26 ส.ค. 2021 เวลา 00:07 • หุ้น & เศรษฐกิจ
รัฐบาลจีนกำลังทำอะไร ทำไมหุ้นจีนถึงร่วงหนัก
1
วันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้มีการผ่านร่างข้อกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Information Protection Law หรือ PIPL) โดยจะมีการเริ่มใช้นับตั้งแต่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป
1
รัฐบาลจีนกำลังทำอะไร ทำไมหุ้นจีนถึงร่วงหนัก
โดยสาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าว คือ บริษัทที่ต้องการเก็บข้อมูลของผู้ใช้จะต้องมีจุดประสงค์ที่ชัดเจนเเละสมเหตุสมผล ต้องได้รับการยินยอมจากผู้ให้ข้อมูล และต้องกำหนดแนวทางป้องกันข้อมูลรั่วไหลหากมีการถ่ายโอนข้อมูลออกนอกประเทศ
2
การที่กฎหมายนี้ออกมาแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจีนยังคงเดินหน้าควบคุมบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ในเดือนกรกฎาคม จีนก็ได้มีคำสั่งให้ลบแอพพลิเคชั่นเรียกรถโดยสารอย่าง DiDi ออกจาก App Store ในประเทศจีนหลังจากเข้าทำ IPO ในตลาดหุ้น NYSE เพียงไม่กี่วัน เนื่องจากพบว่าบริษัทมีการเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานแบบผิดกฎหมาย
ข้อมูลจาก Financial Times ระบุว่าการที่รัฐบาลจีนเข้ามาจัดระเบียบบริษัท Didi Chuxing นี้ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเป็นอย่างมากและทำให้มหาเศรษฐีในประเทศจีนหลายคนมีความมั่งคั่งลดลง
ตัวอย่างเช่น Pony Ma ผู้ก่อตั้ง Tencent บริษัทไอทีและเกมยักษ์ใหญ่ สูญเสียความมั่งคั่งกว่า 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เกือบ 400,000 ล้านบาท) หรือลดลงกว่า 22% ของความมั่งคั่งโดยรวม ส่วน Jack Ma เจ้าของบริษัทเว็บไซด์ขายของออนไลน์ชื่อดังอย่าง Alibaba ก็มีความมั่งคั่งลดลงเช่นกันที่ 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 86,000 ล้านบาท) ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน
3
นอกจากนี้ถ้าหากไปดูดัชนีหุ้นเทคโนโลยีจีนที่จดทะเบียนในสหรัฐ (Nasdaq Golden Dragon China Index) นับตั้งแต่มีการจัดระเบียบจนถึงตอนนี้ ราคาหุ้นกลุ่มนี้ได้ลดลงมากว่า 22% แล้ว
1
มหาเศรษฐีจีนมีความมั่งคั่งลดลง
📌 จีนมีแนวคิดที่จะลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ
1
ถ้าเข้าไปศึกษาในรายละเอียดว่าทำไมรัฐบาลจีนถึงได้เข้ามาจัดการดูแลอุตสาหกรรมเทคโนโลยีจะพบว่า ส่วนหนึ่งคาดว่าเกิดจากปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของประชากรจีนที่ยังแก้ไม่ได้
โดยข้อมูลจาก National Bureau of Statistics ในปี 2563 ระบุไว้ว่ากลุ่มประชากรที่ร่ำรวยที่สุด 20% แรกในจีนนั้นมีรายได้มากกว่า 80,000 หยวนต่อปี (ประมาณ 400,000 บาท) ซึ่งมากกว่าถึง 10 เท่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุด 20% ท้ายที่มีรายได้เพียงประมาณ 7,800 หยวนต่อปี (ประมาณ 39,600 บาท) นอกจากนั้นความห่างของรายได้นี้ดูเหมือนว่าจะไม่ลดลงเลยนับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา
1
และเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ช่องว่างระหว่างชนชั้นในประเทศจีนก็ถือว่ายังอยู่ในระดับที่สูง โดยประเทศสหรัฐอเมริกามีความห่างอยู่ที่ราว 8.4 เท่า ส่วนประเทศในยุโรปตะวันตกอย่างประเทศเยอรมนี และฝรั่งเศสมีความห่างแค่เพียงประมาณ 5 เท่า
1
รัฐบาลจีนนำโดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ตระหนักถึงปัญหานี้ดีและได้พูดถึงนโยบายกระจายรายได้ให้แก่ประชาชนทุกคน ภายใต้แนวคิด “ความมั่งคั่งร่วมกัน” หรือ “Common Prosperity” มาตั้งแต่ปี 2555 และในปีนี้เองก็เริ่มมีการพูดถึงเพิ่มขึ้นอย่างมาก
1
ความมั่งคั่งร่วมกันในความหมายของรัฐบาลจีน คือ การที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตได้และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นความร่ำรวยทั่วไปบนพื้นฐานขจัดความเหลื่อมล้ำและความยากจน ลดรายได้ส่วนเกินในกลุ่มคนและธุรกิจที่มีรายได้สูง และผลักดันให้นำรายได้ส่วนนี้แบ่งปันสู่สังคมโดยรวมมากขึ้น
หรือถ้าพูดให้ง่ายก็ คือ การปรับสมดุลเศรษฐกิจให้ธุรกิจรายเล็กรายน้อยสามารถลืมตาอ้าปากได้ ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มทุนใหญ่
ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ในประเทศจีน
ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเน้นย้ำนโยบาย “ความมั่งคั่งร่วมกัน”
📌 การผูกขาดตลาดและข้อมูลที่มากเกินไป
