20 ส.ค. 2021 เวลา 21:09 • สุขภาพ
healthy – Nutrition: สรุปงานวิจัย Top 5 ประจำเดือนสิงหาคม 2021 โดย Examine.com
แปลจาก: "The Top 5 Study Summaries August 2021" (https://bit.ly/2UyvweL)
ที่มาภาพประกอบ: "freepik" (People vector created by pch.vector - www.freepik.com)
1. อาหารเสริมที่มี แอนโธไซยานิน (Anthocyanin) ช่วยในกระบวนการคิดจริงหรือไม่? (https://bit.ly/3k8x8EV)
เหตุผลที่ทำให้เกิดงานวิจัย: แอนโธไซยานิน เป็นสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่พบในพืชเท่านั้น (โดยเฉพาะตระกูลเบอร์รี่) ซึ่งอาจจะช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ประสาท อย่างไรก็ตามในประชากรชาวตะวันตกสูงอายุ การได้รับแอนโธไซยานินจากอาหารประจำวันนั้นลดลงเรื่อย ๆ สวนทางกับความเสี่ยงด้านการเสื่อมของเซลล์ประสาทที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีอาหารเสริมที่ประกอบด้วยแอนโธไซยานิน (เช่น สารสกัดจากเบอร์รี่) ซึ่งอาจจะสามารถช่วยยืดอายุการทำงานหรือแม้แต่ช่วยปรับปรุงการทำงานของงกระบวนการคิดได้ แล้วแอนโธไซยานินที่อยู่ในอาหารเสริมจะดีเหมือนกับที่อยู่ในเบอร์รรี่ที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการหรือไม่?
วิธีการศึกษา: งานศึกษาชิ้นนี้ได้รีวิวงานวิจัย 49 ชิ้นที่มีการทดลองแบบควบคุม เพื่อที่จะศึกษาผลของอาหารเสริมแอนโธไซยานินที่มีต่อประสิทธิภาพในการคิด (18 งานวิจัย), การทำงานของหลอดเลือด (22 งานวิจัย) และปัจจัยเสี่ยงต่อความผิดปกของหัวใจ (32 งานวิจัย)
ผลลัพธ์ที่ได้: ทั้งในการทดลองระยะสั้นและระยะยาว แอนโธไซยานินช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพในการคิดในมิติที่จำเพาะเช่น ความทรงจำ รวมถึงสมาธิและการตัดสินใจในบางกรณี ผู้วิจัยหลายคนยังพบหลักฐานด้วยว่าแอนโธไซยานินช่วยปรับปรุงการทำงานของหลอดเลือดและความดันโลหิต แต่ไม่ได้ช่วยในเรื่องปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจอีกหลายข้อ
หมายเหตุ: งานวิจัยทดลองที่ได้ศึกษานั้นมีความแตกต่างในด้านรูปแบบและโดสของแอนโธไซยานินที่ใช้เป็นอาหารเสริม การทดลองส่วนใหญ่ใช้สารสกัดเบอร์รี่ที่มีแอนโธไซยานิน 10-500 มิลลิกรัม งานศึกษาในอนาคตควรจะประเมินเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิผลที่เกิดจากความแตกต่างเรื่องรูปแบบและโดสด้วย
2. อาหารเสริมโอเมกา-3 ที่มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็น EPA มากกว่า DHA มีส่วนช่วยปรับปรุงกระบวนการคิด (https://bit.ly/3D38Jt4)
เหตุผลที่ทำให้เกิดงานวิจัย: สมองมีไขมันเป็นส่วนประกอบสำคัญ ซึ่งสัดส่วนค่อนข้างมากประกอบไปด้วยโอเมกา-3 EPA (eicosapentaenoic acid) และ DHA (docosahexaenoic acid) ดังนั้น การรับประทาน EPA และ DHA ก็น่าจะช่วยการทำงานของสมองได้ งานวิจัยชิ้นนี้จึงได้ศึกษาว่าระหว่างอาหารเสริมโอเมกา-3 แบบที่เน้น EPA กับแบบที่เน้น DHA แบบไหนส่งผลต่อการทำงานของสมองอย่างไร
วิธีการศึกษา: ในการทดลองแบบควบคุมเป็นเวลา 26 สัปดาห์ ผู้เข้าร่วมทดลองเป็นผู้ใหญ่สุขภาพดีจำนวน 310 คน (อายุ 25-49 ปี) ที่ไม่ค่อยได้รับประทานไขมันจากปลา ได้รับมอบหมายให้รับประทานแคปซูลแบบใดแบบหนึ่งจากสามแบบดังนี้ 1. DHA 900 มิลลิกรัม EPA 270 มิลลิกรัม (กลุ่ม DHA) 2. DHA 360 มิลลิกรัม EPA 900 มิลลิกรัม (กลุ่ม EPA) และ 3. น้ำมันมะกอกกลั่น (กลุ่มยาหลอก) โดยอาหารเสริมโอเมกา-3 ที่ให้กับทั้งสองกลุ่มนั้นอยู่ในรูปแบบของ เอธิลเอสเตอร์ (ethyl ester) เพื่อเพิ่มการดูดซึม
ผู้เข้าร่วมทดลองได้เข้ารับการทดสอบการคิดเป็นระยะเวลา 1 ชั่วโมง ข้อมูลที่ได้จากการทดสอบจะถูกนำไปใช้ประเมินการทำงานของสมอง รวมถึงยังเก็บข้อมูลความล้าทางจิตใจและอารมณ์ของผู้ทดลองด้วย นอกจากนี้ยังมีการทดลองเพิ่มเติมเกี่ยวกับความทรงจำข้ามคืนซึ่งใช้เวลาทดลองกว่า 13 สัปดาห์ในกลุ่มย่อยของผู้เข้าร่วมซึ่งมีจำนวน 155 คน
ผลลัพธ์ที่ได้: อาหารเสริมโอเมกา-3 ที่เน้น EPA นั้นช่วยปรับปรุงความแม่นยำในการทำแบบทดสอบการคิดได้ดีกว่ากลุ่ม DHA และกลุ่มยาหลอก ช่วยปรับปรุงความจำได้ดีกว่ากลุ่ม DHA และช่วยปรับปรุงความเร็วในการคิดได้ดีกว่ากลุ่มยาหลอก โดยไม่พบว่าแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกันในด้านความล้าทางจิตใจหรือด้านอารมณ์
ส่วนในการทดลองย่อยนั้นพบว่ากลุ่ม DHA มีปฏิกิริยาตอบสนองที่รวดเร็วกว่ากลุ่มยาหลอก โดยไม่พบความแตกต่างอื่น ๆ อีก
3. การฝึกสติให้กับผู้เป็นโรคสมาธิสั้น (https://bit.ly/3k8PyW9)
เหตุผลที่ทำให้เกิดงานวิจัย: การรักษาโรคสมาธิสั้น (Attention Deficit/Hyperactivity Disorder, ADHD) นั้นประกอบด้วยวิธีรักษาที่ใช้ยาและวิธีรักษาที่ไม่ใช้ยา การฝึกสติ (Mindfulness-based interventions, MBIs) อาจจะช่วยให้ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นด้วยการเพิ่มสมาธิและการตระหนักไปพร้อมกับลดความหุนหันพลันแล่นและความเครียด
วิธีการศึกษา: งานชิ้นนี้เป็นรีวิวงานวิจัยที่ได้ประเมินผลของ MBI ต่อ ADHD และอาการทางการแพทย์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 31 งานวิจัย ครอบคลุมผู้ร่วมทดลองที่ป่วยเป็น ADHD เป็นจำนวน 1,336 คน
ผลลัพธ์ที่ได้: ในผู้ใหญ่ที่เป็น ADHD พบว่า MBI ได้ผลต่อการปรับปรุงในแต่ละเรื่องดังนี้
- ความไม่เอาใจใส่ (ปานปลาง)
-ความไม่อยู่นิ่ง/ความหุนหันพลันแล่น (เล็กน้อย/ปานกลาง)
-อาการทั้งหมดของ ADHD (ปานกลาง)
-การลงมือปฎิบัติ (ปานกลาง, หลังจากปรับค่าความไม่เป็นกลางในการตีพิมพ์แล้วเหลือ เล็กน้อย)
-อาการซึมเศร้า (เล็กน้อย)
-ความวิตกกังวล (ปานกลาง)
-ผลที่เกี่ยวข้องกับความมีสติ (ปานปลาง, หลังจากปรับค่าความไม่เป็นกลางในการตีพิมพ์แล้วเหลือ เล็กน้อย)
-คุณภาพชีวิต (มาก, ไม่มีนัยสำคัญหลังจากปรับค่าความไม่เป็นกลางในการตีพิมพ์แล้ว)
สำหรับผลการทดลองในผู้ใหญ่จากหลายงานวิจัย กลุ่มผู้ทดลองที่ยังรอการรักษามีนัยสำคัญมากกว่ามากกว่ากลุ่มที่อยู่ระหว่างการรักษา
สำหรับผลการทดลองในเด็กและวัยรุ่นนั้นได้ถูกอธิบายเป็นเชิงคุณภาพ โดยพบว่า MBI ได้ช่วยเรื่องอาการของ ADHD ได้ 12 จาก 14 งานวิจัย ช่วยเรื่องกระบวนการลงมือปฏิบัติได้ 3 จาก 4 งานวิจัย ช่วยปัญหาด้านพฤติกรรมได้ 1 จาก 3 งานวิจัย ช่วยเรื่องความวิตกกังวล 1 จาก 3 งานวิจัย ช่วยอาการซึมเศร้า 1 จาก 3 งานวิจัย และ ช่วยเรื่องการควบคุมอารมณ์ 1 งานวิจัย
4. สารให้ความหวานเทียมส่งผลต่อจุลินทรีย์ในระบบย่อยอาหารเราหรือไม่? (https://bit.ly/3j1SvIH)
เหตุผลที่ทำให้เกิดงานวิจัย: ผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับคนลดน้ำหนักมักจะใช้สารให้ความหวานเทียม บางงานวิจัยซึ่งส่วนใหญ่ทำในสัตว์พบว่ามันส่งผลต่อจุลินทรีย์ในระบบย่อยอาหาร ​แต่ก็มีงานวิจัยอื่น ๆ ที่ไม่เห็นด้ว
วิธีการศึกษา: งานทดลองในสภาพจำลองนี้ได้ประเมินผลของสารให้ความหวานเทียมสามชนิดได้แก่ แอสปาร์แตม (Aspartame) แซคคาริน (Saccharin) และซูคราโลส (Sucralose) ถึงปฏิกิริยาระหว่างจุลินทรีย์ในระบบย่อยอาหารกับเยื่อบุผนังลำไส้ ในการจำลองจุลินทรีย์ในระบบย่อยอาหาร ผู้ทดลองได้ทำการแยกเชื้อแบคทีเรียสองชนิด E. coli และ E. faecalis ออกมา ส่วนในการจำลองเซลล์เยื่อบุของมนุษย์ก็ได้ใช้เซลล์ Caco-2
-ผู้ทดลองได้นำแบคทีเรียทั้งสองชนิดเข้าสู่สารละลายของสารให้ความหวานที่มีความเข้มข้นแตกต่างกันเป็นเวลาสี่วัน แล้วประเมินผลที่มีต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย
-พวกเขาได้นำแบคทีเรียเข้าสู่น้ำเปล่า 100 ไมโครโมลและสารให้ความหวานแต่ละชนิด 100 ไมโครโมล ในสภาวะที่ทั้งมีและไม่มี ซิงค์ซัลเฟต (สารยับยั้งรสหวาน) เป็นเวลา 24-48 ชั่วโมง จุดประสงค์เพื่อจะประเมินการเกิดฟิล์มชีวภาพและการสร้างฮีโมไลซิน (hemolysin) ของแบคทีเรียแต่ละชนิด
-พวกเขาเติมเซลล์ Caco-2 เข้าไปสู่แบคทีเรียแต่ละชนิด แล้วนำส่วนผสมนี้ไปที่น้ำและสารให้ความหวานแต่ละชนิดที่ทั้งมีและไม่มีซิงค์ซัลเฟต จุดประสงค์เพื่อจะประเมินการเกาะของแบคทีเรียกับเซลล์ Caco-2, ดัชนีการรุกล้ำของแบคทีเรีย (ด้วยการวัดความเข้มข้นของแบคทีเรียในเซลล์ Caco-2) และ พิษต่อเซลล์ของส่วนผสมของแบคทีเรียกับสารให้ความหวานแต่ละแบบ (ด้วยการวัดจำนวนเซลล์ Caco-2 ที่ยังมีชีวิตภายหลัง)
ผลลัพธ์ที่ได้: เมื่อเจอกับแซคคาริน 1,000 ไมโครโมล การเจริญเติบโตของแบคทีเรีย E.coli ลดลง โดยที่สารให้ความหวานอีกสองชนิดไม่ส่งผล
เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำเปล่า สารให้ความหวานทั้งสามชนิดเพิ่มการสร้างฟิล์มชีวภาพของ E.coli แต่มีเพียงแอสปาร์แตมที่เพิ่มการสร้างฟิล์มชีวิภาพของ E. faecalis โดยสารให้ความหวานไม่ได้ส่งผลต่อการสร้างฮีโมไลซินของแบคทีเรียทั้งสองชนิด
สารให้ความหวานทั้งสามชนิดเพิ่มการยึดเกาะของทั้ง E.coli และ E. faecalis กับเซลล์ Caco-2 และเพิ่มดัชนีการยึดเกาะของ E. faecalis ทั้งนี้ซูคราโลสและแอสปาร์แตมยังเพิ่มดัชนีการรุกล้ำของ E.coli ด้วย ส่วนการมีชีวิตรอดของเซลล์ Caco-2 ถูกทำให้ลดลงโดย E. faecalis ที่อยู่ในซูคราโลสหรือแอสปาร์แตมกับโดย E.coli ที่อยู่ในแซคคารินหรือซูคราโลส
ซิงค์ซัลเฟตนั้นลดผลที่มีต่อการสร้างฟิล์มชีวภาพรวมถึงการยึดเกาะ การรุกล้ำ และพิษต่อเซลล์
หมายเหตุ: ในขณะที่ผลการทดลองชี้ว่าสารให้ความหวานเทียมอาจจะส่งผลในทางลบต่อจุลินทรีย์ในระบบย่อยอาหารของเรา แต่ที่จริงแล้วจุลินทรีย์เหล่านั้นมีความซับซ้อนมากกว่าแบบจำลองที่ใช้ในการทดลองนี้ และสุขภาพของแบคทีเรียเหล่านั้นก็เป็นผลมาจากหลายปัจจัย เช่น การควบคุมความเครียดของเราเอง การออกกำลังกายสม่ำเสมอ และการทานอาหารที่มีกากใยสูง เป็นต้น
5. การกินแบบจำกัดเวลามีส่วนช่วยปรับปรุงองค์ประกอบร่างกายให้กับผู้ที่น้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนหรือไม่ (https://bit.ly/3ATCBWI)
เหตุผลที่ทำให้เกิดงานวิจัย: การกินแบบจำกัดเวลา (Time-restricted eating, TRE) เป็นกลยุทธ์การไดเอทที่ได้รับความนิยม โดยจะจำกัดปริมาณอาหารที่เข้าสู่ร่างกายด้วยการกำหนดกรอบเวลา คนที่ใช้ TRE มักพบว่าพวกเขากินน้อยลงโดยที่ไม่ได้ตั้งใจว่าตัวเองจะต้องกินให้น้อยลง งานวิจัยนี้ได้ศึกษาผลของ TRE ในผู้ที่ไม่ค่อยมีการขยับร่างกายและผู้ใหญ่ที่น้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน ซึ่งออกกำลังกายตามโปรแกรมควบคู่ไปด้วย
วิธีการศึกษา: ในการทดลองแบบควบคุมเป็นเวลา 8 สัปดาห์ ผู้ใหญ่จำนวน 21 คนที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนถูกสุ่มให้เข้ากลุ่ม TRE หรือ กลุ่มกินตามปกติ กลุ่ม TRE สามารถกินอาหารที่ให้พลังงานได้ตั้งแต่เวลาเที่ยงวันจนถึงสองทุ่ม ในขณะที่กลุ่มกินปกติให้รักษารูปแบบการกินตามเดิมของตัวเองต่อไป กลุ่ม TRE ถูกบอกให้บริโภคได้แต่น้ำเปล่า กาแฟดำ และชาเท่านั้น ในช่วง 16 ชั่วโมงที่ไม่ได้กินอาหาร ทั้งสองกลุ่มต้องออกกำลังกายแบบแอโรบิคและแบบใช้แรงต้านโดยมีผู้ให้คำแนะนำไปด้วย โดยองค์ประกอบร่างกาย ประสิทธิภาพของกล้ามเนื้อ และตัวชี้วัดทางชีวภาพอื่น ๆ ถูกประเมินก่อนและหลังการทดลอง
ผลลัพธ์ที่ได้: ทั้งสองกลุ่มมีการจำกัดพลังงานจากอาหารที่เข้าสู่ร่างกายพอ ๆ กันในระหว่างที่อยู่ในการทดลอง โดยที่กลุ่ม TRE กินน้อยลงประมาณ 300 แคล/วัน (ลดลงจากเดิมประมาณ 14.5%) ส่วนกลุ่มกินปกติก็กินน้อยกว่าเดิม 250 แคล/วัน (ลดลงจากเดิมประมาณ 11.4%) แม้ว่าจะแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยในด้านพลังงานที่รับเข้าสู่ร่างกาย แต่หลังจบการทดลองกลุ่ม TRE กลับลดน้ำหนักได้มากกว่ากลุ่มกินปกติที่ 3.3% ต่อ 0.2% และกลุ่ม TRE ก็ยังลดไขมันได้มากกว่ากลุ่มกินปกติอย่างมีนัยสำคัญที่ 9.0% ต่อ 3.3% การเพิ่มขึ้นของมวลกล้ามเนื้อทั้งสองกลุ่มใกล้เคียงกัน ผลการทดลองนี้จึงชี้ว่าการทำ TRE ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายนั้นเป็นกลยุทธ์ที่ได้ผลสำหรับการลดไขมันสะสมและเพิ่มมวลกล้ามเนื้อในคนที่น้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน
สนใจเทรนออนไลน์โดยออกแบบโปรแกรมออกกำลังกายและแนะนำโภชนาการเบื้องต้นให้เหมาะสมกับเป้าหมายด้านสุขภาพหรือด้านรูปร่างเฉพาะตัว รวมถึงให้คำปรึกษาตลอดระยะเวลาที่อยู่ในโปรแกรม (มีใบรับรอง NBCC จากสมาคมเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย) สามารถดูรายละเอียดบริการได้ที่ https://www.facebook.com/2fifinancefitness/services
ติดตามผ่านโซเชียลมีเดีย: https://linktr.ee/2fi_finance_fitness
"2Fi-รายวัน" ประจำวันที่ 2021.08.21 ขอขอบคุณทุกท่านที่อ่านจนจบ ขอให้ทุกท่านมีการเงินดี มีสุขภาพดี และมีชีวิตที่ดี แล้วพบกันใหม่ครับ 😊
#ฟิตเนส #ออกกำลังกาย #โภชนาการ #ลดไขมัน #เพิ่มกล้ามเนื้อ #สุขภาพ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา