23 ส.ค. 2021 เวลา 08:57 • หนังสือ
6 เทคนิคเพิ่มทักษะการคุยเล่น จากหนังสือ อย่าเป็นคนเก่งที่คุยไม่เป็น
.
1) เล่าเรื่องผิดพลาดเล็กน้อยของตัวเอง เมื่อเริ่มต้นบทสนทนา
.
เพื่อเป็นการทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายกับทั้งสองฝ่าย การพูดติดตลกด้วยการเล่าเรื่องขำของตัวเองจึงช่วยลดความเกร็งในการพูดคุยของสองฝ่าย
.
แต่การนำเรื่องข้อผิดพลาดเล็กๆน้อยๆของตัวเองมาใช้ก็มีข้อควรระวังคือ ห้ามให้เรื่องนั้นทำให้เราดูเป็นคนไม่เอาไหน และห้ามให้เรื่องนั้นทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าเรากำลังโอ้อวดตัวเอง เรื่องข้อผิดพลาดดังกล่าวจึงเหมือนมีเส้นบางๆที่จะทำให้เราทลายกำแพงความเคอะเขินกับคู่สนทนาหรืออาจทำให้เกิดความไม่ชอบหน้ากันตั้งแต่แรกเลยก็ได้
.
ส่วนตัวอย่างที่หนังสือให้ไว้ เช่น การพูดทำนองว่า เมื่อวานดื่มหนักไปหน่อย วันนี้เลยแอบเมาค้างอยู่ ซึ่งทำให้คู่สนทนารู้สึกเป็นกันเอง และแอบขำเบาๆ แต่ก็ไม่ได้เป็นการบอกว่าเราเป็นคนไม่เอาไหน หรือจะเล่นกับรูปร่างตัวเองเช่นบอกว่า เห็นผอมๆแบบนี้ แต่ตัวเรากินเก่งนะ เป็นต้น
.
.
2) พูดด้วยเสียงระดับ ‘ฟา’ กับ ‘ซอล’
.
การพูดให้เสียงสูงขึ้นจะช่วยทำให้การสนทนาสนุกขึ้น ทำให้ลดอาการหม่นหมอง เพราะเสียงที่ต่ำทุ้มมักจะทำให้การพูดคุยดูเนือยๆและน่าเบื่อ
.
แต่เสียงที่สูงเกินไปก็อาจสร้างความรำคาญกับคู่สนทนา หรือทำให้การพูดดูไม่จริงใจ ผู้เขียนจึงแนะนำว่าระดับเสียงที่พอเหมาะคือระดับเสียงที่ตัว ฟา และ ซอล ซึ่งถ้าเราไล่ระดับเสียงตามโน้ตดนตรี ‘โด เร มี ฟา ซอล ลา ที โด’ นั้น ระดับเสียง ฟา และ ซอลจะอยู่ตรงๆกลางๆ โดยผู้เขียนบอกไว้ว่าระดับเสียงโดยทั่วไปที่คนมักสนทนากันคือ โด เร มี
.
.
3) กฎเหล็กของการคุยเล่น คือ ต้องไม่เถียงกันอย่างเด็ดขาด
.
เพราะเราต้องการสร้างความรู้สึกดีๆให้เกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่าย จะได้บรรลุเป้าหมายของการคุยเล่น เพราะฉะนั้นการคุยเล่นที่ทำให้เกิดความขัดแย้งเป็นเรื่องต้องห้าม และแน่นอนว่า หัวข้อที่มักจะทำให้เกิดความขัดแย้งได้ง่าย เช่น การเมือง ศาสนา
.
ส่วนเรื่องประเภท ความรัก หรือเรื่องใต้สะดือนั้น ผู้เขียนแนะนำว่าต้องดูเป็นกรณีๆไปครับ เพราะว่าเรื่องประเภทนี้อาจใช้ได้กับคนกลุ่มหนึ่ง แต่ก็อาจใช้ไม่ได้กับคนอีกประเภทก็เป็นได้
.
การเตรียมหัวเรื่องที่จะนำมาใช้สนทนาจึงควรมีทั้งความกว้างและความลึก โดยผู้เขียนแนะนำว่าเราควรเตรียมเรื่องที่ไว้ชวนคุยอย่างน้อย 5-6 เรื่อง
.
.
2
4) พูดทวน หรือพูดสรุปเรื่องที่อีกฝ่ายพูดมา
.
นอกจากเป็นการแสดงว่าเราสนใจในสิ่งที่อีกฝั่งพูดแล้วนั้น การพูดทวนและพูดสรุปยังทำให้อีกฝ่ายรับรู้ว่าเราเข้าใจความหมายที่เขาต้องการจะสื่อ
.
ผมเพิ่มเติมด้วยว่าการพูดทวนยังเป็นการทบทวนข้อความที่อีกฝ่ายส่งออกมา ทำให้เราเข้าใจแน่ชัดว่าเราไม่ตกหล่นในเนื้อความ หรือมีความผิดพลาดอะไรเกิดขึ้นระหว่างการสื่อสาร
.
.
5) พูดถึงเรื่องที่อีกฝ่าย เคยบอกเมื่อครั้งก่อน
.
ข้อนี้มักใช้กับการเจอกันเป็นครั้งที่สอง หรือครั้งถัดๆไป หลังจากที่เราได้เริ่มความสัมพันธ์กับอีกฝ่ายไปแล้ว เราก็ควรจะรักษาระดับความสัมพันธ์นั้นไว้ด้วย ซึ่งถ้าเราไม่ทำอะไรเลย การไม่เจอกันเป็นระยะเวลาหนึ่งก็คงทำให้ความสัมพันธ์ขาดช่วงลงไป
.
ผู้เขียนจึงแนะนำว่า พอมาเจอกับคู่สนทนาอีกครั้งหนึ่ง ให้นำหัวเรื่องที่เคยคุยกันเมื่อครั้งที่แล้วมาพูดคุยกันต่อ เช่น เรื่องที่อีกฝ่ายแนะนำไปเมื่อครั้งก่อน ถ้าอีกฝ่ายแนะนำให้ไปดูหนังเรื่องนั้น ก็ให้นำเรื่องนั้นเข้ามาเปิดประเด็นการสนทนาเมื่อเจอกันอีกครั้ง
.
วิธีนี้ยังแสดงให้เห็นว่าเราสนใจสิ่งที่อีกฝ่ายพูดด้วย และยังทำให้ทั้งคู่มีหัวเรื่องให้คุย สานต่อบทสนทนากันไปได้อีกสักพัก
.
.
6) พูดเข้าประเด็นสำคัญ หลังจากคุยเล่นจนเกิดบรรยากาศดีๆ
.
อย่างที่ผมเกริ่นไปแล้วว่า ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าการจะเข้าสู่หัวเรื่องสำคัญมักจะมาหลังจากที่เราชวนคุยเล่นจนรู้สึกผ่อนคลายก่อน ขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านจากเรื่องสบายๆ ไปยังประเด็นสำคัญจึงควรทำอย่างลื่นไหลและไม่ทำลายความต่อเนื่องของบทสนทนา
.
เพราะถ้าเราอุดส่าสร้างบรรยากาศการสนทนาที่ดีมาตั้งนาน เราคงไม่อยากให้มันพังลงแบบง่ายๆ ด้วยการเปลี่ยนอารมณ์ไปเรื่องจริงจังแบบกระทันหัน
.
การพยายามเชื่อมหัวข้อที่คุยเล่นกันอยู่กับประเด็นที่เราตั้งใจมาคุยกับอีกฝ่ายจึงเป็นเรื่อสำคัญมาก และเราต้องพยายามหาจุดเชื่อมโยงและเปลี่ยนผ่านบทสนทนาให้เรียบและเป็นธรรมชาติที่สุด
.
.
………………………………………………………………………….
ผู้เขียน: ทาดาชิ ยาซุดะ
ผู้แปล: ช่อลดา เจียมวิจักษณ์
สำนักพิมพ์: Welearn
แนวหนังสือ: พัฒนาตัวเอง, บริหารธุรกิจ
…………………………………………………………………………..
.
.
.
#‎หลังอ่าน‬‬‬‬ ‪#หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #100เล่มควรอ่านก่อน30‬‬‬‬
‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬#อย่าเป็นคนเก่งที่คุยไม่เป็น
โฆษณา