23 ส.ค. 2021 เวลา 06:30 • การเมือง
ตำรวจ = อาชีพต้องคำสาป
พ.ต.ท.ทรงศักดิ์ ธิติธารวัฒน์ ในวันที่ตำรวจและ คฝ. เป็นอาชีพต้องคำสาป
ไม่ว่าคุณจะเปิดแท็กอัพเดทข่าวคราวเกี่ยวกับม๊อบกี่วันๆ ในรอบเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สิ่งที่คุณจะได้เห็นเสมอตลอดไทม์ไลน์ที่ไหลอยู่อย่างต่อเนื่องคือ ภาพการทำร้ายประชาชนโดยเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนหรือตำรวจ คฝ.
พฤติการณ์บางอย่างทำให้โลกออนไลน์แสดงความคิดเห็นและเกิดการด่าทอจากประชาชนอย่างมาก ต่อให้ใครก็ตามออกมาพูดว่านี่คือการสลายการชุมนุมหรือการปฎิบัติตาม “หลักสากล” แค่ไหนก็ตามที
อย่าลืมว่าการกระทำสำคัญกว่าคำพูด
3
มีนายตำรวจท่านหนึ่งคอยโพสต์สถานะแสดงความคิดเห็นรวมถึง “คำแนะนำ” จากพี่ตำรวจถึงน้องตำรวจอยู่ตลอด ซึ่งการแชร์แต่ละครั้งนำไปสู่การจับตามองของประชาชนและยอดแชร์ที่พุ่งสูงทุกครั้ง เราได้เห็นเขาอยู่ตลอดในช่วงหลังบนพื้นที่สื่อออนไลน์ และที่สำคัญ-เขาออกตัวเลยว่าเขาคือ “อดีตครูฝึก คฝ.”
Modernist จึงนัดหมายพิเศษกับโต-พันตำรวจโททรงศักดิ์ ธิติธารวัฒน์ เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับเหตุการณ์การชุมนุมทั้งหมดในหลายฐานะ ทั้งอดีตครูฝึก อดีตตำรวจ ข้าราชการบำนาญ และประชาชนคนหนึ่งที่ใช้สิทธิ์เสียงในการแสดงความคิดเห็นตามระบอบประชาธิปไตย
1
และเช่นเคย-วางอคติลง เปิดใจให้กว้าง แล้วลองอ่านปากคำเหล่านี้ไปพร้อมๆ กัน
แล้วคุณจะเข้าใจว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้นระหว่างการชุมนุม
ทราบมาว่าคุณเป็นตัวตั้งตัวตีในการเริ่มแสดงออกเรื่องสิทธิตั้งแต่เด็กๆ แล้ว
ผมร่วมในฐานะเป็นผู้เข้าร่วมชุมนุมมาตั้งแต่เด็กเลย ผมเริ่มประท้วงครั้งแรกตั้งแต่สมัยประถมที่ยกเลิกหมวกกะโล่ในเครื่องแบบนักเรียน เพราะว่าสมัยก่อนมันเหมือนหมวกกำนัน แล้วส่วนนี่จะมีปัญหากับหมวกเพราะหัวใหญ่ แล้วหาซื้อหมวกไซซ์ที่เราใส่ไม่ได้ได้ แล้วหมวกมันเป็นพลาสติกอะนะ อายุใช้งานก็ 2-3 เดือนก็กรอบก็แตก ก็เลยนัดกับรุ่นพี่ ป.6, ป.7 ว่าพอเคารพธงชาติแล้วให้เอาหมวกลงกับพื้นแล้วก็กระทืบแตกกันทั้งโรงเรียนเลย ก็ประสบความสำเร็จในการยกเลิกหมวกกะโล่ได้ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
1
ซึ่งคุณเคยร่วมการชุมนุมใหญ่ๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาแล้ว
พอเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ ปี 2514 ได้สักพักก็จะเจอเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 นะครับ ผมไปร่วมชุมนุมกับพี่ๆ ธรรมศาสตร์ตอนนั้นผมยังเรียนอยู่ ม.ศ.3 ผมไปชุมนุมด้วยเหตุผลเดียวคือไปกินข้าวฟรีในม็อบ (หัวเราะ) ผมไปกับเพื่อน 3 คนจนกระทั่งวันที่มีการล้อมกวาดนักศึกษา ผมเห็นรุ่นพี่นักศึกษาถูกยิงต่อหน้าต่อตา ประชาชนไปช่วยกันดึงผู้เจ็บผู้ตาย ช่วยกันแบกมาลงเรือที่ท่าพระจันทร์ แล้วก็ข้ามไปโรงพยาบาลศิริราชแล้วผมก็หนี จนปี 2519 ผมเป็นนักศึกษา ก็เริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองจนเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ตอนนั้นผมเรียนอยู่รามฯ ก็เคลื่อนไหวร่วมกับธรรมศาสตร์ กับจุฬาฯ นะครับ หลังจากผลของ 6 ตุลา ก็ทำให้เพื่อนๆ กระจัดกระจาย บางคนก็เข้าป่า บางคนก็หายไป ส่วนผมหายไปเกือบสามปี ผมกลับมาเรียนสมัยยุคเปรมเป็นนายกรัฐมนตรีก็ประกาศนโยบาย 66/23 (การเสื่อมลงของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ทุกคนก็ได้กลับมาเรียน
หลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของคุณบ้าง
ก็กลับมาเรียน แล้วก็ผมก็เรียนนิติศาสตร์ที่รามฯ ก็ไปเป็นทหารอยู่ช่วงนึงแล้วผมก็ไปสอบตำรวจได้สองครั้ง แต่เป็นครั้งหนึ่งแล้วลาออก แต่ก็มาสมัครสอบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ
ผมจะอยู่ในศูนย์ฝึกอบรมตำรวจ 30 ปีของอายุราชการ ตำแหน่งของผมเป็นอาจารย์ตั้งแต่เป็นร้อยตรี จนมาถึงสารวัตรก็คือตำแหน่งอาจารย์ สบ.1 สบ.2 จากนั้นผมได้ย้ายออกจากศูนย์ฝึกไปเป็นรองผู้กำกับฯ ที่ตำรวจภูธรจังหวัดน่านอยู่ระยะสั้นๆ แล้วก็ย้ายไปที่พะเยาจนเกษียณ ตลอดที่ผมเป็นอาจารย์อยู่ที่ศูนย์ฝึกฯ เนี่ย ผมสอนมาเกือบทุกหลักสูตรของตำรวจเลยนะครับ ซึ่งในนั้นก็จะมีควบคุมฝูงชนด้วย
1
คุณคลุกคลีกับคำว่า “ตำรวจ” มาตลอดเกือบ 30 ปี นิยามของอาชีพนี้ในสายตาประชาชนเท่าที่คุณรู้เป็นยังไงบ้าง
ผมมักจะพูดกับลูกศิษย์เสมอว่าตำรวจมันเป็นอาชีพที่ถูกสาป ไม่ว่าจะยุคไหน คนก็ไม่ค่อยชอบตำรวจ ถ้าสภาวะปกติก็ไม่ชอบตำรวจ เเต่พอเดือดร้อนก็วิ่งหาตำรวจ เพราะฉะนั้นเวลาตำรวจปฎิบัติหน้าที่จะมีผล 2 ด้านเสมอคือ ด้านบวกกับลบ เวลาทุกครั้งที่เราทำคดีอะไรก็เเล้วเเต่ เราจะมีมิตรแล้วก็ศัตรูในเวลาเดียวกัน สมมติเรามีคนมาแจ้งความว่าถูกลักทรัพย์ เราก็ลงพื้นที่ ชุดสืบสวนก็ไปบุกแล้วก็จับคนร้าย ฝ่ายผู้เสียหายก็จะเป็นมิตร ฝ่ายผู้เสียหายก็จะเป็นศัตรู เพราะฉะนั้นการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจมันจะส่งผลสองด้านเสมอนะครับ
1
ในเวลาที่ตำรวจมีทั้งคนรักและคนเกลียดในเวลาเดียวกัน ที่ผ่านมาเนี่ยหน่วยงานตำรวจที่ค่อนข้างทำภาพลักษณ์ในเชิงลบมากที่สุดก็คือตำรวจจราจรเพราะใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด สัมผัสกับผู้ใช้รถใช้ถนนทุกวัน ดำเนินคดีกันทุกวัน โดนด่าทุกวัน แต่วันนี้กลายเป็น คฝ. โดยเฉพาะการควบคุมมวลชนในการชุมนุมของนิสิตนักศึกษายุคนี้นะครับ ตั้งแต่ปีที่แล้วมาจนถึงปัจจุบัน สถานการณ์มันรุนแรงขึ้นรุนแรงขึ้นทุกครั้ง อย่างที่ผมเตือนคราวที่แล้วว่าผมไม่อยากให้เหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากฝ่ายใดครับ
จากที่คุณเคยเป็นครูฝึก คฝ. พอจะช่วยแชร์ประสบการณ์ที่เกี่ยวกับการผ่านมาให้ฟังหน่อย
การชุมนุมในที่สาธารณะกำหนดให้เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนต้องผ่านการอบรมหลักสูตรผู้คุมฝูงชน แล้วก็ต้องได้รับใบประกาศนียบัตร ถึงจะมีอำนาจเป็นผู้คุมฝูงชนได้นะครับ คือพูดง่าย ๆ ว่าที่เราเห็นแต่งชุด คฝ. กันทุกวันต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรนี้นะครับ ผมอยู่ในสายหน่วยการฝึกอบรม รูปแบบการฝึกเราก็จะฝึกเป็นในตามกฎหมายนะขั้นตอนการควบคุมฝูงชน การจัดกำลัง การใช้เครื่องไม้เครื่องมือในการควบคุมฝูงชน เครื่องมือในการควบคุมฝูงชนเนี่ยตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีมีทั้งหมด 48 รายการ หนึ่งในนั้นก็จะมีกระสุนยาง เเละเเก๊สน้ำตา กระบอง โล่ เเละรถฉีดน้ำจะอยู่ในนั้นหมดนะครับ
1
ถ้าเจาะไปใน 2 อุปกรณ์ ก็คือเเก๊สน้ำตากับกระสุนยาง เเก๊สน้ำตาจะต้องเป็นชนิดที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ชุมนุม แปลว่าต้องเป็นเเก๊สน้ำตาชนิดที่ผู้ชุมนุมที่สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยตัวเอง เช่น เอาน้ำหรือน้ำเกลือล้างตา และไม่ก่อให้เกิดอันตราย เช่น ผิวหนังไม่พุพอง ไม่เป็นเเก๊สพิษสูดเขาไปในเเล้วทำให้ปอดอักเสบ ผมไปเจอมากับตัวเองเเล้ว กางเกงผมเสียหมดเลย (หัวเราะ)
ส่วนกระสุนยางเนี่ยมันมีงานวิจัยพบว่า กระสุนยางทำอันตรายถึงเเก่ชีวิตได้ ถ้ายิงถูกอวัยวะสำคัญเเละในระยะประชิดนะครับ ฉะนั้นคนที่จะยิงกระสุนยางต้องผ่านการถูกอบรบมาอย่างดีนะครับ ทีนี้ปัญหาก็คือที่พบในการชุมนุม 2-3 ครังหลังมาพบว่าเจ้าหน้าที่ คฝ. ยิงกระสุนยางจากที่สูงข่มนะครับ การยิงกระสุนลงมามันมีโอกาสโดนหัวและตา อย่างกรณีของน้องลูกนัท (ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย) โดนยิงตาบอดเลยนะครับ แต่ก็ยังเป็นก็ยังเป็นที่ที่จะต้องพิสูจน์กันว่ากระสุนที่ทำให้ตาบอดมันเป็นลูกยาง กระสุนยาง หรือเป็นปลอกของเเก๊สน้ำตา
เเต่ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ก็ไม่ควรที่จะยิงอวัยวะสำคัญนะครับ ภาพเลยออกมาว่าความรุนเเรงมันเกินกว่าเหตุ ซึ่งตรงเนี้ยต้องรีบเเก้ไขเลยนะครับ
แล้วการชุมนุมในตอนนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังแสดงความคิดเห็นตามจุดยืนของตัวเองได้หรือไม่
จริงๆ มักจะมีคนพูดกันเสมอว่าคนเป็นข้าราชการต้องวางตัวเป็นกลางซึ่งผมว่าเป็นความเข้าใจผิดอย่างมหาศาลเลย ไม่มีกฎหมายฉบับไหนเขียนว่าข้าราชการต้องวางตัวเป็นกลาง แล้วเรานิยามคำว่าวางตัวเป็นกลางคืออะไร รัฐธรรมนูญเนี่ยให้สิทธิราชการให้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้นะครับ แสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้
คำว่าวางตัวเป็นกลางเนี่ย ถามว่าเป็นกลางในความหมายของคนทั่วไปมันไม่มีหรอกครับ ถ้าสมมติมีสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเป็นเผด็จการ ฝ่ายหนึ่งเป็นประชาธิปไตย เมื่อคุณวางตัวเป็นกลางเนี่ย คุณอยู่ตรงไหนระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตย ไม่มีหรอกครับ มันไม่มีที่ยืน คุณต้องอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ทีนี้ระบบราชการเรารวมศูนย์ไว้ที่ผู้มีอำนาจที่สุดในกระทรวงก็คือตัวรัฐมนตรี ดังนั้นตำรวจต้องทำตามนโยบาย
ซึ่งก็มีข้าราชการบางคนแสดงจุดยืนอย่างตรงไปตรงมา แต่สุดท้ายก็ถูกลงโทษทางวินัยหรือถูกกดดันต่างๆ นานา
ยังไงซะผู้ใต้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติตามคำสั่งขของผู้บังคับบัญชาและนโยบายของรัฐบาลครับ ยังยืนยันตรงนี้ มันไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้เป็นอย่างอื่น ส่วนแนวคิดทางการเมืองมันเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน สิทธิพลเรือน เรามีกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองนะครับ ซึ่งประเทศไทยได้เซ็นรับรองอนุสัญญาตัวนั้นไว้ในปี 2539 บัญญัติรองรับหลายฉบับต่อๆ มา รวมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็รองรับกติกาสากลนี้ไว้ในมาตรา 44 ก็คือ ประชาชนเนี่ยมีสิทธิในการชุมนุม และก็มีสิทธิต่างๆ มากมายตามปฏิญญาสากลนี้
ทีนี้สิทธิทางการเมืองของข้าราชการสามารถแสดงสิทธิทางการเมืองได้นะครับ คำว่าวางตัวเป็นกลางจะมีได้กรณีเดียวเท่านั้นเองคือ เมื่อมีการประกาศพระราชกฤษฎีกา พระราชกำหนดเขตเลือกตั้ง มีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ ข้าราชการต้องวางตัวเป็นกลางคือ ไม่ให้คุณให้โทษกับฝ่ายไหนให้เขาได้รับคะแนนเสียงมากขึ้นหรือน้อยลง อย่างนี้เขาถึงเรียกว่า “วางตัวเป็นกลาง” ในขณะทีมีการเลือกตั้ง คำว่าวางตัวเป็นกลางเนี่ยมันใช้ได้กรณีเดียวคือเมื่อมีการเลือกตั้งเท่านั้นเองนะครับ
แล้ววาทกรรม “นายสั่งมา” ที่ตำรวจชอบยกมาพูดเป็นไม้กันหมาล่ะ
คำว่านายสั่งมา ก็คืออ้างถึงกฎหมายที่ข้าราชการต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล ในที่นี้ก็คือหัวหน้ารัฐบาลก็คือนายกรัฐมนตรี แล้วนายกรัฐมนตรีปัจจุบันรวบอำนาจกฎหมายเบ็ดเสร็จอยู่ในตัวคนเดียวเลยทั้งหมด 31 พ.ร.บ. ตั้งเป็นศูนย์ต่างๆ แล้วตัวเองดันเป็นหัวหน้าศูนย์เกือบทุกศูนย์เลย โดยเฉพาะศูนย์โควิด ศูนย์เศรฐกิจ ศูนย์อะไรเยอะแยะมาก
ทีนี้เมื่อนโยบายของรัฐบาลสั่งลงไปที่หน่วยงานราชการ หน่วยงานก็ต้องปฏิบัติตาม โดยเฉพาะข้าราชการของเราเป็นระบบรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ผู้สั่งการ แล้วทหารกับตำรวจมันเป็นข้าราชการพิเศษที่แตกต่างจากราชการพลเรือน เพราะเรามีขั้นยศ มีการบังคับบัญชาตามชั้นยศนะครับ เพราะฉะนั้นพอมีชั้นยศกำกับด้วย มีกฎหมาย มีธรรมเนียมปฏิบัติกำกับด้วย มันก็เลยทำให้ เราต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาอย่างชนิดหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่ในทางกฎหมายเนี่ย กฎหมายก็ให้สามารถคัดค้านคำสั่งได้นะครับ กรณีที่ผู้ใต้บังคับบัญชาเห็นว่าคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเนี่ยเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สามารถที่จะคัดค้านคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้นายเปลี่ยนคำสั่งใหม่ แต่ถ้านายยืนยันในคำสั่งเดิม ผู้ใต้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติตาม แต่ผลของการคัดค้านคำสั่งเนี่ย จะทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเนี่ยไม่ต้องรับผิดทั้งแพ่งทั้งอาญาในการปฏิบัติคำสั่งนั้น ถึงแม้กำหนดภายหลังว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายครับ
ในกรณีที่ตำรวจ คฝ. ทำผิดหลักการควบคุมการชุมนุมสากล ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
เราต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายก็คือพระราชบัญญัติการชุมนุมในที่สาธารณะนะครับ ปกติเราการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมเนี่ย หลักการก็คือ ต้องอำนวยความสะดวกให้กับชุมนุมให้การชุมนุมนั้นเป็นไปโดยความเรียบร้อยและเป็นไปตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนมีหน้าที่อำนวยการให้ความสะดวก ไม่ใช่อยู่ๆ ก็ไปตั้งแนวปะทะเลย มันไม่ใช่ครับ เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนมีหน้าที่รักษาสถานที่ราชการในจุดที่ผู้ชุมนุมจะไปนะครับ แล้วผู้ชุมนุมมีสิทธิที่จะไปหน่วยงานราชการ โดยให้ห่างจากส่วนราชการไม่น้อยกว่า 50 เมตร แล้วเจ้าหน้าที่ คฝ. ไปตั้งแนวตรงนั้นเพื่อรักษาสถานที่ราชการ ไปดูการชุมนุมในต่างเมือง ทุกจังหวัดนะครับ
ล่าสุดผมก็ไปชุมนุมที่เชียงใหม่ที่ตำรวจภูธรภาค 5 เขาก็จะตั้งแนวตำรวจไว้หน้ารั้วประมาณสักร้อยสองร้อยนาย พอม็อบมากันเต็ม แล้วปราศรัยเสร็จก็กลับ ไม่มีเหตุปะทะ ไม่มีเหตุรุนแรง เพราะว่าไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ไม่มีมือที่สามแทรกไม่ว่าจะเกิดจากฝ่ายใด การชุมนุมก็เป็นที่เรียบร้อย เพราะตำรวจก็อำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุมให้เป็นระเบียบ เป็นไปตามกฎหมาย พรบ.ชุนนุมในที่สาธารณะ
คุณเห็นอะไรจากการชุมนุมในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาบ้าง
จริงๆ แล้ว ถ้าไม่ล็อคดาวน์ สนามบินไม่ปิด ผมจะเป็นส่วนหนึ่งในผู้ชุมนุมนั้นด้วย ผมไปใช้สิทธิในฐานะที่ผมเป็นพลเมือง แต่ถ้ามองในฐานะครูฝึก คฝ. ในการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมอย่างในกรุงเทพฯ มันมีการยั่วยุเพราะว่าม็อบมันจำนวนมากนะครับ มาทีเป็นหมื่นๆ บางม็อบเนี่ยมากันเรือนแสนเลยนะครับ ในฝั่งของผู้จัดการชุมนุมเนี่ย ถ้าจัดระบบควบคุมกันไม่ดี จัดระบบการ์ดไม่ดี จะมีโอกาสที่มือที่สามเนี่ยจะเข้ามาแทรก ซึ่งมีได้ทั้งสองฝ่ายคือ ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ และฝ่ายผู้ชุมนุมนะครับ ซึ่งหลังๆ เราจะเห็นว่าการชุมนุมเนี่ยจะไม่มีแกนนำ พอไม่มีแกนนำมันทำให้การ์ดจะมาแบบหลวมๆ หรือผู้ชุมนุมดูแลกันเอง โดยเฉพาะการ์ดอาชีวะมันก็จะมีหลายสถาบัน ซึ่งบางทีไม่ถูกกันมาก่อนก็จะมีปัญหา พอควบคุมตรงนี้ได้มือที่สามก็เข้ามาแทรกไม่ได้
อ้อ อันนี้ฝากผู้ชุมนุมด้วย เพราะฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐก็มีจัดคนนอกเครื่องแบบเข้าไปแทรกซึมอยู่ไปฝั่งผู้ชุมนุมก็มี ซึ่งสื่อมันจับได้ มันเห็นกันเต็มตา มันพิสูจน์ได้นะครับ ต้องอย่าลืมว่า ยุคนี้มันเป็นยุคตรวจสอบ ทุกคนเป็นสื่อ ทุกคนมีโทรศัพท์ทุกคนมีมือถือ ชุมนุมแต่ละครั้งมีคลิปออกเป็นหมื่นวิวนะครับ แชร์กันให้วุ่นวายไปหมด ดูกันไม่หวาดไม่ไหว
สิ่งที่คุณพร่ำสอนในชั่วโมงการอบรม ไม่เหมือนกับเหตุการณ์จริงแน่ๆ คุณมองเรื่องนี้ยังไงบ้าง
ผมเขียนเตือนบนเฟซบุ๊กไปเเล้วนะครับว่า ผู้ปฎิบัติ (คฝ.) ขอให้คำนึงถึงหลักมนุษยธรรม ขอให้คำนึงเสมอว่าผู้ร่วมชุมนุมคือคนไทยด้วยกัน แต่เเค่เขาเห็นต่างเเค่นั้นเอง ผมเชื่อว่าคุณ (คฝ.) มีความเห็นเดียวกับผู้ชุมนุม เเต่คุณต้องไปในคราบของเจ้าพนักงาน เขาเห็นต่างเป็นความเห็นต่างทางการเมืองเป็นเเค่หลักคิดเท่านั้นเอง ในประเทศที่เจริญเเล้วนะครับ ความเห็นต่างเนี่ยจะไม่ผิดกฎหมายเลย เพราะการเมืองไม่ใช่อาชญากรรม เเค่เขาเห็นต่างเท่านั้นเอง เพราะคุณ (สส.) กำหนดนโยบายมา
เเล้วคุณหาเสียง พอคุณได้รับเลือกตั้งเเล้วคุณไม่ทำตามนโยบายที่คุณหาเสียงเลยเเม้เเต่ข้อเดียว ประชาชนก็มาเรียกร้อง มาเรียกร้องค่าเเรงขั้นต่ำ เรียกร้องราคายาง เรียกร้องราคาพืชผลเกษตร นักศึกษาจบใหม่มาเรียกร้องงานทำ ณ วันนี้มาเรียกร้องวัคซีน วัคซีน mRNA ซึ่งเรานั่งรอบริจาค เเล้วบริจาคมาเขาให้มาฉีดก็มาอมกัน คือการบริหารจัดการมันล้มเหลวไปหมด
2
ประชาชนก็เลยออกมาเรียกร้องมาเรียกร้องในสิ่งที่เขาควรได้จากรัฐบาล เขาเห็นต่าง เขาไม่ใช่ศัตรูเขาไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย อย่าไปสร้างภาพหรืออาจจะถูกครอบโดยชุดความคิดสำเร็จว่าพวกผู้ชุมนุมเนี่ยคือผู้ก่อการร้าย ถ้าเรามองอย่างงั้นเนี่ยคุณขาดหลักเมตตาธรรม คุณขาดหลักภราดรภาพนะครับ เเล้วคุณไม่บังคับใช้กฎหมายตามขั้นตอนด้วย ผลก็คือถ้าคุณกระทำการเกินกว่าที่กฎหมายให้อำนาจคุณ เเล้วเกิดมีการบาดเจ็บล้มตายกันมาเนี่ย คุณจะถูกดำเนินคดีในภายหลัง เเล้วอย่าลืมว่าเจ้าหน้าที่ คฝ. เนี่ยอายุราชการอีกหลายปี บางคน 20 ปี บางคน 30 ปี ด้วยซ้ำ
อายุคาวมดำเนินคดีอาญาเนี่ยมันยาวถึง 20 ปี นี่ยังไม่รวม คดีเเพ่ง คดีละเมิดนะครับ เพราะงั้นคุณอาจจะถูกประชาชนฟ้องร้องคุณในภายหลัง เเล้วผู้บังคับบัญชาคุณที่สั่งมาเขา เดี๋ยวเขาก็ออกไป เดียวเขาก็ล้มหายตายจาก ผู้มีอำนาจต่างมา แล้วก็สาบสูญ เราต้องอยู่ด้วยกัน อย่าฆ่าน้อง อย่าฟ้องนาย อย่าขายเพื่อนครับ เชื่อผม
สุดท้ายนี้คุณมีอะไรอยากบอกน้องๆ คฝ. บ้าง
ผมอยากฝาก น้อง คฝ. เอาไว้ 2 ข้อหลักๆ หนึ่ง-กระทำการด้วยปัญญานะครับ และสอง-รักษาความไม่ประมาทเสมอชีวิต ก่อนจะทำอะไรใช้สติใช้ปัญญา การทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ทุกเม็ด ถ้าเกิดมีการเจ็บการตายในที่ชุมนุมเนี่ย ความรับผิดหนีไม่พ้นคุณประยุทธ์ จันทร์โอชาหรอกครับ เพราะคุณเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตาย ความรับผิดชอบหนีไม่พ้นคุณน่ะ ว่าจะโดยกฎหมายหรือโดยจรรยาบรรณอาชีพ หรือจริยธรรมนักการเมืองหรืออะไรก็แล้วแต่ ยังไงคุณก็ต้องรับผิดชอบ
ฉะนั้นเจ้าหน้าที่ คฝ. มีหน้าที่ควบคุมการชุมนุมให้เป็นไปตามกฎหมายให้เป็นระเบียบและเป็นไปตามกฎหมายนะครับ ไม่ใช่คู่ต่อสู้ ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง อย่าทำตัวเป็นคู่ขัดแย้ง อำนวยความสะดวกเขา ให้เขาบรรลุจุดประสงค์ของที่เขามาชุมนุม เพราะว่าการชุมนุมแต่ละครั้งจะประกาศข้อเรียกร้องในแต่ละครั้งเนี่ยทุกครั้งอยู่แล้ว จะเริ่มเมื่อไหร่ จะไปไหน จะยุติเมื่อไหร่ ตำรวจไม่ใช่คู่ต่อสู้ ศัตรูคือ ประยุทธ์ จันทร์โอชา เนี่ยผมชอบตรงเนี้ยนะครับ เขาประกาศชัดเจน เขาไม่ได้มาทะเลาะกับ คฝ. เพราะงั้นอย่าไปยิงกระสุนยางหรือแก๊สน้ำตาใส่เขา
เรียบเรียงโดย สมิตา พงษ์ไพบูลย์ / สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์
ติดต่อโฆษณา: kritthanan@songsue.co
โฆษณา