28 ส.ค. 2021 เวลา 01:30 • หนังสือ
ฮารุกิ มุราคามิ “งานของผมขายดีเมื่อเกิดความวุ่นวายทางการเมือง”
“เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายกลายเป็นรัสเซีย งานของผมก็ขายดี เมื่อกำแพงเบอร์ลินถูกทำลาย งานของผมก็ขายดี”
ฮารุกิ มุราคามิ “งานของผมขายดีเมื่อเกิดความวุ่นวายทางการเมือง”
นี่คือคำพูดที่ฮารุกิ มุราคามิ นักเขียนชาวญี่ปุ่นชื่อดัง ผู้มีรายชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมแทบทุกปี (และบางปีก็ขอถอนชื่อตัวเองออก เพราะอยากโฟกัสกับการเขียน) ได้กล่าวให้ข้อสังเกตไว้ในการสัมภาษณ์กับ The Guardian เมื่อปี 2018 แต่องค์ประกอบใดกันแน่ในงานเขียนของเขาที่ดึงดูดจิตวิญญาณที่กำลังสับสนท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมือง แล้วงานเขียนที่มักจะผลุบเข้าไปในโลกอีกใบที่ไร้กฎเกณฑ์เหล่านั้น ที่แท้แล้วมีความหมายอะไรซ่อนอยู่หรือไม่ ตามมาดูและทำความรู้จักกับเขากันค่ะ
2
ก่อนเป็นนักเขียน
ฮารุกิ มุราคามิ เกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม ปี 1949 ที่เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น และเติบโตขึ้นที่เมืองโกเบท่ามกลางยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่วัฒนธรรมอเมริกันกำลังแผ่ขยายและเฟื่องฟูในญี่ปุ่น อีกทั้งพ่อแม่เขาก็เป็นอาจารย์สอนวรรณกรรม เขาจึงได้เสพวรรณกรรมจากฝั่งตะวันตกมากพอๆกับที่เสพวรรณกรรมญี่ปุ่น (อันจะส่งกลิ่นไอตะวันตกในงานของเขาจนถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเวลาต่อมา)
1
เมื่อเข้าสู่วัยยี่สิบ เขาเข้าสู่เมืองหลวงโตเกียวเพื่อเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยวาเซดะ ซึ่งเป็นที่ที่เขาได้พบกับโยโกะ ผู้ซึ่งจะมาเป็นผู้ร่วมทางและหุ้นส่วนชีวิตของเขาในอนาคต ท่ามกลางบรรยากาศการต่อสู้ประท้วง และการแผ่ขยายของลัทธิมาร์กซิสในขณะนั้น โดยเขากล่าวถึงช่วงเวลานั้นว่า เป็นยุคที่คนหนุ่มสาวมองว่าโลกจะต้องดีขึ้นได้หากเราพยายามมากพอ
1
เมื่อเรียนจบ ตัวมุราคามิก็ทำการประท้วงเล็กๆของตัวเองเช่นกัน ด้วยการปฏิเสธที่จะทำงานที่พ่อแม่มองว่าเป็นงานที่ดี และไปเปิดบาร์แจ๊สกับโยโกะ ชื่อ Peter cat ตามชื่อแมวของเขา และทำอาชีพนี้กับภรรยามาเป็นเวลา 7 ปี ก่อนที่การนั่งดูเกมเบสบอลในฤดูใบไม้ผลิปี 1979 จะเปลี่ยนเส้นทางชีวิตเขาไปตลอดกาล จุดประกายว่าเขาสามารถเขียนนิยายได้และทำให้เขากลายเป็นนักเขียนจนถึงปัจจุบัน (แต่เขาไม่เคยบอกว่าอะไรในเกมหรือบรรยากาศแบบนั้นที่เป็นสิ่งกระตุ้นให้จู่ๆก็เขียนนิยายขึ้นมาหรอกนะ!)
2
แมว เพลงแจ๊ส และสไตล์การเขียนแบบมุราคามิ
องค์ประกอบที่แทบขาดไม่ได้ และเป็นสิ่งที่แฟนของมุราคามิคุ้นเคยคือ แมวเหมียว เพลงอเมริกันแจ๊ส และตัวละครหลักเพศชาย วัย 30 ที่เปลี่ยวเหงาไม่ค่อยเข้าสังคม แต่กลับมีแนวคิดแสนประหลาดดูมีเสน่ห์ ซึ่งหากอ่านงานเขียนของเขาไปเรื่อยๆ เราจะพบรูปแบบดังกล่าวเสมอราวกับเขาใส่ส่วนหนึ่งของตัวเองลงไปในงานเขียน
แล้วมันจะไม่น่าเบื่อหรอกหรือ?
1
คำตอบอยู่ในการให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งของมุราคามิค่ะ เป็นเรื่องของแนวทางการเขียนของเขาโดยเฉพาะ ซึ่งมุราคามิกล่าวว่า ในการเขียน ตัวเขาจะโฟกัสกับการสื่อสารและเชื่อมต่อกับจิตใต้สำนึกของตัวเอง คอยจดจ่อรอดูในฐานะผู้สังเกตการณ์ว่า จะมีไอเดีย หรือสิ่งใดที่ลอยขึ้นมาจากก้นบึ้งของจิตใต้สำนึกสู่พื้นผิวของจิตสำนึกที่เขาจะสามารถนำไปเขียนได้บ้าง
1
เขามองว่าตัวเองเป็นทางเชื่อมจากจิตใต้สำนึกสู่เรื่องราวที่ร้อยเรียงออกมา เขาจะค่อยๆใช้เวลาบรรยายสิ่งนั้นให้ละเอียดและชัดเจนที่สุดเท่าที่จะทำได้ ละเลียดและทดลองใช้ถ้อยคำมาบรรยายสิ่งนั้น โดยไม่ตัดสินด้วยตรรกะ ความผิดถูก หรือกฎเกณฑ์ใดๆ มีเพียงตัวเขาและการสื่อสารสิ่งที่ผุดขึ้นมาจากจิตใต้สำนึกให้เป็นเรื่องราว
นั่นจึงเป็นสาเหตุ ที่แม้องค์ประกอบอย่างแมว เพลงแจ๊ส และตัวละครหลักเพศชายวัยกลางคนจะโผล่มาบ่อยๆ แต่เรื่องราวที่มุราคามิผลิตสร้างกลับออกมาแตกต่างกันในแต่ละครั้ง เพราะในความมีรูปแบบก็ยังคงมีสิ่งที่ไร้รูปแบบ ไร้กฎเกณฑ์และเหตุผลจากจิตใต้สำนึกของเขามาแต่งแต้มสีสันงานของเขาให้มีความประหลาดที่ไม่อาจอธิบาย และทำให้เราตกหลุมรักกับคาแรคเตอร์แสนลึกลับยากคาดเดาของตัวละคร
1
สิ่งปลอบประโลมจิตวิญญาณอันสับสน
แล้วอะไรกันที่เป็นสิ่งดึงดูดให้เหล่าผู้คนที่สับสนจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ หันมาเสพงานของมุราคามิจนยอดขายพุ่งในช่วงเวลาดังว่า
เรื่องนี้ต้องยกประโยชน์ให้กับสไตล์การเขียนของเขาอีกเช่นกัน ด้วยการเล่าเรื่องที่มักจะมีองค์ประกอบที่ดูแปลกประหลาด หรือการผลุบเข้าสู่โลกของจิตใต้สำนึก สิ่งนี้เป็นที่พักพิงชั้นดีให้กับผู้คนที่ต้องการลี้ภัยจากความเป็นจริงอันน่าสับสนที่เผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน สู่โลกอีกใบที่ไร้ขีดจำกัดทางตรรกะหรือเหตุผล
1
โดยมุราคามิกล่าวว่า “คุณต้องเดินทางผ่านความแปลกประหลาดพิสดาร และความมืด ดังนั้นแล้วคุณจึงจะได้พบกับแสงสว่างในภายหลัง” ซึ่งเป็นการเดินทางที่ตัวละครของเขาต้องพบเจอ และแม้เรื่องราวมักจะจบลงในรูปแบบที่ไม่อาจเรียกได้ว่ามีความสุขอย่างสมบูรณ์ แต่ตัวละครที่เดินผ่านพายุก็จะไม่ใช่ตัวเขาคนเดิมอีกเมื่อพายุได้พัดผ่านไป
2
แล้วความประหลาดพิสดารที่อยู่เหนือเหตุผลพวกนี้มันมีความหมายแฝงเร้นใดบ้างหรือไม่
เรามักจะเห็นมุกตลกในการเรียนวรรณกรรมว่า จริงๆสิ่งที่นักเขียนตั้งใจสื่อออกมา มันไม่ได้ซ่อนนัยลึกซึ้งอะไรหรอก แต่เรากลับนำมาตีความจนมันกลายเป็นงานเขียนที่ลึกซึ้งยิ่งใหญ่กันไปเอง ซึ่งสำหรับมุราคามิที่เป็นนักเขียนที่ยังมีชีวิตให้เราได้ถาม เขาตอบแบบมุราคามิสุดๆว่า อ้อ ผมแค่เขียนสิ่งที่มันลอยขึ้นมาเป็นอย่างแรกหน่ะ เรื่องความหมายแฝงหรือการตีความ มันเป็นหน้าที่ของคนฉลาดๆ ไม่ใช่หน้าที่ของผม (ว่าซั่นนน)
2
ดังนั้น งานเขียนของมุราคามิจึงเป็นสถานที่หลบภัยชั่วคราวที่ตัดขาดจากความเป็นเหตุเป็นผลและความวุ่นวายทางการเมืองด้วยประการฉะนี้ และขอแนะนำผู้ทดลองอ่านงานของคุณลุงชาวญี่ปุ่นสุดอินดี้คนนี้ว่า อย่าพยายามสรุปเนื้อหา เพราะพอสรุปจบคุณอาจจะต้องถามตัวเองว่า นี่มัน(ห่ะ)อะไรกัน(วะ)เนี่ย? อีกทั้งไม่ต้องพยายามหาความหมายเพราะนั่นคือการทำลายสถานที่หลบภัยของคุณด้วยความปวดหัว(อันไร้ที่สิ้นสุดพอกับจิตใต้สำนึกของลุงแก เว้นเสียแต่คุณคิดว่าคุณเป็นคนฉลาดที่มีหน้าที่ตีความ)
2
ถ้าจะให้แอดแนะนำว่าอ่านเรื่องไหนของลุงมุราคามิก่อนดี นัมเบอร์วันในใจแอดที่ย่อยง่าย คือ แกะรอย แกะดาว หรือ A Wild Sheep Chase จากชุดไตรภาคแห่งมุสิกค่ะ ถึงจะบอกว่าเป็นไตรภาค แต่อ่านแยกเล่มได้สบายมากไม่ต้องห่วง (และแอดชอบคาแรคเตอร์ของมุสิกมาก เป็นคนรวยที่เกลียดความรวย งงป่ะ? 555)
1
หรือๆๆ ถ้าใครอยากเลือกเส้นทางด้วยตัวเอง แอดขอแนะนำให้ลองไปสำรวจตาม link นี้ค่ะ เขาแยกประเภทและแนะนำไว้ดีมากๆ ว่าควรอ่านเล่มไหนก่อน https://bookoblivion.com/2015/05/13/the-best-way-to-read-haruki-murakami/
สำหรับวันนี้ เขาคนนั้นในวันวาน ขอลากันเพียงเท่านี้ก่อนนะคะ พบกันใหม่โพสหน้า สวัสดีค่ะ
โฆษณา