25 ส.ค. 2021 เวลา 11:00 • ไลฟ์สไตล์
แก้ปัญหาอย่างไรดี? เมื่องานที่ทำยิ่งทำให้รู้สึกว่า “เราเก่งไม่พอ”
.
.
หลายปีที่ผ่านมานี้มีการพูดถึง “Imposter Syndrome” (หรืออาการที่เรารู้สึกว่าเราไม่เก่ง) กันมากมายโดยเฉพาะบนโลกออนไลน์ หลายคนเริ่มตระหนักได้ว่าความรู้สึก ‘ฉันดีไม่พอ’ ที่เรารู้สึกนี่แหละ มีสาเหตุมาจาก Imposter Syndrome ชัดๆ!
.
พอเริ่มมีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอาการนี้มากขึ้น เราก็พอจะรู้แล้วว่าจะรับมือกับความรู้สึกนี้อย่างไร แต่บางทีการแก้ปัญหาที่ตัวเราก็ดูจะไม่ได้ผลเท่าไรนัก เมื่อปัจจัยภายนอกอย่าง ‘การทำงาน’ ทำให้เรารู้สึกว่าอาการนี้มันยิ่งแย่
.
จะหาทางออกอย่างไรเมื่อการทำงานยิ่งทำให้เราสงสัยในความสามารถของตัวเอง?
.
.
17
Imposter Syndrome ฉบับพอสังเขป
.
สำหรับคนที่ยังไม่เคยรู้จักมาก่อน ‘Imposter Syndrome’ คืออาการที่เรารู้สึกว่าจริงๆ แล้วเราไม่ได้เก่งอะไรเลย ที่ประสบความสำเร็จได้นี้ก็เพราะโชคดีล้วนๆ และเรากลัวเหลือเกินว่าคนอื่นจะรู้ความลับนี้เข้า!
.
แม้จะนิยมเรียกกันว่า Syndrome แต่จริงๆ แล้วอาการนี้ก็ไม่เข้าข่ายว่าเป็นโรคเสียทีเดียว เพราะถ้าหากขึ้นชื่อว่า Syndrome แล้วต้องวินิจฉัยได้ ในงานวิจัยต่างๆ จึงมักเรียกความรู้สึกนี้ว่า ‘Imposter Phenomenon’ เสียมากกว่า
.
ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไร อาการนี้ก็เกิดขึ้นกับมนุษย์เราจริงๆ และเราไม่ได้คิดไปเอง งานวิจัยหนึ่งพบว่ากว่า 70% ของคนเราจะรู้สึกถึงอาการ ‘เราไม่เก่ง’ ในช่วงหนึ่งของชีวิต
.
.
10
แล้วผลเสียที่ตามมาคืออะไร?
.
ความข้องใจในตัวเองนี้ส่งผลออกเป็นสองประเภท คือแบบ Overachievement กับ Underachievement
.
ชาว Overachiever (คนที่ประสบความสำเร็จมากๆ) ที่มีอาการ Imposter Syndrome มักจะข้องใจในความสามารถของตัวเองตลอด ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จมากเพียงใด
และในการทำอะไรบางอย่าง พวกเขาจะเตรียมตัวแบบทั้งวันทั้งคืนจนเกินพอดี เพราะอยากให้ออกมา ‘สมบูรณ์แบบ’
.
แม้จะฟังดูดีเพราะการเตรียมพร้อม ย่อมดีกว่าไม่เตรียมอะไรเลย แต่อย่าลืมว่าระหว่างทาง พวกเขาเหล่านี้ต้องเสียสุขภาพจิตและสุขภาพกายไปด้วย
.
ส่วนกลุ่ม Underachiever คือกลุ่มคนที่มักกลัวว่าการกระทำบางอย่าง จะเป็นการเปิดเผยให้คนอื่นรู้ว่าจริงๆ แล้วเราไม่เก่ง หรือไม่ก็กลัวว่าผลลัพธ์จะออกมาไม่สมบูรณ์แบบ พวกเขาจึงเลือก ‘ไม่ทำ’ เลยดีกว่า คนเหล่านี้จึงไม่ค่อยได้พัฒนาตัวเองในด้านใหม่ๆ เพราะมักจะติดอยู่ใน Comfort Zone
.
10
ไม่ว่าสุดท้ายเราจะกลายเป็นชาว Overarchiever หรือ Underarchiever ความข้องใจในตัวเองนี้ล้วนส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตทั้งนั้น หลายงานวิจัยบ่งชี้ว่า Imposter Syndrome เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรควิตกกังวลหรือโรคซึมเศร้า
.
.
เมื่อการทำงานยิ่งกระตุ้นให้เกิด “Imposter Syndrome”
.
ทำงานหนัก เตรียมตัวเยอะ พยายามจนไม่พักไม่ผ่อน ไม่มีใครได้ประโยชน์จากอาการเหล่านี้ของ Imposter Syndrome ไปมากกว่า ‘โลกของการทำงาน’
.
หลายบริษัทคาดหวังให้พนักงานทำงานแบบ ‘Exceed Expectation’ หรือทำงานออกมาดีเหนือความคาดหมาย แม้จะไม่ได้มีการพูดตรงๆ แต่เราย่อมรู้ดีว่าพนักงานที่ทำงานออกมากลางๆ ตามมาตรฐาน คือพนักงานที่ไม่ได้โบนัส
.
เงินรางวัล ค่าคอมมิชชัน หรือค่า Incentive สิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างมาเพื่อจูงใจให้พนักงานทำงานหนักยิ่งขึ้น ความกดดันและการแข่งขันในที่ทำงานนี้เองทำให้พนักงานรู้สึกว่าตัวเองดีไม่พอ
.
3
ในฐานะพนักงาน เราจะดูแลตัวเองได้อย่างไร
.
Imposter Syndrome ทำให้เรามองข้าม ‘ความสำเร็จ’ ที่ทำมาทั้งหมดไปอย่างไม่มีเหตุผล ดังนั้นสิ่งที่ช่วยให้เราต่อต้านความรู้สึกนี้ได้คือการย้ำเตือนตัวเองเป็นประจำ อย่างการจดบันทึกทุกความสำเร็จ ทุกความพยายามและสิ่งที่เราภูมิใจในตัวเองไว้
.
อีกวิธีที่จะช่วยได้คือการใส่ใจตัวเอง (Self-care) สำหรับคนที่เป็น Imposter Syndrome นั้น ‘ตัวเอง’ อยู่อันดับท้ายในลิสต์สิ่งที่ต้องดูแลเสมอ เราตกอยู่ในวังวนของความรู้สึกไม่เก่ง จึงทำงานหนักให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น แต่ก็จบลงด้วยความรู้สึกว่าตัวเองดีไม่พอเช่นเดิม หากเราไม่ใส่ใจตัวเอง เราจะวิ่งวนไปวนมาเช่นนี้จนสุขภาพย่ำแย่เอาได้
.
เราควรหันมาใส่ใจตัวเองมากขึ้นเหมือนที่เราใส่ใจงานหรือใส่ใจคนอื่น หัดสังเกตว่าอะไรที่กระตุ้นให้เรารู้สึกดีไม่พอ และจะดูแลตัวเองอย่างไร หรือเมื่อไรคือเวลาที่ต้องยื่นมือขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น
.
6
แล้วบริษัทจะช่วยพนักงานอย่างไรได้บ้าง
.
บริษัทต้องใส่ใจพนักงานมากขึ้นทั้งในด้านของสุขภาพกายและใจ อาจเริ่มด้วยการสร้างบรรยากาศในการทำงานให้ดี ลดการแข่งขัน ลดความกดดันและแสดงให้พนักงานเห็นเป็นตัวอย่างว่าเราทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ มีขึ้น มีลง และมีการทำผิดพลาดกันทั้งนั้น
.
การใส่ใจฟังความรู้สึกของพนักงานก็สำคัญ บางครั้ง ‘ภาษา’ ที่ใช้ในการทำงาน อย่างกฎใหม่ๆ แนวคิดของบริษัท หรือคำพูดให้กำลังใจก็กดดันพนักงานโดยที่เราไม่รู้ตัว (เช่น “บริษัทเรามุ่งหน้าตามหาความสมบูรณ์แบบ” หรือ “เราสร้างแต่สิ่งที่ดีที่สุด”)
.
การออกมาแสดงความรับรู้เรื่อง ‘อคติ’ ในที่ทำงานก็สำคัญ เราทราบกันดีว่าแม้ปัจจุบันจะมีความเท่าเทียมมากขึ้นในที่ทำงาน แต่เพศ เชื้อชาติ และอายุ ก็ยังส่งผลต่อการถูกปฏิบัติอยู่ดี
.
11
ยกตัวอย่างเช่น หัวหน้าที่เป็นผู้ชายมักจะมีความรู้สึกกดดันน้อยกว่าหัวหน้าที่เป็นผู้หญิง เพราะในโลกของการทำงาน มี Role Model ชายให้เลือกเอาเป็นแบบอย่างจำนวนมาก ตั้งแต่อดีต CEO เจ้าอารมณ์ของ Microsoft อย่าง Steve Ballmer หรือ CEO พูดน้อยเรียบร้อยของ Google อย่าง Sundar Pichai ไปจนถึง CEO สายชิวอย่าง Mark Zuckerberg ที่เรารู้กันดีว่าชอบสวมฮูดดี้กับกางเกงยีนไปทำงาน
.
ความหลากหลายนี้ทำให้ CEO ชายมีอิสระในการเลือกรูปแบบการทำงานหรือการวางตัว ในขณะเดียวกันภาพจำของ CEO หญิงกลับมีแบบเดียวเท่านั้น ซึ่งก็คือหญิงมั่นในชุดสูทสุดเนี้ยบและรองเท้าส้นสูง มือซ้ายถือ Starbucks ส่วนมือขวาถือ Macbook
.
ด้วยข้อจำกัดที่มาพร้อมเพศ เชื้อชาติ หรืออายุ ทำให้คนบางกลุ่มรู้สึกกดดันกว่าคนอื่น อย่างน้อยที่บริษัทจะช่วยได้คือการให้กำลังใจ และทำความเข้าใจต่อความท้าทายที่คนกลุ่มนี้ต้องเจอ
.
.
6
เราใช้เวลาในชีวิตไปกับการทำงานเป็นจำนวนมาก หากช่วงเวลาเหล่านี้ไม่ทำให้เรารู้สึกว่า ‘เราเก่งไม่พอ’ คงจะดีไม่น้อยและความสุขโดยรวมของชีวิตคงเพิ่มขึ้น ดังนั้นอย่าลืมใส่ใจความรู้สึกตัวเองให้มากขึ้นและพาตัวเองให้ห่างไกลจาก Imposter Syndrome กันเถอะนะ
.
นอกจากให้กำลังใจตัวเองแล้ว อย่าลืมให้กำลังใจคนรอบข้างด้วย
เพราะไม่มีใครอยากรู้สึกว่าตัวเองดีไม่พอหรอก มาคอยย้ำเตือนกันและกันดีกว่า ว่าจริงๆ แล้วพวกเราน่ะเก่งแค่ไหน
.
.
2
เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
- เช็ก 7 นิสัย ที่ทำคุณเสียความมั่นใจและมี Low Self-esteem โดยไม่รู้ตัว https://bit.ly/3ygyRgu
.
.
อ้างอิง:
.
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#softskill
โฆษณา