22 ส.ค. 2021 เวลา 11:49 • ประวัติศาสตร์
รู้หรือไม่! ครั้งหนึ่งเคยมีการคิดค้นตัวอักษรแบบใหม่ขึ้นมาใช้ในประเทศไทยด้วย
“อักษรอริยกะ” เป็นชุดตัวอักษรแบบใหม่ ถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งในขณะนั้นกำลังผนวชเป็นพระ ในชื่อ “พระวชิรญาณเถระ” เพื่อใช้สำหรับการพิมพ์และเขียนภาษาบาลีในทางพระพุทธศาสนา แทนอักษรขอม รวมถึงมีการพัฒนาเพื่อใช้ในภาษาไทยอีกด้วย ถือเป็นหนึ่งในความพยายามในการปฏิรูปพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ให้มีความทันสมัยมากขึ้น เนื่องจากในรัชสมัยของพระองค์เป็นยุคที่เริ่มเปิดรับวิทยาการ และความเป็นตะวันตกเข้ามา
พระวชิรญาณเถระ
ต้องขอท้าวความกลับไปซักเล็กน้อย ว่าแต่เดิมแล้วการเขียนภาษาบาลี เช่น บทสวด ตำรา คัมภีร์ หรืองานเขียนต่างๆทางพุทธศาสนาในไทย มักจะใช้ตัวอักษรขอม ซึ่งถือเป็นอักษรที่เก่าแก่ และเชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ในการเขียน โดยมีทั้งอักษรขอมบาลี สำหรับการเขียนแทนภาษาบาลี และอักษรขอมไทย สำหรับใช้เขียนแทนภาษาไทย
อักษรขอมไทย
แต่การเขียนโดยใช้อักษรขอมนั้นมีความซับซ้อนค่อนข้างมาก เพราะมีทั้งพยัญชนะตัวเต็ม, พยัญชนะตัวเชิง สระจม สระลอย ไหนจะวิธีวางรูปสระ ที่สามารถวางไว้ได้ทั้งด้านหน้า, ด้านหลัง, ด้านล่างและด้านบนของพยัญชนะ ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของภาษาในภูมิภาคนี้ ทำให้เกิดความยุ่งยากในการเขียน และการพิมพ์เป็นอย่างมาก
ด้วยเหตุนี้พระวชิรญาณเถระ(ร.4) จึงได้พยายามคิดค้นตัวอักษรรูปแบบใหม่ขึ้นมาใช้เขียนแทนอักษรขอมเดิม เพื่อให้เกิดความสะดวก และง่ายต่อการศึกษาพระพุทธศาสนาและพระธรรมวินัย โดยใช้ระบบการเขียนและตัวอักษร ที่ดัดแปลงมาจาก “อักษรโรมัน” ซึ่งง่ายและสะดวกกว่ามาก ทั้งด้านตัวพยัญชนะที่เขียนไม่ยาก และการวางสระที่จะวางไว้ด้านหลังพยัญชนะเท่านั้น ช่วยตัดความยุ่งยากออกไปได้ โดยตั้งชื่อตัวอักษรชุดนี้ว่า “อักษรอริยกะ” แปลว่า อักษรของผู้เป็นอารยชน
อักษรอริยกะ ภาพจาก https://aksararoywaleelikh.wixsite.com/rayong/post/อร-ยกะ-อ-กษรของ-ผ-เป-นอารยชน
อักษรอริยกะนั้น ประกอบด้วยพยัญชนะ 33 ตัว และสระ 8 ตัวเท่าภาษาบาลี มี 2 แบบคือ อริยกะตัวพิมพ์ และอริยกะตัวเขียน มองผ่านๆมีความคล้ายกับอักษรในภาษาแทบยุโรป แต่ไม่ได้ใช้การเทียบเสียงแบบเดียวกัน โดยวิธีการสร้างนั้น คือการดูรูปลักษณ์ตัวอักษรโรมันแต่ละตัวว่ามีตัวไหนลักษณะใกล้เคียงกับอักษรในภาษาขอมและไทยบ้าง จึงหยิบตัวนั้นมาเขียนแทน เช่น ใช้ตัว n แทน ก และอาจมีการดัดแปลงเพิ่มเติม โดยมีหลักการเขียนคือ
1.สระวางไว้หลังพยัญชนะต้น
2.ถ้าเสียงสระอยู่หน้าคำ ใช้สระเขียนได้
3.หากพยัญชนะไม่มีสระตามหลังแสดงว่าเป็นตัวสะกด
4.หากคำใดเป็นเสียงนิคหิต จะใช้ทั้งสระอะ และตามด้วยนิคหิต
อย่างไรก็ดี ยังคงเป็นการยากที่จะนำอักษรอริยกะมาใช้แทนอักษรภาษาไทย 100% เนื่องจากยังขาดพยัญชนะและสระอีกหลายตัว จึงใช้สำหรับเขียนแทนภาษาบาลีเป็นหลัก
อริยกะตัวเขียน ภาพจาก https://aksararoywaleelikh.wixsite.com/rayong/post/อร-ยกะ-อ-กษรของ-ผ-เป-นอารยชน
อริยกะตัวพิมพ์
คาถาเย ธมฺมา ฯ อักษรอริยกะตัวพิมพ์ หน้าอุโบสถวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ภาพจาก https://readthecloud.co/wat-praram-9/
เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ ตถาคโต เหตุํ อาห
เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณติ ฯ
แม้ว่าอักษรอริยกะ จะทำให้การเขียนภาษาบาลีสะดวกมากขึ้นกว่าเดิมก็ตาม แต่กลับไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่นัก อาจเพราะเป็นตัวอักษรที่พึ่งคิดขึ้นใหม่ ไม่เป็นที่คุ้นชินของคนไทยมาแต่เดิม ทำให้ต้องเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด จึงทำให้ไม่แพร่หลายเท่าที่ควร โดยพบว่ามีการใช้อยู่แค่ภายในวัดบวรนิเวศวิหาร และกลุ่มคนบางกลุ่มเท่านั้น รวมไปถึงหลักฐานการนำไปใช้ก็มีจำนวนไม่มาก เช่น จารึกที่วัดราชประดิษฐ์ และเมื่อรัชกาลที่ 4 ได้ลาสิกขาจากการเป็นพระเพื่อขึ้นครองราชย์ การใช้อักษรอริยกะก็เริ่มเสื่อมคลายลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการนำตัวอักษรไทยมาใช้เขียนภาษาบาลีแทนได้ ทำให้การใช้อักษรอริยกะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป และเริ่มสูญหายไปในที่สุด
หนังสืออักษรอริยกะ ในรัชกาลที่ 4
จารึกวัดราชประดิษฐ์
ภาพจาก https://www.silpa-mag.com/history/article_9934
โฆษณา