23 ส.ค. 2021 เวลา 05:21 • ปรัชญา
"สุดท้าย ต้องคืนให้โลกทั้งหมด"
" ... บางคนอินทรีย์อ่อน บุญบารมีทางธรรมไม่มี
เห็นว่าชีวิตนี้ไม่แน่นอน
เดี๋ยวก็แก่ เดี๋ยวก็เจ็บ เดี๋ยวก็ตายแล้ว
ตอนนี้ยังไม่แก่ ยังไม่เจ็บ ไม่ตาย
รีบหาความสุขให้มากที่สุด
แย่งกันทุกสิ่งทุกอย่าง แย่งชิงกัน
แล้วก็ได้มา ก็อิ่มอกอิ่มใจ
แต่สุดท้ายมันก็หนีความจริงไม่พ้น
สุดท้ายก็ต้องทิ้งทุกอย่างไป
สิ่งที่เคยแย่งกันมาด้วยความเหน็ดเหนื่อยนั้น
มันสูญเปล่า ไม่ใช่สมบัติของเราที่แท้จริง
สิ่งที่แย่งกันมา มันเป็นของโลก
สุดท้ายคืนโลกหมดเลย
ใจค่อย ๆ พิจารณาไป ชีวิตจริง ๆ เป็นอย่างนี้
ยังไม่ต้องทำกรรมฐานอะไรเลย
พิจารณาความจริงของร่างกายไปเรื่อย ๆ
ใจก็จะโน้มน้อมไปหาธรรมะ
ทำอย่างไร
เราจะพ้นจากความแก่ ความเจ็บ ความตายนี้ได้
นี่คนซึ่งมีบุญบารมี
ถ้าคนอินทรีย์อ่อนก็คิดว่าตอนนี้เสพสุขไว้ก่อน
ไหน ๆ ต่อไปก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายแล้ว
ตอนนี้ยังไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย หาความสุขไว้ก่อน
ก็ดิ้นรน เหน็ดเหนื่อย สุดท้ายก็ไม่มีอะไรเหลือ
เมื่อไม่กี่วันนี้ก็มีผู้สูงอายุคนหนึ่งมาคุยกับหลวงพ่อว่า
เราดิ้นรนแสวงหาอะไรมาตั้งมากมาย
สุดท้ายทุกอย่างก็ว่างเปล่า
นี่ประสบการณ์ชีวิตสำหรับคนซึ่งช่างสังเกต
ช่างพิจารณา เขาเห็นได้เอง
ถึงไม่ต้องปฏิบัติเขาก็เห็นได้
ทำอย่างไรเราจะพ้นไปสักที
จะพ้นความแก่ ความเจ็บ ความตายได้
ความแก่ ความเจ็บ ความตาย
เป็นผลพวงของความเกิด
ถ้าไม่เกิดมีกายนี้ขึ้นมา
มันก็ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย
3
กายนี้มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
ถ้ากายมนุษย์
ก็อาศัยวัตถุธาตุของพ่อของแม่เป็นจุดเริ่มต้น
อาศัยน้ำ อาศัยอาหาร
อาศัยอากาศหล่อเลี้ยงต่อเนื่องมา
แล้วก็มีจิต ปฏิสนธิจิต เกิดขึ้นในกายนี้
คือจิตมันเข้าไปครอบครองกายนี้
อันนี้กรรมมันจัดสรรให้
จิตบางดวงเคยถือศีลมาดี
ก็ไปเกิดมีกายที่งดงามอะไรอย่างนี้ มีศีลดี
บางคนทำปาณาติบาตมาเยอะ มีวิบาก
ไปได้กายที่ไม่ดี พิการมาตั้งแต่เกิดอะไรอย่างนี้
กรรมมันจัดสรรให้เราได้กายชนิดต่าง ๆ
วิธีที่เราจะพ้นจากการเกิดมีกายขึ้นมา
ถ้าเราเห็นทุกข์เห็นโทษของกาย
จิตมันไม่เข้ามายึดถือ
ไม่เข้ามาเกาะเกี่ยวกายอย่างนี้ มันก็ทิ้งไป ไม่เอา
ก็ไปหากายที่ละเอียดขึ้นไปอีก
1
อย่างกายของเทพกายของพรหมอะไรพวกนี้
มันละเอียดประณีตสวยงามกว่ากายมนุษย์
ถ้าเราภาวนาเราเคยเห็นพวกเทพพวกอะไร
เราจะรู้ว่าร่างกายเขางามกว่าพวกเรามาก
ร่างกายของพวกเรามีข้อมีปม
เป็นปุ่มเป็นปม ดูไม่งดงาม
ร่างกายของพวกเทพกลมกลืนดูงดงาม
กระดูกโผล่แหลม ๆ อะไรออกมาอย่างนี้ไม่มีหรอก
เขางาม อันนั้นเขาได้กายที่ละเอียด
ถ้าภาวนาไปเรื่อย ๆ ก็จะรู้ว่ามันก็ไม่เที่ยง
ถึงจะงามแค่ไหนสุดท้ายก็ต้องทิ้งไปเหมือนกัน
มีความแก่ไหมเทวดา มี
มีความเจ็บไหม มี
มีความตายไหม ก็มีอีก
กายไม่ว่าจะละเอียดขนาดไหน
สุดท้ายก็หนีความแก่ ความเจ็บ ความตายไม่พ้นหรอก
เพราะฉะนั้นการที่เราทำความดี
หวังว่าจะได้กายที่ประณีตมากกว่ากายมนุษย์
เราก็ได้ แต่มันยังไม่พ้นทุกข์จริง
เพราะกายไม่ว่าจะละเอียดขนาดไหน
สุดท้ายก็หนีความแก่ ความเจ็บ ความตายไม่พ้นหรอก
จะกายของเทวดาหรือกายของพรหมก็เหมือนกัน
อย่างพวกเทพร่างกายเป็นหนุ่ม เป็นสาว
หรือสวยงามอยู่ตลอด
เทพบางองค์เขาชอบเป็นเด็ก
เขาจะเป็นเด็กตลอดชีวิตเลย
ก็เป็นเด็กอยู่อย่างนั้นไม่โตหรอก
บางองค์ชอบเป็นคนแก่
มีบางคนท่านภูมิใจที่จะแสดงกายที่แก่ ๆ อย่างนี้
เขาก็แก่อยู่อย่างนั้น อันนั้นจิตมันสร้างขึ้นมา
อย่างกายมนุษย์กรรมมันสร้างขึ้นมา
กายของเทวดาของพรหมก็กรรมสร้างขึ้นมา
จิตมีกรรมอันไหนก็ไปสร้างอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นถึงเราจะสร้างความดีเท่าไหร่
เราก็ยังไม่พ้นจากกายนี้หรอก อย่างไรก็ต้องเวียน
ไม่กายหยาบก็กายละเอียด
ไม่ได้กายละเอียดก็ได้กายหยาบอยู่อย่างนี้
วิธีภาวนา เราค่อย ๆ แยกขันธ์ก่อน
ทำใจให้มันมีสมาธิขึ้นมา มันถึงจะแยกขันธ์ได้
ถ้าใจไม่มีสมาธิ มันแยกขันธ์ไม่ได้จริงหรอก
อย่างหลวงพ่อฝึกสมาธิตั้งแต่เด็ก
ตั้งแต่ 7 ขวบก็เริ่มภาวนาแล้ว
ทำทุกวัน หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ
ตอนเด็ก ๆ นับด้วย
หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับหนึ่ง
หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับสอง
ทำทุกวัน ๆ ว่างเมื่อไหร่ก็ทำเมื่อนั้น
มันอยากทำ มันชอบที่จะทำ มันมีความสุขที่จะทำ
ภาวนาไปเรื่อยๆ ในที่สุดจิตมันตั้งมั่นขึ้นมา
มันเห็นว่ากายกับจิตคนละอันกัน
มีอยู่คราวหนึ่งภาวนาไปเรื่อย ๆ เรื่อย ๆ
จิตรวมลงไป มันก็เห็นเลยว่า
ปีติ สุขทั้งหลาย เป็นของถูกรู้ถูกดู จิตเป็นคนรู้คนดู
เห็นอย่างนี้ ภาวนาไปเรื่อย ๆ
ร่างกายมันหายไปเหลือแต่จิต
พอร่างกายมันหายไป เหลือแต่จิต
พอกลับมามีร่างกาย จิตถอนจากสมาธิ มีร่างกาย
หลวงพ่อเชื่ออย่างแน่วแน่ไม่คลอนแคลนอีกต่อไปแล้ว
ว่า กายกับจิตนี้เป็นคนละอันกัน
เพราะเมื่อกี้เราภาวนาไปไม่มีร่างกาย
เหลือแต่จิตอันเดียว
แล้วต่อมา พอมีร่างกายเราจะรู้เลยว่า
จิตมันอาศัยอยู่ในร่างกาย
ร่างกายมันไม่ใช่จิตหรอก
ถ้าฝึกสมาธิเรามากพอมันจะเป็นอย่างที่หลวงพ่อบอก
ถ้าสมาธิยังไม่พอเราก็อาศัยการสังเกตเอา
พิจารณาร่างกายเอา
เราสั่งมันได้ตลอดเวลาไหม
ถ้าสั่งได้จงสั่งมันเลย
อย่าหิว อย่ากระหายน้ำ
อย่าปวดอึ อย่าปวดฉี่
อย่าร้อน อย่าหนาว อย่าเหนื่อย
จงมีแต่ความสุขตลอดเวลา
พิจารณาอย่างนี้ก็ได้
ในที่สุดก็เห็นว่าเราสั่งร่างกายไม่ได้
ร่างกายไม่ใช่ตัวเราอย่างนี้ก็ได้
หรือจะทำสมาธิอย่างที่หลวงพ่อเล่าเมื่อกี้ก็ได้
ทำได้หลายแบบ
คนฝึกสมาธิมาก ๆ ก็จิตรวมลงไป ร่างกายหายไป
อันนี้จะรู้สึกอย่างแน่นแฟ้นเลย
กายนี้ไม่ใช่เราหรอก
กายกับจิตนี้คนละอันกัน
ขันธ์จะแยกออกจากกันเด็ดขาด
จิตกับขันธ์ไม่เข้าไปรวมกันอีกแล้ว
ไม่รวมเข้ากับกายแล้ว
จะไปรวมกับนามขันธ์
ไปรวมกับเวทนา สัญญา สังขารแทน
แต่ว่าจะไม่รวมกับกาย
มันจะรู้เด่นชัด กายนี้มันแยกต่างหากจากจิต ..."
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
15 สิงหาคม 2564
ติดตามการถอดไฟล์ฉบับเต็มจาก :
ขอบคุณรูปภาพจาก : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา