23 ส.ค. 2021 เวลา 07:02 • ไลฟ์สไตล์
ผ้าหมักโคลน เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านอย่างแท้จริง และความคิดนี้ได้มาด้วยความบังเอิญ มีเรื่องเล่ากันว่า ชาวนาเป็นผู้ค้นพบภูมิปัญญานี้ ตอนที่กลับจากทำนาและซักผ้า ก็พบว่า ผ้าส่วนที่เปื้อนดินโคลนนั้น เมื่อซักแล้ว จะนิ่มกว่าส่วนที่ไม่เปื้อนดินโคลน
บางเรื่องเล่า ก็กล่าวว่า สมัยก่อนชาวบ้านไปหาปลาในหนองน้ำแล้วใช้แหเพื่อดักจับปลา แต่แหถักใหม่มีสีขาวทำให้ปลาว่ายหนีไปหมด ชาวบ้านจึงนำแหไปแช่ในโคลนเพื่อให้แหสีดำคล้ำ จึงได้ลองนำเทคนิคดังกล่าวไปใช้กับการทำผ้าทอ โดยนำผ้าไปหมักในโคลนเช่นเดียวกับแห และนำไปย้อมต่อด้วยสีธรรมชาติ ซึ่งพบว่าผ้าที่ผ่านการหมักด้วยโคลนจะได้สีสันที่แปลกไปจากผ้าที่ไม่ได้หมักโคลน ซึ่งเมื่อนำไปย้อมสีก็จะได้ผ้าที่มีสีสดมากขึ้น เพราะโคลนช่วยจับสีทำให้สีเข้มขึ้น และสีติดทนนาน
ด้วยเหตุนี้ เมื่อชาวบ้านทอผ้าเสร็จ จะนำไปหมักโคลนก่อน เพื่อให้ผ้านิ่ม สีสวย น่าสวมใส่นั่นเอง
สำหรับขั้นตอนการหมักโคลน ไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด
เริ่มจากการนำโคลนที่เก็บมาตามท้องนา หรือใช้โคลนที่เป็นดินเหนียว มาคัดเศษผงที่เจือปนออก โดยจะใช้ตะแกรงกรองก็ได้ แล้วจึงนำไปผสมกับน้ำตามสัดส่วน บางสูตรก็จะใส่เกลือลงไปด้วยเพื่อไม่ให้สีตกเวลานำผ้าไปย้อมสี หลังจากนั้นนำผ้ามาหมักไว้ และทิ้งไว้ 1 คืน ซึ่งไม่ควรหมักนานเกินกว่านั้น เพราะจะทำให้ผ้าเปื่อย หากรีบร้อน ควรหมักอย่างน้อย 3 ชั่วโมง เมื่อหมักครบเวลา ให้นำผ้ามาซักให้สะอาด แล้วนำไปแช่น้ำ ให้ผ้าซับน้ำจนอิ่มตัว ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เป็นอันเสร็จในขั้นตอนการหมักโคลน จะได้ผ้านิ่ม ๆ แล้ว จากนั้นก็นำผ้าไปย้อมสีได้เลย
ข้อดี ของผ้าหมักโคลน นอกจากได้ผ้าเนื้อนิ่มและเบาสบายแล้ว เมื่อนำไปซัก ผ้าจะแห้งเร็วด้วยนะ
ผ้าหมักโคลนมีที่ไหนบ้าง?
ที่เรารู้จักกันดี คือ ผ้าหมักโคลนชุมชนบ้านนาต้นจั่น ตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องการย้อมผ้าที่ใช้สีธรรมชาติ และผ้าที่ซักแล้วไม่หดตัว ผิดธรรมชาติของผ้าทอมือเลย เคล็ดลับก็คือ เขาใส่ผงซักฟอกลงไปด้วยตอนย้อมผ้านั่นเอง ที่อื่นๆ ที่มีชื่อเสียง คือ ผ้าหมักโคลน ชาวภูไทในอำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร ผ้าหมักโคลนนาคี บ้านสะง้อ จังหวัดบึงกาฬ และผ้าหมักโคลนบางน้ำเชี่ยว จังหวัดสิงห์บุรี ที่ใช้วิธีตักโคลนในแม่น้ำเจ้าพระยามาใส่โอ่ง ทิ้งไว้ให้ตกตะกอน ก่อนนำน้ำมาผสมตามอัตราส่วน แล้วนำผ้าใหม่ๆ หมักลงในน้ำโคลน
นอกจากนี้ ยังมีผ้าย้อมดินโคลนด้วยนะ ที่ดังๆ คือ ผ้าย้อมโคลนสกลนคร ริมฝั่งลำน้ำอูน ผามอดินแดง ซึ่งที่บ้านดอนกอย จังหวัดสกลนคร มีลักษณะเด่นคือ เป็นดินโคลนสีแดงจำนวนมาก ในอดีตชาวบ้านจะนำผ้าขาวไปย้อมกับโคลนเพื่อถวายพระสงฆ์ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา และผ้าย้อมโคลน บุรีรัมย์ ที่เค้าเรียกว่าผ้าภูอัคนี เกิดจากการนำเส้นฝ้ายไปย้อมกับดินภูเขาไฟ ได้เฉดน้ำตาลหลากหลายถูกใจ ตั้งแต่สีอ่อนนวลตาไปจนถึงเข้มอมแดง จากนั้นจึงนำไปถักทอเป็นสารพัดลวดลาย
ว่าแล้วก็ออนไลน์ซื้อสักผืนค่ะคุณคุณ
โฆษณา