26 ส.ค. 2021 เวลา 15:24 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
“สุนัขถูกสร้างมาเพื่อพวกเรา" นักวิจัยชี้ลูกสุนัขมีพันธุกรรมที่ทำให้แสดงสีหน้าสุด cute กับคนได้ตั้งแต่แรกเกิด!!
ทุกๆ วันที่ 26 สิงหาคม ของทุกปี คือ วันสุนัขโลก (International Dog Day) เป็นวันที่ทำให้ทุกคนตระหนักรู้ถึงความซื่อสัตย์ แสนรู้ และซุกซนของสิ่งมีชีวิตที่ว่ากันว่า "มันคือเพื่อนแท้ของมนุษย์" แต่ดูเหมือนว่าคำ ๆ จะกินความหมายลึกซึ้งเกินกว่าที่เราคาดคิด
เมื่อนักวิจัยค้นพบว่าสุนัขอาจถูกฝังพฤติกรรมให้มีปฏิสัมพันธ์และสามารถสื่อสารกับมนุษย์ได้ตั้งแต่แรกเกิดได้อัติโนมัติ โดยสืบทอดกันทางสารพันธุกรรมจากรุ่นสู่รุ่น ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแอริโซนาของสหรัฐฯ พบว่าพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอในแบบดังกล่าวเกิดจากวิวัฒนาการที่พวกมันปรับตัวเข้ากับสังคมมนุษย์มานับพัน ๆ ปี จนสามารถเข้าใจสีหน้า สื่อสาร และมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ได้ตั้งแต่แรกเกิด แม้จะไม่เคยเจอหรือได้รับการฝึกจากคนมาก่อน
ซึ่งผลการศึกษานี้เพิ่งถูกตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ชื่อดังอย่าง Current Biology ในวันนี้นี่เอง [1] โดยในรายละเอียดระบุว่าในงานวิจัยนี้ นักวิจัยศึกษาพฤติกรรมการสื่อสารของลูกสุนัขพันธุ์โกลเดนรีทรีฟเวอร์และลาบราดอร์ที่มีอายุราว 8 สัปดาห์ จำนวน 375 ตัว โดยที่พวกมันไม่เคยได้รับการฝึกจากมนุษย์มาก่อนเลยหรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนน้อยมาก
ส่วนทำไมสาเหตุที่นักวิจัยเลือกอายุ 8 สัปดาห์ ก็เนื่องมาจากเป็นช่วงอายุที่อ่อนที่สุดที่พวกมันสามารถใช้อาหารล่อเพื่อให้ทำตามคำสั่งได้ [1] [2] นักวิจัยได้แบ่งการทดลองออกเป็น 4 ส่วนเพื่อศึกษาผลของการชี้นำพฤติกรรมที่แตกต่างกันคือ
แบบที่ 1 : นักวิจัยจะชี้นิ้วออกคำสั่งไปยังถ้วยคว่ำที่มีอาหารอยู่ เพื่อเป็นการชี้นำให้ลูกสุนัขรู้ว่ามีอาหารอยู่ที่ถ้วยไหน ผลการทดลองพบว่ากว่า 70% ของพวกมันสามารถเลือกถ้วยที่มีอาหารอยู่ได้ถูกต้อง โดยไม่ใช้การดมกลิ่นหาอาหาร
แบบที่ 2 : ทำการทดลองคล้ายวิธีแรกแต่แทนที่จะชี้นิ้วสั่ง นักวิจัยกลับเลือกวางกล่องสีเหลืองไว้ข้างถ้วยที่มีอาหารอยู่ ผลลัพธ์ที่ได้คือลูกสุนัขสามารถเลือกกล่องที่มีอาหารได้ถูกต้องในอัตราที่พอๆกับการทดลองแบบแรก
แบบที่ 3 : การทดลองชุดนี้แทนที่จะใช้ลูกไม้แบบเดิม ๆ แต่คราวนี้นักวิจัยเลือกให้ผู้ร่วมทดลองเลือกใช้ "เสียงสอง" ที่ออดอ้อนแบบเดียวกับที่คนเราทำกับทารกเล็ก ๆ เพื่อดูว่าพวกลูกสุนัขจะตอบสนองและจ้องหน้าคนนานแค่ไหน คราวนี้ผลลัพธ์ที่ได้ก็พบว่าเฉลี่ยลูกสุนัขจ้องมองหน้าคนนานถึง 6 วินาที ซึ่งถ้าเป็นในทารกมนุษย์ ระยะเวลาขนาดนี้แสดงให้เห็นว่าเกิดการสื่อสารทางอารมณ์ที่พร้อมจะสื่อสาร แม้ว่าพวกลูกสุนัขจะไม่เคยเจอคนมาก่อนแต่พวกมันก็เข้าใจว่าคนกำลังทำการสื่อสารกับมันอยู่
จากการทดลองในสามแบบข้างต้นนั้น นักวิจัยก็นำข้อมูลมาวิเคราะห์ตามสายพันธุ์หรือเพ็ดดีกรี (pedigree) ของลูกสุนัข ก็พบว่าปัจจัยจากการส่งต่อพันธุกรรมมีอิทธิพลสูงถึง 43% ต่อความสามารถในการสื่อสารกับมนุษย์ แม้ว่าพวกมันจะไม่เคยพบมนุษย์และได้รับการฝึกฝนมาก่อน
และในการทดลองที่สี่นั้น เพื่อยืนยันผลการศึกษาในข้างต้นจริง นักวิจัยต้องการทดสอบว่าลูกสุนัขจะมองขอความช่วยเหลือจากนักวิจัยหรือไม่ ในกรณีที่พวกมันต้องการอาหารที่ถูกปิดไว้ในกล่องอย่างหนาแน่น ผลปรากฏว่าลูกสุนัขแทบไม่ขอความช่วยเหลือเลย ซึ่งเป็นพฤติกรรมแบบเดียวกับที่พบในลูกสุนัขป่าวัยเดียวกัน
บางทีพฤติกรรมการสื่อสารกับมนุษย์ได้อย่างอัติโนมัติแม้ไม่เคยเจอคนมาก่อนของพวกมัน อาจเริ่มพัฒนามาตั้งแต่พวกมันแยกสายวิวัฒนาการมาจากสุนัขป่าเมื่อหลายหมื่นปีก่อนจนถูกถ่ายทอดทางพันธุกรรมมาเรื่อยๆจนถึงปัจจุบัน
ผู้นำการวิจัยครั้งนี้อย่าง ดร. เอมิลี เบรย์ กล่าวว่าการวิจัยครั้งนี้ บ่งชี้ว่าลูกสุนัขถูกถ่ายทอดพันธุกรรมที่ทำให้สามารถริเริ่มการสื่อสารกับมนุษย์ ตลอดจนเข้าใจการแสดงสีหน้าได้ก่อน แม้พวกมันจะไม่เคยเจอมนุษย์มาก่อนเลยก็ตาม
การทดลองนี้จึงเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าพันธุกรรมส่งผลต่อปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์และสุนัขมากกว่าที่เราคิดไว้มาก บางทีพวกมันอาจถูกฝังพฤติกรรมนี้มาตั้งแต่เริ่มปรับตัวเข้ากับสังคมมนุษย์เมื่อหลายหมื่นปีก่อน
บางทีผลการศึกษานี้อาจทำให้เราต้องหวนกลับมามองว่าพันธุกรรมอาจมีผลต่อพฤติกรรมทางสังคมของสุนัขมากกว่าที่เราคิดไว้มาก และมันอาจเบิกทางให้เราเข้าใจเพื่อนผู้ซื่อสัตย์พวกนี้มากยิ่งขึ้นก็เป็นได้
โฆษณา