26 ส.ค. 2021 เวลา 09:00 • สุขภาพ
สู้โควิดด้วย HealthTech ส่องเทคโนโลยีสุขภาพ-การรักษาทั่วโลก
สถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ตลอดเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ที่ทำให้โลกทั้งใบต้องเร่งหาวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากโรคร้ายชนิดใหม่นี้ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาวัคซีน, ยารักษา, การดูแลผู้ป่วย ฯลฯ
และที่น่าสนใจคือ เพื่อแก้ปัญหาให้ได้อย่างรวดเร็ว หลายบริษัททั่วโลกจึงมุ่งเน้นไปที่การนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และการรักษา หรือ HealthTech เข้ามาใช้ในการต่อกรกับโรคระบาดนี้
จนทำให้ในปัจจุบัน HealthTech ที่มีแนวโน้มเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตดีอยู่แล้ว กลายเป็นอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองมากขึ้นไปอีกทั้งในไทยและต่างประเทศ
ซึ่งหากมาดูมูลค่าของตลาด Telemedicine หรือระบบแพทย์ทางไกลในระดับโลก จะพบว่า ในปี 2562 มีมูลค่าอยู่ที่ 2.16 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 6.53 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2569 เติบโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 17.2%
โดยมีเอเชียแปซิฟิกเป็นตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตได้โดดเด่นมากที่สุดซึ่งมีมูลค่า 4.04 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 1.56 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2569 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 21.2% และคิดเป็น 24% ของมูลค่าตลาดรวม
ซึ่งถ้าเทียบกับประเทศไทย HealthTech เริ่มมีบทบาทมากยิ่งขึ้นใน 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2564 นี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า เม็ดเงินการใช้จ่ายสำหรับ HealthTech จะอยู่ที่ประมาณ 300-400 ล้านบาท และคาดว่าในระยะ 3-5 ปีข้างหน้าจะมีการเติบโตมากขึ้นอีก 10-12%
.
แล้ว HealthTech ช่วยในการต่อสู้กับโควิดเจ้าปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง?
ลองมาดูตัวอย่างของ HealthTech ที่เกิดขึ้นจริงและกำลังพัฒนาทั้งในไทยและต่างประเทศ ที่จะช่วยดูแลและรักษาผู้ป่วยโควิดในทุกๆ ระยะ ตั้งแต่ยังไม่ติดเชื้อ, เป็นกลุ่มเสี่ยง, ติดเชื้อแล้ว ไปจนถึงการรักษาและหายจากโรคโควิดกัน
[เมื่อ HealthTech ต้องช่วยคนที่ยังไม่ติดเชื้อ]
ไม่ใช่เพียงแค่การผลิตวัคซีนเท่านั้น แต่รัฐบาลของประเทศต่างๆ รวมถึงบริษัทเอกชนหลายแห่ง ต่างก็พัฒนาเทคโนโลยีที่ดูแลผู้คนตั้งแต่ในช่วงที่ยังไม่ติดเชื้อ ตัวอย่างเช่น
-ระบบติดตามบุคคล TraceTogether จากรัฐบาลสิงค์โปร์ ซึ่งรัฐจะมีเครื่องติดตามในรูปแบบโทเคน (Token) ให้บริการ โดยโทเคนนั้นสามารถเชื่อมต่อกับโทรศัพท์และโทเคนของคนอื่นๆ ด้วยสัญญาณบลูทูธ
