Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
หลงรักเพชรบุรี
•
ติดตาม
27 ส.ค. 2021 เวลา 02:34 • ประวัติศาสตร์
เจ้าจอมผู้ภักดี..แห่งเมืองเพชร
ตอนที่ 2 ”เจ้าจอมก๊กออ.. อันลือลั่น”
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉายภาพกับเจ้าจอมเอิบ (ซ้าย) เจ้าจอมเอี่ยม (กลาง) และเจ้าจอมเอื้อน (ขวา)
สำหรับหน้าที่โดยตรงของเจ้าจอมเอิบคือเป็นพนักงานการแต่งพระองค์ถวายและเปลื้องฉลองพระองค์ นอกจากนี้เจ้าจอมเอิบยังศึกษาหาความรู้ และทดลองเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น การขี่จักรยาน แต่ความรู้ที่เจ้าจอมเอิบศึกษาจนมีความเชี่ยวชาญคือการถ่ายภาพจนสามารถสนองพระราชดำริในการเล่นกล้อง - ถ่ายรูป - ล้างรูปได้เป็นอย่างดี นับเป็นตากล้องสำคัญของราชสำนักฝ่ายใน เจ้าจอมเอิบมีโอกาสได้ตามเสด็จเมื่อครั้งเสด็จประพาสชวา พ.ศ. ๒๔๔๔เป็นฝ่ายในเพียงไม่กี่ท่านที่ได้รับโอกาสนี้
และได้รับพระราชทานกล้องตัวใหม่ที่ทันสมัยเมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่สอง ภาพถ่ายฝีมือของท่านยังเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดดำรงราชานุภาพ แต่ที่สำคัญคือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฉายภาพฝีพระหัตถ์เป็นรูปเจ้าจอมเอิบแต่งกายอย่างงดงามให้นั่งบนพระเก้าอี้ทอง ซึ่งทรงมีพระบรมราชานุญาตเป็นกรณีพิเศษ (เจ้าจอมที่ได้นั่งพระเก้าอี้นี้มีเพียงเจ้าจอมเอิบและเจ้าจอมสดับ)
เจ้าจอมเอิบได้ถวายงานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างใกล้ชิดติดพระองค์ ดังปรากฏว่าเมื่อใดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตื่นพระบรรทม เจ้าจอมเอิบจะเป็นผู้เปิดพระบัญชรถวาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเข้าพระทัยถึงจิตใจของเจ้าจอมท่านนี้เป็นอย่างดี ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ว่า “...ได้ซื้อลูกห้อยรูปหมาทำด้วยแก้วผลึกส่งมาให้...เพราะเจ้ารักมาก” และลงท้ายพระราชหัตถเลขาว่า “คิดถึงเอิบเต็มที” เจ้าจอมมารดาอ่อน เจ้าจอมเอี่ยม เจ้าจอมเอิบ เจ้าจอมอาบ และเจ้าจอมเอื้อน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณสถาปนาเป็นพระสนมเอกและได้รับพระราชทานเครื่องยศ ได้แก่ หีบหมาก พานทองตลอดจนเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าตามสิทธิคือ เจ้าจอมจะได้รับขั้นทุติยจุลจอมเกล้า ยกเว้นเจ้าจอมเอี่ยมซึ่งได้รับขั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษและสายสะพายเทียบชั้นเจ้าจอมมารดา
เจ้าจอมเอิบ
ส่วนเจ้าจอมมารดาอ่อนได้รับชั้นปฐมจุลจอมเกล้า นอกจากนี้ เจ้าจอมกลุ่มนี้ยังได้รับพระราชทานเครื่องเพชรอันงดงามและมีค่ายิ่ง ดังปรากฏอยู่ในภาพถ่ายของเจ้าจอมท่านต่างๆ และในหนังสือสกุลบุนนาคของนัดดา อิศรเสนา ได้กล่าวไว้ว่า “...เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินกลับจากยุโรปครั้งที่ ๒ เจ้าจอมก๊กออที่โปรดมาก ๔ ท่าน ได้รับพระราชทานของฝากเป็นสร้อยคอเพชรแผงใหญ่ เมื่อกระดกกลับขึ้นแล้วใช้เป็นกะบังหน้าหรือที่เรียกว่าเทียร่าได้...”
เจ้าจอมมารดาอ่อน เจ้าจอมเอี่ยม เจ้าจอมเอิบ เจ้าจอมอาบ และเจ้าจอมเอื้อน
เจ้าจอมก๊กออได้ตามเสด็จเพื่อถวายการปรนนิบัติอย่างใกล้ชิดติดพระองค์มาโดยตลอด ในบันทึกความทรงจำของ ม.จ. จงจิตรถนอม ดิศกุล ได้ทรงเล่าว่าช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหนังสือราชการแผ่นดินหลังเสวยพระกระยาหารค่ำ เจ้าจอมก๊กออทั้ง ๔ จะเฝ้าอยู่บริเวณพระเฉลียงเพื่อถวายการรับใช้จนกว่าจะเข้าพระที่เป็นกิจวัตรประจำวัน
ด้วยเหตุนี้ เจ้าจอมกลุ่มนี้จึงมีห้องที่อยู่ใกล้ห้องประทับทั้งที่พระที่นั่งวิมานเมฆ พระที่นั่งอัมพรสถาน และพระตำหนักเรือนต้น ส่วนในบริเวณพระบรมมหาราชวังเจ้าจอมทั้ง ๔ ได้รับพระราชทานเรือนขนาดใหญ่อยู่รวมกัน ติดกับตำหนักของพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา และเจ้าจอมมารดาอ่อนที่เป็นพี่ใหญ่ในพระราชวังดุสิต เจ้าจอมมารดาอ่อนและพระธิดาได้รับพระราชทานพระตำหนักสวนพุดตานอยู่รวมกับเจ้าจอมก๊กออและเจ้าจอมสายสกุลบุนนาค สำหรับในพระราชวังบางปะอินเจ้าจอมก๊กออก็ได้รับพระราชทานตำหนักใหญ่อยู่ในกลุ่มพระมเหสีเทวีด้วย
แต่การที่เจ้าจอมทั้ง ๔ ไม่มีพระโอรสธิดา ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเพิ่มความห่วงใยในอนาคตของเจ้าจอมกลุ่มนี้ที่จะต้องผันแปรหลังการเปลี่ยนรัชกาล เพราะนอกจากความสนิทเสน่หาดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาคราวเสด็จประพาสยุโรป พ.ศ. ๒๔๕๐ และลายพระหัตถ์กรมหลวงดำรงราชานุภาพ กราบบังคมทูลรายงานเกี่ยวกับสุขภาพและการดำเนินชีวิตของเจ้าจอมกลุ่มนี้ที่มีอยู่เป็นประจำแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงตระหนักถึงความจงรักภักดีของเจ้าจอมทั้ง ๔
โดยเฉพาะเจ้าจอมเอี่ยม และเจ้าจอมเอิบที่ถวายการปรนนิบัติมาอย่างยาวนานได้ชื่อว่าเป็นพระสนมคนโปรด หากสิ้นรัชกาลทั้งกลุ่มก็จะถูกลดฐานะเป็นแค่อดีตเจ้าจอมแผ่นดินก่อน ไม่มีแม้แต่ที่อยู่อาศัยเป็นการถาวร ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานที่ดินบริเวณสวนนอกติดกับส่วนของพระธิดาในเจ้าจอมมารดาอ่อนให้เป็นสิทธิ์ขาดแก่เจ้าจอมเอี่ยม เจ้าจอมเอิบ เจ้าจอมอาบ และเจ้าจอมเอื้อน
เจ้าจอมเอี่ยม
ในหนังสือเรื่องเจ้าจอมก๊กออของ ดร. กัณฑาทิพย์ สิงหะเนติ ได้กล่าวถึงพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการสร้าง "พระราชวังบ้านปืน"ที่เพชรบุรี เพื่อเป็นที่ประทับในระหว่างการเสด็จแปรพระราชฐานช่วงฤดูฝน รวมทั้งเป็นที่ประทับถาวรหลังการสละราชสมบัติเมื่อมีพระชนมายุครบ๖๐ พรรษา ทั้งนี้การที่ทรงเลือกมาประทับที่เพชรบุรีได้มีนัยที่เกี่ยวข้องกับพระเมตตาที่มีต่อเจ้าจอมก๊กออที่นับว่าเป็นชาวเมืองเพชร เนื่องจากท่านบิดาดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองเพชรบุรี
เจ้าจอมเอิบ
อนึ่งในพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์พระราชทานกรมหลวงดำรงราชานุภาพฉบับวันที่ ๑๑ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๓ มีใจความที่แสดงถึงพระราชประสงค์จะพระราชทานที่พักถาวรในบริเวณพระราชวังนี้ให้แก่เจ้าจอมเอี่ยมและเจ้าจอมเอิบดังนี้
“...ประดาเจ้าจอมที่เปนคนโปรดปรานของฉัน...แต่มาไม่มีลูกอยู่ ๒ คน คือนางเอี่ยมกับนางเอิบ...ถ้าล่วงแผ่นดินไปแล้ว...คนที่เคยโตเสียมากเช่นนี้ เห็นจะทนไปนั่งกับพนักงานไม่ได้...นางเอี่ยมอยู่มากับฉันถึง ๒๐ ปีแล้ว...นางเอิบอยู่มา ๑๒ ปีแล้ว...เปนอันเราทำความลำบากให้เขาเมื่อภายแก่ เพราะไม่คิดอ่านหาทุนรอนที่อยู่ให้เขาเลย...จึงนึกว่าถ้าหาบ้านต้นไว้ที่เพชรบุรีสักแห่งหนึ่งก็จะดี...ถ้าเขาซื่อตรงอยู่ก็เปนอันได้บำเหน็จรางวัลเลี้ยงตลอดชีวิตสมควรรักใคร่ เมื่อเขาอยู่ไม่ได้เขาจะย้ายมาบางกอกก็ย้าย เปนอันให้ได้แล้ว”
เจ้าจอมเอี่ยม
แต่พระราชดำริไม่สัมฤทธิผลเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตก่อนการก่อสร้างพระราชวังบ้านปืนจะสำเร็จ (ถึงแม้การก่อสร้างจะเสร็จสิ้นในรัชกาลต่อมา แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้พระราชทานเขตที่ดินให้แก่เจ้าจอมก๊กออ เนื่องจากพระชนนีไม่โปรดเจ้าจอมกลุ่มนี้ ตามข้อความที่ปรากฏในหนังสือประวัติต้นรัชกาลที่ ๖)
พระมหากรุณาธิคุณที่เจ้าจอมเอี่ยม เจ้าจอมเอิบ เจ้าจอมอาบ และเจ้าจอมเอื้อน ได้รับจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีทั้งยศศักดิ์ วัตถุทรัพย์สินที่ดินซึ่งทรงใช้เงินพระคลังข้างที่ในการจัดซื้อด้วยความสนิทเสน่หา รวมทั้งจากการที่ทรงจัดงานฉลองวันเกิดพระราชทานแก่เจ้าจอมก๊กอออยู่เสมอ
ต่อมาในปลายรัชกาลทรงตราระเบียบเจ้าจอมผู้ตามเสด็จใกล้ชิดขึ้น ๑ ชุด หัวหน้าเรียกว่าพระสนม มี ๔ คน ประกอบด้วยเจ้าจอมกลุ่มนี้ถึง ๓ คน (ยกเว้นเจ้าจอมเอี่ยม) ได้รับพระราชทานเข็ม จ.ป.ร. พระเกี้ยวครอบประดับเพชร สอดริบบิ้นผูกเป็นโบสีเดียวกับสายสะพายนพรัตน์ แสดงถึงความโปรดปรานและไว้วางพระทัย ส่วนในพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรในคราวเฉลิมพระที่นั่งอัมพรสถาน เจ้าจอมทั้ง ๔ ยังมีบทบาทเป็น
คณะพระสนมผู้เชิญเครื่องประกอบพิธีนำเสด็จ
เจ้าจอมเอื้อน
แต่ด้วยความเป็นกลุ่มคนโปรดของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเป็นเหตุที่ทำให้สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระอัครมเหสี ไม่พอพระทัยนัก และปฏิเสธที่จะเสด็จตามพระราชสวามีไปยังเมืองเพชรบุรี ที่ซึ่งระยะหลัง ๆ พระราชสวามีได้เสด็จไปบ่อยดุจราชสำนักประจำ สมเด็จพระพันปีหลวงทรงตรัสกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมารว่า "จะให้แม่ไปประจบเมียน้อยของพระบิตุรงค์นั้น เหลือกำลังละ" แต่กลางปี พ.ศ. 2453 สมเด็จพระพันปีหลวงได้ตามเสด็จพระราชสวามีไปยังเมืองเพชรบุรีด้วย ครั้นหลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงทุพพลภาพมากขึ้น และไม่ได้เสด็จเพชรบุรีอีกเลยจนกระทั่งสวรรคต
- อ้างอิง
- วิกีพีเดีย
- ธิราชเจ้าจอมราชัน
page :
https://www.facebook.com/phetchaburireview
-
groups :
https://www.facebook.com/groups/phetchaburireview
-
website :
https://phetchaburireview.com/
1
-
2 บันทึก
2
1
2
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย