23 ส.ค. 2021 เวลา 01:46 • ประวัติศาสตร์
อาจารย์สงกรานต์แห่งอำเภอบ้านนา
เอนก นาวิกมูล เขียน ค่ำ 19.30 น. อาทิตย์ 22 สิงหาค2564
ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ หัวหน้าทีมทำสมุดภาพนครนายก2563 ไหว้วานให้ผมช่วยหารูปวัดทองย้อยชุดหนึ่งให้หน่อย
พอเปิดภาพวัดทองย้อยแล้วก็นึกถึง “พี่หนุ่มบ้านนา” หรือคุณสถาพร เจดีย์ บ้านข้างวัดทองย้อย
พี่หนุ่มเขาเกิดปีเดียวกับผม คือ 2496 แต่ผมต้องเรียกพี่ เพราะเขาเป็นนักเลงใหญ่ของตลาดบ้านนา
เขาเป็นคนไม่กลัวใคร สร้างวีรกรรมดีและไม่ดีไว้มากพอสมควร
ว่าจะเขียนถึงเขาโดยตรง แต่เมื่อเอาเทปเสียงมาถอดแล้ว คิดว่าต้องเขียนถึงพ่อเขาก่อน เพราะพ่อของเขาเคยสร้างวีกรรมไว้แปลกประหลาดดีเหมือนกัน
พ่อของพี่หนุ่มชื่อ สงกรานต์ เจดีย์ ถึงแก่กรรมไปหลายปีแล้ว
สืบเนื่องจากท่านเป็นคนวัด พอคิดตั้งนามสกุลกันขึ้น ก็เอา “เจดีย์” ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดมาตั้งเป็นมงคลไปเลย จำง่ายดี
นายสงกรานต์หรือที่ชาวบ้านเรียกอาจารย์สงกรานต์ สึกจากพระวัดวิหารขาวเมื่ออายุ 45 ปี
สึกแล้วก็มาแต่งงานกับนางยุพา มีลูกหญิงชายรวม 6 คน
ลูกคนแรกเป็นผู้หญิงชื่ออุดมศรี ท่านเอาชื่อวัดอุดมธานี ซึ่งเป็นวัดเจ้าคณะจังหวัด มาขึ้นนำหน้า ต่อด้วยคำว่าศรี กลายเป็นอุดมศรี
ชื่อเล่นชื่อแจ๊ด ตอนนี้อายุ 74 ปี-2564 พี่หนุ่มว่าใจกว้างใจนักเลง ใครกล้าขออะไร กูก็กล้าให้
คนที่สองเป็นหญิงชื่อทองย้อย ตั้งง่ายๆเลยเพราะวัดทองย้อยอยู่ข้างบ้าน
คนที่สามคือพี่หนุ่ม พ่อตั้งว่า นายก้อนทอง บังเอิญนายอำเภอมาเยี่ยม บอกว่าไม่เพราะ จึงเปลี่ยนเป็นสถาพร
พี่หนุ่มว่าความจริงควรตั้งว่า สมอ เพราะบ้านอยู่ข้าง”วัดสมอ”อีกวัด
ถ้าตั้งว่าสมอ ต่อไปคนก็จะได้เรียกพี่หมอ พี่หมอ โก้ไม่หยอก
ชื่อน้องคนต่อๆไปไม่เอาชื่อวัดแล้ว ยึดเอาแต่ให้มี ตัว ส.ของพ่อเป็นหลัก​เช่นสุพจน์...
อาจารย์สงกรานต์เป็นคนมีฐานะดีมาก เพราะเคยขายของติดต่อกับทหารญี่ปุ่น
สมัยสงครามโลกครั้งที่2 ยุค 2480 พวกญี่ปุ่นมาตั้งค่ายที่เขาชะโงก ตรงโรงเรียนนายร้อย จปร.ปัจจุบัน
อ.สงกรานต์ไปขอบัตรเข้าค่ายจากนายอำเภอบ้านนา
แล้วเอาขนมถั่วตัดหรือขนมตุ๊บตั๊บเป็นชิ้นๆขึ้นท้ายรถจักรยาน ถีบไปขายทหารญี่ปุ่นๆชอบซื้อไปกินกับน้ำชา
ได้ปากกา ได้เสื้อผ้า ผ้าเช็ดหน้าสวยๆ ได้ของดีๆจากญี่ปุ่นมาก็เอามาขายต่อ ได้เงินเก็บเยอะมากเป็นแสน​เพราะสมัยนั่นญี่ปุ่นพิมพ์ธนบัตรไทยใช้เอง
อ.สงกรานต์เป็นคนรูปร่างดี​และมีความเป็นผู้นำ กล้าพูด กล้าทำ
ทางเดินข้างวัดทองย้อย วัดสมอ วัดรวก สมัยก่อนเป็นแค่ทางคนเดิน แคบมาก เอารถอะไรเข้าก็ไม่ได้
อ.สงกรานต์กับมัคนายกอีก 3-4 คนเห็นว่าควรขยายตรอกให้ใหญ่ขึ้น ทุกคนจะได้ไปมาสะดวก ก็เลยช่วยกันเดินขอที่ชาวบ้านคนละวาสองวา
ชาวบ้านเชื่อใจก็ยอมยกให้เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องส่วนรวม แต่ถนนดูแคบหน่อย
คนเดี๋ยวนี้ไม่รู้ประวัติอาจสงสัยว่าทำไมซอยแคบจัง แถมเลี้ยวไปขวาที​ เลี้ยวมาซ้ายที โธ่ เขาเสียสละได้ขนาดนั้นก็ดีเท่าไรแล้ว
วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2498 หรือเมื่อ 66 ปีมาแล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมราษฎรชาว​อ.บ้านนา นครนายก​นับเป็นขวัญกำลังใจและสิริมงคลอันสูงยิ่ง
รถพระที่นั่งผ่าน อ.หินกอง และแล่นมาตามถนนสุวรรณศร อย่างช้าๆ​
พอถึงหน้าปากซอยที่ อ.สงกรานต์กับชาวบ้านช่วยกันขุด ช่วยกันกรุยจนกลายเป็นถนนเล็กๆขึ้นแล้ว อ.สงกรานต์ซึ่งตั้งซุ้มรับเสด็จอย่างสวยงามก็กระโดดออกไปโค้งคำนับและโบกมือข้างรถพระที่นั่ง(ท่านคงมีวิธีที่ดูดี แต่นี่เล่าแบบรวบรัดตามที่เขาจำกันมา)
ทหารและคณะผู้ติดตามประหลาดใจมากเพราะไม่คาดคิดว่าจะมีคนกล้าทำแบบนั้น ในหลวงก็ทรงประหลาดพระทัย ถามทหารที่ถือปืนกันมาเต็มว่า เขาจะให้ฉันทำอะไร
นายสงกรานต์กราบบังคมทูลว่าขอทรงช่วยเปิดป้ายให้หน่อยเถอะพะย่ะค่ะ พวกกระผม เพิ่งจะช่วยกันทำถนนในซอยจนมาทะลุถนน ใหญ่ ได้ทำผ้าแพรติดไว้ปากซอยไว้แล้ว
ในหลวงถามว่าจะให้ทำยังไง
พี่หนุ่มเล่าสั้นๆว่า​ “พ่อผมบอกว่าแค่ดึงสายสิญจน์ก็พอแล้วพะย่ะค่ะ....” แล้วซอยนั้นก็เลยได้ชื่อว่า “ซอยราชานุสรณ์”
ในการเสด็จครั้งนั้น นายสงกรานต์ กับภรรยาได้ทูลเกล้าฯถวายเงิน และศีรษะกระบือซึ่งปั้นด้วยกระดาษ ติดเขาควายจริงด้วย
ในหลวงทรงพระราชเงินขวัญถุง ให้นายสงกรานต์เก็บไว้เป็นที่ระลึก 2 ถุง ลูกสาวที่ชื่อทองย้อยเป็นคนเก็บรักษาไว้
รูปนายสงกรานต์รับพระราชทานเงินขวัญถึง และรูปหัวกระบือ มีตีพิมพ์ในหนังสือสมุดภาพนครนายก ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครนายก จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2563​ แต่ไม่มีรายละเอียดแบบนี้
อาจารย์สงกรานต์แห่งอำเภอบ้านนา
เอนก นาวิกมูล เขียน ค่ำ 19.30 น. อาทิตย์ 22 สิงหาค2564
คำบรรยายภาพ
1.วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2498 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรทรงเยี่ยมราษฎรชาวอำเภอบ้านนาที่
ในภาพ แลเห็นหัวกระบือปั้นด้วยกระดาษที่นายสงกรานต์ เจดีย์ นำมาถวาย -ภาพจากหนังสือสมุดภาพนครนายก
2.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานเงินขวัญถุงที่ระลึกให้แก่นายสงกรานต์ เจดีย์ ภาพจากนายสถาพร เจดีย์ บุตรชาย เอนกก๊อปปี้ 5545-034-พุธ2กย2563
3.อ้วนธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ (ซ้าย) กับ หนุ่มบ้านนา หรือสถาพร เจดีย์ ใต้ป้ายวัดทองย้อย อ.บ้านนา จ.นครนายก เอนก นาวิกมูล ถ่าย 5545-007-พุธ2กย2563
โฆษณา