ซึ่งหากมีคนติดโควิด รัฐจึงสามารถติดต่อกับโทเคนที่เคยใกล้ชิดกับผู้ป่วย และจะได้รับการแจ้งเตือนอย่างทันที นอกจากนี้ยังสามารถใช้งานร่วมกับ ‘SafeEntry’ หรือระบบเช็กอินแบบดิจิทัลของสิงคโปร์ คล้ายกับแพลตฟอร์ม ‘ไทยชนะ’ ในประเทศไทยนั่นเอง
-อีกเทคโนโลยีที่เริ่มเห็นมากขึ้น คือ Internet of Medical Things (IoMT) หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่ถูกสร้างโดยมีการฝังตัวของวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ซอฟต์แวร์ เซ็นเซอร์ และการเชื่อมต่อกับเครือข่าย เพื่อนำมาใช้ในงานด้านสุขภาพและทางการแพทย์
ยกตัวอย่างเช่น Smart Bed หรือเตียงอัจฉริยะซึ่งสามารถวัดค่าต่างๆ ระหว่างการนอนได้ เช่น อัตราการหายใจ ช่วงเวลาการหลับ การเคลื่อนที่ คุณภาพการหลับ โดยค่าต่างๆ เหล่านี้สามารถใช้ AI ในการตรวจสอบ และคาดการณ์ถึงอาการป่วยเป็นไข้รวมถึงการป่วยเป็นโควิดได้
-Telemedicine หรือการให้บริการด้านสาธารณสุขโดยบุคลากรทางการแพทย์ทางออนไลน์ อย่างเช่น การปรึกษาแพทย์ทางออนไลน์ ซึ่งในไทยก็มีหลายแอปพลิเคชันที่มีการให้บริการแตกต่างกัน เช่น DoctorA-Z หรือ Chiiwii การปรึกษาสุขภาพกับแพทย์ทั่วไป
นอกจากการบริการให้คำปรึกษาบนออนไลน์หรือมือถือ (Phone-based) ก็ยังมีการให้บริการด้านสุขภาพอีกด้านที่ให้บริการถึงหน้าบ้าน (Home-Based) เช่น Smile delivery service บริการสุขภาพศาสตร์แผนไทยถึงที่บ้าน และ Gocheck บริการตรวจโรคโควิดแบบ RT-PCR ได้ที่บ้าน เป็นต้น
[หยิบจับ HealthTech มาช่วยกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ]
สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสใกล้ชิดหรือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ นอกจากการนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาชุดตรวจประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การตรวจด้วย PCR, การตรวจโดยใช้แอนติเจน และการตรวจโดยใช้ลมหายใจ
อีกหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญที่ถูกนำมาช่วยกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อก็คือ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เพื่อช่วยในการคัดกรองอาการเบื้องต้นของกลุ่มเสี่ยง และสามารถคาดการณ์ถึงโอกาสการป่วยเป็นไข้ของผู้ป่วยได้
โดย AI ยังมีความสามารถในการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของค่าต่างๆ ในร่างกายที่ถูกตรวจวัดโดยอุปกรณ์ตรวจวัดทางชีวภาพ เช่น Everion อุปกรณ์สวมใส่กับต้นแขนที่มีเซ็นเซอร์ตรวจวัดทางชีวภาพระดับการแพทย์ ช่วยบอกถึงอุณหภูมิ อัตราการเต้นของหัวใจ ความดัน และอัตราการหายใจ
นอกจากนี้ ในไทยยังมี ‘AGNOS’ แอปพลิเคชั่นสำหรับตรวจอาการหรือโรคต่างๆ ด้วยตัวเอง โดยมีเบื้องหลังคือการใช้ AI ที่สร้างโดยวิศวกรจากมหาวิทยาลัย MIT และทีมแพทย์จากโรงเรียนแพทย์ชั้นนำในไทย ซึ่งนำ AI มาช่วยคัดกรองและระบุโรคเบื้องต้นได้ เพื่อนำไปสู่การตรวจในขั้นต่อๆ ไป
[เทคโนโลยีที่ช่วยผู้ติดเชื้อ]
สำหรับกรณีที่มีการติดเชื้อแล้ว HealthTech ถูกนำมาใช้ในการประเมินอาการเบื้องต้นของผู้ป่วย เพื่อช่วยในการคัดกรองว่าเป็นผู้ป่วยระยะหรือขั้นไหน เช่น ในไทยมีให้ทำแบบประเมินความเสี่ยงและแจ้งผู้ป่วยโควิดผ่านแชตบอทอย่าง Sabaideebot ในไลน์ หรือบนเว็บไซต์ bkkcovid-19
สำหรับการขนส่งผู้ป่วยโควิดโดยรถพยาบาล HealthTech ก็มีส่วนช่วยเหลือเหมือนกัน เช่น ระบบติดตามตำแหน่งรถพยาบาลพร้อมสัญญาณชีพของผู้ป่วย เพื่อให้แพทย์ได้ทราบรายละเอียดโดยรวมของผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถประเมินสถานการณ์และเตรียมการรักษาได้อย่างเหมาะสมและทันการณ์
เพื่อการบริการด้านสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพและช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดได้อย่างทันท่วงทีคลินิกและโรงพยาบาลต้องมีระบบจัดการผู้ป่วย จัดสรรบุคลากรและยา รวมถึงเวชระเบียนแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic health record)
ซึ่งตัวอย่างในไทยคือ Medisee หรือระบบบริหารจัดการคลินิก Clinic Management System (CMS) ที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการบริการ บริหารง่าย เชื่อมข้อมูลการรักษาและมีระบบนัดผู้รับบริการ
สำหรับต่างประเทศก็มี MedicPad จากโรมาเนีย ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับแพทย์ที่แชร์ข้อมูลของผู้ป่วยผ่าน Cloud Storage ทางแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน โดยที่สามารถมั่นใจได้ว่าข้อมูลสำคัญต่างๆ ของผู้ป่วยจะไม่รั่วไหลออกไป เป็นต้น
[รักษาโควิดโดยใช้ HealthTech]
เทคโนโลยีทางการแพทย์ถูกนำมาใช้ในขั้นตอนการรักษาตั้งแต่การคิดค้นยารักษาโควิดอย่างยาต้านไวรัส ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) และในอนาคตอาจมีตัวยาที่ถูกผลิตด้วยเทคโนโลยี CRISPR ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการตัดต่อหรือปรับปรุงจีโนม และทำให้การทำงานของยีนเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งวิธีการทำงานของยาก็จะคล้ายกับยาต้านไวรัส
แต่นอกเหนือจากนั้นแล้ว HealthTech ยังถูกนำมาใช้ในขั้นตอนการรักษาอีกหลากหลายรูปแบบ เช่น
-Remote Treatment หรือการรักษาทางไกล เช่น Remote Patient Monitoring ซึ่งใช้ดูแลตรวจสอบผู้ป่วยกรณีผู้ป่วยสีเขียวที่รักษาตัวที่บ้าน ส่งยา และให้คำปรึกษาและติดตามอาการผ่านทางออนไลน์
-Telemedicine สามารถใช้งานกับแพทย์ได้เช่นกัน อย่างที่ทุกท่านทราบกันดีว่าประชากรแพทย์นั้นมีน้อยและกระจุกตัวอยู่ตามเมืองใหญ่ ทำให้ตามพื้นที่ห่างไกลจะมีจำนวนแพทย์น้อย และส่วนใหญ่เป็นแพทย์ทั่วไป
สำหรับผู้ป่วยเฉพาะบางกรณี อาจต้องได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ การมี Telemedicine ก็จะช่วยให้แพทย์สามารถปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญเพื่อรักษาหรือประคองอาการคนไข้ได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
