27 ส.ค. 2021 เวลา 07:09 • การศึกษา
ประเด็น : คดีที่เอกชนฟ้องว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจทำละเมิดในระหว่างควบคุมผู้ต้องหา เป็นคดีที่เกิดจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม
คําวินิจฉัยชี้ขาดอํานาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 22/2547 คดีที่เอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดทําละเมิดโดยไม่ใส่กุญแจห้องควบคุมผู้ต้องหาจนเป็นเหตุให้ผู้ต้องหาอื่นเข้าไปรุมทําร้ายบุตรผู้ฟ้องคดีภายในห้องควบคุมคดีอาญาจนถึงแก่ความตาย เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจได้ควบคุมตัวผู้ต้องขังในคดีอาญาเป็นการใช้อํานาจตามกฎหมายเพื่อนําตัวผู้กระทําความผิดอาญาไปลงโทษและได้ดําเนินการตามที่ป.วิ.อาญากําหนดไว้เป็นการเฉพาะ คดีนี้จึงมิใช่การกระทําละเมิดจากการใช้อํานาจทางปกครอง แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทําละเมิดอันสืบเนื่องจากการใช้อํานาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจึงอยู่ในอํานาจของศาลยุติธรรม
คําวินิจฉัยชี้ขาดอํานาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 34/2558 คดีที่เอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองว่าผู้ต้องหาถูกจับกุมดําเนินคดีอาญาและถูกควบคุมในห้องขังสถานีตำรวจภูธร เจ้าหน้าที่สิบเวรผู้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมและเก็บรักษากุญแจห้องขังพบเหตุเพลิงไหม้สถานีตำรวจ ตามหน้าที่ต้องเปิดประตูห้องขังนําตัวผู้ต้องหาออกมาให้พ้นจากอันตราย แต่กลับแจ้งเหตุและรอคำสั่งผู้บังคับบัญชาแล้วจึงช่วยเหลือผู้ต้องหาในห้องขังทําให้เพลิงไหม้ห้องขังและผู้ต้องหาถูกไฟคลอกเสียชีวิตนั้นเกิดจากการกระทําละเมิดของเจ้าหน้าที่ในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องหา ขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีชําระค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะและค่าเสียหายอันมิใช่ตัวเงินพร้อมดอกเบี้ย.
เห็นว่ามูลความแห่งคดีสืบเนื่องมาจากพนักงานสอบสวนจับกุมผู้ต้องหาว่ากระทําความผิดอาญาและถูกควบคุมตัวระหว่างสอบสวนเพื่อดําเนินคดีอาญาจนถึงแก่ความตายขณะอยู่ในอํานาจควบคุมของเจ้าหน้าที่ ป.วิ.อาญา มาตรา 84/1 บัญญัติให้เจ้าพนักงานตำรวจเข้าทําการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องหาไปยังศาล ถ้าไม่อาจส่งไปได้ในขณะนั้นเนื่องจากเป็นเวลาที่ศาลปิด หรือใกล้จะปิดทําการให้พนักงานสอบสวนที่รับตัวผู้ถูกจับไว้มีอํานาจปล่อยผู้ถูกจับชั่วคราวหรือควบคุมผู้ถูกจับไว้ได้จนกว่าจะถึงเวลาศาลเปิดทําการ อันเป็นขั้นตอนการดําเนินการที่กําหนดให้อํานาจพนักงานสอบสวนไว้เป็นการเฉพาะโดยตรงเพื่อนำไปสู่การฟ้องคดีและลงโทษผู้กระทําความผิดทางอาญาและตามมาตรา 2 (1) ก็บัญญัติว่า “ศาล” หมายความถึงศาลยุติธรรมหรือผู้พิพากษาซึ่งมีอํานาจเกี่ยวกับคดีอาญา
ดังนั้นศาลที่มีอํานาจในการควบคุมตรวจสอบการสอบสวนของพนักงานสอบสวน คือ ศาลยุติธรรมซึ่งมีอํานาจเกี่ยวกับคดีอาญา.แม้ผู้ฟ้องจะบรรยายฟ้องในทำนองว่าผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ก็ตาม แต่การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวก็เป็นเรื่องการสอบสวนเพื่อนําตัวผู้กระทําความผิดไปลงโทษทางอาญา เมื่อมีความเสียหายหรือข้อพิพาทเกี่ยวกับการกระทําละเมิดของเจ้าหน้าที่เกิดขึ้น ศาลยุติธรรมย่อมมีอํานาจในการตรวจสอบขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทําละเมิดอันสืบเนื่องจากการใช้อํานาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจึงอยู่ในอํานาจศาลยุติธรรม
คําวินิจฉัยชี้ขาดอํานาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 19/2545 การที่ตำรวจเข้าตรวจค้น จับกุมบุคคลถือได้ว่าเป็นขั้นตอนการดําเนินการของเจ้าพนักงานตามที่ป.วิ.อาญากําหนดให้อํานาจไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง มิใช่เป็นการกระทําทางปกครอง เมื่อมีความเสียหายหรือข้อพิพาทเกิดขึ้นจึงอยู่ในอํานาจการตรวจสอบของศาลยุติธรรม
#กฎหมาย #ปกครอง #ตำรวจ #เนติบัณฑิต #ฎีกาใหม่ #คำพิพากษาศาลฎีกา
สอบถาม/สมัครเรียนได้ที่...
LINE Official : @Smartlawtutor
หรือคลิ้ก https://lin.ee/C7fWn1q
โทร.086-987-5678 (09.00-24.00 น. ทุกวัน)
โฆษณา