นอกจากความตั้งใจที่จะลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของรัฐบาลจีนเองแล้ว เรายังพบว่าทางการจีนมองว่าบริษัทเทคโนโลยีบางบริษัทมีการทำธุรกิจแบบผูกขาด ก่อให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจการชำระเงินผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ (Mobile Payment) ที่มีผู้ใช้งานกว่า 850 ล้านคนในจีน (กว่า 60% ของประชากรทั้งประเทศ) โดยถ้ารวมส่วนแบ่งตลาดของ 2 เจ้าใหญ่อย่าง Wechat Pay ที่เป็นเจ้าของโดยบริษัท Tencent และ Alipay ที่เป็นเจ้าของโดยบริษัท Ant Group เข้าด้วยกันจะพบว่า 2 บริษัทนี้กินส่วนแบ่งตลาดของทั้งตลาดไปมากถึง 94.4% เหลือพื้นที่ให้ผู้เล่นรายย่อยในตลาดนี้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
นอกจากนี้ประเด็นเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล (Data Security) ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลจีนกำลังแสดงความกังวลและเข้ามากำกับดูแล เนื่องจากในยุคสมัยนี้ข้อมูลถือว่าเป็นสิ่งที่มาค่ามาก และบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็มีการเก็บข้อมูลผู้ใช้เป็นจำนวนมากทั้ง ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรือแม้กระทั่งข้อมูลทางการเงิน และบริษัทบางรายได้มีการละเมิดสิทธิของผู้ใช้งานดังเช่น บริษัท Didi Chuxing อย่างที่ได้เล่าให้ฟังไปในตอนต้น และมีอีกกว่า 351 บริษัทที่เข้าข่ายทำผิดในลักษณะเดียวกัน
2
การผูกขาดในธุรกิจการชำระเงินผ่านระบบโทรศัพท์มือถือในจีน
📌 แนวโน้มการลงทุนหลังการจัดระเบียบของรัฐบาลจีน
บริษัท Soros Fund Management ที่ก่อตั้งโดย George Soros หรือที่เรารู้จักกันในนามพ่อมดการเงิน ก็ได้มีการขายหุ้นจีนออกมาจำนวนมาก เช่น บริษัท Baidu Inc. ขายออกมากว่า 77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2,500 ล้านบาท) และ บริษัท Vipshop Holding Ltd. 46.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,500 ล้านบาท)
ด้าน Masayoshi Son CEO ของบริษัท SoftBank และหนึ่งในผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในวงการสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีในจีน ก็ได้ออกมาประกาศว่าจะชะลอการลงทุนในหุ้นจีนไปอีกเป็นระยะเวลา 1 – 2 ปี และรอดูท่าทีว่ารัฐบาลจีนจะมีการออกกฎข้อบังคับออกมาอย่างไรต่อไป
ส่วน Cathie Wood CEO จากบริษัท ARK Invest ก็ได้ปรับลดสัดส่วนการลงทุนหุ้นจีนในกองทุนหลักอย่าง ARKK จาก 8% เหลือเพียง 0.2% (ณ วันที่ 9 สิงหาคม 2564) แต่อย่างไรก็ดีล่าสุดเมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมาก็มีรายงานว่า Cathie Wood ได้กลับเข้ามาทำการซื้อหุ้นเทคโนโลยีจีนอีกครั้งหนึ่งเนื่องจากเธอมองว่าหุ้นจีนยังมีความน่าสนใจในระยะยาวและเชื่อว่ารัฐบาลจีนไม่ได้มีความต้องการที่จะฉุดรั้งการเติบโตของบริษัทเหล่านี้ในอนาคต
📌 บทสรุป
ในอดีตประเทศสหรัฐอเมริกาก็เคยมีบริษัทที่มีอำนาจการผูกขาดมากอย่าง Standard Oil ที่เป็นผู้กลั่นน้ำมันกว่า 90% ของน้ำมันทั้งหมดในสหรัฐฯ และส่งขายเกือบทั่วประเทศ แต่สุดท้ายก็โดนรัฐบาลสหรัฐฯ เล่นงานจนต้องถูกแบ่งออกมาเป็น 34 บริษัทย่อยซึ่งต้องแข่งขันกัน
ประเทศจีนตอนนี้ก็เปรียบเสมือนกับสหรัฐฯในอดีต แต่เปลี่ยนจากมีบริษัทที่ผูกขาดด้านน้ำมันมาเป็นบริษัทที่ผูกขาดด้านเทคโนโลยีและข้อมูล ดังนั้นหากมองไปข้างหน้ารัฐบาลจีน ก็อาจจะใช้กฎหมายเพื่อแยกย่อยบริษัทที่ใหญ่เกินไปเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมแบบที่สหรัฐฯ เคยทำก็เป็นได้
และในตอนนี้ทางการจีนไม่ได้เพ่งเล็งไปแค่เฉพาะธุรกิจกลุ่มเทคโนโลยีแต่เพียงอย่างเดียวด้วย แต่ยังเหมารวมไปถึงธุรกิจด้านการศึกษาและอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้นเราคงจะต้องจับตามองต่อไปว่าทางรัฐบาลจีนจะมีนโยบายใหม่อะไรออกมาเพิ่มเติมต่อไป
#รัฐบาลจีน #ตลาดหุ้นจีน #ความเหลื่อมล้ำ #หุ้นเทคจีน
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ธีระภูมิ วุฒิปราโมทย์ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:
Bloomberg
Why China is cracking down on its technology giants
China’s wide income gap undercut spending as growth recovers
China’s escalating property curbs point to Xi’s new priority
China takes next step in taming big tech with personal data law

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา