25 ส.ค. 2021 เวลา 08:00 • ข่าว
#explainer ความตายอันน่าสยดสยอง ของผู้ต้องหาคดียาเสพติด ที่ถูกตำรวจจากสภ.เมืองนครสวรรค์ อย่างน้อย 7 คน จับเอามือไขว้หลัง แล้วเอาถุงพลาสติกมาครอบหัว แต่สุดท้ายกลับทำให้ผู้ต้องหาเสียชีวิตในเขตพื้นที่ของสถานีตำรวจ
นี่เป็นเรื่องที่สร้างความสลดใจให้กับคนในสังคมไทย นั่นเพราะอาชีพตำรวจ เป็นอาชีพที่ต้องยึดถือกฎหมายเป็นสำคัญ แต่คุณกลับใช้อำนาจของตัวเอง ในการรีดไถเงินจากผู้อื่น มันเป็นเรื่องที่ผิดเพี้ยน แปลกประหลาดเป็นอย่างมาก
ณ เวลานี้ มีการออกหมายจับแล้วก็จริง แต่สังคมกำลังจับตาดูการคลี่คลายคดีอย่างใกล้ชิด ซึ่งถ้าทุกอย่างไม่กระจ่างพอล่ะก็ กระแสสังคมคงไม่ยอมจบง่ายๆแน่ นั่นจะทำให้ภาพลักษณ์ของตำรวจ ที่วิกฤติอยู่แล้ว จะยิ่งเลวร้ายลงไปกว่านี้อีก
สำหรับการเสียชีวิตของผู้ต้องหาครั้งนี้ นอกเหนือจากความโหดเหี้ยมแล้ว มีอะไรบ้างที่เราได้เรียนรู้กับเหตุการณ์ที่นครสวรรค์ครั้งนี้
2
------------------------------
[ 1- ประชาชนยังเชื่อใจตำรวจได้แค่ไหน ]
ตำรวจคือผู้ถืออำนาจรัฐ ดังนั้นประชาชนจึงคาดหวังให้ตำรวจ ยึดถือกฎหมายอย่างหนักแน่น เห็นผู้กระทำผิดก็จับกุม ทำทุกอย่างตามขั้นตอน แต่สิ่งที่ ตำรวจจากสภ.เมืองนครสวรรค์ทำ คือ เห็นผู้กระทำผิดแล้วก็พยายามรีดไถเงินจากอีกฝ่ายให้ได้ โดยเอาถุงพลาสติกคลุมหัวเพื่อเรียกเงิน 2 ล้านบาท
ถ้าหากผู้ตาย ยอมจ่าย 2 ล้านจริง แปลว่าตำรวจกลุ่มนี้จะยอมปล่อยตัวไป โดยไม่สนใจว่าอีกฝ่ายทำความผิดจริงหรือไม่ เหมือนกับว่าตำรวจไม่สนใจถูกหรือผิดอีกแล้ว แต่แค่จะทำ ในสิ่งที่ตัวเองและพวกพ้องได้ประโยชน์มากที่สุดเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ ตำรวจเคยถูกตั้งคำถามเรื่องความไม่โปร่งใสมาตลอด ทั้งคดีบอส อยู่วิทยา, คดีตำรวจรับส่วยคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย รวมถึงคดีบ่อนพระราม 3 ยิ่งมาบวกกับเรื่องคลุมหัวฆ่าอีก ทำให้ความเชื่อใจของประชาชนที่มีต่อตำรวจลดลงไปจากเดิมอีกมาก
1
ไม่แปลกเลยที่ ความเห็นในโลกออนไลน์ตอนนี้ บอกว่าถ้าตำรวจทำแบบนี้ ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับโจรเลย โจรเรายังรู้ว่าคิดร้ายแน่ แต่ตำรวจอยู่ในคราบของคนที่จะรักษาความปลอดภัยให้สังคม แต่กลับหาช่องว่างมากอบโกยผลประโยชน์เสียเอง
3
------------------------------
1
[ 2- ผู้ตัดสินโทษคนผิดคือศาล ไม่ใช่ตำรวจ ]
1
ผู้เสียชีวิตจากคดีนี้คือผู้ต้องหาคดียาเสพติด แน่นอนว่าถ้าผิดจริง ก็ต้องมีโทษทางกฎหมายอยู่แล้ว แต่หน้าที่ของตำรวจคือจับกุม และส่งสำนวนให้อัยการ เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิพากษาต่อไป โดยโทษจำคุกหรือปรับเป็นจำนวนเท่าไหร่ เป็นหน้าที่ที่ศาลจะตัดสิน
ตามหลักแล้ว ต่อให้อีกฝ่ายเป็นผู้กระทำผิดจริง ตำรวจก็ไม่สามารถใช้กำลังจัดการปัญหาแบบนี้ได้ และนี่เรายังไม่รู้ด้วยว่า สุดท้ายแล้วเขาผิดจริงหรือไม่ เพราะผู้ต้องหายังไม่มีโอกาสสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมด้วยซ้ำ
2
------------------------------
[ 3- วัฒนธรรมย้ายไปช่วยราชการ]
เมื่อวานนี้ (24 สิงหาคม) โฆษกสถานีตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์กล่าวถึงคดีนี้ว่า "ถ้าพบว่าเป็นการกระทำผิด จะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจให้มาช่วยราชการ หรือออกจากราชการไว้ก่อน" คำถามก็คือ เมื่อพบว่ามีความผิดโต้งๆ ขนาดนี้ ยังจำเป็นที่จะต้องใช้คำว่า "ให้มาช่วยราชการ" อีกอย่างนั้นหรือ
1
สังคมกำลังสงสัยว่า ถ้าคนทำความผิดจากที่หนึ่ง เด้งไปที่อื่น มาช่วยราชการในที่ใหม่ แต่ยังอยู่ในระบบ และประกอบอาชีพเป็นตำรวจอยู่ มันจะคัดกรองคนเลวออกจากคนดีได้อย่างไร
ขณะที่อีกประเด็นที่เกี่ยวข้องกัน คือโลกออนไลน์ กระตุ้นผู้บังคับบัญชาตำรวจว่า ต้องไล่คนในคลิปทั้ง 7 ออกจากราชการให้หมด อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ ถ้าอ้างอิงจากหลักสากล ต่อให้มีคลิปชัดขนาดไหน ก็ยังคงต้องสันนิษฐานว่าผู้กระทำผิด เป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน แล้วเข้าสู่กระบวนการสอบสวนอยู่ดี ดังนั้นในขั้นตอนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ยอมไล่คนในคลิปออกทันที แม้จะดูขัดใจประชาชน แต่ก็ถือว่าทำได้ถูกต้องแล้วตามกระบวนการที่ควรจะเป็น
15
------------------------------
[ 4- ตำรวจที่ร่ำรวยผิดปกติ สมควรได้รับการตรวจสอบ ]
1
พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หนึ่งในตำรวจที่อยู่ในคลิปเหตุการณ์คุมถุงพลาสติก มีฉายาว่า "ผู้กำกับโจ้เฟอร์รารี่" นั่นเพราะเขามีรถสปอร์ตหลายคัน รวมถึงมีรถลัมบอร์กินี่ รุ่น Aventador LP720-4 ที่ผลิตมาแค่ 100 คันทั่วโลก โดยราคาที่เขาได้มาสูงถึง 46 ล้านบาท
2
คำถามที่น่าสนใจก็คือ เงินเดือนของตำรวจยศพันตำรวจเอก ในพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ อยู่ที่ 19,860-70,360 บาท เท่านั้น แปลว่า ต่อให้ได้เงินเดือนเต็มแม็กซ์ 7 หมื่นบาททุกเดือน ก็เป็นไปได้ยากมาก ที่เขาจะหารายได้สูงถึงขนาดที่ซื้อรถสปอร์ตได้หลายๆคัน
2
สำหรับ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ เมื่อมีเรื่องการรีดไถเงินแบบนี้ออกมา ย่อมไม่แปลกที่สังคมจะตั้งคำถามว่า ที่ผ่านมา ที่คุณทำงานสายยาเสพติดมาตลอด คุณมีเอี่ยวใดๆ กับการรีดไถหรือไม่ ซึ่งถ้าเอาจริงๆ เมื่อเห็นความร่ำรวยผิดปกติ ควรจะมีคำถามแต่แรกแล้วว่า ตำรวจท่านนั้นใช้วิธีไหน ในการสร้างความมั่งคั่งขึ้นมา
2
------------------------------
1
[ 5- นิติวิทยาศาสตร์ โปร่งใสแค่ไหน? ]
ในอดีต พยานหลักฐาน ที่มาจากการตรวจพิสูจน์โดยนิติวิทยาศาสตร์ จะมีน้ำหนักมากในการพิจารณาคดีของศาล เพราะเป็นการนำความรู้ศาสตร์ต่างๆ รวมถึงการแพทย์มาเพื่อพิสูจน์คดีความ แต่จากกรณีฆ่าด้วยถุงครอบหัว สิ่งที่น่าตกใจมาก คือ ในเอกสาร "หนังสือรับรองความตาย" ที่ออกโดยโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ นครสวรรค์
3
ระบุว่าการตายของผู้ต้องสงสัยเกิดขึ้นเพราะ "พิษจากสารแอมเฟตามีน" ยิ่งประกอบกับการร้องเรียนของตำรวจรายหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์เปิดเผยว่า "ผู้กำกับเฟอร์รารี่" ได้สั่งให้เอาศพไปโรงพยาบาลแล้วบอกกับหมอว่า 'มันเสพยาเกินขนาด'
1
สุดท้ายถ้าเรื่องนี้ไม่แดงออกมา คนตายก็จะถูกเข้าใจไปตลอด ว่าตายเพราะเสพยาเกินขนาด ทั้งๆที่ ถ้าดูจากคลิปในกล้องวงจรปิดก็จะเห็นชัดเจนว่าสาเหตุคืออะไร คำถามคือถ้าหากตำรวจสามารถระบุสาเหตุการตายได้ตามใจชอบ โดยที่นิติวิทยาศาสตร์ หรือการแพทย์ ไม่มีความหมายอะไรเลย แล้วประชาชนจะวางใจอะไรได้อีก
3
จริงอยู่มีการแก้ต่างของฝั่งแพทย์ว่า ในใบรับรองการตาย มีเวลาจำกัด ทำให้แพทย์ต้องระบุไปก่อนในข้อมูลเท่าที่ทำได้ แล้วพอผลการชันสูตรตัวเต็มออกมา แพทย์อาจจะแก้สาเหตุการตายเป็นอย่างอื่นได้ แต่ก็มีคำถามจากประชาชนสวนกลับไปว่า ลองเรื่องนี้ "ไม่มีคลิป" โผล่ออกมาล่ะก็ ผลชันสูตรตัวเต็ม ก็เป็นไปได้สูงมากที่จะเป็นเสพยาเกินขนาด ตามที่ระบุไว้แต่แรกนั่นล่ะ
สุดท้ายในเรื่องนี้ สังคมจึงตั้งคำถามว่า คดีต่างๆ ที่มีการสรุปสาเหตุการตายออกมาว่าคืออะไรสักอย่าง จริงๆ อาจจะโดนบิดเบี้ยวเหมือนอย่างคดีนี้ก็ได้
------------------------------
[ 6- ขนาดมีกล้องยังไม่เกรงกลัวกฎหมาย แล้วถ้าไม่มีจะขนาดไหน? ]
1
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตำรวจทั้ง 6 นาย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารผู้ต้องสงสัย รู้ทั้งรู้ว่า มีกล้องวงจรปิดอยู่ที่สถานีตำรวจ แต่ก็ยังกล้าลงมืออย่างอุกอาจโดยไม่เกรงกลัว และเมื่อผู้ต้องหาเสียชีวิตแล้ว ยังมีการสั่งให้ไปลบภาพจากกล้องวงจรปิดเพื่อทำลายหลักฐาน
1
ขนาดมีกล้องยังไม่กลัว แล้วลองคิดดูว่าในพื้นที่ ที่ไม่มีกล้อง และไม่มีหลักฐานสืบสาวได้ ตำรวจจะสามารถใช้ความรุนแรงแค่ไหน
นี่คือสาเหตุที่สหรัฐอเมริกา ตำรวจจะมีกล้อง Body Cam ติดตัวอยู่กับชุดตำรวจ เวลาลงไปปฏิบัติหน้าที่ ก็จะเห็นชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้น มีหลักฐานแน่นหนา เพื่อเป็นการปกป้องตัวตำรวจเอง และปกป้องผู้ต้องหาด้วย ว่าการใช้กฎหมายเป็นไปอย่างถูกต้อง ไม่มีนอกมีใน ไม่มีการใช้อำนาจรัฐ ทำร้ายคู่กรณีอย่างเกินกว่าเหตุ ซึ่งที่ไทย ยังไม่มี Body Cam ในลักษณะนั้น
3
เรื่องนี้ โยงไปถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมตั้งแต่ช่วงต้นปี ที่คฝ. จะตีกรอบนักข่าว ให้ทำข่าวได้ในพื้นที่จำกัดเท่านั้น เฉพาะแนวกั้นของคฝ. อย่างเดียว จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าไม่ปล่อยให้นักข่าว สามารถเก็บภาพ และทำข่าวได้อย่างอิสระ ยิ่งอาจเปิดโอกาสให้ตำรวจใช้ความรุนแรงได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องเกรงใจใครก็เป็นได้
3
------------------------------
2
[ 7- โครงสร้างของระบบตำรวจไทย เอื้อให้ละเมิดจริยธรรม ]
รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ จากโครงการ 'จริยธรรมในวิชาชีพตำรวจ' โดย พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงศักดิ์ และคณะ ที่ศึกษาข้อมูลจากกลุ่มตำรวจตัวอย่าง 567 คนทั่วประเทศ เปิดเผยว่า ด้วยค่านิยมที่ปลูกฝังกันมาจากตำรวจรุ่นสู่รุ่น จึงมองว่าการละเมิดจริยธรรม เป็นสิ่งที่ทำได้โดยปกติ
3
- 76% ของกลุ่มตัวอย่าง มองว่า การละเมิดจริยธรรมของตำรวจเป็นเรื่องธรรมดา จึงกระทำผิดเพื่อให้เอาตัวรอดต่อไปให้ได้ โดยเฉพาะในกรณีที่โดนผู้บังคับบัญชากดดัน และตำรวจก็เชื่อว่า ค่านิยม 'ทำตามนายสั่ง' ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
1
- กลุ่มตัวอย่างเชื่อว่า การก้าวหน้าในอาชีพตำรวจไม่เกี่ยวกับความสามารถ แต่อยู่ที่เส้นสาย และตัวเงินในการวิ่งเต้นขอตำแหน่ง และเมื่อต้องใช้เงินในการซื้อตำแหน่งมา พอได้ตำแหน่งก็ทำการทุจริตซ้ำเรื่อยๆ เพื่อกอบโกยคืนให้เยอะที่สุด จากที่ตัวเองเคยต้องจ่ายไป
1
- 82% ของตำรวจกลุ่มตัวอย่าง ระบุว่าแทบไม่มีตำรวจคนไหน โดนลงโทษทางวินัยจากการละเมิดจริยธรรม หรือถ้ามีคนโดนลงโทษจริง บทลงโทษก็จะเบามาก ยิ่งส่งเสริมให้ตำรวจ ไม่เกรงกลัวต่อการทำผิด
3
เราจะเห็นว่า เมื่อโครงสร้างของตำรวจเป็นแบบนี้ การกระทำผิดเช่นข่มขู่ และรีดไถประชาชน จึงกลายเป็นถูกยอมรับให้เกิดขึ้นได้ ทั้งๆที่ ถ้าเป็นในประเทศอื่น นี่เป็นเรื่องที่ใหญ่โตและรุนแรงอย่างมากจริงๆ
------------------------------
[ 8- การตรวจสอบตำรวจด้วยกัน เชื่อถือได้ไหม ]
กรณีที่สภ.นครสวรรค์ กลายเป็นข่าวใหญ่ระดับประเทศได้ นั่นเพราะมี Whistle-Blower หรือผู้แจ้งเบาะแส เป็นนายตำรวจรายหนึ่งที่รับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น จึงส่งคลิปวีดีโอ ให้กับทนายษิทรา เบี้ยบังเกิด นำไปแฉต่อสาธารณชน
สิ่งที่สะท้อนให้เราเห็นจากเรื่องนี้คือ ความจริงตำรวจมีระบบตรวจสอบภายในอยู่แล้ว คือสำนักงานจเรตำรวจแห่งชาติ แต่ในเคสนี้ เราจะเห็นได้ว่า ตำรวจผู้แจ้งเบาะแส ซึ่งเป็นตำรวจชั้นผู้น้อย ก็ไม่ได้มีความมั่นใจในระบบตรวจสอบขององค์กรตัวเองเหมือนกัน จึงต้องเอาคลิปไปปล่อยให้กับทนายษิทรา ซึ่งเป็นคนที่อยู่นอกระบบตำรวจแทน
2
เรื่องนี้ จึงน่าสนใจว่าทำไมตำรวจชั้นผู้น้อยจึงไม่มั่นใจในระบบการตรวจสอบของตำรวจด้วยกัน และมองว่า ทนายเอกชน เป็นที่พึ่งได้ยิงกว่าตำรวจด้วยกันเองเสียอีก
1
------------------------------
1
[ 9- กฎหมายป้องกันการทรมาน ยังไม่คืบหน้า ]
หนึ่งในกฎหมายที่จะช่วยป้องกันการถูกทรมานได้อย่างดีที่สุด คือ "ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย" ที่ภาคประชาชนผลักดันเรื่องนี้เข้าสภาไปตั้งแต่ วันที่ 8 กรกฎาคม 2563 แล้ว แต่ปัจจุบันผ่านมา 1 ปีเศษ สภายังไม่มีวี่แววที่จะหยิบร่างกฎหมายนี้ เข้ามาพิจารณาเลย
3
ความเห็นจากพรรคก้าวไกลระบุว่า "ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าผู้มีอำนาจในสังคม ไม่เคยคิดว่าการซ้อมทรมาน และการอุ้มหาย คือการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" ซึ่งถ้า มีกฎหมายต่อต้านการทรมานออกมา อย่างน้อยผู้ต้องหาก็จะทราบสิทธิ์ของตัวเอง ว่าแม้จะกระทำผิดมา แต่ก็ไม่มีสิทธิ์ที่ตำรวจจะใช้กำลังเพื่อทรมานกันแบบนั้น
[10- การปฏิรูปตำรวจไม่สามารถทำได้จริง ]
ในเมื่อโครงสร้างของตำรวจมีปัญหา และเอื้อให้ทำการทุจริต จึงมีการเสนอเรื่อง "ปฏิรูปตำรวจ" ขึ้นมา เพื่อรื้อระบบและแก้ไขทุกอย่างให้ดีขึ้น แต่ในประวัติศาสตร์ของไทย เคยพยายามปฏิรูปกิจการตำรวจมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยสำเร็จ
นับจากปี 2549 ในยุคของรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ มาจนถึงยุคพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการพยายามยื่นข้อเสนอปฏิรูปตำรวจมากเกินกว่า 20 ครั้ง แต่ไม่มีฉบับไหน ที่ครม.จะพิจารณาให้เป็นกฎหมายได้ ทุกอย่างเลยคาราคาซังอยู่แบบนี้ ไม่มีการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมเสียที
พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล นักอาชญาวิทยา อธิบายว่า "การปฏิรูปตำรวจมีการพูดถึงมาตลอด มีการเสนอร่างปฏิรูปไปนานแล้ว โดยมีสอดไส้เรื่องจริยธรรมที่ถูกต้องของตำรวจด้วย แต่สุดท้ายก็ยังไม่คืบหน้ามากนัก"
1
[ บทสรุปคดีคลุมหัวฆ่า บทพิสูจน์ตำรวจไทย ]
คดีถุงคลุมหัวสังหาร ในสถานีตำรวจครั้งนี้ มีอิมแพ็กต์อย่างมากมายเกิดขึ้นแน่นอนต่อจากนี้ไป เพราะประชาชนจะเชื่อใจตำรวจน้อยลง และการปฏิบัติงานในอนาคตจะยากมากยิ่งขึ้น
ขณะที่ในโลกออนไลน์ แฮชแท็ก #ผู้กำกับโจ้ ติดเทรนด์อันดับ 1 ในประเทศไทย และคลิปวีดีโอฉากคลุมถุงฆ่า ก็โดนกระจายไปทั่วโลกแบบ Viral ซึ่งนี่ไม่เป็นผลดีเลย ต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาชาวโลก
นอกจากจะต้องจับคนร้ายมาให้ได้แล้ว ตำรวจต้องอธิบายอย่างชัดเจนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย ว่าจริงๆแล้ว ปัญหามันอยู่ที่ตัวบุคคลหรือ เป็นเพราะโครงสร้างในองค์กร มันเอื้อให้ตำรวจกระทำการทุจริต และกล้าโหดเหี้ยมกับผู้ต้องหาได้ถึงขนาดนั้น
2
ถ้าหากตำรวจไม่สามารถจัดการปัญหาหลังบ้านของตัวเองได้ล่ะก็ อนาคตก็อาจมีผู้กำกับโจ้คนต่อไป โผล่ออกมาอยู่ดี
1
#workpointTODAY
#สาระความรู้เพื่อวันนี้
ติดตามรายการของ workpointTODAY ทาง YouTube https://bit.ly/2YDfyiK

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา