27 ส.ค. 2021 เวลา 00:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Elliott Wave ตอนที่2: วิธีดู Impulse wave อย่างง่าย
ใน Elliott Wave ตอนที่ 2 นี้ เรามาดูการนับ Impulse Wave ซึ่งเป็นคลื่นที่เป็นพื้นฐานเลย โดยที่ยังไม่ใช้ Indicator ใดๆ ร่วมด้วย ไม่งั้นเดี๋ยวหนักสมองเกินไป ไม่ต้องพูดอะไรมาก เราไปดูกัน!!
⚠️ หากคุณยังไม่ได้ดู Elliott Wave ตอนที่1 แนะนำให้กลับไปดูก่อนจะได้ไม่งง อ่านได้ที่นี่ 👇
🎯 Impulse wave คืออะไร?
Impulse wave คือ คลื่นที่จะวิ่งไปตามเทรนด์ จะมี 5 คลื่นหลักคือ 1, 2, 3, 4 และ 5 ตามลำดับ ซึ่งภายในก็จะมีคลื่น Impulse wave และ Corrective wave ย่อยๆอีก
🎯 กฎของ Impulse wave
การที่ลักษณะกราฟจะเป็น Impulse wave ได้นั้นต้องดูด้วยว่าตรงตามเงื่อนไขเหล่านี้หรือไม่
🔹 คลื่นที่ 2 ต้องลงไปไม่ต่ำกว่าคลื่นที่ 1 ไม่อย่างงั้นรูปแบบคลื่นนี้ก็จะยังไม่ถูกต้อง
🔹 คลื่นที่ 3 ต้องไม่สั้นที่สุดในบรรดา 5 คลื่นนี้
🔹 คลื่นที่ 4 มักจะย่อลงมาไม่เกิน (Overlap) ยอดของคลื่นที่ 1 (ถ้าเกิน จะเป็น Terminal impulse wave ซึ่งอย่าเพิ่งไปสนใจ มาดูแบบปกติก่อน)
🔹 ต้องมีคลื่นขยาย (จากคลื่น2 ไปคลื่น3 หรือจากคลื่น4 ไปคลื่น5 อันใดอันหนึ่งต้องยาว)
🎯 เริ่มนับ Impulse wave อย่างไร?
🟠1. หาจุดต่ำสุด และจุดสูงสุดแรก
วิธีที่ง่ายที่สุดคือ เริ่มจากการหาจุดต่ำสุดของราคาก่อนในกรอบเวลา (Time frame) ใหญ่ จากนั้นใช้เครื่องมือ Fibonacci Retracement ลากจากจุดต่ำสุด ไปยังจุดสูงสุดแรก (หรือคลื่นที่1) โดยจุดสูงสุดนั้นต้องมีอัตราส่วน 33.33% โดยจากขา B ถึง C ของรอบคลื่น (Wave cycle) ก่อนหน้านี้
เราจะเห็นเส้น Fibo ที่ตีแผ่ออกมา ให้ลองสังเกตคลื่นที่2 ว่ามีการร่วงลงมาถึง Fibo ที่เท่าไหร่ โดยส่วนมากคลื่นที่2 จะลงมาประมาณแถวๆ 61.8% หรือ 78.6% (ลองดูหลายๆกราฟก็ได้)
💡 จากจุดนี้เองเราสามารถใช้คาดการณ์เป้าของราคาได้คร่าวๆกรณีคลื่นที่ 2 ยังไม่เกิด แต่ต้องดู Correction Wave ร่วมด้วยว่าจะมีแรงผลักดันไปได้มากแค่ไหน ซึ่งจะค่อยๆพูดถึงกันต่อไปในตอนหน้า
🟠2. หาคลื่นที่ 3 / เช็คคลื่นที่ 3
หากกราฟเพิ่งจบคลื่นที่2 และคุณต้องการรู้เป้าว่าคลื่นที่3จะไปถึงไหน หรือคลื่นที่3 นั้นยาวกว่าคลื่นที่ 1 เท่าไหร่ ให้ใช้เครื่องมือ Trend-Based Fib Extension โดยกลับไปลากจุดต่ำสุดเหมือนตอนแรก แล้วไปเลือกจุดสูงสุดแรก (หรือคลื่นที่1) จากนั้นมันจะตีเส้น Fibo มา แต่ยังไม่จบ เรายังสามารถเลือกได้อีก1จุดระหว่างนั้น ให้เราไปเลือกคลื่นที่2 (จุดต่ำสุดของคลื่นที่ 2) จากนั้นเราจะเห็นเส้น Fibo
เราจะหาเป้าคลื่นที่3 โดยดูระดับเส้น Fibo ที่เห็น คลื่นที่3 ควรวิ่งขึ้นไปสูงกว่า 100% หรือ 161.8% (เป็นคลื่นขยาย) หากราคาวิ่งสูงกว่านั้น ให้เราลองดูตามแนวสำคัญ หรือแนว Fibo เพื่อวางแผนการเข้า-ออก ซึ่งคริปโตเคอร์เรนซี่อาจจะพุ่งขึ้นไปสูงกว่านี้ได้หลายเท่า
ตามกฎแล้ว คลื่นที่ 3 ต้องไม่ใช่คลื่นที่สั้นที่สุด และควรจะยาว(คลื่นขยาย) หากไม่ยาว หรือมีขนาดพอๆกับคลื่นที่ 1 คลื่นที่ 5 มักจะเป็นคลื่นขยาย
💡 จากจุดนี้เองเราสามารถใช้คาดการณ์เป้าของราคาได้คร่าวๆกรณีคลื่นที่3ยังไม่เกิด แต่ต้องดู Correction Wave ร่วมด้วยว่าจะมีแรงผลักดันไปได้มากแค่ไหน ซึ่งจะค่อยๆพูดถึงกันต่อไปในตอนหน้า
🟠3. หาคลื่นที่ 4 / เช็คคลื่นที่ 4
สำหรับคลื่นที่ 4 ตามกฎแล้วคือห้ามย่อทะลุลงมาถึงคลื่นที่ 1 แต่เมื่อถึงเวลานั้นไม่มีใครรู้อนาคต แต่เราสามารถวางจุดออกไว้ล่วงหน้าได้กรณีราคาเกิดร่วงทะลุ โดยคลื่นที่ 4 ควรลงอย่างน้อย 38.2% แต่ไม่เกิน 78.6% โดยใช้เครื่องมือ Fibonacci Retracement วัดจากคลื่นที่ 2 ไปยังคลื่นที่ 3
💡 จากจุดนี้เองเราสามารถใช้คาดการณ์เป้าของราคาได้คร่าวๆกรณีคลื่นที่ 4 ยังไม่เกิด
🟠4. หาคลื่นที่ 5 / เช็คคลื่นที่ 5
คลื่นที่ 5 ซึ่งเป็นคลื่นสุดท้ายของ Impluse Wave หากคลื่นที่ 3 เป็นคลื่นขายแล้ว คลื่นที่ 5 มักจะมีความสูงเท่าๆกับคลื่นที่ 1
หรือเราสามารถใช้เครื่องมือ Trend-Based Fib Extension วัดจากคลื่นที่ 2 ไปคลื่นที่ 3 และ 4 เหมือนการใช้กับตอนหาคลื่นที่ 3 เพื่อดูสัดส่วน Fibo ก็ได้ คลื่นที่ 5 ไปสูงสุดอาจไม่เกิน 100%
💡 จากจุดนี้เองเราสามารถใช้คาดการณ์เป้าของราคาได้คร่าวๆกรณีคลื่นที่ 5 ยังไม่เกิด แต่ต้องดู Correction Wave ร่วมด้วยว่าจะมีแรงผลักดันไปได้มากแค่ไหน ซึ่งจะค่อยๆพูดถึงกันต่อไปในตอนหน้า
🎯 จะรู้ได้อย่างไรว่านับถูก?
หลังจากที่เราพอจะตีได้แล้ว จะรู้ได้อย่างไรว่าคลื่นที่ตีมันถูกต้อง? วิธีดูเบื้องต้นคือ การขยาย Time frame เข้าไปเพื่อดูคลื่นย่อยอีกที ว่ามันเป็นไปตามเงื่อนไขหรือไม่
นอกจากนี้ยังสามารถใช้ Indicator ช่วยเป็นแนวทางว่าคลื่นกำลังจะจบ หรือจะมีทิศทางอย่างไรต่อ อย่างเช่นการดู Divergence เป็นต้น แต่สำหรับตอนนี้ เราจะพอให้เข้าใจการนับเบื้องต้นก่อน
⚠️ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกกราฟจะต้องเริ่มต้นจาก Impulse wave เนื่องจากเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของลักษณะกราฟเท่านั้น ยังมีรูปแบบอื่นๆอีกอย่าง Correction Wave ดังนั้นเราจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆประกอบด้วย
⚠️ ติดตามซีรีย์ Elliott Wave ตอนต่อไป เร็วๆนี้
โฆษณา