21 ส.ค. 2021 เวลา 08:15 • การตลาด
รู้จัก Shein แอปแฟชั่นจีนมาแรง
เชื่อว่าหลายๆ คน คงจะได้เห็นโฆษณาของ Shein ผ่านๆ ตาบ้างในช่องทาง Facebook หรือเว็บไซต์อื่นๆ ที่เราไปเยี่ยมชม จากที่ไม่ได้สนใจซื้อ แต่ผ่านมาให้เจอบ่อยๆ ก็เริ่มอยากซื้อขึ้นมา
พอได้เข้าไปซื้อ ก็พบว่า มีสินค้าสไตล์เก๋ๆ จำนวนมาก แถมบางชิ้นก็ราคาถูกซะด้วย กลายเป็นซื้อแล้วซื้ออีก เพราะติดใจกับระบบคูปองส่วนลดที่มีล่อใจอยู่ตลอดเวลา ว่าถ้าซื้อเท่าไหร่ขึ้นไปจะได้คูปองส่วนลด แถมถ้าไปรีวิวสินค้ายังได้เก็บแต้มมาใข้เป็นส่วนลดเพิ่มอีก
เรียกว่าบางคนเสพติดการช้อปปิ้งเสื้อผ้าผ่าน Shein ไปแล้ว ในวันนี้เราจึงอยากจะพามาทำความรู้จักกับ Shein ให้มากขึ้นกัน ว่ากว่าจะมาแรงอย่างทุกวันนี้ ต้องทำอย่างไร เพื่อเรียนรู้แนวทางที่เป็นประโยชน์
• จุดเริ่มต้นของ Shein
Shein (อ่านว่า She – In) เป็นแอป เป็นแอปพลิเคชันสินค้าแฟชั่นจากจีน ก่อตั้งขึ้นในปี 2551 โดย Chris Xu ซึ่งในจีน แอปนี้ใช้ชื่อว่า ZZKKO
Chris Xu มีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษาด้านการตลาด รวมถึงเป็นที่ปรึกษาโปรแกรมการค้นหาข้อมูล (search engine) ซึ่งนับว่าเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อน Shein ได้อย่างดี
ช่วงแรกของการก่อตั้ง Shein นั้น Chris Xu เน้นไปที่การขายเฉพาะชุดแต่งงาน หลังจากนั้นมีการขยายออกมาสู่ชุดกีฬาสตรี ในช่วงก่อนหน้านี้เขาเริ่มจากการใช้ชื่อแอปพลิเคชันนี้ว่า Sheinside ก่อน แล้วจึงมาจบที่ชื่อ Shein ในปี 2558 เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำมากขึ้น
Shein เป็นแพลตฟอร์มที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงวิกฤติโควิด คล้ายกับอีกหลายธุรกิจ และกลายมาเป็นหนึ่งในแบรนด์สินค้าจีนที่สร้างการเติบโตไประดับโลก โดยในเดือน ต.ค. 2563 Shein กลายมาเป็นบริษัทด้านแฟชั่นที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก เมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่ Euromonitor International วัดจากยอดขายภายใต้แบรนด์ของบริษัท
เมื่อเป็นเช่นนี้ Shein เลยกลายมาเป็นคู่แข่งของ Zara และ H&M ในการช่วงชิงนักช้อปที่ต้องการสินค้าใหม่
ทั้ง 3 บริษัทมีแบรนด์เป็นของตัวเอง แต่จุดแตกต่างหนึ่ง คือ Zara และ H&M มีสาขาและหน้าร้านของตัวเอง มีฐานลูกค้ากลุ่มใหญ่ และที่สำคัญมีราคาแพงกว่า Shein
ถ้าดูประเด็นราคาและกลยุทธ์การขายแล้ว Shein ยังมีคู่แข่งสำคัญเป็นแบรนด์สินค้าแฟชั่นของอังกฤษอย่าง Boohoo และ ASOS ที่เน้นตลาดออนไลน์ จับกลุ่มสุภาพสตรีนักช้อปอายุน้อย และมีราคาขายที่ไม่สูง ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายไม่ต่างจาก Shein เลย
ผู้เชี่ยวชาญบางคน มองว่า Shein อาจกำลังเอาชนะ Zara และ H&M ได้ด้วยกลยุทธ์ของตัวเอง
• ความสำเร็จของ Shein
Erin Schmidt นักวิเคราะห์อาวุโสของ Coresight Research ระบุว่า สิ่งที่น่าสนใจ คือ ช่วงครึ่งแรกของปี 2564 แอปพลิเคชัน Shein มียอดดาวโหลดมากถึง 81 ล้านครั้งทั่วโลก และเมื่อกลางเดือน พ.ค. 2564 Shein สามารถเอาชนะยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon กลายมาเป็นแอปซื้อสินค้าที่มีการดาวน์โหลดสูงที่สุดในสหรัฐฯ ได้ เมื่อนับรวมยอดดาวน์โหลดทั้งจาก App Store และ Google Play รวมกัน (ข้อมูลจาก App Annie and Sensor Tower) แม้ว่า Amazon จะสลับกลับมาทวงบัลลังก์ได้ แต่จำนวนการดาวน์โหลดของทั้งคู่ ก็สูสี ไล่บี้กันมาตลอด
