25 ส.ค. 2021 เวลา 01:20 • ความคิดเห็น
วิธีอยู่ร่วมกับคนที่ชอบออกคำสั่ง
ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเราก็มีสิทธิที่จะเจอคนชอบออกคำสั่งอยู่เสมอ ถ้าอยู่ในภาวะเลี่ยงได้เราก็จะเลี่ยง แต่บางครั้งเราก็อยู่ในสถานะที่ยากจะหลบหนีอย่างเช่นเจ้านายกับลูกน้อง สิ่งที่เราต้องถามตัวเองอย่างแรกคือ เรายอมรับได้ไหมที่จะไม่เปลี่ยนเขา เพราะเราไม่มีสิทธิที่จะไปเปลี่ยนแปลงใครในโลก ไม่ว่าเขาคนนั้นจะมีบุคลิกหรือนิสัยที่แย่แค่ไหน ถ้าเขาไม่อยากเปลี่ยนมันด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นเมื่อเราเลี่ยงไม่ได้ เราก็เอาสิ่งที่เป็นปัญหากับเราเฉพาะด้านไปคุยกับเขาเพื่อหาทางออกร่วมกัน
เช่น ถ้าเรารู้สึกว่าเจ้านายที่ออฟฟิศเป็นคนที่ชอบออกคำสั่งจนกระทบกับการทำงาน เราก็เอาเฉพาะเรื่องวิธีการทำงานเข้าไปคุยกับเขาว่านี่คือสิ่งที่เรากำลังรู้สึก และสร้างปัญหาให้กับเรา จะทำอย่างไรดีที่จะทำให้สื่อสารกันได้เข้าใจโดยที่ไม่ต้องออกคำสั่ง ที่สำคัญคือต้องหาทางออกร่วมกันไม่ใช่เป็นการยื่นข้อเสนอหรือเราเตรียมทางออกไว้ก่อน
อีกด้านหนึ่ง ถ้าเรารู้ตัวว่าเป็นคนชอบออกคำสั่งหรือบังคับคนอื่นเสียเอง เราเพียงแค่ หยุด บางคนอาจไม่เห็นว่าการหยุดบังคับคนอื่นเป็นทางเลือกเพราะเห็นว่าทุกเรื่องเป็นเรื่องของตัวเองที่ต้องเข้าไปจัดการเสียทั้งหมด โดยลืมไปว่าบางเรื่องเราไม่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวจัดการ หรือไปทำให้มันรู้สึกว่าถูกต้องตามความรู้สึกก็ได้ เพราะบางอย่างที่คนอื่นทำไปแล้วนั่นก็ถือเป็นทางเลือกในการจัดการของเขาเหมือนกัน
และเชื่อไหมว่าคำบางคำก็เปลี่ยนโลกได้ ถ้าเราเริ่มเห็นว่าบางเรื่องขวางหูขวางตา ไม่ถูกต้องดีงามและกำลังจะเข้าไปถามหาเหตุผล โดยเรามักจะพุ่งเข้าไปถามด้วยการเริ่มต้นประโยคว่า ‘ทำไม’ เช่น ทำไมถึงไม่ทำแบบนี้ล่ะ ทำไมถึงมาสาย ทำไมถึงไม่เชื่อกันบ้าง
 
จากคำว่าทำไม ลองเปลี่ยนเป็นคำว่า ‘อะไร’ เช่น อะไรทำให้เลือกตัดสินใจแบบนั้น อะไรเป็นเหตุผลของการมาสาย อะไรทำให้เลือกที่จะไม่ทำตามกัน เพราะการเริ่มต้นประโยคคำถามด้วยคำว่าทำไม มันจะเป็นคำที่ดึงทัศนคติของผู้พูดออกมาเร็วกว่าคำว่าอะไร ที่จะมีความยั้งคิดมากกว่า
ฉะนั้นเวลาเห็นอะไรที่ไม่เข้าท่าแล้วอดรนทนไม่ได้ ลองโยนคำว่าทำไมออกจากพจนานุกรมชีวิต เหลือเพียงคำว่าอะไร อาจทำให้พฤติกรรมที่ชอบชี้นิ้วสั่งคนอื่นของเราลดลง เผลอๆ อาจทำให้อยู่ร่วมกับคนอื่นด้วยความสุขสงบกว่าที่เคยเป็นก็ได้..
โฆษณา