26 ส.ค. 2021 เวลา 13:00 • ธุรกิจ
สภาพคล่องของกิจการ แตกฉานใน 5 นาที
สภาพคล่องจำเป็นไหมสำหรับธุรกิจ ถ้าถามในช่วงวิกฤต Covid แบบนี้ตอบเลยว่า สภาพคล่องจำเป็นมากกก (ก. ไก่ล้านตัว)
2
เพราะสภาพคล่อง หรือ Liquidity หมายถึง ความสามารถในการเปลี่ยนสินทรัพย์ให้เป็นเงินสด เพื่อนําไปชําระหนี้สินระยะสั้น อย่างเช่น เจ้าหนี้การค้า เงินเดือนพนักงาน เงินกู้ระยะสั้น
7
ฉะนั้น ถ้ากิจการมีสินทรัพย์สภาพคล่องสูง เปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็วๆ ย่อมทำธุรกิจได้คล่องตัวกว่ากิจการที่มีสภาพคล่องต่ำๆ อย่างแน่นอน และกิจการที่เจ๊งในช่วงวิกฤตส่วนมากเกิดจากการขาดสภาพคล่อง ถ้าไม่อยากให้ธุรกิจที่สร้างมากับมือ “เจ๊ง” ภายในพริบตา ลองมาหัดวิเคราะห์สภาพคล่องให้แตกฉานกับ Zero to Profit กัน
สภาพคล่องของกิจการ
งบแสดงฐานะการเงิน (งบดุล)
ก่อนอื่นถ้าจะวิเคราะห์สภาพคล่องได้ดี ลองหางบแสดงฐานะการเงิน (งบดุล) มาไว้ใกล้ๆ มือ
งบนี้จะทำให้เราเห็นสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของในกิจการได้ดีมากยิ่งขึ้น
จากนั้น ให้โฟกัสไปที่ “สินทรัพย์หมุนเวียน” และ “หนี้สินหมุนเวียน”
สินทรัพย์หมุนเวียน คือ สินทรัพย์ที่แปลงเป็นเงินสดได้ภายใน 1 ปี โดยจะเรียงลำดับสินทรัพย์สภาพคล่องไว้บนสุด เช่น เงินสด ลูกหนี้การค้า สินค้าคงเหลือ
ส่วนหนี้สินหมุนเวียน คือ หนี้สินที่กิจการต้องจ่ายชำระภายใน 1 ปี เช่น เจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้อื่นๆ เงินกู้ยืมระยะสั้น
ทุกคนจะสังเกตว่า แม้กิจการมีหนี้สินอื่นๆ ที่เป็นหนี้สินระยะยาวด้วย เราจะยังไม่สนใจในตอนนี้เพราะหลักใหญ่ใจความ เราต้องการวิเคราะห์ว่ากิจการมีความสามารถในการจ่ายชำระหนี้แบบระยะสั้นไหมนั่นเอง (ส่วนหนี้ระยะยาวเดียวค่อยว่ากัน)
จากนั้น เราลองมาวิเคราะห์สภาพคล่องแต่ละระดับจากอัตราส่วนทางการเงิน 3 ตัวกัน
อัตราส่วนทุนหมุนเวียน
1. อัตราส่วนทุนหมุนเวียน
อัตราส่วนทุนหมุนเวียน เป็นอัตราส่วนที่ช่วยวิเคราะห์สภาพคล่องแบบพื้นฐานที่สำคัญมาก อัตราส่วนนี้ช่วยให้เราเข้าใจว่าธุรกิจจะมีสินทรัพย์หมุนเวียนเปลี่ยนมาเป็นเงินชำระหนี้สินที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปีมากน้อยขนาดไหน
โดยคำนวณจากสูตรนี้
อัตราส่วนทุนหมุนเวียน = สินทรัพย์หมุนเวียน
หนี้สินหมุนเวียน
ลองมาดูตัวอย่างการคำนวณจากงบการเงินกัน
กิจการมีสินทรัพย์หมุนเวียน = 1,700 บาท และหนี้สินหมุนเวียน = 1,620 บาท
เราจะคำนวณอัตราส่วนทุนหมุนเวียน = 1,700/1,620= 1.05 เท่า
แปลความง่ายๆ ได้ว่า ยังมีสินทรัพย์หมุนเวียนเท่ากับ 1.05 ของหนี้สินหมุนเวียน
ถ้านึกภาพตาม สมมติวันนี้จะต้องจ่ายเงินชำระหนี้สินหมุนเวียนทั้งหมด เราก็ยังมีเงินสด ลูกหนี้ และสินค้าคงเหลือ ถ้าเปลี่ยนทุกอย่างเป็นเงินสดได้ทันเวลา ก็ย่อมชำระได้หนี้ทั้งก้อนได้แบบสบายๆ
อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว
2. อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว
สำหรับบางกิจการ สินค้าคงเหลือไม่ได้หมุนเวียนเปลี่ยนมาเป็นเงินสดได้เร็วอย่างที่คิด เพราะต้องเริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการซื้อวัตถุดิบ มาผลิต เสร็จแล้วรอขาย รวมไปถึงรอชำระเงิน บางครั้งต้องถือสินค้านานถึง 90-120 วันกว่าจะขายได้และได้เงินกลับมา
ฉะนั้น อัตราส่วนทุนหมุนเวียนอาจจะไม่สะท้อนสภาพคล่องที่แท้จริงได้ดีเท่ากับอัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว
อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว คืออะไร?
อัตราส่วนนี้เป็นอัตราส่วนที่ใช้วิเคราะห์สภาพคล่องจากสินทรัพย์หมุนเวียนทุกตัว ยกเว้น สินค้าคงเหลือ เพราะเรามีความเชื่อที่ว่าสินค้าคงเหลือนั้น หมุนเวียนไปเป็นเงินสดได้ช้า จึงไม่นำมารวมคำนวณเพื่อวิเคราะห์สภาพคล่องของกิจการ
อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว คำนวณได้จาก
อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว = สินทรัพย์หมุนเวียน - สินค้าคงเหลือ
หนี้สินหมุนเวียน
ลองมาดูตัวอย่างการคำนวณกัน
กิจการมีสินทรัพย์หมุนเวียนเร็ว (ซึ่งประกอบด้วยเงินสด และลูกหนี้การค้า) = 1,700 – 1,200 = 500 บาท
และมีหนี้สินหมุนเวียน = 1,620 บาท
เราจะคำนวณอัตราส่วนทุนหมุนเวียน = 500/1,620 = 0.31 เท่า
มาถึงตรงนี้ทุกคนคงตกใจ เพราะตอนแรกเราคำนวณอัตราส่วนทุนหมุนเวียนยังมีมากกว่าหนี้สินหมุนเวียนอยู่เลย แต่ทำไม๊ ทำไม พอเอาสินค้าคงเหลือออก กลายเป็นแทบจะมีสภาพคล่องไม่พอจ่ายชำระหนี้ระยะสั้นซะแล้ว
ถ้าสังเกตดูดี เราจะพบว่ากิจการมีสินทรัพย์หมุนเวียนเยอะก็จริง แต่ว่าส่วนใหญ่ไปจมอยู่ในสินค้าคงเหลือ ซึ่งถ้าลองสำรวจเรื่องความคล่องตัวแล้ว สินค้าคงเหลือจะเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ช้ากว่าลูกหนี้การค้าอย่างแน่นอน
ฉะนั้น เราจึงพลาดไม่ได้ที่จะต้องวิเคราะห์อัตราส่วนทุนหมุนเวียนควบคู่กับอัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว เพื่อให้มั่นใจว่ากิจการยังมีสภาพคล่องดีอยู่ในทุกระดับ
อัตราส่วนเงินสด
3. อัตราส่วนเงินสด
อัตราส่วนตัวสุดท้าย เป็นอัตราส่วนเช็คสภาพคล่องขั้นสุด เพราะอัตราส่วนตัวนี้สนใจเฉพาะเงินสดว่ามีเพียงพอไหมสำหรับการจ่ายชำระหนี้สินหมุนเวียน
อัตราส่วนเงินสด คำนวณกันง่ายๆ ตามสูตรนี้
อัตราส่วนเงินสด = เงินสด
หนี้สินหมุนเวียน
จากตัวอย่างนี้ กิจการมีเงินสด 200 บาท และสินทรัพย์หมุนเวียน = 1,620 บาท
คำนวณอัตราส่วนเงินสดได้ =200/1,620 = 0.12 เท่า
อ่านจากตรงนี้ทุกคนคงพอเข้าใจแล้วว่า ถ้ามีหนี้สิน 1 บาท กิจการมีเงินสดแค่ 0.12 บาท สำหรับจ่ายชำระหนี้ระยะสั้น
แล้วถ้าพรุ่งนี้จะต้องจ่ายชำระเงินคืนแก่เจ้าหนี้โดยทันที กิจการคงไม่มีทางจ่ายเงินคืนเจ้าหนี้ทั้งหมดได้ทันเวลาแน่นอน
สรุปการวิเคราะห์สภาพคล่อง
เข้าใจวิธีวิเคราะห์สภาพคล่องทั้ง 3 ระดับกันแล้ว เราขอสรุปง่ายๆ แบบนี้ว่า
อัตราส่วนทุนหมุนเวียน = บอกเราว่ากิจการมีสินทรัพย์หมุนเวียนกี่เท่าของหนี้สินหมุนเวียน
อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว = บอกเราว่ากิจการมีสินทรัพย์หมุนเวียนที่ไม่ใช่สินค้าคงเหลือ กี่เท่าของหนี้สินหมุนเวียน
อัตราส่วนเงินสด = บอกเราว่ากิจการมีเงินสดกี่เท่าของหนี้สินหมุนเวียน
ทุกอัตราส่วนเป็นอัตราส่วนที่ช่วยวิเคราะห์สภาพคล่องของกิจการทั้งหมด แต่ทว่าระดับความเข้มข้นแตกต่างกันไป
เริ่มจากอัตราส่วนทุนหมุนเวียนที่เข้มข้นน้อยสุด ไปจนถึงอัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็วที่เข้มข้นมากขึ้น และสุดท้ายอัตราส่วนเงินสดเป็นอัตราส่วนวิเคราะห์สภาพคล่องแบบเข้มข้นสุดๆ
ฉะนั้น ถ้าวันนี้เรามีหนี้สินเยอะๆ โดยเฉพาะหนี้สินหมุนเวียนจาก เจ้าหนี้ และเงินกู้ยืม ลองมานั่งวิเคราะห์สภาพคล่องกันสักหน่อยว่าทุกวันนี้กิจการยังมีสภาพคล่องดีอยู่ไหม
ถ้าอยากมีสภาพคล่องที่ดี อย่างน้อยธุรกิจควรมีอัตราส่วนทุนหมุนเวียนมากกว่า 1 แต่ถ้าอัตราส่วนนี้น้อยกว่า 1 แล้วล่ะก็ อย่าลืมหาแหล่งเงินทุนสำรองเอาไว้ เผื่อว่ามีอะไรฉุกเฉินเราจะได้รับมือทัน เพราะคงไม่มีเจ้าของกิจการคนไหนอยากแขวนป้ายหน้าร้านว่า “ปิดกิจการเพราะเจ๊ง” ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้สู้อย่างเต็มที่แน่นอน
1
#zerotoprofit #วิเคราะห์สภาพคล่อง #อัตราส่วนทุนหมุนเวียน #อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว #อัตราส่วนเงินสด
โฆษณา