-Remote surgery หรือ Telesurgery การผ่าตัดระยะไกลโดยควบคุมการทำงานผ่านระบบเครือข่ายหรืออินเทอร์เน็ต เช่น Sina Robotic Surgery System เครื่องมือทางการแพทย์สำหรับการผ่าตัดระยะไกล ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดโควิดที่เกิดขึ้นกับบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมช่วยเหลือผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลได้อย่างทันที
-หุ่นยนต์บริการในสถานพยาบาล (Robot & Drone) ใช้ในการขนส่งอุปกรณ์หรือยารักษา เพื่อลดการติดต่อระหว่างบุคคล ซึ่งในไทยตัวอย่างคือ ‘ฟู้ดดี้’ หุ่นยนต์ส่งอาหารและยาแก่คนไข้ในหอผู้ป่วย ใช้ระบบนำทางอัจฉริยะด้วยข้อมูลแผนที่ในตัวหุ่นยนต์แบบ QR-Code Mapping
และ ‘เวสตี้’ หุ่นยนต์เก็บขยะติดเชื้อในโรงพยาบาลด้วยระบบ AGV (Automated Guide Vehicle) ที่ใช้แถบแม่เหล็กนำทาง เป็นต้น
-นอกจากนี้ยังมีการใช้งาน AI ในการวินิจฉัยโรคจากค่าต่างๆ ที่เก็บจากเครื่องติดตามสัญญาณชีพผู้ป่วย เช่น Sandman.MD อุปกรณ์ Plug-and-play ดึงค่าจากอุปกรณ์สัญญาณชีพสู่มือถือ พร้อมมี AI ช่วยในการแจ้งเตือนถึงสิ่งผิดปกติและช่วยในการวินิจฉัยโรค เป็นต้น
-Point-of-care ultrasound (POCUS) เป็นเครื่องอัลตร้าซาวด์แบบพกพาที่ใช้งานบ่อยในแผนกฉุกเฉินและไอซียู ซึ่งช่วยให้แพทย์สามารถอัลตร้าซาวด์คนไข้เพื่อดูปัญหาและวินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงสามารถตรวจสัญญาณโรคโควิด โดยการดูภาพอัลตร้าซาวด์ปอดคนไข้ได้อย่างทันทีอีกด้วย
[HealthTech ช่วยดูแลหลังการรักษา]
-เทคโนโลยีด้านสุขภาพที่นำมาใช้ในการดูแลผู้ป่วยหลักการรักษา เริ่มตั้งแต่ Remote Care Visit หรือระบบติดตามผลการรักษาและการดูแลสุขภาพด้วยวิดีโอทางไกล หรือทำแบบสอบถามเพื่อตรวจสอบอาการป่วยผ่านทางออนไลน์
-นอกจากนี้ยังมีแอปพลิเคชันเตือนการทานยา และการใช้ยาที่ต้องทานต่อหลังออกจากโรงพยาบาล เช่น แอปฯ Pharmasafe ใช้ในการเก็บข้อมูลยาที่ใช้ และเตือนเวลาใช้ยาโดยอัตโนมัติ รวมไปถึงแพลตฟอร์ม Arincare แพลตฟอร์มเชื่อมโยงลูกค้า ร้านยา และสถานพยาบาล เพื่อให้การรับยาเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น
นี่เป็นเพียงตัวอย่างแค่เล็กน้อยของ HealthTech ที่ไม่เพียงแต่มาช่วยรับมือกับโควิดในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ แต่ยังปูทางไปสู่การที่โลกทั้งใบจะหันมาให้ความสำคัญและทุ่มเทในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับสุขภาพและการแพทย์มากขึ้นอย่างแน่นอน
บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นโดย ดำรงค์ นุชเจริญ จากทีม Bluecat ผู้เข้าประกวดการแข่งขันนักข่าวรุ่นใหม่ NEWSGEN by Dtac
#NEWSGEN
#TODAYBizview
#workpointTODAY
#สาระความรู้เพื่อวันนี้
ไม่พลาดข่าวธุรกิจ การตลาดที่สำคัญ ติดตาม TODAY Bizview https://bit.ly/3picIeS
ติดตามรายการของ workpointTODAY ทาง YouTube https://bit.ly/2YDfyiK
ติดต่อโฆษณา E-mail: advertorial@workpointnews.com

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา