21 ส.ค. 2021 เวลา 00:06 • สุขภาพ
มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ไต้หวัน พบสารสกัดเฮสเปอริดิน (Hesperidin) จากเปลือกส้มป้องกันและลดการติดเชื้อโควิด-19 ได้ ถือเป็นการยืนยันในระดับห้องปฎิบัติการคร้ังแรกหลังจากก่อนหน้านี้การศึกษาในแบบจำลองโมเลกุลหลายการศึกษาพบว่าเฮสเปอริดินป้องกันไม่ให้ SARS-CoV-2 ในปัจจุบันเข้าสู่เซลล์ได้ ทำให้เฮสเปอริดินซึ่งพบมากในส้มทั้งในส่วนของเปลือกและเนื้อส้มมีศักยภาพสูงในการพัฒนาเป็นยาต้านเชื้อโควิดไม่ให้เข้าสู่เซลล์ได้
กลุ่มนักวิจัยไต้หวันภายใต้การนำของ Fang-Ju Cheng จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ไต้หวันได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลการศึกษาในห้องปฏิบัติการเรื่อง Hesperidin Is a Potential Inhibitor against SARS-CoV-2 ตีพิมพ์ใน Nutrients 2021, 13(8), 2800 เมื่อวันที่ 16 กรกฏาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยพบว่าสารเฮสเพอริดิน (HD) และเฮสเปอร์เรติน (Hesperetin) ซึ่งสกัดได้จากพืชสกุลส้มได้แสดงศักยภาพในการปิดกั้นการจับกับโปรตีนในเซลล์ 2 ชนิด ได้แก่ TMPRSS2 และ ACE2 ซึ่งเป็นกลไกที่จำเป็นซึ่งทำให้ไวรัส โควิด-19เข้าสู่เซลล์
นักวิจัยกลุ่มนี้อธิบายความสำคัญของการค้นพบนี้ว่า งานศึกษาก่อนหน้านี้หลายชิ้นคาดการณ์ถึงความสามารถการต้านการติดเชื้อ โควิด-19ของสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ รวมทั้งเฮสเพอริดิน รวมทั้งงานของ Kandeil และคณะ ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงผลการยับยั้งเฮสเพอริดินต่อการจำลองแบบของไวรัส SARS-CoV-2 ในระยะแรกของการติดเชื้อไวรัส แต่การศึกษาดังกล่าวยังไม่มีหลักฐานโดยตรงที่แสดงว่ากลไกระดับโมเลกุลของฤทธิ์ต้าน โควิด-19นั้นได้มาจากเฮสเพอริดิน ยังไม่ทราบว่าเฮสเพอริดินมีฤทธิ์ต้าน โควิด-19ผ่านอิทธิพลของส่วนประกอบเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ SARS-CoV-2 หรือไม่
ในขณะที่การศึกษานี้ ได้แสดงให้เห็นว่าเฮสเปอริดิน และ aglycone metabolite ของ เฮสเปอร์เรติน ยับยั้งการแสดงออกของโปรตีน ACE2 และ TMPRSS2 ในเซลล์ปอด ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเข้าสู่เซลล์ของไวรัส และทราบชัดเจนมากขึ้นจากการทดลองในห้องปฏิบัติการครั้งนี้ว่าเฮสเพอริดินไม่สามารถลดกิจกรรมของโปรตีเอสของไวรัสได้โดยตรง รวมทั้ง PLpro และ Mpro ดังที่เคยคาดการณ์จากการศึกษาในแบบจำลองโมเลกุล
เฮสเปอริดินจึงมีศักยภาพสูงในการพัฒนาเป็นยาสำหรับต้านโควิด-19 เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อเข้าสู่เซลล์
นอกเหนือจากนั้น ยังมีรายงานยืนยันทางวิชาการว่าเฮสเปอริดินมีผลทางเภสัชวิทยาหลายประการ เช่น ส่งเสริมการต่อต้านอนุมูลอิสระ การยับยั้งการผลิตไซโตไคน์ที่ก่อให้เกิดการอักเสบ ซึ่งมีส่วนช่วยในการปรับปรุงการทำงานของปอด เป็นต้น
ไบโอไทยเห็นว่า การค้นพบนี้มีความสำคัญใน 4 ประการคือ 1) ยืนยันในระดับห้องปฏิบัติการหลังจากมีงานศึกษาในระดับแบบจำลองโมเลกุล (molecular docking) ว่า สารสกัดจากส้มมีฤทธิ์ป้องกัน โควิด-19เข้าสู่เซลล์ 2) สารสกัดจากพืชมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในขณะที่การใช้วัคซีนเริ่มถูกตั้งคำถามในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสได้ต่ำลง และมักเล็งผลไปที่การลดความรุนแรงของอาการของโรคจากการติดเชื้อแทน 3) สารจากส้มและเปลือกของพืชตระกูลส้มนั้นปรากฎอยู่พืชในสกุลส้มของไทยและเอเชียหลายชนิด รวมทั้งปรากฎอยู่ในตำราการแพทย์ของไทยมาช้านาน เช่น การใช้ "เปลือกส้ม 7 ประการ" เพื่อบำบัด แก้ลมกองละเอียด กองหยาบ แก้เสมหะโลหะ ใช้ปรุงยาหอม แก้ทางลม เป็นต้น
และ 4) ความปลอดภัยที่มากกว่าในแง่การใช้ส้มหรือเปลือกส้มในการใช้ประโยชน์เป็นอาหาร เพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน หรือแม้กระทั่งการใช้เป็นยาต้านไวรัส โควิด-19แทนสารเคมีบางชนิดที่มีความเป็นพิษสูงกว่า
เฮสเปอริดินพบส่วนใหญ่ในส่วนของเปลือกส้มชนิดต่างๆประมาณ 2-6% อยู่ในเนื้อส้มประมาณ 0.2-2.5% และอยู่ในน้ำส้มประมาณ 30-300 มก.ต่อลิตร
อ่านงานวิจัยเพิ่มเติมได้ที่
โฆษณา