23 ส.ค. 2021 เวลา 01:46 • ครอบครัว & เด็ก
หลากหลายคำพูดและการกระทำเพื่อจัดการกับ "การร้องไห้" ของลูกที่อาจทำร้ายลูกอย่างไม่รู้ตัว
"หยุดร้องไห้เดี๋ยวนี้นะ" "ไม่เก่งเลยร้องไห้แบบนี้"
"ไปร้องไห้ในห้องให้พอ หยุดร้องแล้วค่อยออกมาคุยกับแม่"
"เป็นเด็กขี้แยไปได้ เรื่องแค่นี้เขาไม่ร้องไห้กันหรอก"
"เด็กผู้ชายเขาไม่ร้องไห้กันหรอก !"
หลากหลายคำพูดและการกระทำเพื่อจัดการกับ "การร้องไห้" ของลูกที่อาจทำร้ายลูกอย่างไม่รู้ตัว ... เพราะแค่ #สิทธิในการร้องไห้ ยังไม่มีเลยด้วยซ้ำ ... ฤาพ่อแม่ต้องการสร้างเด็กที่ต้อง "เก็บกดอารมณ์ความรู้สึก" ไม่ให้แสดงออกและระบายออกมา โดยหลายคนเชื่อว่า "น้ำตา คือ ความอ่อนแอ" เราต้องเติบโตมาอย่างเข้มแข็ง กล้าแกร่ง ไม่ร้องไห้ให้ใครเห็น ... โดยเฉพาะเด็กผู้ชายที่เราอาจได้ยินประโยคเหล่านี้บ่อยครั้งกว่า
ผู้ใหญ่หลายคนจึงเติบโตมาเป็น คนที่แสดงออกอย่างคนเข้มแข็ง แต่ภายในนั้่นแสนจะเปราะบาง ... บางคนเติบโตมาแบบร้องไห้ไม่เป็นเสียด้วยซ้ำ (มีจริง ๆ นะ)
มนุษย์เป็นสัตว์เพียงชนิดเดียวที่สามารถแสดงอารมณ์ความรู้สึกด้วย "หยดน้ำตา" (Emotional Tear) ... เมื่อเราเศร้า เสียใจ อ้างว้าง ปีติตื้นตันหรือดีใจมาก ๆ จนถึงจุดที่เราสูญเสียการควบคุม มนุษย์อย่างเราจึงร้องไห้ออกมา ... น้ำตาจึงเป็นมากกว่าสารคัดหลั่งมาต่อมน้ำตาหลั่งออกมาเพื่อหล่อลื่นดวงตาหรือเมื่อมีสิ่งระคายเคืองตา ...
"ถ้ารู้สึก เราก็แค่ร้องไห้ออกมา"
ง่าย ๆ แบบนั้น ...
อาจเพราะประโยคที่เราอาจจะเคยได้ยินและอาจเคยได้ฟังยามที่เราเสียใจในวัยเด็กอย่าง "ไม่เก่งเลย ร้องไห้แบบนี้" หรือ "ร้องไห้ให้เสร็จ แล้วค่อยมาคุยกัน" จนทำให้หลายคนเข้าใจว่า #คนเก่งต้องไม่ร้องไห้ และ #ถ้าร้องต้องอย่าให้ใครเห็น ... ซึ่งต้องเข้าใจว่ามีพ่อแม่หลายคนที่ตีความ 'วิธีการดีลกับการร้องไห้' ของลูกตามวิถีการเลี้ยงลูกเพี้ยนไปจากที่ควรจะเป็น ... เพราะตำราบอกว่าอย่าเพิ่งพูดหรือสอนตอนที่ลูกร้องไห้ เขาจะไม่ได้ฟังในสิ่งที่พ่อแม่พูดหรอกเพราะอารมณ์ความรู้สึกที่พุ่งสูงกำลังครอบงำลูกอยู่ โดยให้เริ่มพูดคุยและสอดแทรกการสอนตอนที่ลูกหยุดร้องไห้แล้ว ... หลายคนจึงเดินหนีลูกตอนที่ลูกร้องไห้ หรือให้ลูกไปร้องไห้ในห้องให้จบก่อนแล้วเราค่อยมาคุยกัน ...
เขาบอกว่า "ยังไม่ต้องพูดคุย" แต่ไม่ได้บอกว่าไม่ให้สื่อสารกับลูก ... เพราะ 'การสื่อสาร' ไม่จำเป็นต้องมีการพูดคุย ... เราสื่อสารและต่อติดอารมณ์กับลูกได้ยามที่ลูกร้องไห้ ด้วยอ้อมกอด ด้วยการสบตา และหลายครั้งด้วย "การอยู่ตรงนั้นไม่ใกล้เกินไปจนอึดอัด และไม่ไกลเกินไปจนรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง" ... ให้ลูกได้รู้ว่า "แม่รู้นะว่าหนูเสียใจ และแม่อยู่ตรงนี้ข้าง ๆ ลูกนะ ร้องไห้เสียให้พอนะลูก แล้วลูกจะเติบโตขึ้นจากทุก ๆ หยดของน้ำตาที่ไหลออกมาจากตาของหนู"
คนเราไม่ต้องเก่งตลอดเวลาก็ได้
ความเสียใจ เก็บไว้อย่างไร เราก็ 'รู้สึก' อยู่ดี
ร้องไห้ได้นะ ถ้าเรารู้สึก เพราะเมื่อเราได้ร้องไห้ ใจเราจะพบความว่าง ความสงบ และความโล่งใจขึ้น นั่นแหละ #ข้อดีของการร้องไห้ นั่นแหละครับที่เราเรียกว่า Good cry
ปัจจุบันนี้ยังไม่รู้หรอกว่า "ทำไมน้ำตาจึงเยียวยาจิตใจของคนเราได้" ... แต่ทางการแพทย์เราพบว่า ยามเราร้องไห้ พบว่าฮอร์โมนอย่าง Prolactin, ACTH, Leu-enkephalin เพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน โดย ACTH และ Enkephalin นั้นมีฤทธิ์เหมือนยาแก้ปวดตามธรรมชาติยามที่เราเครียดอย่างเหลือแสน เราจึงรู้สึก "ดีขึ้น" หลังจากได้ร้องไห้ออกมา
กับลูกก็เช่นกัน อย่าเสียโอกาสที่ลูกจะ "รู้สึก" และ "เติบโต" ขึ้นจากความรู้สึกเสียใจ ผิดหวัง ผ่านไปให้ได้ด้วยตัวของเขาเอง โดยที่มีเรา อยู่ข้าง ๆ เป็นคนที่คอย รับฟัง ให้กำลังใจ หรืออาจมีไหล่ไว้ให้พัก ตักไว้ให้หนุน แค่นั้นเองที่ลูกต้องการ และเมื่อเขาพร้อมจะลุก ก็ให้เขาค่อย ๆ แก้ปัญหา (หากแก้ได้) โดยที่มีเราเป็นที่ปรึกษาและฝ่ายสนับสนุนก็พอ
อย่าปิดโอกาสลูกแสดงความเป็น 'คน' อย่าปิดโอกาสเขาที่จะแสดงความรู้สึกด้วยคำว่า "เด็กดีเขาไม่ร้องไห้กัน"​ เพราะมันไม่มีหรอก 'ยอดมนุษย์' ในชีวิตจริงที่ไร้ความรู้สึก แบบนั้นมันแค่แค่หุ่นยนต์ที่ไร้หัวจิตหัวใจตัวหนึ่งเท่านั้นเอง และไม่ว่าเพศไหนทุกคนควรมีสิทธิในการร้องไห้โดยที่ไม่ต้องมีใครมาตัดสินว่า 'อ่อนแอ' ... ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ... คนที่ซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตนเองนั่นแหละ คือ คนที่เข้มแข็งอย่างแท้จริง
Cr. #หมอวินเพจเลี้ยงลูกตามใจหมอ
โฆษณา