27 ส.ค. 2021 เวลา 12:00 • กีฬา
เช็คความพร้อม 6 ชาติเอเชีย ชาติไหนควรได้จัดโอลิมปิกต่อจากญี่ปุ่น
โอลิมปิกที่พึ่งผ่านพ้นไปนับเป็นความสำเร็จของญี่ปุ่นที่แม้จะต้องดำเนินการภายใต้ข้อจำกัดหลายอย่าง แต่พวกเขาไม่ใช่ประเทศเดียวในเอเชียที่ต้องการโอกาสในการจัดเพราะยังมีอีกหลายชาติที่มีความพร้อมแสดงศักยภาพในการจัดเช่นกัน
.
พี่ใหญ่ “จีน” และเจ้าภาพฟุตบอลโลก “กาตาร์”
เริ่มจากจีนอดีตเจ้าภาพโอลิมปิก 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งนอกจากการเป็นเจ้าเหรียญทองในโอลิมปิกหลายสมัย เรื่องการเป็นเจ้าภาพรายการกีฬาก็ยังคงได้รับสิทธิ์อยู่ต่อเนื่อง และในปี 2022 จีนจะได้เป็นเจ้าการแข่งขันกีฬา 3 ได้แก่ การแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลก 2021 ที่เมืองเฉิงตู, โอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่กรุงปักกิ่ง และ เอเชียน เกมส์ 2022 ที่เมืองหางโจว
แต่โอลิมปิกที่จะจัดในปี 2032 ที่พวกไม่ได้รับคัดเลือก เมืองที่คณะกรรมโอลิมปิกเสนอไปไม่ใช่ปักกิ่ง แต่เป็นมณฑลเสฉวนกับนครฉงชิ่งโดยรัฐบาลของทั้งสองเมืองประกาศลงนามร่วมกันในการเป็นเมืองเจ้าภาพร่วมจัดโอลิมปิกในปีนั้นซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในแผนการพัฒนา “เขตเศรษฐกิจเฉิงตู-ฉงชิ่ง” ตามกรอบความร่วมมือระยะเวลา 5 ปี ครั้งที่ 14 ซึ่งลงนามกันเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2020
โดย นาย เจ้าจวิ้น โฆษกกระทรวงกีฬามณฑลเสฉวน กล่าวว่า “ทั้งเสฉวนและฉงชิ่งต่างประสบความสำเร็จในการได้เป็นเจ้าภาพจัดแข่งกีฬา ระดับชาติและนานาชาติมาแล้วหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้นการได้เป็นเจ้าภาพร่วมจัดโอลิมปิก จะช่วย ยกระดับเศรษฐกิจในแถบตะวันตกของจีนได้เป็นอย่างดี”
ศูนย์กีฬาโอลิมปิกนครฉงชิ่ง
นอกจากความร่วมมือการเป็นเจ้าภาพร่วม แผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจยังมีเป้าหมายที่จะร่วมกันพัฒนาเมืองทั้งในด้านเทคโนโลยี ระบบสาธารณูปโภค ความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ และที่สำคัญคือ การพัฒนานครเฉิงตูให้กลายเป็น “เมืองกีฬาโลก” ซึ่งเป็นการตอกย้ำความสำเร็จหลังจากนครเฉิงตูได้สิทธิ์เป็นเจ้าภาพ การแข่งกีฬามหาวิทยาลัยโลก 2021 การแข่งขันเทเบิลเทนนิสประเภททีมชิงแชมป์โลก 2022 และ ฟุตบอลเอเชียน คัพส์ 2023
.
ต่อกันที่กาตาร์ พวกเขามีประชากร 2.8 ล้านคน นับจนถึงปี 2019 แต่กลับมี GDP ต่อประชากรสูงที่สุดในอาหรับในปี 2021 ถึง 9.6 หมื่นเหรียญ ตามรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และด้วยความมั่งคั่งนี้มีส่วนทำให้ตั้งแต่ปี 2015 กาตาร์ได้รับโอกาสให้เป็นเจ้าภาพรายการชิงแชมป์โลกไปแล้วถึง 8 รายการ เช่น การแข่งขันหุ่นยนต์บังคับโอลิมปิก 2015 การแข่งขันจักรยานถนนชิงแชมป์โลก 2016 และล่าสุดกับการเป็นเจ้าภาพ ฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก ทั้งในปี 2019 และ 2020
แต่ในปี 2022 พวกเขาจะได้แสดงศักยภาพให้โลกเห็นจากการเป็นชาติแรกในตะวันออกกลางที่จะได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก โดย Deloitte รายงานว่า กาตาร์จะใช้งบลงทุนมากกว่า 2 แสนล้านเหรียญ ในการสร้างสนามกีฬาใหม่ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ลูเซล สเตเดียม (Lusail Stadium) สนามหลักความจุ 86,000 ที่นั่ง ที่จะใช้ในนัดเปิดสนามและนัดชิงในวันที่ 18 ธันวาคม 2022
ภาพ aljazeera.com
โดยงบจำนวนดังกล่าวจะมีถึง 1.4 แสนล้านเหรียญ ที่จะนำไปใช้ปรับปรุงในส่วนของระบบขนส่งสาธารณะทั้งท่าเรือ ถนน และรถไฟฟ้า เพื่อรองรับการเดินทางของแฟนๆ ในช่วงที่มีการจัดการแข่งขันและเตรียมรองรับการเป็นเจ้าภาพการแข่งกีฬาในอนาคตข้างหน้าซึ่งหมายถึงโอลิมปิกที่พวกเขาหมายมั่นจะเป็นชาติแรกในอาหรับที่ได้สิทธิ์จัดทั้งโอลิมปิกและฟุตบอลโลก
.
ประเทศเจ้าภาพร่วมที่ไปไม่รอด
ในมหกกรรมกีฬาระดับโลก การเป็นประเทศเจ้าภาพร่วมที่กลายเป็นที่จดจำมากที่สุดครั้งหนึ่งก็คงเป็นการแข่งขันฟุตบอล โลก 2002 ที่เกาหลีใต้จับมือร่วมเป็นเจ้าภาพกับญี่ปุ่น แต่ในโอลิมปิกเรื่องนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นและอาจจะต้องรอต่อไปโดยประเทศเจ้าร่วมคือ มาเลเซีย-สิงคโปร์ ที่มีความคิดที่จะเป็นประเทศเจ้าภาพร่วมในการจัดโอลิมปิก 2032 โดยมีแผนที่จะแบ่งจัดแข่งขันออกเป็น 14 ชนิด ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ และอีก 14 ชนิดที่สิงคโปร์
และเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่าง 2 ประเทศ ทำให้ในปี 2013 นาย ราจิบ ราซัค นายกฯ มาเลเซียในตอนนั้นมีความคิดที่จะสร้างเมกะโปรเจ็กต์รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 8 ประเทศเอเชีย ในชื่อ “China Pan Asia” โดยมีจุดเริ่มต้นจากย่านจูรง อีสต์ สิงคโปร์ ไปกัวลาลัมเปอร์ ขึ้นมาที่กรุงเทพ ต่อด้วยเวียงจันท์ และปลายทางที่คุนหมิง จีน จากนั้นก็สามารถเดินทางวกกลับไปย่างกุ้ง โฮจิมินห์ และพนมเปญ โดยหวังให้กรุงเทพเป็นศูนย์กลางในการเดินทาง
ภาพ YouTube: CNA Insider
แต่แผนการเป็นเจ้าภาพและสร้างรถไฟก็พังตั้งแต่แรกจากเส้นทางในเฟสแรก ชื่อ “Kuala Lumpur-Singapore High-Speed Rail (HSR)” มูลค่า 2.6 หมื่นล้านเหรียญ ระยะทาง 350 กม. ซึ่งจะเชื่อมปลายทางแรกระหว่างย่านจูรงอีสต์ของสิงคโปร์กับโครงการมิกซ์ยูส “Bandar Malaysia” ในกรุงกัวลาร์ลัมเปอร์
หลังมีข่าวลือว่าโครงการนี้เป็นการขายฝันของ ราจิบ ราซัค ที่มีเอี่ยวกับกองทุน 1MDB ทำให้งบที่ใช้ในการสร้างโครงการบานปลาย นอกจากนี้ ดร.มหาธีร์ โมฮาหมัด นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่เข้ามารับหน้าที่ต่อหลังจากนาย ราจิบ ถูกจับ ก็มองว่าตัวโครงการไม่ได้ทำประโยชน์ให้กับประเทศแถมยังผลาญงบประมาณอีก
กระทั่งในงาน งานประชุมกฎกีฬาระหว่างประเทศ 2018 นาย ตุนกู อิมราน สมาชิก IOC ประจำมาเลเซียและรัฐมนตรีกระทรวงกีฬามาเลเซีย ได้กล่าวถึงการเป็นเจ้าภาพในช่วงหนึ่งว่า “ตัวผมเองรู้สึกเสียใจที่ความร่วมมือในการเป็นเจ้าภาพต้องสิ้นสุดลงซึ่งทุกอย่างก็เป็นผลมาจากโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ไม่ประสบความสำเร็จและคิดว่าโอลิมปิกเป็นรายการที่ใหญ่เกินกว่าที่ 2 ประเทศเล็กๆ จะจัดได้”
ภาพ The Star Graphics
ส่วนโปรเจ็กต์รถไฟ ดร.มหาธีร์ ได้ติดต่อไปหา นาย ลี เซียน ลุง นายกฯ ของสิงคโปร์ เพื่อปรึกษาอนาคตของโครงการในช่วงปลายปี 2020 และท้ายที่สุดในวันที่ 1 ม.ค. 2021 ทั้งสองประเทศร่วมกันประกาศยุติโครงการ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริงจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางของสองจุดหมายจาก 7 ชม. โดยรถลงมาเหลือ 90 นาที
.
อินโดนีเซีย และ อินเดีย
สุดท้ายกับอีก 2 ชาติ ที่มีโอกาสจะได้สิทธิ์มากที่สุด เริ่มจากอินโดนีเซียที่แม้จะพลาดโอกาสในการเป็นเจ้าภาพในปี 2032 แต่พวกเขาไม่รอช้าพร้อมที่จะยื่นประมูลคว้าสิทธิ์จัดโอลิมปิกในปี 2036 หลังจากประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพเอเชียน เกมส์ 2018 โดยนาย ราจา แซปตา โอกโตฮารี ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกอินโดนีเซียกล่าวว่า “อินโดนีเซียยังไม่ยอมแพ้ พวกเราจะสู้ต่อไปเพื่อคว้าสิทธิ์จัดโอลิมปิกในปี 2036 และหมายมั่นจะเป็นชาติที่ 4 ในเอเชียที่ได้จัดโอลิมปิกต่อจาก ญี่ปุ่น เกาหลี (โอลิมปิกฤดูหนาว) และจีน”
ปิดท้ายด้วยอินเดียที่ผมเองบอกได้ว่าพวกเขามองไกลมาก เพราะจากคำสัมภาษณ์ของ นาย มานิช ซีโซเดีย รัฐมนตรีกระทรวงการเงินของอินเดีย กับ The Hindustan Times เขายอมรับว่า รัฐบาลอินเดียพร้อมอัดฉีดงบประมาณเพื่อพัฒนาสนามกีฬา สิ่งอำนวนความสะดวกและโครงสร้างเมืองให้พร้อมต่อการเป็นเจ้าภาพรายการกีฬาในอนาคต อีก 27 ปี
ซึ่งเท่ากับพวกเขาไม่ได้มองแค่ช่วงปี 2032 แต่มองไกลไปถึงโอลิมปิกครั้งถัดๆ ไปในปี 2036, 2040 จนถึงปี 2048 ที่พวกเขาหวังว่าจะเป็นเจ้าภาพให้ได้ในปีนั้นและคิดจะใช้เวลาช่วง 20 ปีจากนี้พัฒนาโครงสร้างทุกอย่างให้พร้อมจนกว่าจะถึงเวลานั้น
โฆษณา