21 ส.ค. 2021 เวลา 23:00 • หนังสือ
รีวิว...ศิลปะของการเลือก-รับ-รู้
เป็นหนังสือที่พรีออเดอร์ มาจากคำแนะนำของพี่เก๋ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งนักอ่านตัวยง และเราทั้งคู่น่าจะมีความชอบงานเขียนของจิตแพทย์ ชิออน คาบาซาวะเหมือนกัน ด้วยเพราะอาชีพและการแข่งขันบีบรัดให้เราต้องเร่งฝึกฝนทำ Output
หนังสือเล่มแรกที่จุดประกายในการทำ Output ก็คือ The Power of Output และมันน่าทึ่งมาก ที่ผู้เขียนเป็นจิตแพทย์ แต่กลับมีผลงานเขียน ที่นักข่าวหรือนักเขียนอย่างเรายังต้องอายเลย..จิตแพทย์คนนี้ทำได้อย่างไร?
ดิฉันเริ่มอ่าน The Power of Input หรือ ศิลปะของการเลือก-รับ-รู้ ด้วยความตั้งใจทุกตัวอักษร เพราะชื่นชอบคุณชิออน คาบาซาวะ เป็นทุนเดิม และสาระในหนังสือนำไปปฏิบัติได้จริง ไม่มีน้ำ มีแต่เนื้อ
คุณชิออน คาบาซาวะ ยืนยันว่า Input ในวันนี้จะเห็นผลในอีก 10 ปีข้างหน้า!! โอเค แม้มันจะยาวนาน แต่ก็เข้าใจได้ เพราะไม่ต่างอะไรกับการเปลี่ยนพฤติกรรม อย่างที่เราเป็นปัจจุบัน ก็เกิดจากสิ่งที่เรา Input มาเมื่อ 10 ปีก่อน
บทความนี้ดิฉันจะขอหยิบมาแค่ 3 เทคนิค ที่รู้สึกว่าอ่านแล้วกระแทกใจอย่างแรง
#1.การตั้ง output ไว้ล่วงหน้าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของ input ถึง 100 เท่า!!
ถ้าวันนี้เรา “สักแต่ว่าฟัง” “สักแต่ว่าดู” “สักแต่ว่าอ่าน” ไปงั้นๆ แหละ หลังจาก Input ข้อมูลเสร็จแล้ว เมื่อถูกถามให้อธิบายเรื่องราว เราจะจำอะไรแทบไม่ได้เลย เรียกว่าอบรมเสร็จก็คืนวิทยากรไป เพราะเราไม่ได้ตั้ง Output ไว้ล่วงหน้าว่าเราจะ Input ไปเพื่อ...?
ถ้าเราสักแต่ว่า ฟังสัมมนามาซักงานหนึ่ง คงจะจำอะไรไม่ได้ พอมีคนถามก็อาจจะแค่ “ก็ดีนะ” เหรอ ดียังไงบ้างอ่ะ “ก็ดีหลายอย่าง ประทับใจอยู่" สรุปว่าปริมาณของ Output ที่ได้จากการฟังงานสัมมนาในเวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง จบลงด้วยปริมาณของ Input ภายใน 3 วินาที! แค่นั้น
แต่ถ้าเราตั้ง Output ไว้ล่วงหน้าว่าการเข้าฟังสัมมนาในครั้งนี้ เราจะนำไปสอนทีมงานของเรา เรามีความกดดันนิดๆ ทำให้ตั้งใจที่จะเก็บเกี่ยวความรู้เพื่อที่จะเอามาถ่ายทอดให้ทีมงานฟัง
แม้เพียงแค่การเล่า 5 นาที (300 วินาที) จากเดิมที่เราเล่า 3 วิแล้วจบ มันเท่ากับว่าปริมาณของ Output เพิ่มขึ้นถึง 100 เท่าเลย!! แล้วถ้าคุณเล่าได้ถึง 15 นาทีล่ะ โอ้ววว...นั่นหมายความว่ามันเพิ่มปริมาณของ Output ถึง 300 เท่าเลยทีเดียวนะ!!
*นี่คือหนึ่งในสุดยอดเทคนิคที่ดิฉันคิดว่าไม่พลาดที่จะนำไปใช้อย่างแน่นอน (อย่างน้อยก็กลับมาเริ่มที่เล่มนี้) เพราะว่าเดือนที่ผ่านมา อ่านหนังสือจบ 2 เล่ม แต่จำแก่นของหนังสือไม่ได้เลย เพราะไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะทำ Output (ขี้เกียจนั่นเอง) ก็เท่ากับว่า Input ไปอย่างไร้ความหมาย แถมเสียเวลาอีกต่างหาก..เฮ่อ!
#2.การฟังอย่างมีประสิทธิภาพควรจะมีสัดส่วน Input และ Output "7:3"
อันนี้อ่านทบทวนอยู่หลายรอบ เพราะเริ่มสับสนกับเล่มแรก The Power of Output ที่บอกไว้ว่าอัตราส่วนที่ดีที่สุดระหว่าง Input และ Output คือ "3:7"
แต่พอค่อยๆ อ่านทบทวนช้าๆ ก็เข้าใจแล้วว่า เป็นการอธิบายถึง "ระหว่าง" การทำ Input ในรูปแบบของการฟัง เช่น ขณะที่เรา "กำลังฟัง" ในงานสัมมนามันเป็นการ Input "ข้อมูลที่ไม่ใช้ถ้อยคำ" แต่จะเป็นในรูปของ สีหน้า ภาษากาย ภาษามือของผู้พูด
ดังนั้น ถ้าเรามัวแต่ให้น้ำหนักกับการจด (Output) แบบละเอียดยิบ โดยไม่สนใจมองหน้าวิทยากรสุดท้ายแล้ว เราจะไม่เข้าใจในเนื้อหาการบรรยาย แต่สิ่งสำคัญในการสัมมนาคือการที่เรา "ค้นพบ" เรื่องอะไรต่างหากที่สามารถนำไปใช้ได้จริงกับตัวเอง
อัตราส่วนควรจะอยู่ที่ 7:3 หรือ 8:2 ราวๆ พูดง่ายๆ ก็คือว่าให้ตั้งใจฟังวิทยากร มองหน้าวิทยากร หลังจากนั้นเราค่อยมาทำ Output ซึ่งเราจะทำมากเท่าไหร่ก็ได้ หลังจากที่ Input เสร็จสิ้นลงแล้ว"
*ข้อนี้ ดิฉันคงจะนำไปปรับใช้กับตัวเองในเวลาที่สัมภาษณ์สด ตอนนี้ทำให้เข้าใจแล้วว่าการมัวพะวงแต่จดอย่างเดียว โดยไม่ฟัง หรือไม่มองหน้าแขกรับเชิญทำให้เราไม่เข้าใจในเนื้อหาที่แขกรับเชิญพูด แล้วมันจะทำให้บทสนทนาไม่ลื่นไหล (ดิฉันต้องเตือนตัวเองว่า ควรเลิกกังวลกับการจด หรือจดให้น้อยลง สั้นลง เพราะหลังจบการ Live ยังสามารถมาฟังซ้ำได้ เพื่อทำ Output หรือสรุปเนื้อหานั่นเอง)
และข้อสุดท้าย สุดยอดจริงๆ ความรู้ใหม่เลย
#3.สมดุลระหว่างการ Input ข้อมูลกับความรู้ไม่ควรเกิน 3:7
ข้อมูลกับความรู้ต่างกันอย่างไร?…สมมุติมีหนังสือพิมพ์ของเมื่อ 1 ปีก่อนกองอยู่ตรงหน้า หากเราหยิบมาอ่านแล้วพบว่า อะไรที่ยังนำมาใช้ได้อยู่นั่นแหละคือ "ความรู้" แต่สิ่งที่แทบไม่เป็นประโยชน์เลยก็คือ "ข้อมูล" เพราะว่ามันเอาต์ไปแล้ว ข้อมูลจึงเหมือนกับอาหารสดที่คุณค่าจะค่อยๆ ลดลงไปตามกาลเวลา
สิ่งที่ได้จากเฟซบุ๊กเพจ อินเทอร์เน็ต โทรทัศน์โดยส่วนใหญ่จะเป็น "ข้อมูล" ส่วนสิ่งที่ได้จากหนังสือหรือบุคคลส่วนใหญ่จะเป็น "ความรู้"
นี่ถึงเป็นเหตุผลที่เราควรจะ "Input ข้อมูล" ในสัดส่วนที่น้อยกว่าการ "Input ความรู้" เพราะต่อให้เราใช้เวลาในการเล่นสมาร์ตโฟนวันละ 3-4 ชั่วโมงเพื่อ Input ข้อมูล แต่ผ่านไป 1 สัปดาห์หรือ 1 เดือน มันก็ด้อยค่าลงแล้ว
ดิฉันติดสมาร์ตโฟนมากๆ ภูมิใจมากกับ ฉายา "โซเชี่ยลเรียลไทม์" แม้ด้วยงานจะต้องหนักไปทาง Input ข้อมูล แต่จากนี้ไปจะปรับสมดุลการ Input ใหม่ มันไม่ใช่แค่เรื่องการพัฒนาตัวเองได้ช้าลง จากการ Input ข้อมูลมากเกินไปเพราะเป็นคน "โลภข้อมูล" แต่..เพราะเริ่มมีปัญหาสุขภาพสายตาด้วย อันนี้กลัวมาก
ถ้าทำให้ได้ “2:8” หรือ “1:9” ก็ยิ่งดี ซึ่ง จิตแพทย์ บอกว่า ส่วนตัวของเขาใช้ “1:9”
ตบท้ายด้วยประโยคน่าคิด จงมุ่งที่จะเป็น "ผู้รู้" "ผู้มีปัญญา" แทน "ผู้มีข้อมูล"..อืมม มันก็จริงนะ สมองเรามีพื้นที่จำกัดพวกข้อมูลต่างๆ ให้คอมพิวเตอร์มันจำเถอะ เราอยากรู้เมื่อไหร่ค่อยไปค้น
กฎทองต้องจำ “ข้อมูลท่วมหัว...เอาตัวให้รอด”
ดิฉันตั้งใจว่าจะทยอยเคลียร์กองดองในห้อง และจะอ่านให้ได้เดือนละ 4 เล่ม วันอาทิตย์หน้าจะมารีวิว “ความลับ ของความมั่งมี” เรื่องราวของนักข่าวสาวชาวเกาหลี ผู้ออกตามหากุญแจสู่การเพิ่มพูนความมั่งคั่ง…
-ชัชชญา ฮาเกิน-
22/08/2021
ชัชชญา ฮาเกิน-Chatchaya Hagern
@chatchaya.hagern
#The Power of Input #ศิลปะแห่งการเลือกรับรู้ #ชิออนคาบาซาวะ #สรุปหนังสือ #ชัชชญาฮาเกิน
ข้อมูลท่วมหัว เอาตัวให้รอด
ศิลปะของการเลือก-รับ-รู้
โฆษณา