23 ส.ค. 2021 เวลา 13:00 • การศึกษา
มาทำความรู้จักกับ “เนติบัณฑิต” (barrister)
หรือที่นักกฎหมายมักเรียกกันสั้นๆ ว่า “เนติ” (อ่านว่า เน) คือ วุฒิทางการศึกษากฎหมายที่สูงกว่าขั้นปริญญาตรีนิติศาสตร์บัณฑิต ซึ่งออกให้แก่ผู้ผ่านการสอบครบถ้วนตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา แต่ไม่ใช่วุฒิการศึกษาในระดับชั้นปริญญาโท
โดยคนที่จะสมัครเข้าเรียนตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาจะต้องจบนิติศาสตร์บัณฑิตเสียก่อน
แม้ตามข้อบังคับเนติบัณฑิตสภา พ.ศ. 2507 จะกำหนดสมาชิกเนติบัณฑิตสภาไว้ 5 ประเภทคือ สามัญสมาชิก สมาชิกวิสามัญ สมาชิกสมทบ ภาคีสมาชิก และสมาชิกกิตติมศักดิ์
แต่เมื่อพูดถึงว่า “จบเนติ” สำหรับนักกฎหมาย ก็จะเข้าใจตรงกันว่า ต้องสอบผ่าน 4 ขาและผ่านการสอบปากเปล่าตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาและได้จดทะเบียนเป็นสามัญสมาชิกของเนติบัณฑิยสภา
ที่พูดกันว่า สอบผ่าน 4 ขา หมายถึง การสอบผ่าน 4 กลุ่มวิชาตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา กล่าวคือ
ในหนึ่งปีการศึกษานั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ภาคการศึกษา ได้แก่ ภาค 1 ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มวิชา คือ กลุ่มวิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกลุ่มวิชากฎหมายอาญา ส่วนภาค 2 คือ กลุ่มวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและกลุ่มวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
การสอบกลุ่มวิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มี 10 ข้อ ประกอบไปด้วย กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 8 ข้อ กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ 1 ข้อ และกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา 1 ข้อ
กลุ่มวิชากฎหมายอาญา มี 10 ข้อ ประกอบไปด้วย กฎหมายอาญา 6 ข้อ กฎหมายภาษีอากร 1 ข้อ กฎหมายแรงงาน 1 ข้อ กฎหมายรัฐธรรมนูญ 1 ข้อ และกฎหมายปกครอง 1 ข้อ
กลุ่มวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมี 10 ข้อ ประกอบไปด้วย กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 7 ข้อ กฎหมายล้มละลายและฟื้นฟูกิจการ 2 ข้อ และระบบศาลและพระธรรมนูญศาลยุติธรรม 1 ข้อ
กลุ่มวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามี 10 ข้อ ประกอบไปด้วย กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม 6 ข้อ กฎหมายพยานหลักฐาน 2 ข้อ วิชาว่าความ การถามพยานการจัดทำเอกสารทางกฎหมาย 1 ข้อ และภาษาอังกฤษสำหรับนักกฎหมาย 1 ข้อ
ซึ่งแต่ละข้อจะมีคะแนนเต็ม 10 คะแนน โดยการสอบผ่านในแต่ละกลุ่มวิชา คือ ผู้สอบต้องได้ตั้งแต่คะแนน 50 คะแนนขึ้นไป
ทั้งนี้ แม้ใน 1 ปีการศึกษา ผู้สอบจะสอบไม่ผ่านในกลุ่มวิชาใดกลุ่มวิชาหนึ่ง ผู้สอบก็สามารถเก็บคะแนนกลุ่มวิชาที่สอบผ่านไว้และลงทะเบียนสอบในกลุ่มวิชาที่ยังสอบไม่ผ่านจนกว่าจะสอบผ่านครบทั้ง 4 กลุ่มวิชา จึงไปสู่ขั้นสอบปากเปล่าต่อไป
สำหรับการสอบปากเปล่าเป็นการตอบคำถามจากกรรมการคุมสอบในปัญหากฎหมาย 1 ข้อ ซึ่งกำหนดโดยคณะกรรมการออกข้อสอบ ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นวิชาใด ระหว่างกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยที่ผ่านมาไม่มีการสอบปากเปล่าเกี่ยวกับกฎหมายพิเศษอื่นๆ
เมื่อสอบปากเปล่าผ่านแล้ว ผู้สอบจะได้รับใบรับรองว่าสำเร็จการศึกษา ซึ่งเป็นการประกาศว่าสอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา และสามารถจดทะเบียนเป็นสามัญสมาชิกของเนติบัณฑิตยสภา
เมื่อได้รับจดทะเบียนเป็นสามัญสมาชิกของเนติบัณฑิตยสภา จึงจะได้ชื่อว่าเป็นเนติบัณฑิต
นอกจากนี้ ทางเนติบัณฑิตสภายังได้จัดอบรมหลักสูตรภาคจริยธรรมให้แก่ผู้สอบไล่ด้วย โดยผู้ที่จะเข้ารับพระราชทานประกาศนียบัตรจะต้องผ่านการอบรมตามหลักสูตรภาคจริยธรรมเสียก่อน
อย่างไรก็ตาม ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเป็นเนติบัณฑิตและทนายความอยู่บางประการ คือ
การเป็นเนติบัณฑิตเป็นคนละเรื่องกับการสอบได้ใบอนุญาตว่าความ หรือที่เรียกติดปากโดยทั่วไปว่า ตั๋วทนาย ซึ่งผู้ที่มีใบอนุญาตว่าความเท่านั้นจึงจะสามารถทำหน้าที่เป็นทนายความว่าความในศาลได้
การเป็นทนายความนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเนติบัณฑิตก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสนใจของแต่ละบุคคลซึ่งแตกต่างกันออกไป
เมื่อได้เป็นเนติบัณฑิตแล้ว สามารถนำคุณสมบัติดังกล่าวไปต่อยอดด้านการทำงานได้หลายประการ เช่น การสมัครสอบอัยการผู้ช่วยและผู้ช่วยผู้พิพากษา
โดยในตำแหน่งงานของภาครัฐและภาคเอกชนบางแห่งยังได้กำหนดให้การเป็นเนติบัณฑิต เป็นคุณสมบัติประการหนึ่งในการสมัครเข้าทำงานด้วย
โฆษณา