3 ก.ย. 2021 เวลา 12:00 • ไลฟ์สไตล์
ถูกเลิกจ้างฟ้าฝ่า เป็นหนี้บัตรเครดิตหลายใบ เลิกกับแฟนที่คบมา 7 ปี สูญเสียคนรักโดยไม่ได้ร่ำลา... ใครไม่มีทักษะชีวิตที่ดี เจอแบบนี้ชีวิตอาจพังได้ง่าย ๆ แต่ชีวิตจะดีขึ้นถ้าเราเตรียมพร้อม 4 ทักษะชีวิต เพื่อจัดการทุกวิกฤต!
4
1. ต้องรู้จักตัดสินใจ
เราจะพบรูปแบบของพฤติกรรมที่ซ้ำอยู่ 2-3 ลักษณะ
ลักษณะที่ 1 คือ อะไรก็ไม่ทำ
อะไรก็ไม่ทำในที่นี้หมายถึง เป็นคนไม่ตัดสินใจอะไร ไปจนถึงไม่กล้าตัดสินใจอะไร ซ้ายไม่ไป ขวาไม่ไป หน้าไม่ไป หลังไม่ไป เอาแต่นั่งร้องไห้ตรงกลางสี่แยกไม่ไปไหน คนลักษณะนี้มักมีข้ออ้าง เรียกว่า "Rationalization" อ้างนั่นอ้างนี่ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย
1
เราไม่สามารถทำอะไรได้ ที่เป็นอยู่นี้ก็ดีอยู่แล้ว สามีให้เงินใช้ เจ้านายไม่ไล่ออกก็ทนอยู่ไปเพื่อเงิน แต่ชีวิตส่วนตัวย่ำแย่ ลูกๆ แตกกระเจิงไปคนละทางสองทาง หาความสุข ความเจริญให้แก่ชีวิตได้ยาก นี่เป็นลักษณะหนึ่งของทักษะชีวิตที่ไม่ดี คือไม่ตัดสินใจ คนบางคนเวลาพบวิกฤตจะเฉื่อยมาก เรียกว่า "Passive" ตั้งรับเท่านั้น ไม่ทำตัวเป็นฝ่ายรุก เรียกว่า "Proactive" คือรุกตั้งแต่ไก่โห่
2. ต้องรู้จักยอมรับผล
ลักษณะที่ 2 คือ ตัดสินใจไปแล้วแต่ไม่ยอมรับผลที่เกิดขึ้น
คนเราควรกล้าตัดสินใจ มิใช่จมปลักอยู่กับที่ จะซ้ายขวาหน้าหลังก็เลือกเอาสักทาง แต่มีข้อแม้ว่าเมื่อเลือกแล้วต้องยอมรับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เรียกว่า "Accountability" เพราะเราเองคือ "ผู้ตัดสินใจ" คนจำนวนมากตกอยู่ในกับดัก “คอยแต่จะโทษผู้อื่น” แต่ไม่ประเมินตนเอง มีบ้างบางคนก็ชอบโทษตนเองอยู่เสมอแล้วก็ติดขัดตกหล่มไม่ไปไหนอยู่ดี
1
เราไม่อยากให้ใครก็ตามเอาแต่โทษตนเองเช่นกัน เพราะทำให้ชีวิตติดอยู่กับที่ เวลาพบวิกฤต เราอยู่กับที่สักพักได้เพื่อพักผ่อน แต่เมื่อสมควรแก่เวลาแล้วต้องตัดสินใจ ยอมรับผล แล้วตัดสินใจอีก แล้วยอมรับผล แล้วตัดสินใจอีก แล้วยอมรับผล ชีวิตจึงจะไปข้างหน้าได้
2
การจะไปข้างหน้าได้ก็ต่อเมื่อรู้ว่าข้างหน้าคืออะไร นั่นคือ มี EF ดีพอที่จะเห็นเป้าหมาย ซึ่งแท้จริงแล้ว ทักษะชีวิตก็เป็นความสามารถของสมองส่วนที่เรียกว่า "Executive Function" หรือ EF คือความสามารถที่จะมองเห็นและกำหนดเป้าหมาย
1
3. ต้องรู้จักกินแล้วก็นอน
ในชีวิตที่ถูกรัดรึง มัดมือ มัดเท้า จิตใจแตกกระเจิง สิ่งที่เราควรควบคุมได้คือ "ใจ" แต่ทักษะการคุมใจมิใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ผ่านการฝึกเจริญสติมาก่อนเลย จู่ ๆ จะไปบอกให้กำหนดลมหายใจจะบ้าเอาง่าย ๆ ภายใต้การรัดรึงและผูกมัด เราทำได้ 2 อย่างคือ "กินแล้วนอน" มิใช่เพื่อให้อิ่มและได้พัก แต่มีเรื่องสำคัญกว่านั้นอีกคือ เป็นสองเรื่องง่ายๆ ที่เราควบคุมได้ ชีวิตที่ยุ่งเหยิงปานใดจนเรารู้สึกว่าเราเป็นฝ่ายตั้งรับ เรารุกกลับได้ 2 ข้อ คือ กินและนอน
1
จะเห็นว่าเราสามารถคุมได้ตั้ง 4 เรื่องแล้วคือ กินข้าวเช้า กินข้าวเที่ยง กินข้าวเย็น แล้วนอนตอนกลางคืน อย่าฝืนไม่กิน และอย่าฝืนไม่นอน คุมได้ 4 เรื่องนี้คือจังหวะชีวิต (Rhythm) ชีวิตจะนิ่งขึ้นแล้วจะสว่างวาบได้เอง ไม่เชื่อก็ได้แต่ชวนให้ลองทำ
2
4. ต้องใช้ EF แก้วิกฤต
EF เป็นความสามารถของสมองส่วนหน้า ที่ใช้ในการกำหนดเป้าหมายแล้วควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำไปจนกว่าจะถึงเป้าหมาย EF ช่วยให้เรากำหนดเป้าหมายของชีวิตเป็น เป้าหมายมี 2 ชนิด ได้แก่ เป้าหมายระยะสั้นและเป้าหมายระยะยาว
เมื่อเวลาที่เราพบวิกฤต ควรกำหนดเป้าหมายระยะสั้นให้ได้ก่อน เป้าหมายระยะยาวอาจจะต้องเก็บเอาไว้วันหลังค่อยทบทวน นี่คือความสามารถในการซอยเป้าหมายเป็นระยะ ซึ่งก็เป็น EF เช่นเดียวกัน เป้าหมายระยะสั้นในเวลาวิกฤตนั้นง่ายมากคือ การควบคุมชีวิตตนเองให้ได้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทำได้ด้วยการควบคุมการกินและการนอน กินแล้วก็นอน
ข้อมูลดี ๆ จากหนังสือ "หนักแค่ไหนก็ไหวถ้าใจแข็งแรง"
เขียนโดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
สำนักพิมพ์ amarin health
โฆษณา