24 ส.ค. 2021 เวลา 10:46 • ท่องเที่ยว
มหาเจดีย์ชเวดากอง (Shawedagon Pagoda)
2
ฉันมีโอกาสไปนมัสการพระมหาเจดีย์ชเวดากองครั้งแรกเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ความรู้สึกเมื่อแรกเห็นองค์พระเจดีย์จากในรถที่แล่นอยู่บนถนนก็คือ ช่างเป็นพระเจดีย์ที่ใหญ่โตอะไรเช่นนี้ และเมื่อได้ก้าวตามบันไดขึ้นไปยืนอยู่ที่ลานพระเจดีย์ในครั้งนั้น ก็รู้สึกว่าตัวเองกระจ้อยร่อยจริงๆเมื่อเทียบกับความอลังการขององค์พระเจดีย์ทองที่เกิดจากแรงศรัทธาอย่างแรงกล้าของคนพม่าทั้งปวง …
เมื่อมีโอกาสได้กลับมาย่างกุ้งอีกครั้ง ฉันจึงไม่รีรอที่จะไปนมัสการและชื่นชมความงามของพระเจดีย์ชเวดากองอีกครั้ง
พระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ธำรงอยู่อย่างเหนียวแน่นเข้มแข็งในประเทศพม่า จะยากดีมีจน อดอยากอย่างไร แต่พุทธศาสนิกชนชาวพม่าที่เปี่ยมด้วยศรัทธาจะทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังใจ และกำลังทรัพย์เต็มที่เพื่อทำบุญสร้างกุศล …
เมื่อเราเดินทางไปยังมหาเจดีย์ชเวดากอง สิ่งที่เห็นเจนตาเหมือนๆกับวัดที่อื่นๆก็คือ ภาพของผู้คนที่ปลิ้นเงินออกมาจากพกห่อที่เอว หยิบเอาธนบัตรที่อาจจะเก่าจนโทรม ยัดใส่ตู้บริจาค และภาพของผู้คนทั้งชายหญิง คนแก่ เด็กเล็ก นั่งสวดมนต์ภาวนาอยู่เต็มลานเจดีย์ชเวดากอง
คนพม่าเป็นชาวพุทธหินยานเช่นเดียวกับชาวไทยและศรีลังกา คนพม่าทั่วไปเคร่งครัดและจริงจังในเรื่องของศาสนา พวกเขาจะมานั่งสวดมนต์ภาวนา นั่งวิปัสสนา และหลายคนเมื่อเกษียณอายุแล้วจะกลับมาบวชเป็นพระอีกครั้ง
พระเจดีย์ชเวดากอง เป็นโบราณสถานทางศาสนาของพม่าที่สวยงามและยิ่งใหญ่ หนังสือ Guinness of Record ได้จัดให้พระเจดีย์ชเวดากอง เป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดและเก่าแก่ที่สุดของโลก ทางการพม่าให้ข้อมูลว่า พระเจดีย์ชเวดากองได้เริ่มสร้างมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ตั้งแต่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ซึ่งในสมัยนั้นย่างกุ้งยังเป็นเพียงเมืองเล็กๆ ชื่อว่า อสิตันชนะ” หรืออีกชื่อหนึ่งคือ “โอกกะละ” …
ตามเค้ามูลพุทธตำนาน เมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ขณะประทับอยู่ใต้ต้นเกด มีนายวานิช 2 คนชื่อ “ตะปุสสะ” และ “ภัลลิกะ” เดินทางไปค้าขายที่ประเทศอินเดีย พ่อค้าทั้งสองได้มีโอกาสเข้าเฝ้าองค์และแสดงความเลื่อมใสโดยถวายข้าวสัตตูให้เสวย แล้วถวายตัวเป็นปฐมอุบาสกในพระพุทธศาสนา .. ครั้นจะลาจากก็ทูลขอสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นอนุสรณ์สำหรับบูชาพระพุทธคุณ พระพุทธเจ้าได้ประทานพระเกศาให้ 8 เส้น
เมื่อนายวานิชทั้งสองเดินทางกลับ พระราชาแห่งอเชตตะได้ขอแบ่งพระเกศธาตุไป 2 เส้น เมื่อเขาเดินทางกลับมาถึงเมืองอสิตันชนะ พระเจ้าโอกกลาปะได้ทรงประกอบพิธีต้อนรับพระเกศธาตุอย่างยิ่งใหญ่ และได้ทรงคัดเลือกสถานที่บนเขา “สิงฆุตตระ” (Singuttara Hill) นอกประตูเมืองอสิตันชนะให้เป็นที่สร้างพระเจดีย์เพื่อบรรจุพระเกศธาตุ … แต่ในขณะที่กำลังขุดดินก่อสร้าง ได้มีการค้นพบ พระบริโภคเจดีย์ของอดีตพระพุทธเจ้าองค์อื่นๆอีก 3 องค์ด้วย คือไม้ธารพระกร ภาชนะสำหรับใส่น้ำ และสบง จึงได้บรรจุของทั้งหมดในพระเจดีย์พร้อมพระเกศธาตุด้วย
ก่อนที่จะบรรจุได้พบว่า พระเกศธาตุกลับมามี 8 เส้นดังเดิม พระเกศธาตุได้บรรจุไว้ในเจดีย์ทอง เงิน ดีบุก ทองแดง ตะกั่ว หินอ่อน และเหล็กตามลำดับ เสร็จแล้วจึงสร้างเจดีย์อิฐสูงประมาณ 66 ฟุตครอบไว้ภายนอก จากนั้นก็มีการสร้างพระเจดีย์ครอบองค์เดิมในสมัยของกษัตริย์ต่างๆรวมถึง 7 ครั้งด้วยกัน … โดยในสมัยของพระนางเช็งสอบู แห่งกรุงหงสาวดี ได้ทรงบริจาคทองคำหนักถึง 40 กิโลกรัม เท่ากับน้ำหนักของพระองค์ในการก่อสร้างพระเจดีย์ที่มีรูปร่างเหมือนในปัจจุบันเป็นครั้งแรก
พระเจ้าธรรมเจดีย์ กษัตริย์ซึ่งครองราชย์ต่อจากพระนางเช็งสอบู ก็ได้บริจาคทองในการก่อสร้างเพิ่มเติมเป็นน้ำหนักเท่ากับน้ำหนักของพระองค์และพระมเหสีรวมกัน ทั้งยังได้ทรงสร้างจารึกเล่าประวัติของพระ เจดีย์ชเวดากองเป็นภาษาพม่า มอญ และภาษาบาลีไว้ด้วย
ปัจจุบันพระเจดีย์ชเวดากองสูง 326 ฟุต เส้นรอบวง 1,420 ฟุต สูงกว่าระดับน้ำทะเล 190 ฟุต ประดับด้วยทองคำแผ่นมากมาย รวมน้ำหนักทองประมาณ 10 ตัน นำไปเรียงร้อยกันตั้งแต่ตัวเจดีย์ขึ้นไปจนถึงยอด ทำให้องค์เจดีย์ชเวดากองดูเป็นสีทองงดงามเปล่งปลั่งมลังเมลืองอยู่ตลอดเวลา ทั้งกลางวันและกลางคืน …
สำหรับสุวรรณฉัตรที่ครอบยอดพระเจดีย์มีการซ่อมแซมหรือสร้างขึ้นใหม่เป็นระยะๆ … ที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์พม่า กล่าวว่ามีการเปลี่ยนฉัตรทองมาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกในสมัยของพระเจ้าฉินบูชิน ในปี พ.ศ. 2317 (ร่วมสมัยกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช)
ครั้งที่ 2 ในสมัยพระเจ้ามินดุง ในปีพ.ศ. 2414 (ร่วมสมัยกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ฉัตรอันเก่ที่สร้างในสมัยพระเจ้ามินดุง แห่งกรุงมัณฑะเลย์ในปี ค.ศ. 1871 สูง 33 ฟุต เส้นผ่าศูนย์กลาง 18 ฟุต ขณะนี้ได้ตั้งให้ประชาชนชมอยู่ โดยฉัตรองค์นี้ประดับเพชรพลอยรวมถึง 4,351 เม็ด น้ำหนักรวม 2,000 การัต เพชรเม็ดใหญ่ที่สุดบนยอดฉัตรหนัก 76 การัต และที่ขอบฉัตรประดับระฆังใบเล็กถึง 5,000 ใบ สิ้นเงินในสมัยนั้นรวม 62,000 ปอนด์ แต่ตอนนั้นอังกฤษเข้ายึดครองย่างกุ้งแล้ว พระเจ้ามินดงจึงไม่ได้เสด็จมาเปลี่ยนสุวรรณฉัตรด้วยพระองค์เอง
ครั้งล่าสุดได้มีการสร้างฉัตรขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2542 นี้เอง นอกจากนี้บริเวณรอบๆยังมีโบราณวัตถุที่มีคุณค่าทางศาสนา ศิลปะ ประวัติศาสตร์ และอื่นๆอีกมากมาย
ใกล้ๆกับลานพระเจดีย์ชเวดากอง ยังมีพระเจดีย์ทองรูปทรงใกล้เคียง เล็กกว่าพระเจดีย์ชเวดากองเล็กน้อย พระเจดีย์องค์นี้คือ เจดีย์นาวาดอจี (Naungdawgyi) ซึ่งมีความหมายว่า “พี่ชาย” ตามตำนานกล่าวว่า เป็นสถานที่พระเจ้าโอกกะละปะ ได้นำพระเกศธาตุของพระพุทธเจ้ามาประดิษฐานไว้ชั่วคราวในขณะที่กำลังก่อสร้างพระเจดีย์ชเวดากองอยู่ และเมื่อสร้างเสร็จ ก็ได้อัญเชิญพระเกศธาตุจากเจดีย์ เจดีย์นาวาดอจี ไปประดิษฐาน ณ พระเจดีย์ชเวดากองเป็นการถาวร
เจดีย์ชเวดากอง เป็นจุดรวมแห่งความศรัทธา และเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง 1 ใน 5 ที่ชาวพม่าให้ความเคารพและศรัทธาสูงสุด อีกทั้งยังเป็นเจดีย์ที่ทางคติล้านนาที่เชื่อว่านี่คือเจดีย์ประจำปีของคนที่เกิดปีมะเมีย (ปีม้า) ซึ่งหากคนที่เกิดปีม้าได้มีโอกาสไปนมัสการพระเจดีย์ชเวดากองจะถือว่าเป็นมงคลสูงสุดแก่ชีวิตเลยทีเดียว
ทางขึ้นไปชมพระเจดีย์ชเวดากองมีอยู่ทั้ง 4 ทิศ แต่ทิศที่ผู้คนนิยมและเป็นทางเข้าใหญ่คือทางด้านทิศใต้ที่มีสิงห์คู่ตัวใหญ่นั่งเฝ้าอยู่ …
ทิศทั้ง 4 รอบๆลานเจดีย์จะมีวิหารโถง สร้างด้วยเครื่องไม้หลังคาทรงปราสาท ปิดทองล่องชาดประดับกระจกทั้งหลัง ภายในวิหารจะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปของพระพุทธเจ้าที่เคยมีมาแล้วทั้ง 4 พระองค์ คือ พระกักกุสันโธ พระโกนาคม พระกัสสัปปะ และพระโคตม ให้ประชาชนได้มากราบไหว้ ก่อนที่จะไปตีระฆังสินธุ 3 ครั้ง
บนลานรอบๆเจดีย์ชเวดากอง จะมีพระพุทธรูปและสัตว์สัญลักษณ์ประจำวันเกิดตั้งอยู่เป็นคู่ๆ โดยเชื่อกันว่าการสรงน้ำพระพุทธรูปและสัตว์ประจำวันเกิด จะสร้างความบริสุทธิ์และความสุขความเจริญแก่ผู้มาสรงน้ำ … การรดน้ำจะใช้ขันใบเล็กๆตักน้ำที่มีคนเตรียมไว้แล้วรดลงไปจำนวนเท่ากับอายุของตน บวกอีกหนึ่ง แต่สำหรับคนที่อายุมากๆ อาจจะย่อลงมาเหลือ 5 ขัน คือพระรัตนตรัยและพ่อแม่นั่นเอง
สัตว์ประจำวันเกิดของพม่า คือ
วันอาทิตย์ - ครุฑ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเจดีย์
วันจันทร์ที - เสือ อยู่ทางทิศตะวันออก
วันอังคาร - สิงห์ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
วันพุธ (เช้า) - ช้างงา อยู่ทางทิศใต้
วันพุธ (กลางคืน) - ช้างไม่มีงา อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
วันพฤหัสบดี - หนู อยู่ทางทิศตะวันตก
วันศุกร์ - หนูตะเภา อยู่ทางทิศเหนือ
วันเสาร์ - พญานาค อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้
ขั้นตอนการกราบไหว้บูชามหาเจดีย์ชเวดากองตามแบบที่พุทธศาสนิกชนชาวพม่าชาวมอญนิยมทำกัน จะเริ่มจากการไหว้พระประธานที่วิหารโถงใดโถงหนึ่ง แล้วไปไหว้พระประจำวันเกิด สรงน้ำเท่าจำนวนอายุ จุดธูปเทียนถวายดอกไม้ จากนั้นเดินประทักษิณ คือเวียนขวา ตั้งจิตอธิษฐานขอพรรอบเจดีย์หนึ่งรอบ แล้วร่วมบริจาคทรัพย์เพื่อทำนุบำรุงองค์พระเจดีย์ค้ำจุนพระพุทธศาสนาตามกำลัง แล้วไปตีระฆังให้เทพยดาได้ร่วมอนุโมทนาบุญ
จากลานด้านล่าง ยังมีทางขึ้นไปชั้นบนของพระเจดีย์ได้อีก และมีเจดีย์องค์เล็กๆล้อมรอบอยู่บนชั้นต่างๆถึง 150 องค์ด้วยกัน แต่ทางขึ้นชั้นบนจะเปิดเฉพาะวันสำคัญจริงเท่านั้น และจะอนุญาตเฉพาะผู้ชายที่กรรมการวัดเห็นชอบเท่านั้น
เสาอธิษฐาน … เป็นเสาหงส์ที่ชาวพม่าเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์มาก ใครบางคนเล่าว่าแม้แต่คนใหญ่โตจากเมืองไทยก็เคยไปตั้งจิตอธิษฐาน และประสบความสำเร็จมาแล้ว
ถัดจากพระพุทธรูปประจำวันอังคาร ซึ่งเป็นสัตว์รูปสิงห์ ทางขวามือจะเห็นมณฑปครอบพระพุทธรูปองค์หนึ่ง องค์มณฑปประดับด้วยเทวดาอุ้มเด็ก ชาวพม่าเชื่อว่า เป็นเทพประทานพรให้มีลูก คนที่ต้องการมีลูกจึงควรนำใบสำเร็จและเครื่องเซ่นไปกราบไหว้บูชา เพื่อให้คำอธิษฐานสัมฤทธิ์ผล
ตรงทิศตะวันตกเฉียงใต้ จะมีตู้กระจก ตั้งรูปปั้น “ตะจังมึง” หรือ ท้าวสักกะ หรือ พระอินทร์ ประมุขของนัต ตั้งคู่กับ “โบโบยี” หรือเทพทันใจ นัตผู้คุ้มครองมหาเจดีย์ชเวดากอง และเชื่อกันว่าหากอธิษฐานขอสิ่งใดจะสมหวัง … ทุกๆวันนอกจากคนพม่าแล้ว ยังจะเห็นมีคนไทยไปไหว้ไม่น้อยเลยค่ะ
ถัดไปทางเหนือของนัต “โบโบยี” มีวิหารพระพุทธรูปปางสีหไสยาสน์ เล่าพุทธประวัติขณะกำลังดับขันธ์ปรินิพพาน ปลายพระบาทมีพระอานนท์ พระโมคคัลลา และพระสารีบุตร อัครสาวกเฝ้าอยู่ นอกจากนี้ยังมีจิตรกรรมฝาผนังเล่าตำนาน “ไจ่ก์ทิโย”
เยื้องมาทางพระมหาเจดีย์ ตรงเจดีย์บริวานด้านบนทางทิศตะวันตก มีรูปปั้นบุคคลชาย-หญิง ภายใต้พระมหาเศวตฉัตร ซึ่งคือ พระชนก ชนนี ของพระเจ้าโอกะลาปะ กษัตริย์มอญผู้ริเริ่มสร้างมหาเจดีย์ชเวดากอง
ทางทิศตะวันตก เป็นวิหารกัสสัปปพุทธเจ้า … เมื่อปี พ.ศ. 2474 วิหารเกิดไฟไหม้ จึงมีการรณรงค์ให้ชาวพุทธร่วมกันบริจาคเงินคนละ 2 เหรียญทองแดง เพื่อบุรณะ จึงมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า วิหาร 2 เหรียญ
ถัดขึ้นไปทางทิศเหนือ มีรูปปั้นพระเจ้าโอกะลาปะ กษัตริย์มอญผู้ริเริ่มสร้างมหาเจดีย์ชเวดากอง ประดิษฐานภายใต้พระมหาเศวตฉัตร
บริเวณลานใกล้กับพระวันพุธ มีเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมขนาดเล็ก มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปและสัตว์ประจำวันเกิดทั้ง 8 วัน เรียกกันว่า “เจดีย์แห่งวันทั้งแปด”
ด้นหลัง เจดีย์แห่งวันทั้งแปด มีวิหารประดิษฐานระฆังที่พระเจ้าสิงคุ (Singhu)ทรงสร้างไว้ เมื่อปี ค.ศ. 1778 หล่อด้วยปัญจโลหะ คือ ทอง เงิน ทองแดง ตะกั่ว และสังกะสี สูง 8 ฟุต หนัก 23 ตัน ในปี ค.ศ. 1824 พม่าแพ้สงครามต่ออังกฤษ อังกฤษยึดเจดีย์ชเวดากอง และได้ขนทรัพย์สิน แก้วแหวนเงินทองไปมากมาย และได้คิดที่จะขนระฆังใบนี้กลับไปอังกฤษด้วย แต่เรือที่ขนระฆังจมลงที่แม่น้ำย่างกุ้ง ต่อมาพม่าจึงทำการกู้ระฆังใบนี้ขึ้นมา แล้วนำไปไว้ที่เจดีย์ชเวดากองดังเดิม
“ลานอธิษฐาน” หรือ “ลานสัมฤทธิผล” หรือ “ลานบุเรงนอง” บริเวณทิศตะวันตกเฉียงเหนือ … ลานแห่งนี้ไม่เคยเปลี่ยวร้าง เป็นลานที่คนพม่ามากราบไหว้พระเจดีย์ บางคนก้มลงกราบด้วยศรัทธาอย่างสุดซึ้ง บางคนนั่งสมาธิ นั่งท่องคาถา นั่งนับลูกประคำ ภาวนาด้วยจิตที่สงบแน่วแน่ แสวงหาคามสุขทางใจโดยมิได้นำพากับนักท่องเที่ยวอย่างเรา …
ทางทิศเหนือ … วิหารโคตมพุทธเจ้า
เจดีย์มหาโพธิ์ ซึ่งจำลองแบบมาจากเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย
ศาลาชิน อิทสะโกนา ประดิษฐานพระพุทธรูปที่มีพระเนตร 2 ข้างไม่เท่ากัน สร้างโดยชิน อิทสะโกนา ซึ่งตามตำนานกล่าวว่าเป็นพิทยาธร ผู้มีวิชากายสิทธิ์สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ และเล่นแร่แปรธาตุได้ เขาพยายามเสกหินธรรมดาให้กลายเป็นทอง แต่ล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า จนต้องควักลูกตาทั้ง 2 ถวายพระราชาเป็นการไถ้โทษ ทว่าเขาทำสำเร็จในการพยายามครั้งสุดท้าย และหินศักดิ์สิทธิ์ทำให้เขามองเห็นอักครั้ง จึงให้ศิษย์ไปหาตาใหม่มาใส่ ลูกศิษย์หาได้แต่ตาวัวกับตาแพะ … ชิน อิทสะโกนา จึงได้ชื่อว่า มนุษย์ตาวัวตาแพะ และเขาได้สร้างพระพุทธรูปที่ตาไม่เท่ากันถวายเป็นพุทธบูชา
นอกจากนั้นบริเวณรอบๆลานเจดีย์ชเวดากองยังประดับรูปสัตว์ต่างๆแทรกตามเจดีย์บริวาร ที่สำคัญ คือ สิงห์ และมนุษย์สิงห์
“นรสิงห์” รูปปั้นหัวเป็นมนุษย์สวมชฎา แต่มีลำตัวเป็นสิงห์แฝด มีตำนานเล่าว่า … เมื่อครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งสมณทูต คือพระโสณะ กับพระอุตตระ มาเผยแพร่พุทธศาสนาในดินแดนมอญ ณ เมืองสะเทิม ช่วงเวลานั้นมีนางยักษ์เที่ยวจับทารกกินเป็นอาหาร ทำความเดือดร้อนไปทั้งแผ่นดิน สมณทูตทั้งสองจึงแสดงปาฏิหาริย์ แปลงกายเป็นมนุษย์สิงห์ จนลักษณ์ป้องกันภยันตรายแก่ราษฎรตั้งแต่นั้นมา
การขึ้นไปสักการะพระเจดีย์ชเวดากอง นอกจากจะได้เห็นสีสันของการท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยวที่มาจากที่ต่างๆแล้ว จึงเป็นโอกาสที่จะได้สัมผัสบรรยากาศที่ชาวพม่ามาแวะสวดมนต์ ต่างคนต่างสวด ไม่ต้องรอให้พร้อมกัน ไม่ต้องมีใครสวดนำ ด้วยทุกคนสวดมนต์เป็นตั้งแต่เด็กแล้ว … เห็นแล้วอดชื่นชมพลังของศรัทธาอันเปี่ยมล้นอยู่ทั่วบริเวณไม่ได้ หากแต่สะท้อนใจเมื่อคิดถึงความเหินห่างจากพระศาสนาออกไปเรื่อยๆของคนในบ้านเมืองเรา แม้จะเป็นเมืองพุทธเช่นเดียวกัน
ที่นี่ไม่มีใครขนเครื่องรางของขลังเข้าไปปลุกเสก มีแต่คนนั่งเสกหัวใจของตนเองด้วยบทสวดมนต์ ถึงแม้จะยากจนในชาตินี้ ก็ขอพลีศรัทธา ประพฤติ ปฏิบัติธรรม เพื่อได้รับบุญกุศลในชาติหน้า … น้ำตาคนพม่ากลายเป็นน้ำมนต์ ประพรมชีวิตให้รู้จักอดทน และต่อสู่ไปตามอัตภาพ โดยมียอดเจดีย์สีทองเป็นเข็มทิศชี้ทางสู่สวรรค์ชั้นฟ้า
การได้มานั่งสงบนิ่ง ทำให้ฉันมีโอกาสมองศรัทธาในศาสนาระหว่างคนไทยกับคนพม่าได้ลึกซึ้งมากขึ้น … แม้ว่าคนพม่าและคนไทยจะนับถือพุทธศาสนาเหมือนกัน แต่ฉันรู้สึกว่ามีหลายอย่างที่เป็นความแตกต่างกัน ฉันว่าชาวพม่าเข้ามาในวัดด้วยอาการอ่อนน้อม เคารพต่อสถานที่ที่เขานับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ เราจะเห็นพระสงฆ์กลมกลืนไปกับวิถีของชาวบ้านอย่างแยกไม่ออก … การไปเที่ยวพม่าจึงเสมือนว่าไปเที่ยววัด ไปแสวงบุญ
ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเป็นหน่อของมหาโพธิ์จากพุทธคยาเมื่อเกือบ 100 ปีที่แล้ว … ชาวพม่านิยมทำบุญด้วยการซื้อน้ำมารดต้นโพธิ์ เป็นสัญลักษณ์ในการค้ำจุนพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง และเพื่อความเป็นสิริมงคลต่อชีวิต
ช่วงเวลาเย็นๆจะมีอาสาสมัครหลายคนมาช่วยกันกวาดลานวัดอย่างขมีขมันทุกๆวัน เวลาเดินที่ลานเจดีย์จึงรู้สึกสะอาดกว่าเจดีย์อื่นๆที่เราเคยไปสักการะ
เจดีย์ชเวดากองยามเย็น … สุกปลั่งด้วยแสงสปอร์ตไลท์ที่สาดส่องไปต้ององค์พระเจดีย์ เป็นภาพที่ตัดกับท้องฟ้าสีน้ำเงินได้อย่างงดงามในสายตา ผสานกับเสียงสวดมนต์ที่ผ่านเข้ามาในโสตประสาท ก่อให้เกิดความรู้สึกปิติยินดีแผ่ซ่านไปทั่วร่างกาย เหมือนไม่ได้ยืนอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริง …
ความรู้สึกที่เคยมีคนกระเซ้าเรื่องทองของไทยนั้นหายไป แทนที่ด้วยความรู้สึกที่ว่าจะเป็นทองของใครก็ช่าง แต่ชเวดากองนั้นงดงาม และพุทธศาสนาไม่มีวันจะสูญหายไปจากโลกนี้แน่นอน
ฉันเคยพาเพื่อนต่างชาติหลายคนไปชมพระปรางค์วัดอรุณ และเจดีย์ภูเขาทอง รวมถึงอวดเกาะรัตนโกสินทร์ในยามค่ำคืนมาแล้วหลายโอกาส … แต่คืนนี้ ชเวดากอง ทำให้ฉันคิดว่า คนไทยใช้ศาสนสถานที่บรรพบุรุษสร้างขึ้นด้วยความศรัทธา เพียงแค่ตามไฟไว้อวดนักท่องเที่ยว นำรายได้เข้าประเทศ แต่ไม่ได้มีไว้เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจในฐานะชาวพุทธ …
คนไทยนับถือพุทธศาสนาแบบยกเอาศาสนามาไว้บนหิ้ง เมื่อถึงโอกาสดีๆหรือสำคัญๆ ก็นำดอกไม้ ธูปเทียนมาถวายและสวดมนต์ เป็นอันเสร็จกิจพิธี แต่คนพม่านับถือศาสนาเป็นวิถีชีวิตของพวกเขา ทุกลมหายใจเข้าออก มีศาสนาเป็นศูนย์รวม … พวกเขามีเท้าอยู่บนดิน ตามองตรงข้นไปท้องฟ้า ที่จะพาจิตวิญญาณสู่สวรรค์
ก่อนกลับ ฉันก้มลงกราบเจดีย์ชเวดากองอีกครั้ง ตั้งจิตสงบ แล้วอธิษฐานขอให้ชาวพม่ารอดพ้นจากภัยภยันตราย และการคุกคามทั้งปวง … ขอให้เนื้อแท้ของพุทธศาสนา เป็นเสาหลักช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจชาวพุทธทั้งมวลไปชั่วกัปชั่วกัลป์
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา