23 ส.ค. 2021 เวลา 12:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
การเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้...ปาฏิหาริย์แห่งลุ่มแม่น้ำฮัน
3
ถ้าพูดถึงหนึ่งในประเทศที่มีการเติบโตแบบรวดเร็วก้าวกระโดดที่สุด เกาหลีใต้คงจะเป็นหนึ่งในนั้น จากหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกในทศวรรษที่ 1960 กลายมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับที่ 10 ของโลกในปัจจุบัน จนถูกกล่าวขานว่าเป็น “ปาฏิหาริย์แห่งลุ่มแม่น้ำฮัน”
2
แต่ถ้าจะบอกว่าเป็นปาฏิหาริย์ก็คงไม่ถูกนัก เพราะสิ่งที่ทำให้เกาหลีใต้กลายมาเป็นประเทศพัฒนาแล้วอย่างในปัจจุบัน เกิดจากวิสัยทัศน์ของทั้งผู้นำในอดีต ตลอดจนความร่วมมือของประชาชนในประเทศที่ช่วยกันสร้างความรุ่งเรืองของเกาหลีใต้อย่างที่เราเห็นในปัจจุบันขึ้น
1
วันนี้ เราจะพาทุกท่านไปย้อนดูพัฒนาการเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ เผื่อว่าเราอาจจะมองเห็นภาพคล้ายๆ กันนี้ในไทย และหาทางปรับใช้ เพื่อให้เราได้ก้าวไปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้
GDP ต่อหัวของเกาหลีใต้ (GDP Per Capita)
📌 ยุทธศาสตร์แห่งอนาคต ... อุตสาหกรรมแห่งความหวัง
หลังจากที่ญี่ปุ่นแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง เกาหลีซึ่งเป็นประเทศที่ถูกญี่ปุ่นยึดครองอยู่ จึงถูกแบ่งครึ่ง ณ เส้นขนานที่ 38 และเกาหลีใต้ได้อยู่ภายใต้การดูแลของสหรัฐอเมริกา
1
ในช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นของสาธารณรัฐเกาหลีนั้นยังเป็นเพียงประเทศเกษตรกรรม เป้าหมายแรกของการพัฒนาจึงมุ่งไปยังการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบไปด้วยถนน ระบบขนส่งทางราง เส้นทางทางทะเล ไฟฟ้า ไปรษณีย์ และที่สำคัญที่สุดคือ ประชากรที่มีคุณภาพ
5
ในปี 1962 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี ฉบับแรกได้ถือกำเนิดขึ้นจากแนวคิดของนายพลปาร์ค จุง ฮี ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในขณะนั้น ซึ่งแผนพัฒนาฯ ฉบับแรกมีเป้าหมายสำคัญ คือการวางรากฐานอุตสาหกรรมให้เป็นปึกแผ่น แล้วแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 2 (1967 - 1971) จึงเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านกลยุทธ์อุตสาหกรรมมุ่งเน้นการส่งออก
2
นายพลปาร์ค จุง ฮี ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในปี 1961 - 1979
แผนพัฒนาฯ 2 ฉบับแรกนี้มุ่งเน้นไปที่การทำให้อุตสาหกรรมเบา ที่ประเทศเริ่มบรรลุเป้าหมายในระดับหนึ่งแล้วให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมสิ่งทอ และซีเมนต์ ประกอบกับเริ่มนำเทคโนโลยีจากต่างประเทศเข้ามาและมีการฝึกบุคลากร เพื่อเร่งการเติบโตของเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว
1
ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 3 และ 4 รัฐบาลเกาหลีจึงได้เริ่มขยับจากอุตสาหกรรมเบา มาที่อุตสาหกรรมหนัก อาทิ เหล็กกล้า การต่อเรือ เคมีภัณฑ์ และวิศวกรรม
1
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพสูงหรือที่เรียกกันว่าแชโบล (Chaebols) ประกอบไปด้วยกลุ่มบริษัทฮุนได แดวู ซัมซุง และโกลสตาร์ (LG) เป็นหัวหอกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
3
กลุ่มแชโบลนี้ มักถูกเรียกว่าเป็นกลุ่มธุรกิจครอบครัว ซึ่งควบคุมการผูกขาดตลาด ที่บริษัทเหล่านี้ประสบความสำเร็จได้ส่วนหนึ่งก็มาจากการแทรกแซงด้วยการสนับสนุน และการเอื้อสิทธิประโยชน์พิเศษมากมายจากรัฐบาลของนายพลปาร์ค ทำให้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1960–1980 เป็นต้นมา เกาหลีใต้ถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด
3
ถัดมาในช่วงทศวรรษที่ 1980 ความสนใจของรัฐบาลในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 และ 6 จึงเริ่มมุ่งไปยังอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้เทคโนโลยี โดยมีเป้าหมายที่จะกลายเป็นประเทศแห่งเทคโนโลยี ในช่วงเวลานั้นเกาหลีใต้ไดัก่อตั้งสถาบันต่าง ๆ มากมายเพื่อมาสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับเทคโนโลยี และพัฒนาอุตสาหกรรมที่ล้ำสมัยขึ้นมา
แม้เศรษฐกิจจะพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด แต่หลายทศวรรษที่ผ่านมาเกาหลีใต้ยังไม่สามารถพ้นจากร่มเงาของเผด็จการทหารได้ และการพัฒนาที่เราเห็นก็เริ่มมีข้อครหาว่าเกิดการเอื้อประโยชน์กันระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มธุรกิจ นำไปสู่การคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ จึงทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศดูจะไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
4
แต่สิ่งๆ หนึ่ง ที่เผด็จการทหารได้ทิ้งไว้ กลับกลายเป็นปัจจัยที่เปลี่ยนผ่านให้ประเทศกลายเป็นระบอบประชาธิปไตยที่สามารถตรวจสอบได้แบบในปัจจุบัน และทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นมาได้อย่างมั่นคง สิ่งนั้นคือ...การศึกษา
3
📌 เยาวชนในวันนี้ คือผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในวันหน้า
1
แน่นอนว่าลำพังแผนพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเดียวคงไม่สามารถทำให้ประเทศพัฒนาได้หากปราศจากประชาชน ซึ่งรัฐบาลเกาหลีใต้ในยุคนั้นก็เข้าใจในข้อนี้ดี จึงได้ปรับแผนทางการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น ในตอนต้นของการพัฒนาอุตสาหกรรมช่วงทศวรรษที่ 1960 ถึง 1970 ที่จำเป็นต้องใช้แรงงานที่ไม่ต้องมีทักษะทางเทคนิคมากนัก รัฐบาลจึงได้พยายามขยายโรงเรียนอาชีวศึกษา และเพิ่มจำนวนผู้จบการศึกษาทางเทคนิคในระดับมัธยมศึกษามากยิ่งขึ้น
1
ต่อมาในทศวรรษที่ 1980 ที่เริ่มมุ่งเน้นไปยังอุตสาหกรรมเทคโนโลยี รัฐบาลก็ได้สนับสนุนสถาบันที่เปิดสอนระดับอนุปริญญา วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย เพื่อให้มีแรงงานที่มีฝีมือและช่างเทคนิคเข้ามาส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวหน้าขึ้นไปอีก
2
ผลที่ตามมานอกจากเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วนั้น ยังทำให้เกาหลีใต้มีทุนมนุษย์เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเมื่อพิจารณาจากจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรที่อายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไปในปี 1990 อยู่ที่ 9.9 ปี เพิ่มขึ้นมาเป็นเท่าตัวจากปี 1960 ซึ่งอยู่ที่ 4.2 ปี และมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศกลุ่ม OECD ทั้งหมด
1
การที่คนมีการศึกษาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นี้เอง เป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้ผู้คนเข้าใจหลักคิดของประชาธิปไตยมากขึ้น และมีความรู้ทางการเมือง รูปแบบพฤติกรรมทางการเมือง และทัศนคติต่อการเมืองจึงเริ่มเปลี่ยนไป
4
การศึกษาทำให้คนรู้สึกถึงความทันสมัยและรู้สึกถึงความเป็นพลเมืองของประเทศมากยิ่งขึ้น เปิดโอกาสให้เขาได้เลื่อนชนชั้นทางสังคม จึงมีคนไต่เต้าขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางมากขึ้น ทั้งหมดนี้ไปมีผลต่อการกำหนดนโยบายต่างๆ ทำให้ประเทศสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ และไม่หวนกลับมาเป็นเผด็จการทหารอีก จึงทำให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนได้ในเวลาอันรวดเร็ว
6
จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรที่อายุ 25 ปีขึ้นไป ตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา
📌 การว่างงานของคนรุ่นใหม่...ความท้าทายที่เกาหลีใต้ยังต้องเผชิญในปัจจุบัน
จริงอยู่ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดได้ข่วยให้คนเป็นจำนวนมากหลุดพ้นจากความยากจนมาได้ แต่หลังจากช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 ดูเหมือนว่าผลประโยชน์จากการพัฒนาทางเศรษฐกิจจะกระจายอย่างไม่เท่าเทียม และเมื่อมีวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 1997 จึงได้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิด “คนรวยกระจุก จนกระจาย” และความเหลื่อมล้ำหลังจากนั้นก็ดูจะแย่ลงเรื่อยๆ ทั้งยังมีปัญหาการว่างงานของคนรุ่นใหม่ (คนที่อยู่ในช่วงอายุ 15 - 24 ปี)
2
ค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini Coefficient)
ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน นายมุน แจ อิน จึงได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะสร้างงานให้เพิ่มมากขึ้น ผ่านการเพิ่มงบประมาณพิเศษ และเพิ่มตำแหน่งงานในภาคส่วนของรัฐบาล โดยมุ่งหวังให้คนรุ่นใหม่ๆ สามารถเริ่มทำงานในบริษัทได้มากยิ่งขึ้น
2
อัตราการว่างงานของเยาวชนเกาหลีใต้ ในอายุ 15 - 24 ปี
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้สนับสนุนบริษัทผ่านทางการให้สิ่งจูงใจแก่บริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางที่จ้างคนเหล่านี้ ช่วยบ่มเพาะธุรกิจ Startup เพิ่มงานใหม่ๆ ทั่วประเทศ และสร้างตลาดใหม่ๆ ในภาคการบริการ
2
ขณะเดียวกัน ยังมีการปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อกระตุ้นให้คนที่อายุยังน้อยมองหางาน และโอกาสที่จะเรียนอีกครั้ง เช่น การให้คนที่ทำงานกับบริษัท SME สามารถไปเรียนวิชาความรู้ที่สอดคล้องกับงานได้ตามที่ต้องการ และยังเพิ่มงบประมาณการศึกษาอีกด้วย
รัฐบาลยังส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการให้แก่คนรุ่นใหม่ เนื่องจากมองว่าความเป็นผู้ประกอบการจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการจ้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ โดยรัฐบาลได้มีการปฏิรูปโครงสร้างทางการศึกษาเพื่อที่จะเตรียมคนรุ่นใหม่ให้พร้อมเริ่มต้นสร้างธุรกิจเป็นของตนเอง (จะเห็นว่าซีรีส์เกาหลีในยุคหลัง ๆ เน้นไปที่การสร้างแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจมากขึ้น เช่น Itaewon Class และ Startup)
6
ด้านมหาวิทยาลัยก็ตอบรับแนวนโยบายนี้ผ่านการปรับวิชาเรียนให้มีการปฏิบัติจริง และบ่มเพาะความเป็นผู้ประกอบการ อีกทั้งยังมีระบบนวัตกรรมแห่งชาติ (National Innovation Systems) ที่ช่วยสนับสนุนกลุ่มธุรกิจ SME และ Startup ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น
จากเส้นทางที่เกาหลีใต้เดินผ่านมาตั้งแต่ในยุคก่อร่างสร้างตัวหลังภาวะสงคราม จนกลายมาเป็นเกาหลีใต้ในปัจจุบัน แม้จะไม่ใช่ทางเดินที่เรียบง่ายไปเสียทั้งหมด ต้องเผชิญกับความท้าทายและความเปลี่ยนแปลงมากมายไปตามแต่ละยุคสมัย แต่สิ่งสำคัญที่เราเห็นได้ชัดคือวิสัยทัศน์ของผู้นำที่ต้องนำยุค นำสมัย และการให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาแก่เยาวชน ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยนำพาเศรษฐกิจให้สามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืน
ในวันต่อๆ ไป Bnomics จะพาผู้อ่านทุกท่านไปดูที่มาที่ไปในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไหนบ้าง ที่จะเป็นบทเรียนให้กับประเทศไทยในการพัฒนาประเทศของเรา อย่าลืมติดตามกันนะคะ
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
Shiyi, T. (2020). Learning from the “Miracle of Han River”. International Journal of Contemporary Research and Review, 11(05), 21807–21810. https://doi.org/10.15520/ijcrr.v11i05.809
Brendan Howe (2020) South Korea: Transformative Challenges to the
Economic and Political “Miracle on the Han River”, Asian Affairs: An American Review, 47:1, 16-40, DOI: 10.1080/00927678.2019.1704469
โฆษณา