ ทำให้ภายในปลายยุคค.ศ.1780 (พ.ศ.2323-2332) เศรษฐกิจของฝรั่งเศสก็ทรุดหนัก
พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และ พระนางมารี อ็องตัวแน็ต
ดูเหมือนโชคร้ายของชาวฝรั่งเศสจะยังไม่สิ้นสุด เนื่องจากในปีค.ศ.1788 (พ.ศ.2331) การเพาะปลูกนั้นเข้าขั้นย่ำแย่ พืชผลไม่งอกงาม ทำให้เกิดภาวะอดอยากระบาดไปทั่วประเทศ
ในช่วงนี้ ราคาขนมปังพุ่งสูงขึ้นมาก โดยในช่วงที่ราคาขนมปังแพงที่สุดนั้น ราคาขนมปังหนึ่งแถว เท่ากับ 88% ของค่าแรงเฉลี่ยของชาวฝรั่งเศส
ตัวเลขผู้ว่างงานก็พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามมาด้วยฤดูหนาวที่หนาวเหน็บ ทำให้เกิดจลาจล แย่งชิงอาหารทั่วประเทศ
เมื่อสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤต พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จึงทรงมีรับสั่งให้จัดการประชุมสภาฐานันดร
สภาฐานันดรนี้ประกอบด้วยสามฐานันดร
1.นักบวช
2.ขุนนาง
3.สามัญชน
สามัญชนนั้นมีจำนวนมากที่สุด คือราว 98% ของสมาชิกสภา หากแต่ก็ไม่เคยโหวตชนะอีกสองฐานันดรทั้งๆ ที่มีจำนวนมากที่สุด
ด้วยความไม่ยุติธรรมนี้ ทำให้สมาชิกฐานันดรที่สาม ได้แยกตัวออกมา ตั้งเป็น “สมัชชาแห่งชาติ (National Assembly)”
ในวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ.1789 (พ.ศ.2332) ผู้แทนฐานันดรที่สามถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมประชุมสภา เหล่าผู้แทนจึงไปรวมตัวกันในสนามเทนนิสใกล้กับสภา และปฏิญาณว่าจะไม่แยกกันจนกว่าจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สำเร็จ
เหตุการณ์นี้คือ “คำปฏิญาณสนามเทนนิส (Tennis Court Oath)”
คำปฏิญาณสนามเทนนิส (Tennis Court Oath)
ต่อมา ขุนนางและนักบวชจำนวนมากได้มาเข้าร่วมกับสมัชชาแห่งชาติ ทำให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ต้องทรงยอม หากแต่พระองค์ก็ได้มีรับสั่งให้กองทหารจำนวนมากเข้ามาในปารีส และคุมเชิงบริเวณรอบๆ ปารีส ทำให้เกิดความหวาดกลัวว่าพระองค์จะทรงใช้กำลังทหารเพื่อทำลายสมัชชาแห่งชาติ
1
เมื่อเป็นอย่างนี้ ฝูงชนก็แตกตื่นและโกรธแค้น เหล่าผู้ประท้วงจำนวนมากได้ลงมาเดินถนนปารีส และทำการด่าทอ รังควานเหล่าทหารหลวง จนทหารหลวงต้องถอยออกจากเมือง และฝูงชนยังทำลายข้าวของ ก่อการจลาจล
2
14 กรกฎาคม ค.ศ.1789 (พ.ศ.2332) เหล่าผู้ชุมนุมได้บุกเข้าไปใน “โอเตล เดส์ แซงวาลีดส์ (Hôtel des Invalides)” ซึ่งเป็นโรงพยาบาลของกองทัพ และทำการยึดปืนคาบศิลามาจำนวน 32,000 กระบอก ก่อนจะมุ่งสู่คุกบัสตีย์ เพื่อจะยึดดินปืนจำนวนมากที่เก็บไว้ในคุกบัสตีย์
2
“แบร์นาร์-เรอเน จอร์แดน เดอ โลนาย (Bernard René Jourdan, Marquis de Launay)” ข้าหลวงแห่งบัสตีย์ ได้เฝ้ามองอย่างตื่นตระหนก ขณะที่ฝูงชนได้ปิดล้อมคุกบัสตีย์
เมื่อไม่มีทางเลือก เดอ โลนายจึงเชิญตัวแทนคณะปฏิวัติเข้ามาข้างในเพื่อเจรจา
แบร์นาร์-เรอเน จอร์แดน เดอ โลนาย (Bernard René Jourdan, Marquis de Launay)
เดอ โลนายได้ต้อนรับตัวแทนอย่างดี และสัญญาว่าจะไม่ยิงปืนใส่ผู้ชุมนุม หากแต่ขณะที่การเจรจากำลังดำเนินไป เหล่าผู้ชุมนุมต่างก็กังวลใจและเริ่มนั่งไม่ติด บางคนก็คิดว่าตัวแทนอาจจะถูกจับขังไปแล้ว
1
กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนได้ปีนกำแพง และปล่อยสะพานเข้าสู่คุกบัสตีย์ลงมา ทำให้ฝูงชนบุกเข้ามาในคุกบัสตีย์ได้ และขณะที่ฝูงชนกำลังจะปล่อยสะพานที่สองลงมา เดอ โลนายก็ตัดสินใจสั่งยิงฝูงชน ทำให้ผู้ชุมนุมเกือบ 100 คนเสียชีวิต บาดเจ็บอีกจำนวนมาก
1
แต่แล้ว ทหาร French Guard ซึ่งประจำอยู่ที่ปารีสและเห็นอกเห็นใจกลุ่มคณะปฏิวัติ ก็ได้บุกมาช่วยผู้ชุมนุม มีการระดมยิงปืนใหญ่ใส่คุกบัสตีย์ ทำให้ในที่สุด เดอ โลนายต้องยอมแพ้
3
เดอ โลนายถูกจับ และถูกนำตัวมายังศาลากลางเมือง ก่อนจะทำการประหารด้วยการตัดหัว
2
หัวของเดอ โลนายถูกเสียบบนไม้แหลม และแห่ไปรอบเมือง นอกจากนั้น ทหารหลวงหลายนายก็ถูกฝูงชนฆ่า ซึ่งความรุนแรงเหล่านี้ ก็จะนำพาไปสู่เหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศสในภายหลัง ซึ่งสามารถหาอ่านได้ในบทความเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งผมเคยเขียนลงไว้
2
ปัจจุบัน วันที่ 14 กรกฎาคมของทุกปี คือวันบัสตีย์ และเป็นวันหยุดประจำชาติ มีการฉลองอย่างยิ่งใหญ่
1
เหตุการณ์นี้ นับเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส และเหมาะแก่การศึกษา
โฆษณา