27 ส.ค. 2021 เวลา 20:31 • การศึกษา
สรุปจาก 📝WhyItMatters EP.31 ทำไม “โรงเรียนขนาดเล็ก” ถึงสำคัญ 🏫
x Access School ชุมชนสร้างโรงเรียน โรงเรียนสร้างชุมชน
======================
1. โรงเรียนขนาดเล็กคืออะไร
======================
[คุณเทวินฏฐ์]
- โรงเรียนขนาดเล็กคือโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน ตามนิยามของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นโรงเรียนที่ต้องมีการพัฒนาคุณภาพ จำนวนครูต่อนักเรียนคือ 1 ต่อ 20 นอกจากนี้โรงเรียนยังแบ่งเป็นโรงเรียนขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และขนาดใหญ่พิเศษ
======================
2. ข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียนขนาดเล็ก
======================
[คุณเทวินฏฐ์]
- ปี 2563 ทั่วประเทศมีโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการอยู่ 29,642 แห่ง เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก 14,976 แห่ง หรือประมาณ 50.5%
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีโรงเรียนขนาดเล็กมากที่สุด 7,214 โรงเรียน ภาคเหนือ 3,550 โรงเรียน ภาคกลาง 2,548 โรงเรียน และภาคใต้ 1,664 โรงเรียน
- ถ้าย้อนไปตั้งแต่ปี 2553 จะมีโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด โดยมีอยู่สองประการคือ หนึ่ง เล็กโดยธรรมชาติ จากจำนวนประชากรของชุมชนที่เด็กมีอัตราการเกิดน้อยลง สอง เล็กโดยการจัดการทำให้เล็ก ซึ่งนี่คือปัญหาใหญ่ตอนนี้
- จากนโยบายสมัยก่อนที่ต้องการกระจายการศึกษาให้ทั่วประเทศ จึงมีการเพิ่มจำนวนโรงเรียน ทำให้ปริมาณโรงเรียนกระจายไปอยู่พื้นที่ต่างๆ รองรับกับปริมาณเด็กในชุมชนมากขึ้น
- โรงเรียนในเมืองหรือชุมชนขนาดใหญ่ก็มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาคาร สถานที่ บุคลากร จัดการศึกษาในเชิงหลักสูตร โดยจะเน้นให้ครูมีความรู้ในการเรียนการสอนเฉพาะวิชามากขึ้น ทำให้โรงเรียนขนาดกลางเริ่มโตขึ้น มีโรงเรียนขนาดใหญ่ในเมืองมากขึ้น โดยมีการนำคุณภาพและมาตรฐานมาเป็นตัววัดผล การใช้มาตรฐานเดียวกันมาวัดทำให้โรงเรียนขนาดเล็กมีมาตรฐานต่ำ ส่งผลให้ผู้ปกครองเริ่มย้ายลูกไปเรียนในเมืองมากขึ้น ทำให้โรงเรียนขนาดเล็ก เล็กลงเรื่อยๆ จนกระทรวงศึกษาธิการออกนโยบายการยุบและควบรวมสถานศึกษาโรงเรียนขนาดเล็กมารวมให้เป็นโรงเรียนขนาดกลาง
- กฏกระทรวงที่ออกมาตั้งแต่ปี 2550 มีนโยบายที่จะให้มีการจัดตั้ง ยุบ ควบรวมสถานศึกษา กำหนดตั้งแต่การจัดตั้งสถานศึกษาว่าจะต้องมีจำนวนนักเรียนประถมเท่าไหร่ มัธยมเท่าไหร่ ขนาดพื้นที่ของโรงเรียนต้องตั้งแต่ 25 ไร่ขึ้นไป และต้องมีนักเรียนไม่ต่ำกว่า 120 คน ตอนนี้ก็กำลังจะออกฉบับใหม่โดยที่เนื้อหาไม่ต่างกันมาก เริ่มโฟกัสพื้นที่ที่โรงเรียนอยู่ห่างกันไม่เกิน 6 กิโลเมตร ถ้านักเรียนมีจำนวนน้อยต่อเนื่องกันหนึ่งปี ก็สามารถให้ควบรวมกันได้ มีมาตรการในการสอบถามผู้ปกครอง มีขั้นตอนคือ ยุบชั้นเรียนก่อน แล้วค่อยยุบสถานศึกษา ย้ายนักเรียนไปรวมกับโรงเรียนขนาดกลาง โดยให้เทศบาลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบในการขนย้ายนักเรียนจากบ้านหนึ่งไปอีกบ้านหนึ่ง จริงๆ คือมีการยุบโรงเรียนขนาดเล็กมานานแล้ว แต่ตอนนี้กำลังจะมีการปรับปรุงระเบียบให้ชัดเจนมากขึ้น
- ในความคิดเห็นของนักการศึกษาที่ทำงานกับโรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งมองว่า การยุบควบรวมไม่ใช่เป็นวิธีเดียวในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา น่าจะมีทางเลือกที่มากกว่านี้
======================
3. เหตุผลในการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก
======================
[คุณเทวินฏฐ์]
- เหตุผลในการยุบหรือควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กของกระทรวงศึกษาธิการ มีผลมาจากการเสนอจากสองหน่วยงาน ธนาคารโลก กับ TDRI (Thailand Development Research Institute) ซึ่งได้มีการเสนอว่า โรงเรียนขนาดเล็กที่เป็นอยู่ในปัจจุบันทำให้ไม่คุ้มทุนในการจัดการ การที่ต้องทุ่มทรัพยากรในการพัฒนาเด็กที่มีจำนวนน้อย มีความเชื่อว่าการที่จะทำให้เด็กมีคุณภาพได้ ต้องมีครูครบชั้น มีเครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ อาคารเรียน มีวัสดอุปกรณ์การสอนครบถ้วน เด็กถึงจะได้คุณภาพ ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กจึงไม่คุ้มทุน ต้องไปรวมกับโรงเรียนหลักที่เป็นโรงเรียนแม่เหล็ก และผลักดันให้ทางท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการขนย้าย
======================
4. ปัญหาของการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก
======================
[คุณเทวินฏฐ์]
- ถ้าเราลองดูโรงเรียนขนาดใหญ่ในพื้นที่ตามต่างจังหวัด โรงเรียนประจำจังหวัดหรือโรงเรียนประจำอำเภอ จะเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นเด็กมาจากต่างอำเภอ ต่างตำบล เด็กในต่างจังหวัดต้องตื่นเช้าเหมือนเด็กในกรุงเทพ ตีห้าหกโมงต้องนั่งรถตู้จากหมู่บ้านมาเรียนในเมือง ตอนเย็นกว่าจะกลับถึงบ้านก็หกโมงทุ่มนึง ไม่ต่างกับเด็กในกรุงเทพ นี่คือชีวิตที่มันเปลี่ยนแปลง อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องการหรือเปล่า ระบบการจัดการของกระทรวงศึกษาทำให้โรงเรียนใหญ่เป็นตัวดูดให้โรงเรียนขนาดเล็กให้เข้ามาอยู่ในเมือง
======================
5. โรงเรียนควรมีหลากหลายรูปแบบ
======================
[ดร.จุฬากรณ์]
- ในต่างประเทศไม่มีคำว่าการศึกษาทางเลือก แต่คือทุกคนมีสิทธิ มีการกระจายอำนาจในการจัดการการศึกษาในรูปแบบไหนก็ได้ โรงเรียนหรือห้องเรียนขนาดเล็กก็เป็นช่องทางหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ในโรงเรียนเหมือนกัน บางโรงเรียนในยุโรปหรืออเมริกาก็ยังมีหลายที่ ที่โรงเรียนมีห้องเรียนเดียว มีเด็ก 20 คน ถ้าเป็นประเทศไทยก็เหมือนเป็นโรงเรียนทางเลือกแบบนึง แต่ของเขาไม่ได้เรียกว่าโรงเรียนทางเลือก เขาเรียกว่ามันคือโรงเรียน เด็กทุกคนมีสิทธิไปโรงเรียนไหนก็ได้ที่ครอบครัวหรือเด็กเลือก เด็กเกิดมา รัฐบาลหรือท้องถิ่นมีหน้าที่รับผิดชอบต่อการเติบโต การเรียนรู้ เพราะฉะนั้นโรงเรียนที่เด็กๆ หรือครอบครัวเลือก ก็ควรมีคุณภาพทุกโรงเรียนไม่ว่าโรงเรียนจะเป็นไซส์ไหนก็ตาม
- พอเราพูดถึงการศึกษาทางเลือก เรายังมองว่าบรรยากาศของประเทศไทยยังมีมายาคติหรือทิฐิอะไรบางอย่าง ที่มองว่าโรงเรียนแบบนี้จะมาเป็นคู่แข่งกับโรงเรียนหลัก ซึ่งความเป็นจริงถามว่าการศึกษามันแข่งไหม มันก็แข่งกันในท่าที เพราะต้องทำตัวเองให้มีคุณภาพให้เด็กมาโรงเรียน แต่ว่ามันไม่ได้แข่งขันในระดับที่แข่งกันเพื่อให้ไปไม่รอดในระบบอุตสาหกรรม มันคือการแข่งกันเพื่อให้เด็กมีแรงบันดาลใจ ถีบตัวเองในบรรยากาศของการแบ่งปัน มีอนาคตที่ดี มีชีวิตที่ดี ทุกที่ควรทำงานแบบให้เป็นทางเลือกแรกของเด็ก ทุกโรงเรียนควรมีคุณภาพที่จะเป็นทางเลือกแรกๆ ของเด็กที่จะเข้ามา แต่ไม่ควรจะไปจำกัดว่าโรงเรียนนี้ไม่ใช่โรงเรียนประเภทนั้น ประเภทนี้ เพราะยิ่งถ้าเราจำกัดแบบนี้สุดท้ายเราก็ตกม้าตายด้วยคำเดียวกันว่า เหลื่อมล้ำ พอเป็นเรื่องเหลื่อมล้ำ คุณภาพทางการศึกษาก็วิกฤตอีก มันก็ตอกย้ำซ้ำเติมในวังวนเดิม
======================
6. ข้อดีของโรงเรียนขนาดเล็ก
======================
6.1 ความสัมพันธ์ของระยะทางกับการเรียน
[ดร.จุฬากรณ์]
- ที่สถาบันเก็บข้อมูลเรื่องเด็กที่หลุดออกจากระบบ เห็นชัดเลยว่าเด็กที่โรงเรียนอยู่ห่างไกลบ้าน โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด เมื่อเปิดเทอมปีที่ผ่านมา เด็กกลับเข้ามาโรงเรียนยากขึ้น ทำให้เขาหลุดออกนอกระบบเยอะ
- มีงานวิจัยตัวนึงที่ทำงานกับ กสศ. (กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) ในกลุ่มเด็กอาชีวะ ขนาดกสศ. ให้ทุนในการเรียนจนจบ แต่เราพบความสัมพันธ์ระหว่างบ้านที่อยู่ห่างโรงเรียนระยะทางตั้งแต่ 20 กิโลเมตรขึ้นไป ถึงแม้จะมีมอเตอร์ไซต์ก็ทำให้มีแนวโน้มเด็กไม่มาโรงเรียนและหลุดออกนอกระบบโดยอัตโนมัติ เด็กจะให้เหตุผลคล้ายๆ กันว่าขี้เกียจไป เพราะรู้สึกว่ามันลำบาก โรงเรียนมันไกลบ้าน
- เด็กประถม ระยะ 5-6 กิโลเมตร การมาโรงเรียนและเข้าถึงโอกาสการศึกษา มันไม่ใช่แค่วินัยของเด็ก แต่ต้องการแรงผลักจากครูและครอบครัวสูงมาก เพราะฉะนั้นการมีโรงเรียนขนาดเล็กจึงเป็นกลไกสำคัญที่จะป้องกันเด็กหลุดจากระบบก่อน ป.6 ไม่ใช่แค่โอกาสทางการศึกษาที่เด็กมาโรงเรียน
- ข้อมูลจากกระทรวงศึกษาจะบอกว่าเด็กเข้า ป.6 เต็ม 100% แต่ข้อมูลเชิงคุณภาพที่เราเก็บเราพบว่าในพื้นที่คือมีชื่อ แต่ตัวไม่อยู่ ห้าวันมาเรียนครบบ้างไม่ครบบ้าง มาๆ หายๆ ไม่ได้เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ของเด็กกับโรงเรียนอย่างเดียว มันมีความสัมพันธ์ของเด็กกับครอบครัว ครอบครัวกับโรงเรียนด้วย เพราะฉะนั้นมิติของโรงเรียนขนาดเล็กไม่ได้ทำแค่หน้าที่ ที่ให้การศึกษาหรือสอนเด็กอย่างเดียว แต่ทำในมิติความสัมพันธ์ของครอบครับ ชุมชน และเงื่อนไขในทรัพยากรของพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้เด็กคนนึงสามารถเติบโตทั้งที่บ้านและโรงเรียน มีคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อมาโรงเรียน
และยังมีความหวังที่จะเติบโตต่อไปในอนาคต อันนี้คือสิ่งที่โรงเรียนขนาดเล็กเขาทำงานหนักมาก เพราะถ้าไม่ทำแบบนี้ด้วยบริบทของครอบครัวที่ไม่ได้มีฐานะปานกลางหรือดีเหมือนในเมือง โอกาสเหล่านี้จะยิ่งยาก ถ้าจะให้จบ ป.6 แล้วมีแรงบันดาลใจ โดยลำพังโรงเรียนอย่างเดียวไม่พอ ต้องใช้ความสัมพันธ์ของโรงเรียนและครอบครัวทำงานด้วย ที่จะช่วยให้เด็กเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ
6.2 ทำให้มองเด็กได้หลายด้าน
[ดร.จุฬากรณ์]
- ตัวครูในโรงเรียนขนาดเล็ก เมื่อเขาต้องเอาโรงเรียนให้อยู่รอด ตัวเขาอยู่รอด ตัวครูเองก็จะไม่ได้หยุดนิ่ง จะแสวงหาความรู้ วิธีการใหม่ ซึ่งสิ่งนี้ควรเกิดขึ้นกับครู ไม่ว่าจะโรงเรียนขนาดเล็ก กลางหรือใหญ่ ในโลกยุคใหม่ เราจะเห็นปรากฏการณ์เหล่านี้ว่ามันไม่เท่ากัน แล้วมันก็หลากหลายมาก พอเราพูดถึงขนาดของโรงเรียน วนกลับไปที่ตัวเด็ก เราคิดว่าโรงเรียนขนาดเล็กสำคัญมาตลอด การวัดผลการเรียนรู้เห็นได้ชัดได้ง่าย เห็นพัฒนาการ เห็นประสบการณ์ได้ง่ายกว่าโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
เพราะว่าความใหญ่มันได้ปริมาณ แต่ไม่ได้เห็นเต็มๆ เห็นแค่คะแนนวัดว่าใครเก่งไม่เก่ง แต่เด็กที่ถูกมองว่าไม่เก่ง จะไม่ได้เห็นคุณภาพด้านอื่นของเด็กเลย ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่อ่านหนังสือไม่คล่อง จะถูกซ่อนตัวในห้อง แล้วจะกลายเป็นเด็กหลังห้องเลยโดยอัตโนมัติ ถ้าครูมองไม่เห็นหรือไม่ใส่ใ่จ หรือกรณีที่เด็กไม่เก่งวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ แต่มีทักษะทางด้านร่างกาย เช่น ลงเกษตร ลงครัว ลงพละ คุณภาพด้านนี้เขาจะไม่ถูกวัดเลย เขาจะถูกวัดแต่อ่านไม่เก่ง เขียนไม่เก่ง โรงเรียนขนาดเล็กทำให้เห็นเด็กที่เป็นองค์รวม หรือคุณภาพหลายๆ ด้าน ได้ง่ายกว่าโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่ที่มีเด็กเยอะๆ
[คุณเทวินฏฐ์]
- พอเราใช้มาตรการยุบโรงเรียนขนาดเล็กหมื่นสี่พันกว่าโรงเรียนไปเรื่อยๆ คิดว่าปัญหาใหญ่ที่จะตามมาคือเรื่องการเข้าถึงการศึกษา จะเป็นความเลื่อมล้ำครั้งใหญ่ เพราะเชื่อว่าเมื่อเด็กโรงเรียนขนาดเล็กที่มีมาตรฐานเชิงคุณภาพอีกแบบ ตามบริบททางนิเวศวัฒนธรรม เมื่อไปอยู่ใช้มาตรฐานกลาง จะมีเด็กเข้าถึงการศึกษาได้น้อย นี่คือปัญหาใหญ่ ขนาดนี้เริ่มมีเด็กระดับมัธยมต้นเริ่มหลุดออกจากระบบการศึกษาเรื่อยๆ เด็กพวกนี้ยิ่งต้องเดินทางไปเรียนไกลก็จะออกกลางทางมากขึ้น
เป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับนโยบายทางการศึกษาที่ต้องมาหาทางออกร่วมกัน สิ่งที่จะต้องแก้คือเปิดพื้นที่ทางด้านคุณภาพที่หลากหลายมากขึ้น และให้โอกาส ให้ทางเลือกกับโรงเรียนขนาดเล็กในการพัฒนาตนเอง ซึ่งขณะนี้โรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งมีความต้องการที่จะพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพ จากที่คุณภาพที่สามารถจับต้องได้ ซึ่งชุมชน ผู้ปกครองชอบ บางโรงเรียนเด็กก็ตอบโจทย์ผลสัมฤทธิ์ระดับชาติได้ด้วย อันนี้น่าส่งเสริม
- ปัญหาที่เป็นประเด็นใหญ่ในตอนนี้คือ ความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษาระหว่างโรงเรียนในเมืองและในชนบท ซึ่งคุณภาพตรงนี้เป็นคุณภาพที่เอามาตรฐานของโรงเรียนขนาดใหญ่มาวัด ใช้วิธีการวัดผลสัมฤทธิ์จากระบบเดียว เอาผลการสอบมาตรฐานกลางมาวัด ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กต่างๆ ซึ่งเด็กมีความสามารถ มีคุณภาพอีกแบบนึงตามบริบทของตัวเอง ต้องแอคทีฟมหาศาล เปลี่ยนความคิดทุกอย่างให้ไปตอบโจทย์โรงเรียนขนาดใหญ่ เลยเป็นช่องว่างเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพ ที่ตราบใดที่เรายังไม่พัฒนาหรือขยายความด้านคุณภาพและวิธีการวัดผลที่ต้องมีความหลากหลายมากขึ้น ให้สอดคล้องกับบริบทของผู้เรียนและความต้องการที่มีความหลากหลายตามบริบทของประเทศและโลกที่เปลี่ยนแปลง
- ตอนนี้โชคดีที่เริ่มมีการพูดถึงเรื่องการวัดผลแบบบนฐานสมรรถนะ ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่เหมือนกันว่าบนฐานสมรรถนะของโรงเรียนขนาดใหญ่ มาตรฐานกลางคืออะไร คือเรื่องที่ต้องมาคุยกันให้ชัด
6.3 ความสัมพันธ์แบบเกื้อกูลกัน
- ในต่างประเทศนอกจากห้องเรียนเดียว ก็มีที่เป็นศูนย์การเรียนที่ใช้ห้องเรียนเดียวแล้วทำทั้งระบบ มีหลักสูตร ที่ไปผูกกับโรงเรียนขนาดกลางหรือใหญ่เหมือนกัน เด็กก็สามารถเรียนในศูนย์ที่ใกล้บ้าน แต่สามารถจบหลักสูตรด้วยการเคลื่อนย้าย เช่น เรียนใกล้บ้านในศูนย์อันนี้ แต่อยากเรียนวิทยาศาสตร์กับครูที่เก่งมากๆ และเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ ก็สามารถไปเรียนเฉพาะรายวิชานี้ และไปโรงเรียนนั้นได้ บรรยากาศของที่อื่น พอโรงเรียนมันมีหลายช่องทาง และมีความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนและโรงเรียน โรงเรียนและหน่วยงานการศึกษา ทำให้สิ่งเหล่านี้ไปได้ แต่ในขณะที่บรรยากาศของไทย เวลาเราพูดถึงเรื่องความร่วมมือจะเป็นกระจุกๆ แล้วบางทีมันจะแข่งกันในท่าที รัฐก็กลัวเอกชนแย่งเด็ก เอกชนก็กลัวอบธ. แย่งเด็ก เพราะอบธ. มีเงินและก็ฟรีด้วย
ในขณะเดียวกันโรงเรียนขนาดเล็กก็กลัวโรงเรียนขนาดใหญ่แย่งเด็ก ก็เลยเป็นความสัมพันธุ์แบบระแวงและก็ระวังกันไป แทนที่จะเป็นระบบของการเกื้อกูลและเราก็ตั้งโจทย์เดียวกันว่าครูขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ขนาดกลาง แล้วแต่ทุกคนสามารถมาเป็นเพื่อนกันและช่วยกันทำงาน เป็นเครือข่ายได้ เพื่อให้คุณภาพการศึกษามันโตพร้อมๆ กันไปได้
======================
7. ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา
======================
7.1 การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กไม่ควรมองแค่เชิงเศรษฐศาสตร์
[คุณเทวินฏฐ์]
- ผมคิดว่าเรื่องการศึกษา เราไม่ควรเอาเรื่องเศรษฐศาสตร์มาเป็นบรรทัดฐาน เพราะทรัพยากรมนุษย์มีความสำคัญมากกว่า ถ้าจะคิดในเชิงเศรษฐศาสตร์ ควรเอาเศรษฐศาสตร์ของชุมชน เศรษฐศาสตร์ของผู้ปกครองและเด็กมาเปรียบเทียบด้วย
- มีครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการย้ายโรงเรียนทำให้วิถีชีวิตของครอบครัวเปลี่ยน เมื่อก่อนเคยทำมาหากิน ไม่ต้องเดินทางไปส่งเด็ก ไม่ต้องกังวล แต่ปัจจุบันเขาต้องลงทุนต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ยังไม่รวมถึงสุขภาพเด็กของชุมชนนึงที่ต้องย้ายไปอีกที่นึง ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
- ถ้าเอาแต่เศรษฐศาสตร์ของภาพรวมมาวัด อาจจะไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับชุมชน ผู้ปกครอง และโรงเรียนขนาดเล็ก
[ดร.จุฬากรณ์]
- เราอาจจะขาดการดูข้อมูลที่รอบด้านมากพอ หน่วยงานที่ทำวิจัยส่วนใหญ่ที่เอาข้อมูลมาวิเคราะห์มักจะเป็นเรื่องในเชิงเศรษฐศาสตร์อย่างเดียว ทรัพยากรไม่คุ้มค่า คุณภาพการศึกษาไม่ดีพอ แต่อยากตั้งคำถามว่าผลกระทบทางด้านสังคมและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจะเป็นยังไง เช่น การควบรวมโรงเรียนในระยะ 6 กิโลเมตร ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่สะดวกก็น่าทำ แต่โรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือด้อยโอกาส ถ้าอยู่ในพื้นที่ภูเขาแค่ 1 กิโลเมตรก็ยังดำเนินการยาก ความพยายามที่จะเดินทางไปโรงเรียนของตัวเด็กก็เป็นอีกปัจจัย บทบาทของครอบครัวพร้อมแค่ไหนที่จะผลักดันลูกไปเรียน มันจะมีมิติทางสังคม วัฒนธรรมหลายส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องกับการที่เด็กหนึ่งคนจะไปเรียนหนังสือในพื้นที่ห่างไกล
- ควรจะต้องมีปัจจัยอื่นๆ ที่นำมาใช้ในการพิจารณา เช่น โรงเรียนแบบไหนที่จะต้องรักษา และจะเป็นแกนนำได้ ถ้ามีการยุบควบรวมสามโรงเรียน โรงเรียนไหนควรจะอยู่ โรงเรียนไหนควรจะไป จะต้องใช้กระบวนการให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ซึ่งที่ผ่านมานโยบายพอจะมีช่องว่างให้ตกลงกันเอง แต่ในทางสังคมจริงๆ แล้วมีกระบวนการมีส่วนร่วมมากพอแค่ไหนในท้องถิ่น มีการกระจายอำนาจให้ตกลงกันเองได้มากน้อยแค่ไหน
- ต้องกลับมาตั้งคำถามว่า เวลาพูดถึงโรงเรียนขนาดเล็ก พูดถึงอะไร พูดถึงคุณภาพทางการศึกษา อนาคตของเด็กใช่ไหม
7.2 การกำหนดนโยบายควรปรับให้เหมาะสมตามพื้นที่
[ดร.จุฬากรณ์]
- เวลาเรามองพื้นที่ควรจะดูเป็นพื้นที่ๆ ไม่ควรมีสูตรเดียวของการยุบควบรวม ยิ่งในสถานการณ์โควิด เราจะเห็นเลยว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง เปิดเรียนไม่ได้ ในขณะที่โรงเรียนเล็กๆ ที่อยู่ในชุมชน เขาล้อมรั้วตัวเขาเอง เด็ก 20 คนยังสามารถไปโรงเรียนได้ สามารถมีปฏิสัมพันธ์พบปะคุณครู แล้วคุณครูเองก็ยังสามารถจัดการเรียนรู้ที่มันคละช่วงชั้นได้ ด้วยธรรมชาติที่สามารถดูแลได้ แม้ว่าในเชิงนโยบายมองว่าจะต้องปิด แต่พอทำงานเชิงพื้นที่ แล้วเอาข้อมูลเชิงพื้นที่มาดู จะเห็นความหลากหลาย และวิธีการจัดการหลายๆ แบบที่ไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จแบบเดียว แต่สูตรจะไปเกิดที่หน้างาน หน้าพื้นที่จริงๆ
- ซึ่งอันนี้เราคิดว่าในประเทศไทยเอง การทำงานเชิงพื้นที่จะมีความหมายมาก จะทำให้เห็นว่าโรงเรียนดีๆ มีอยู่เยอะ และแต่ละโรงเรียนไม่ใช่แค่มีครู นักเรียน และโรงเรียน แต่ยังมีนวัตกรรมที่คุณครูคิดขึ้นมา ยังมีกระบวนการเรียนรู้ที่โรงเรียนขนาดใหญ่บางทีก็อาจจะไม่สามารถทำได้ดีเท่ากับโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะว่าโรงเรียนขนาดเล็ก ครูสามารถบูรณาการณ์ในทุกวิชาได้ด้วยตัวเอง และสามารถคละช่วงชั้น ซึ่งอันนี้คือนวัตกรรมที่สำคัญ
7.3 ให้มีการกระจายอำนาจที่แท้จริง
[ดร.จุฬากรณ์]
- มีสิ่งหนึ่งที่เป็นนโยบาย แต่ในทางปฏิบัติยังไม่ค่อยเกิดขึ้นจริง คือเรื่องการกระจายอำนาจ ซึ่งพูดกันมาเป็นสิบปีแล้ว แต่ความเป็นจริงเรายังไม่เห็นการกระจายอำนาจที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ที่สามารถทำให้โรงเรียนมีความคล่องตัวหรือสามารถจัดการตนเองได้ เป็นฐานที่สามารถทำงานร่วมกับชุมชนได้อย่างแท้จริง เพราะกลายเป็นว่าโรงเรียนหรือชุมชนก็ไม่ได้มีอำนาจในการทำงานเต็มที่ เป็นอำนาจในเชิงนโยบายสั่ง เห็นปรากฏการณ์ได้ชัดจากกรณีเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็กของ Access School มีโรงเรียนคุณภาพดีอยู่เยอะ
แต่พอถูกนโยบายควบรวม ก็ต้องมานั่งคุยกันว่าใครจะอยู่ ใครจะยุบ สุดท้ายคุยกันเยอะแล้ว แต่ก็ต้องรออยู่ดีว่าข้างบนเขาจะว่าไง เป็นนัยยะอะไรบางอย่างว่าสุดท้ายแล้วเวลาเราพูดเรื่องการกระจายอำนาจ มันกลายเป็นแค่ว่ามีส่วนร่วม เข้าใจในสถานการณ์ แต่ตัดสินใจตัวเองได้ไหม อันนี้คิดว่าก็ยังเป็นความท้าทายในบริบทของการทำงานพัฒนาในประเทศไทย ถ้าเราอยากเห็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มันพัฒนาจริงๆ อาจจะต้องเปิดประเด็นเรื่องการกระจายอำนาจที่แท้จริง ทำให้โรงเรียนมีอิสระในการจัดการตัวเอง ถ้าแบบนี้ในเชิงการทำงานของโรงเรียน จะเห็นบรรยากาศอีกแบบนึง โรงเรียนที่เขาอยากอยู่รอด เขาจะทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองมีคุณภาพและอยู่ได้จริง ซึ่งคุณภาพแบบนี้สามารถไปตอบโจทย์ทั้งในระดับประเทศ และท้องถิ่นก็ได้ด้วยตัวเอง
7.4 จัดสรรงบประมาณตามโครงการ
[คุณเทวินฏฐ์]
- ปัจจุบันใช้งบประมาณแบบรายหัว โรงเรียนขนาดเล็กซึ่งมีเด็กน้อยก็ได้เงินจำนวนน้อย ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะเอามาพัฒนาคุณภาพ อยากเสนอให้การจัดสรรงบประมาณเป็นแบบอื่น เช่น ให้โรงเรียนเสนอเป็นโครงการขึ้นไปว่าจะพัฒนาคุณภาพของเด็กได้อย่างไร ภายใต้งบประมาณเท่าไหร่ ต่างประเทศเรียกว่า โรงเรียนพันธสัญญาหรือ charter school มีอำนาจในการจัดจ้างหาครูที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ เป้าหมายหลักคือให้โรงเรียนสามารถพัฒนาบุคลากรของประเทศที่สอดคล้องกับความต้องการของชาติได้ ตามแผนพัฒนาการศึกษาชาติ
[ดร.จุฬากรณ์]
- งบควรเปลี่ยนเป็นตามสภาพ เพราะแม้แต่โรงเรียนขนาดเล็กก็มีหลายแบบ มีโรงเรียนที่มีชุมชนเข้ามาช่วย หรือมีองค์กรเอกชนเข้ามาสนับสนุนให้โรงเรียนมีทรัพยากร แต่บางโรงเรียนยิ่งในพื้นที่ห่างไกลมักจะพบกับความยากลำบาก เพราะฉะนั้นงบไม่ควรจะเท่ากัน แม้แต่งบการอุดหนุนโรงเรียนขนาดเล็ก ก็ไม่ควรที่จะอุดหนุนเท่ากันหมด เด็กที่อยู่ในพื้นที่ลำบากมาโรงเรียนไม่ได้มาแค่เรียนหนังสือ แต่อาหารไม่มีกิน น่าจะมีการคิดคำนวณให้โรงเรียนคิดว่าต้องใช้ตามสภาพจริงเท่าไหร่ ยิ่งยากลำบากอาจจะต้องให้เพิ่มเติม ความสามารถในการระดมทุนที่มีต่างกัน ไม่ได้หมายถึงแค่โรงเรียน แต่หมายถึงสภาวะครอบครัวของตัวเด็กเองด้วย
7.5 พัฒนาคุณภาพของบุคลากรผู้สอน
[ดร.จุฬากรณ์]
- คุณภาพการศึกษามาจากไหน คุณภาพมาจากตัวครู ซึ่งพอมาเป็นประเด็นนี้ ทั้งโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ เราก็ต้องการคุณภาพของครูที่ดี แต่ประเด็นเรื่องคุณภาพของครูในโรงเรียนกลับถูกพูดในภาวะนี้ น้อยกว่าการที่ไปทวนนโยบายเรื่องการยุบควบรวมโรงเรียน เพราะมองว่าวิธีที่ง่ายก็คือ ยุบรวม เดี๋ยวมันจะถูกพัฒนาขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ แต่คำถามคือ ครูเองก็เป็นมนุษย์ งานวิจัยทั้งหมด คุณภาพเบื้องต้นก็มาจากตัวครู คิดว่าอันนี้พูดกันน้อย ทั้งๆ ที่เราเห็นเลยว่าเมื่อเทียบกันแล้ว ครูโรงเรียนขนาดเล็กความรู้ความสามารถก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าครูที่อยู่โรงเรียนขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ แถมมีมิติการเอาใส่ใจเด็ก อาจจะมีมากด้วยซ้ำ เพราะเด็กก็คือลูกหลานในหมู่บ้าน
[คุณเทวินฏฐ์]
- สถาบันผลิตครู หรือสถาบันราชภัฏหลายๆ แห่ง ระบบการฝึกประสบการณ์การสอนของบัณฑิตครู ปี 3 ปี 4 ไม่ใช่ง่ายที่จะไปฝึกสอนในโรงเรียนขนาดเล็ก ถ้าหากโรงเรียนขนาดเล็กไม่มีครูเอก ไม่มีอาจารย์ที่สอนตรงสาขาวิชาของนักศึกษา ก็ไม่สามารถไปฝึกได้ เพราะฉะนั้นโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่มีครูครบชั้น และไม่ได้มีวัสดุอุปกรณ์ที่ดี นักศีกษาบัณฑิตครูก็ไม่มีโอกาสที่จะได้ไปซึมซับประสบการณ์การสอนของครูในโรงเรียนขนาดเล็กได้ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าบัณฑิตครู นักศึกษาครูยุคใหม่ๆ ยุคหลังๆ จะไม่ค่อยเข้าใจ ไม่สามารถซึมซับอารมณ์ความรู้สึกปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็กเลยว่ามันเป็นยังไง
- จริงๆ ครูโรงเรียนขนาดเล็กที่เราพบเจอ ทักษะความสามารถเขาสุดยอด เป็นได้ทุกอย่างของโรงเรียน จากการลงพื้นที่ โรงเรียนขนาดเล็กที่เขาไม่ยุบเรียกว่าเป็นโรงเรียน standalone เป็นโรงเรียนที่สามารถพัฒนาคุณภาพได้ด้วยตัวเอง โรงเรียนพวกนี้เขาก็จะท้าทายกับกระทรวงศึกษาและสังคมว่าเขาสามารถพัฒนาคุณภาพได้ เขาพยายามพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอน ซึ่งมีนวัตกรรมมากมายที่เป็นนวัตกรรมต้นแบบ ไม่ว่าจะเป็นจิตตศึกษา, PBL, Thinking School หลายที่ที่น่าสนใจ นวัตกรรมพวกนี้เป็นนวัตกรรมของการเปิดให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ของชุมชน เรียกว่าให้ชุมชนสร้างโรงเรียน และโรงเรียนสร้างชุมชน ตรงนี้ผมว่าน่าสนใจ และกระทรวงศึกษาน่าจะให้ความสำคัญและเปิดพื้นที่สนับสนุนรูปแบบตรงนี้ให้มากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้กับโรงเรียนต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งเขาสามารถพัฒนาคุณภาพของเด็กให้เป็นที่ยอมรับของผู้ปกครอง และผู้ปกครองก็สามารถมาดูแลชุมชนได้
- ทำยังไงให้สถาบันผลิตครู เปิดโอกาสให้กับนักศึกษาครูได้เข้าไปช่วยฝึก เรียนรู้การสอนของโรงเรียนขนาดเล็ก หรือคณะครุศาสตร์ที่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนวิชา เพิ่มวิชาเรื่องการเรียนแบบบูรณาการ และการเรียนบนฐานสมรรถนะ น่าจะเป็นวิชาใหม่ที่ควรจะสอนกันอย่างจริงจังมากขึ้น เราจะได้ครูรุ่นใหม่ที่มีความรู้ในการสอนแบบบูรณาการ การสอนแบบ project base การสอนแบบการเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาในชุมชน น่าจะเป็นประโยชน์ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กมีคุณภาพ สอดคล้องกับบริบทของชุมชนมากขึ้น
[ดร.จุฬากรณ์]
- ปัญหาของครูในโรงเรียนขนาดเล็ก ถ้าจะด้อยคุณภาพมันก็ไม่ใช่แค่ปัจจัยเดียว อาจจะมีปัจจัยที่ครูเองไม่ได้รับการพัฒนาศักยภาพเต็มที่ ทรัพยากรไม่เต็มที่ ทักษะของครูยังเป็นทักษะของการผลิตซ้ำความรู้เดิม เคยสอนคนรุ่นพ่อรุ่นแม่อย่างไร ผ่านไปก็ยังสอนเหมือนเดิม แต่โลกมันเปลี่ยนไป ทำให้คุณภาพของครูไม่ได้ไปตามโลกโลกาภิวัฒน์ที่เปลี่ยน
7.6 ลดงานเอกสาร
[คุณเทวินฏฐ์]
- เราบ่นว่าทำไมครูโรงเรียนเล็กไม่ช่วยกันพัฒนา ไม่สอนเด็ก ผมคิดว่านโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เขาส่งงานให้ครูโรงเรียนเล็กมีงานมหาศาล งานจากส่วนกลางโครงการนั้นโครงการนี้ จนครูไม่มีเวลาที่จะไปสอนเด็ก และถึงวัดผลก็เน้นเรื่องคะแนนและเอกสารซึ่งมหาศาลมาก ครูก็ทุ่มเทเวลากับการทำเอกสารเพื่อรายงานให้กับผู้บริหาร อันนี้คือปัญหาใหญ่ที่ทำให้ครูไม่มีเวลาจัดการเรียนการสอนให้กับเด็ก ซึ่งครูมีน้อยอยู่แล้วและครูต้องทำธุรการ ทำบัญชีด้วย นี่คือปัญหาของการพัฒนาคุณภาพของเด็ก ผมคิดว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงพวกนี้ ให้ครูมีเวลา เรื่องการบรรจุครูก็เป็นส่วนสำคัญ ทำให้ครูสามารถจัดการเรียนการสอนให้เด็กได้อย่างเต็มที่
======================
8. สิ่งที่คุณครูสามารถช่วยกันได้
======================
8.1 การเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบการวัดผล
[คุณเทวินฏฐ์]
- ตอนนี้มีคณะกรรมการ สมศ. (คณะกรรมการพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ที่กำลังจัดตั้งกันอยู่ เป็นช่วงรอยต่อของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนทั่วประเทศ เปลี่ยนจากการเรียนแบบเดิม ซึ่งปัจจุบันใช้หลักสูตรแบบ 8 กลุ่มสาระ ซึ่งมันมากและครูระทมทุกข์มาตลอด บางอย่างมันล้าสมัยมากก็ต้องให้ลดลง และเพิ่มการเรียนแบบฐานสมรรถนะ คือเรียนเรื่องการปฏิบัติมากขึ้น และก็กำลังมีการออกแบบการวัดผลการเรียนที่แบบฐานสมรรถนะหรือการปฏิบัติ ซึ่งครูหลายแห่งก็ไม่คุ้นเคยว่าจะวัดแบบไหน เพราะคุ้นเคยกับการสอบข้อเขียนอย่างเดียว
คิดว่าอันนี้เป็นเรื่องใหญ่ และ สมศ. ที่ดูแลเรื่องการวัดผลเห็นว่ากำลังจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาที่จะมาดูแล ผมคิดว่าตรงนี้ถ้าหากเสียงของโรงเรียนขนาดเล็กหรือชนบทเข้าไป และสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการวัดผลให้อยู่บนฐานการเรียนการสอนของโรงเรียนขนาดเล็กด้วย น่าจะเป็นประโยชน์ และให้สอดคล้องกับบริบทของผู้เรียน การวัดผลเป็นหัวใจใหญ่ที่ทำให้เป็นจุดตายของโรงเรียนขนาดเล็ก
8.2 โรงเรียนขนาดเล็กต้องรวมตัวกันเป็นเครือข่าย
- ทางกระทรวงเองก็ต้องใจกว้าง มองเห็นว่ามีความสัมพันธ์ของข้อมูลหรืองานวิจัยหลายๆ ส่วนที่จะมาประกอบกัน การมองภาพในเชิงมหภาคนโยบายมันเหมือนเป็น bird's eye view แต่มองอย่างนกแล้วต้องทำอย่างหนอน คือเห็นว่าในพื้นที่ต้องทำงานแบบไหน แล้วเวลาทำงานแบบตามคนตามพื้นที่ เรื่องคุณภาพมันไม่ได้มีแค่ครูอย่างเดียว มันไม่ได้มีแค่เครื่องไม้ครื่องมือ เทคโนโลยีอย่างเดียว เพราะโรงเรียนขนาดเล็กมันขาดอยู่แล้วไม่เท่าที่อื่น แต่ยังมีปัจจัยสำคัญอื่นๆ ทั้งเรื่องครอบครัว ชุมชน ที่เราสามารถทำงานตรงนี้ต่อได้ ซึ่งตรงนี้ พรบ. การศึกษาก็เปิดให้ชุมชน พ่อแม่ และโรงเรียนมีส่วนร่วม แต่เวลาการมีส่วนร่วมถ้ารัฐบอกว่าจะต้องยุบควบรวม แล้วเสียงของครูดังพอหรือเปล่า จึงมองว่าเวลาจะทำงานเคลื่อนขบวน
แม้โรงเรียนที่บอกว่า standalone มัน standalone ไม่ได้ โรงเรียนต้องมีเครือข่าย โรงเรียนที่เก่งๆ คุณภาพดีๆ ก็ต้องการเพื่อน ต้องการเครือข่าย เพราะฉะนั้นทางออกของโรงเรียนขนาดเล็ก นอกจากเรื่องของนโยบายของรัฐบาล แต่ในทางปฏิบัติของโรงเรียนเอง ก็ต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อให้เสียงของตัวเองดังพอ โดยเฉพาะเรื่องที่พูดเรื่องคุณภาพของโรงเรียน เสียงที่พูดว่าเรามีเพื่อน มีเครือข่ายที่มีคุณภาพ เพราะเสียงเดียวมันไม่มีพลัง ที่ Access Aid หรือหลายๆ คนทำงานพยายามรวบรวมเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็กให้เป็นแขนงเป็นเส้นใย ให้ภาคนโยบายเห็นว่าเวลาที่ตัดสินใจ ไม่ใช่แค่เศษเสี้ยวส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่งในพื้นที่ แต่มีความเป็นเครือข่ายที่สัมพันธ์กัน และถ้าตัดสินใจไปสูตรเดียว บางทีการศึกษาไทยอาจจะล้มเป็นโดมิโน่ เพราะเรากำลังพูดเรื่องคุณภาพทางการศึกษาที่อยู่ใกล้ตัวเด็กมากที่สุด
======================
Speaker:
[@chulakorn_rj] ดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์
ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ
[@thewin.ak] คุณเทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย
เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย
======================
Moderator:
[@panit] พี พนิต P Panit
เจ้าของเพจ วันนี้สรุป..มา
======================
Date:19 July 2021 (21:00-23:15)
Club: วันนี้สรุป..มา
#ClubhouseTH #ทำไมถึงสำคัญ #โรงเรียนขนาดเล็ก #AccessSchoolProject #ชุมชนสร้างโรงเรียนโรงเรียนสร้างชุมชน #todayinotetoevent #todayinoteto #วันนี้สรุปมา
โฆษณา