จุดเด่นที่ทำให้ Shein ประสบความสำเร็จ มาจากความสามารถในการดึงดูดลูกค้าเข้าสู่แพลตฟอร์มตัวเอง การผลิตที่รวดเร็วอย่างมาก กลยุทธ์ราคาถูก และการใช้ข้อมูลเข้ามาช่วยนำเสนอสินค้า
อย่างที่บอกไปแล้วว่าราคาสินค้าแฟชั่นของ Shein ถูกกว่าแบรนด์ที่มีชื่อเสียง เช่น Zara และ H&M แต่สิ่ง ที่โดดเด่นนอกเหนือจากเรื่องราคา คือ ความรวดเร็วและทันเวลา
Shein ใช้อัลกอริทึมบวกกับฐานข้อมูลลูกค้าของบริษัท ติดตามดูเทรนด์แฟชั่นที่กำลังได้รับความสนใจ รวมถึงการตอบสนองของลูกค้า แม้กระทั่งบนเว็บไซต์ของคู่แข่ง หลังจากได้ข้อมูลแล้ว ทีมออกแบบก็จะรับหน้าที่ต่อในการคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่จะมาตอบโจทย์ลูกค้า
ตัวเลขที่น่าตกใจ คือ Shein สามารถปล่อยสินค้ากว่า 500 แบบได้ในเวลาเพียง 1 วันเท่านั้น เทียบกับ Boohoo ที่ใช้เวลาเป็นสัปดาห์กว่าจะปล่อยสินค้าจำนวนเดียวกันได้
Shein ยังใช้ความเชี่ยวชาญด้านการผลิตของจีนเป็นจุดเด่น โดยบริษัทใช้เวลาในตารางการผลิตแค่ 3 – 7 วัน เทียบกับของ Zara ที่ใช้ 3 สัปดาห์ ซึ่งทั้งหมด ก็มาจากซอฟต์แวร์เบื้องหลังที่ทำให้บริษัทได้รับข้อมูลการกดเข้ามาดูและการสั่งสินค้าของลูกค้า
พวกเขาสามารถเชื่อมซอฟแวร์เข้ากับโรงงานการผลิต ข้อมูลหลากหลาย เช่น เทรนด์ที่น่าสนใจ การกดดูสินค้า การขาย จะถูกส่งไปที่โรงงาน และสามารถที่จะเริ่มกระบวนการผลิตได้ในทันที เหมือนเป็นการตัดตัวกลางออกไป ผู้เล่นอื่นๆ ในจีน อาทิเช่น Alibaba ก็มีการใช้ AI เข้ามาช่วยธุรกิจขนาดเล็กในเรื่องของกระบวนการการผลิตสินค้าจำพวกเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย
Shein ดำเนินธุรกิจแบบระมัดระวัง โดยจะมีการปล่อยสินค้าออกมาจำนวนไม่มาก จนกว่าความต้องการซื้อจะได้รับการยืนยันว่าสินค้าตัวนี้เป็นที่ต้องการจริง หากสินค้าตัวไหนไม่ถูกใจนักช้อป บริษัทพร้อมจะลดราคาเพื่อระบายสินค้าตัวนั้นทันที
นอกเหนือจากกลยุทธ์ด้านราคาที่กล่าวไปข้างต้นนั้น อีกกลยุทธ์ที่บริษัทใช้ ซึ่งคล้าย Boohoo และ ASOS คือ การใช้ influencer หรือคนที่มีชื่อเสียง เข้ามาช่วยโปรโมทสินค้า อาทิ Katy Perry หรือ Nick Jonas ซึ่งทั้ง 2 คนนี้เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลก
อีกพื้นที่ที่จุดพลุให้ Shein มาแรงมากในหมู่ขาช้อป Gen Z ก็คือแอปพลิเคชัน TikTok โดย Shein จะมีการให้รางวัล Influencer ที่โพสต์การซื้อสินค้าของ Shein ในช่องทางนี้ มูลค่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป หรือกรณีที่ซื้อสินค้าล็อตใหญ่ของแบรนด์ แล้วโพสต์ลงใน TikTok ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้สินค้าของบริษัทเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว
บริษัทยังเชี่ยวชาญในการดึงลูกค้าให้อยู่กับแพลตฟอร์ม โดยในเดือน ก.ย. 2563 Shein จัดงานแฟชั่นโชว์ออนไลน์ผ่านแอปของตัวเอง ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มจำนวนผู้สนใจหน้าใหม่จำนวนมาก ในงานนี้มีนักร้องผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์อย่าง Ellie Goulding มาโชว์ด้วย
แม้จะเป็นแพลตฟอร์มมาแรงแต่ในเชิงตัวเลขการเงิน ข้อมูลเกี่ยวกับ Shein ยังหาได้ค่อนข้างน้อย รายงานจาก Bloomberg โดยแหล่งข่าวที่ไม่ได้เปิดเผยชื่อ ระบุว่า ในเดือน มิ.ย. 2564 บริษัทมีมูลค่าราว 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากเดือน ส.ค. 2563 และมีรายได้ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนนักลงทุนเบื้องหลังที่ให้การสนับสนุนเงินทุน Shein คือ Sequoia Capital China และ Tiger Global
• ข้อกังวลใจของนักช้อป
หากไปดูในเว็บไซต์ของ Shein จะพบว่า ไม่ได้มีการเปิดเผยเรื่องราวในอดีตเหมือนหลายๆ บริษัท ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเกิดจากข้อพิพาทระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ทำให้บริษัทไม่อยากเน้นย้ำตัวเองว่าเป็นบริษัทจากจีน โดยบริษัทพยายามวางตัวเป็นธุรกิจที่กระจายการทำธุรกิจไปทั่วโลก ปัจจุบันมีการส่งสินค้าไปยัง 220 ประเทศทั่วโลก
ความไม่ชัดเจนนี้เอง ทำให้นักช้อปบางคนที่คำนึงถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) มากๆ รู้สึกเป็นกังวล เกี่ยวกับความโปร่งใสในการผลิตสินค้า แหล่งที่มาของวัตถุดิบ รวมถึงตัวเลขต่างๆ ของบริษัท
ผู้บริโภคบางคนรู้สึกเป็นกังวบว่า กระบวนการผลิตสินค้าอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ รวมทั้งการกระตุ้นให้เกิดการบริโภค หรือซื้อสินค้าแฟชั่นมากเกินไป อาจจะมีส่วนทำให้เกิดของเสียต่างๆ ในกระบวนการผลิตสินค้ารึเปล่า
• เหตุผลที่ Shein ไม่ได้เน้นโตในบ้านเกิด
อีกเรื่องราวที่ผู้คนให้ความสนใจก็คือ ทำไมเป็นบริษัทจีนแต่เน้นหนักโตในต่างประเทศมากกว่าโตในประเทศของตัวเอง ซึ่งประเด็นนี้ คาดว่ามีสาเหตุจากการที่บริษัทไม่อยากจะแข่งขันกับเจ้าตลาดที่ครองส่วนแบ่งมายาวนานอย่าง Alibaba
ทั้งนี้ Shein ใช้กลยุทธ์เน้นตลาดต่างประเทศ อาทิ ยุโรป สหรัฐฯ ออสเตรเลีย รวมถึงตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม Shein ไม่ได้เปิดเผยสัดส่วนในแต่ละตลาด
ล่าสุดพบว่า ในตลาดละตินอเมริกา Shein มียอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเติบโตกว่า 988% ในบราซิล เมื่อดูในรอบ 1 ปี สิ้นสุดเดือน มิ.ย. 2564 เทียบกับ มิ.ย. 2563
ส่วนในอินเดีย Shein เคยถูกแบนจากประเทศนี้ ในช่วงที่อินเดียกวาดล้างแอปพลิเคชัน แต่ล่าสุดในเดือน ก.ค. 2564 Shein กลับเข้าไปในตลาดอินเดียอีกครั้งผ่านเทศกาลช้อปปิ้ง Amazon Prime Day สร้างความตื่นเต้นให้ผู้ที่สนใจเป็นอย่างมาก
เราขอปิดท้ายด้วยมุมมองที่น่าสนใจของ Brennon ผู้เขียนหนังสือ “Attention Factory: The Story of TikTok and China's ByteDance” โดย Brennon มองการเติบโตของ Shein มีความคล้าย TikTok โดยสะท้อนภาพของ TikTok ในช่วงต้น ก่อนที่จะกลายเป็นแอปที่โด่งดังไปทั่วโลก เพราะแอปถูกจริต Gen Z ดังนั้นคู่แข่งอาจจะต้องมองบริษัททั้งคู่นี้ในแง่มุมที่คล้ายกัน
จะเห็นได้ว่า กว่าจะสำเร็จได้ Shein ก็งัดสารพัดกลยุทธ์ ใช้ทุกเทคโนโลยีที่จะทำสินค้าออกมาให้ตรงใจนักช้อป และก็ใช้ทุกกลยุทธ์ที่จะทำให้นักช้อปตัดสินใจซื้อนั่นเอง ซึ่งใครที่มีความใฝ่ฝันจะมีธุรกิจ หรือกำลังทำธุรกิจอยู่ ก็สามารถเรียนรู้จากความสำเร็จของ Shein เพื่อเป็นประโยชน์ในการวางแผนธุรกิจของตัวเองได้
ติดตามอ่านเรื่องราวที่น่าสนใจได้ที่
Website : makemewealth.com
#makemewealth
https://makemewealth.com/wealth-talk-shein/
โฆษณา